หลังสะสมประสบการณ์ทำงานได้มากพอ ‘ประวิตร’ (นามสมมุติ) ก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านเทคโนโลยีที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ด้วยความที่ชื่นชอบกลไกขนาดเล็กเพราะชอบสะสมนาฬิกา ประวิตรเลยอยากทำโครงการสร้างอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอวัยวะของมนุษย์โดยควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อเสนอเป็นวิทยานิพนธ์
แต่ฝันของประวิตรต้องสะดุดลง เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่ามันซับซ้อนเกินไป มีโอกาสที่ทำแล้วไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้คณะเสีย KPI จึงเสนอให้ทำอะไรที่ง่ายกว่านี้ เช่น โครงการทำเว็บสำหรับเก็บข้อมูลด้านอะไหล่ชิ้นส่วนนาฬิกา ซึ่งรับรองว่าจบปริญญาโทได้ตามเกณฑ์แน่นอน
วันนี้ประวิตรเรียนจบสมความตั้งใจแล้ว พร้อมเป็นนักพัฒนาเว็บไซต์ได้ตามความรู้ที่ร่ำเรียนมาโดยทิ้งความฝันที่จะทำเรื่องการเชื่อมคอมพิวเตอร์เข้ากับมนุษย์ แต่ประวิตรก็ทำงานได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วเพื่อนร่วมอาชีพของเขาหลายๆ คนก็ทำงานมีรายได้ดีโดยไม่ต้องเรียนตรงสายอย่างเขาก็ได้ ขอเพียงขวนขวายตั้งใจเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาไม่ต้องเสียเงินมาเรียนปริญญาโทอย่างประวิตรแต่อย่างใด
แล้ววันนี้ประวิตรก็เห็นข่าวบริษัท Neuralink ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) แถลงความสำเร็จในการรับสัญญาณประสาทจากสมองของหนูทดลองตรงเข้าคอมพิวเตอร์ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งนั่นเท่ากับว่านักวิทยาศาสตร์ ‘อ่าน’ ความคิดของหนูได้แล้วว่าคิดอะไร รู้สึกอย่างไร
ซึ่งก้าวต่อมาของโครงการนี้ก็คือเอามาใช้กับมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยอัมพาตที่สัญญาณประสาทขาดตอนจนสั่งให้ร่างกายทำงานตามที่ต้องการไม่ได้ ในอนาคตเราอาจเพียงแค่คิดแล้วคอมพิวเตอร์ก็จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้เราโดยอัตโนมัติ เช่น เตรียมอาหาร เปิดปิดไฟ ปรับอุณหภูมิ ขับรถ ฯลฯ อ่า…นี่มันเป็นฝันที่ประวิตรเคยคิดไว้สินะ…
ปัญหาใหญ่ของการศึกษาในบ้านเราคืออยากสร้างบัณฑิตหรือมหาบัณฑิตที่มีรูปแบบเดียวกันเพื่อความง่ายในการสอนและสอบ ใครที่คิดนอกจากกรอบที่สถาบันการศึกษาวางไว้มักจะเป็นตัวแปลกแยก เพราะไม่เข้าเกณฑ์ใดๆ จึงสอนยาก ประเมินผลยาก กรอบที่มีจึงกลายเป็นตัวกักขังจินตนาการของนิสิตนักศึกษาไปเสียอย่างนั้น
ไม่เพียงแค่นั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ของเรามักมองศาสตร์ใหม่ๆ เป็นเพียงของเล่น เพราะจินตนาการไม่ถึงว่ามันจะพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง การให้ความสำคัญกับ Future Skill หรือทักษะที่จำเป็นต่อโลกในอนาคตของเราจึงต่ำเตี้ยติดดิน
นึกถึงบรรยากาศในสนามกีฬาที่เซินเจิ้นเปลี่ยนไปเหมือนสนามรบ แต่แทนที่จะเป็นทหารกลับกลายเป็นนิสิตนักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกมาประลองแข่งขันหุ่นยนต์ Robomaster ที่แต่ละทีมเอาหุ่นยนต์มาแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
