จุดยืน 3 พรรคการเมือง เมื่อ ม.112 ยังเป็นกฎหมายอาญาสิทธิ์

ประเด็นร้อนแรงที่สุดของการเมืองไทยต้อนรับการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาถึง คงหนีไม่พ้นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการบังคับใช้ ‘มาตรา 112’ หรือกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทกษัตริย์ สมาชิกราชวงศ์บางคน และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (https://tlhr2014.com/archives/23983) รายงานว่า ปี 2559-2565 มีการฟ้องร้องคดีนี้ถึง 238 คดี ออกหมายจับแล้วอย่างน้อย 86 กรณี มีเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีถึง 17 ราย รวมถึงยังมีผู้ถูกกล่าวหาอีกจำนวนมากที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจภูธรจังหวัดต่างๆ จนสร้างความยากลำบากแก่การไปรับทราบข้อกล่าวหา 

เนื่องด้วยกฎหมายนี้เอื้อให้เกิดการตีความความผิดที่กว้างขวาง เต็มไปด้วยช่องโหว่ และบทลงโทษหนักหน่วง การแสดงจุดยืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนหลายฝ่ายคาดหวังจากพรรคการเมือง 

ด้วยเหตุนี้สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ iLaw จึงจัดเสวนาหัวข้อ ‘Never Say Never: ถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของมาตรา 112’ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทบทวนเรื่องราว ข้อมูล ข้อเท็จจริง ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมาย ‘ทุกฉบับ ทุกมาตรา’ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุม จนสถิติคดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์พุ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย

photo: Wanwisa Klaiklueng / iLaw

วงเสวนาได้เชิญ 3 ตัวแทนพรรคการเมือง ได้แก่ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล และ ขัตติยา สวัสดิผล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย มาร่วมพูดคุย โดยมี ฐปนีย์ เอียดศรีชัย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters เป็นผู้ดำเนินรายการ

พรรคก้าวไกล: ม.112 ต้องแก้ไขเป็นแพ็กเกจ 

รังสิมันต์ โรม | photo: Wanwisa Klaiklueng / iLaw

รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า มาตรา 112 ถือเป็นความรุนแรงที่ถูกผลิตซ้ำทางกฎหมาย และมีช่องโหว่จำนวนมาก โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถฟ้องร้องตามมาตรานี้ได้ จากที่ไหนก็ได้ และปัญหายิ่งหนักหนามากขึ้นเมื่อการสู้คดีต้องกระทำในเรือนจำ เนื่องจากผู้พิพากษาไม่มีความกล้าหาญอย่างเพียงพอในการตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมา จนกล่าวได้ว่ามาตรา 112 ไม่มีความสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ขาดความสมดุล เนื่องจากอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออก รังสิมันต์เชื่อว่า องค์กรทางการเมืองใดก็ตามสมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การใช้มาตรา 112 ในลักษณะนี้พรรคก้าวไกลถือว่าทำให้คุณค่าของระบอบประชาธิปไตยเสื่อมลง

แม้พรรคก้าวไกลจะมีทั้งผู้สนับสนุนให้ยกเลิกมาตราดังกล่าวอย่างสิ้นเชิงและผู้ต้องการคงไว้ แต่ต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น ผลสรุปคือพรรคก้าวไกลมองว่าการแก้ไขมาตรา 112 ให้ดียิ่งขึ้นจะเป็นสิ่งที่พูดคุยกับทุกฝ่ายได้มากที่สุด ณ ช่วงเวลานี้ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงพยายามเสนอแก้ไขมาตรา 112 ในส่วนของอัตราโทษที่หนักเกินไป และการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้ใครก็ตามหยิบฉวยมาตรานี้มาฟ้องร้อง ขณะเดียวกัน พรรคก็ไม่ได้คัดค้านหากจะมีประชาชนร่วมเสนอชื่อให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ และพร้อมให้การสนับสนุนหากเกิดขึ้นจริงในอนาคต 

5 ประเด็นที่พรรคก้าวไกลต้องการนำเสนอ คือ 1) การยกเลิกโทษจำคุกข้อหาดูหมิ่นประมาท ทั้งการดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือบุคคลทั่วไป หลักคิดคือไม่ควรมีใครต้องโทษจำคุกเพียงเพราะคิดเห็นต่างและแสดงออกด้วยวาจา 2) มาตรา 113-114 ที่ใช้คุ้มครองพระราชินี ควรยกเลิกโทษจำคุกและเหลือเพียงโทษปรับเท่านั้น 3) แก้ไขบทลงโทษจากการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ให้เหลือเพียงจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการกระทำต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

4) ให้ย้ายมาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อราชอาณาจักร เป็นความผิดต่อพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การแยกออกมาเช่นนี้จะทำให้สำนักพระราชวังต้องฟ้องร้องด้วยตนเอง ปิดโอกาสมิให้ผู้อื่นใดนำกฎหมายนี้ไปเป็นอาวุธในการโจมตีบุคคลอื่นในเรื่องส่วนตัว ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับข้อเสนอในประเด็นถัดไป คือ 5) การแก้ไขมาตรา 112 ให้สามารถยอมความได้ หากสำนักพระราชวังเลือกที่จะไกล่เกลี่ยให้เกิดการยอมความ

รังสิมันต์ชี้ว่า ประเด็นสำคัญคือการแก้ไขสภาวะ ‘ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่น’ พรรคก้าวไกลจึงต้องการให้มีการเพิ่มบทยกเว้นความผิด เพราะที่ผ่านมาไม่มีกรณียกเว้นโทษได้เลยแม้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่พูดไปถูกต้อง การติชมหรือแสดงความคิดเห็นที่สุจริตก็ควรมีช่องทางที่ทำให้บุคคลนั้นไม่ต้องรับความผิด แม้จะพิสูจน์ในภายหลังได้ว่าเป็นความจริง แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม ก็สามารถตัดสินว่าบุคคลนั้นผิดจริง แต่ไม่ควรได้รับการลงโทษทางกฎหมาย เป็นต้น   

พรรคเพื่อไทย: แก้ ม.112 ต้องผ่านความเห็นชอบทั้งในและนอกสภา

ขัตติยา สวัสดิผล | photo: Wanwisa Klaiklueng / iLaw

ขัตติยา สวัสดิผล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ระบุว่า มาตรา 112 เปรียบได้กับกฎหมายป้องกันการหมิ่นประมาทระหว่างประชาชนทั่วไป แต่ในแง่ของการตีความกลับมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ 3-15 ปี ซึ่งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหลายประเทศได้ยกเลิกกฎหมายประเภทนี้แล้ว รวมถึงหลายประเทศก็มีการปรับลดโทษให้เหลือเพียงไม่กี่เดือน หรือไม่เกิน 2 ปี ดังนั้นหากมาตรานี้ยังกำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้อยู่ ก็จะยิ่งทำให้ผู้พิพากษาไม่สามารถพิจารณากำหนดโทษให้ต่ำลงไปกว่านี้ได้ 

ขัตติยาระบุว่า กฎหมายฉบับนี้มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง ดังนั้นต่อให้มีหลักฐานที่น้อยมาก แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงเลือกที่จะดำเนินการสั่งฟ้อง เนื่องจากคดีลักษณะนี้ถูกมองเป็น ‘เผือกร้อน’ ที่ต้องรีบจัดการ คำถามสำคัญคือ ควรหรือไม่ที่จะให้สิทธิในการใช้ดุลยพินิจในคดีมาตรา 112 อยู่ในมือของตำรวจแต่เพียงผู้เดียว นิยามของการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย โดยที่ไม่มีความหมายเฉพาะ จึงถูกใช้โดยดุลยพินิจส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ ซ้ำร้ายการฝากขังในชั้นอัยการก็ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้นต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเช่นเดียวกัน 

พรรคเพื่อไทยจึงมองว่า หากมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขมาตรา 112 จะต้องแก้ไขในส่วนของการบังคับใช้เป็นอย่างแรก หากเรื่องนี้ได้เข้าไปถึงกระบวนการรัฐสภาจะต้องเริ่มพูดคุยกันทุกภาคส่วน เนื่องจากมีความหลากหลายทางความคิด การที่กฎหมายเสนอไปโดยไม่ฟังเสียงคนข้างนอกหรือฟังเพียงคนกลุ่มเดียวก็อาจทำให้ล้มเหลว ดังที่เคยเกิดขึ้นกับกฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้นขัตติยาจึงมองว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะต้องผ่านกระบวนการภายนอกสภาเสียก่อน เพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคตที่จะเกิดขึ้น

หากจะยังคงมาตรา 112 โดยให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ หรือการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้กฎหมายข้อนี้ ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ขัตติยายกตัวอย่างจากกรณีที่เคยมีการดำเนินการมาแล้วในสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลก่อนที่จะถูกยกเลิกไป โดยเน้นย้ำว่าการได้มาซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ต้องผ่านการแต่งตั้งจากรัฐสภา ซึ่งมีความยึดโยงกับประชาชน อย่างน้อยก็ดีกว่าการยกอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องไว้ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงอย่างเดียว 