ในสนามประลองมีหุ่นที่แบ่งกันทำหน้าที่หลากหลาย รวมถึงมีโดรนที่คอยบินสังเกตุการณ์คอยส่งข้อมูลให้สมาชิกคนอื่นในทีม ทักษะที่เกิดจากการแข่งขันจึงมีทั้งเรื่องการเขียนโปรแกรมสั่งการ การปรับแต่งแมคคานิกส์ชิ้นส่วนกลไกต่างๆ ให้แข็งแรง การควบคุมบังคับจากระยะไกลให้ผิดพลาดน้อยที่สุด ฯลฯ ซึ่งทีมที่ชนะจะได้รางวัลใหญ่ที่สุด นั่นคือการได้ทำงานกับบริษัท Dji ผลิตโดรนและหุ่นยนต์อันดับหนึ่งของโลก
โครงการนี้เคยมีการพูดคุยกันกับผู้ใหญ่ในประเทศสารขัณฑ์ซึ่งได้คำตอบง่ายๆ กลับมาว่า “เป็นของเล่นที่สนุกดี” แล้วก็ไม่มีอะไรต่อยอดตามมา เพราะมันเป็นเพียงของเล่นก็เลยไม่มีใครใส่ใจกับมัน วันดีคืนดีสำนักวิจัยฝรั่งบอกว่าเทคโนโลยี Robotics จะเปลี่ยนโลก ถึงค่อยตื่นตัวแล้วสั่งให้มหาวิทยาลัยไปจัดแข่งขันกันเองบ้าง โดยเจียดงบมาให้พอเป็นพิธี
การแข่งขัน Robomaster นั้นเป็นงาน ‘ปลายทาง’ ของกระบวนการสร้างคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้าของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศจีน โดยต้นทางคือการทำงานประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เพื่อกระตุ้นให้เด็กยุคใหม่สนใจเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ทั้งการ์ตูน แอนิเมชั่น ที่ล้วนสร้างภาพพระเอกที่เป็น ‘ฮีโร่’ ในการสร้างสุดยอดหุ่นยนต์ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอย่างเต็มพิกัด
Robomaster จึงเป็นเหมือนเวทีให้เหล่านิสิตนักศึกษาจากทั่วโลกมีโอกาสได้เป็นซูเปอร์สตาร์ โชว์ทักษะของตัวเองในการพัฒนาหุ่นยนต์ รวมถึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อเอาชนะอุปสรรค์ทั้งหลาย บรรยากาศในงานจึงเน้นการสร้างความยิ่งใหญ่อลังการดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ให้สนใจเทคโนโลยีแห่งอนาคตเหล่านี้ให้มากขึ้น
ตัดฉากมาในอนาคตอันใกล้… ด้วยความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทั้งรถไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า และสมาร์ตซิตี้ทำให้โรงไฟฟ้าทั่วโลกต้องหันมาใช้เทคโนโลยีฟิวชั่นที่สะอาดปลอดภัยไร้มลภาวะ โดยมีฮีเลียม 3 (He3) เป็นเชื้อเพลิงที่ดีที่สุด และเหมืองฮีเลียมที่ใกล้ที่สุดก็อยู่บนดวงจันทร์นี่เอง
จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลกเพราะเป็นเจ้าของเหมืองฮีเลียม 3 กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ โดยวิศวกรผู้ควบคุมเหมืองจะเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์บนดวงจันทร์ด้วย Braincap เชื่อมสัญญานจากสมองโดยตรงจึงทำงานได้จากสำนักงานในจีนไม่ต้องเสี่ยงไปทำงานบนดวงจันทร์ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้มากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
จีนล้ำนำหน้าทุกประเทศในโลกเพราะมีบุคลากรด้านนี้มากมายนับพันคนในแต่ละปี คนที่ทำงานเหมืองฮีเลียม 3 ของจีนถือเป็นคนรุ่นใหม่ชั้นแนวหน้าเพราะขึ้นชื่อว่าเป็นหัวกะทิ และเป็นที่ชุมนุมคนเก่งจากทั่วโลก ซึ่งไม่ได้ทำเพียงแค่เหมืองที่ใช้หุ่นยนต์เป็นหลัก แต่ยังมีโครงการอวกาศที่จะไปขุดแร่ธาตุหายากจากดาวเคราะห์น้อยชายขอบระบบสุริยะอีกด้วย
ส่วนประเทศไทยก็มีข่าวว่าเพิ่งนำเอาหุ่นยนต์มาใช้เกี่ยวข้าวเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ โดยรัฐบาลกำลังทำโปรโมชั่นให้ใช้บัตรสวัสดิการซื้อหุ่นได้ในราคาประหยัด หลังพบว่ามีคนสวมสิทธิซื้อไปใช้เป็นหุ่นรับใช้ในบ้านคนรวยแทน
(3 ย่อหน้าสุดท้ายเป็นจินตนาการล้วนๆ โปรดใช้วิจารณญาณ)