ขัตติยากล่าวว่า การดำเนินคดี ม.112 จะต้องทำควบคู่ไปกับการให้สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และการติดกำไล EM ที่ข้อเท้าก็ควรจะติดเฉพาะผู้ที่กำลังพักโทษอยู่เท่านั้น ไม่ใช่การติดให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับการพิพากษาคดีขั้นสูงสุด

พรรคเสรีรวมไทย: อย่าเหมารวมข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย

พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช | photo: Wanwisa Klaiklueng / iLaw

พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า กฎหมายทั้งหมดที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ พระมหากษัตริย์ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่อยู่ที่รัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายโดยตรง โดยส่วนตัวจึงขอเสนอให้พรรคการเมืองมุ่งเน้นที่การลดโทษมาตรา 112 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนและสถาบันกษัตริย์ต่อไป 

พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า ข้อความสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคือ ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย’ ซึ่งควรต้องแยกทั้ง 3 กรณีนี้ออกจากกัน เนื่องจาก ‘อาฆาตมาดร้าย’ อาจจะมีโทษที่หนักกว่า หรือใกล้เคียงกับข้อหาพยายามลอบปลงพระชนม์ และควรถูกแยกออกไปเป็นส่วนหนึ่งของมาตรา 111 แทน ขณะที่ข้อหาดูหมิ่นและหมิ่นประมาทก็ควรกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสม 

หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยระบุว่า การกำหนดโทษข้อหาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 เดิมคือ 3-15 ปี ควรลดเหลือไม่เกิน 3 ปีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลยพินิจได้ว่าจะดำเนินคดีในอัตราโทษเท่าไร เพื่อไม่ให้เป็นการลงโทษที่หนักเกินกว่าเหตุ 

พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ยกตัวอย่างสำคัญของการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม จากกรณีที่ตนเองเคยถูกฟ้องในมาตรา 112 จากการเล่นการเมืองภายใน ซึ่งในทัศนะของ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ มองว่าการใช้กฎหมายข้อนี้โดยปัจเจกมีปัญหาเป็นอย่างมาก เพราะการฟ้องร้องครั้งนั้นตนเองก็ไม่ได้ก่อความผิดจริง และการฟ้องร้องนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ร้องได้ประโยชน์ทางการเมือง

ปลดล็อก ม.112 เพื่อประชาธิปไตยเบ่งบาน 

ปัจจัยสำคัญในการเดินหน้าแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าว รังสิมันต์ระบุว่าจะต้องหันหน้ามาพูดคุยกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการหาจุดร่วมตรงกลาง เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่จะไปต่อได้ ซึ่งใกล้เคียงกับจุดยืนของขัตติยาและพรรคเพื่อไทย ว่าพร้อมจะพูดคุยในประเด็นดังกล่าว เพื่อหาข้อเสนอแนะและข้อสรุปในสภาต่อไป 

ขัตติยากล่าวเพิ่มว่า ในกระบวนการต่อสู้ต้องมองถึงความพร้อมของประเทศไทยด้วยเช่นกัน การเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 จะขยับไปได้ไกลกว่านี้ หากบรรยากาศของประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย และมีการใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐนิติธรรม 

ข้อสรุปจากวงเสวนาชี้ให้เห็นว่า การดำเนินการต่อมาตรา 112 จำเป็นต้องมีการพูดคุยอย่างจริงจังมากขึ้น เนื่องจากทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องในทางเดียวกันว่า การดำเนินคดีตามมาตรา 112 เป็นปัญหาต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนนอกรัฐสภา และความพร้อมในการสนับสนุนของประชาชน ซึ่งจะเป็นกระบวนการขับเคลื่อนที่ดีที่สุดในปัจจุบัน อย่างน้อยก็จากสายตาของพรรคการเมืองผู้ยึดมั่นในระบบรัฐสภา

การทำลายสถานะความเป็น ‘เผือกร้อน’ ของกฎหมายดังกล่าวผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและพรรคการเมือง จึงอาจจะเป็นการลดจำนวนผู้เสียหายจาก ม.112 ได้มากขึ้น และอาจนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี 112 รวมถึงนักโทษการเมืองในอีกหลายคดี ที่สำคัญที่สุดคือ การแก้ไข ม.112 อาจนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า