แคมเปญ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ ของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จากการรวมตัวของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องการประชาชนเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอคำถามประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อนรวบรวมรายชื่อทั้งหมดเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบในการทำประชามติ ตามพระราชบัญญัติประชามติ พ.ศ. 2564
แคมเปญนี้เกือบสะดุดกลางคันและอาจไม่ได้ไปต่อ แม้จะมีรายชื่ออยู่ในมือครบแล้วตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าต้องเข้าชื่อบนกระดาษเท่านั้น ไม่รับการเข้าชื่อแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ conforall.com ทำให้ทาง iLaw หนี่งในภาคีกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญต้องกลับมาหารายชื่อเพิ่มอีกให้ทันวันที่ 25 สิงหาคม เพราะการจัดตั้ง ครม. ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว
นับตั้งแต่วันที่ 23-25 สิงหาคม iLaw ได้กลับมาเริ่มแคมเปญอีกครั้ง ฝ่ากระแสข่าวการเข้าเรือนจำและการรักษาตัวในโรงพยาบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และข่าวการจัดตั้งรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งกลบประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ โดยตั้งแต่เย็นวันที่ 25 สิงหาคม เป็นต้นมา iLaw ได้ไลฟ์สดเพื่ออัปเดตจำนวนประชาชนที่เข้าชื่อกับแคมเปญว่าเกิน 50,000 รายชื่อแล้ว และทะลุ 112,507 รายชื่อ เมื่อเวลา 22.05 น. ภายในคืนเดียว และเมื่อถึงคืนวันที่ 27 สิงหาคม เวลา 19.34 น. รายชื่อเพิ่มขึ้นถึง 205,739 รายชื่อ จากการรวบรวมจากจุดตั้งโต๊ะทั่วประเทศ ประหนึ่งภารกิจ ‘ปาฏิหาริย์’ ที่ใช้เวลาเพียง 3 วัน
อารมณ์ค้างจนต้องโต้กลับ
ประชาชนไม่น้อยน่าจะรู้สึกผิดหวังกับการจัดตั้งรัฐบาลร่วม 11 พรรคที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยการเอาพรรคของ 2 ลุงเข้าร่วมรัฐบาล ถือเป็นความตระบัดสัตย์ที่ประชาชนยากจะเชื่อถือ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยได้แสดงเจตจำนงในการบริหารประเทศตามนโยบายที่หาเสียงไว้ รวมถึงยืนยันว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ให้คำมั่นไว้ระหว่างการอภิปรายชี้แจงประเด็นข้อกังขาที่มีต่อนายเศรษฐา ทวีสิน ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีจะเกิดขึ้น แต่ความไม่น่าเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อหมอชลน่านและพรรคเพื่อไทยว่าจะดำเนินนโนบายตามที่หาเสียงและกล่าวเอาไว้กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเกรงว่าจะเป็นเพียง ‘การโฆษณา’ เท่านั้น
ความน่าเชื่อถือที่ลดลงของพรรคเพื่อไทย ทำให้ประชาชนหลายคนที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดพยายาม ‘โต้กลับ’ ทางใดทางหนึ่ง ประกอบกับแคมเปญคำถามประชามติถูก กกต. ตีตกรายชื่อออนไลน์ในช่วงเวลาเดียวกันกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์หยิบประเด็นคำถามประชามติขึ้นมา เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรค 2 ลุง มาร่วมด้วย
ความพยายามในการผลักดันแคมเปญนี้อีกครั้งด้วยการลงชื่อบนกระดาษเกิดขึ้นทั่วประเทศ หลายฝ่ายทั้งประชาชน นิสิตนักศึกษา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคก้าวไกลในแต่ละจังหวัด อาสาตั้งโต๊ะรวบรวมชื่อ รวมไปถึงผู้ใช้งานทวิตเตอร์จำนวนมากก็ช่วยโฆษณาการเข้าชื่อตามจุดต่างๆ เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นการหยิบประเด็นคำถามประชามติเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาจึงเป็นภาพการโต้กลับภาพหนึ่งเท่านั้น ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนบนวิถีทางประชาธิปไตยทางหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำได้
‘รัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ ในความหมายของเพื่อไทย ไม่แตะหมวด 1-2
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานกรรมการฝ่ายกฎหมาย ออกมาเปิดเผยแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ว่า พรรคเพื่อไทยใช้คำว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ ไม่ใช่ ‘การแก้ไขเพิ่มเติม’ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มีกระบวนการแก้ไขที่ยุ่งยากมาก โดยจะไม่มีการแตะหมวด 1 และหมวด 2 เรื่องรูปแบบรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์
ส่วนประเด็นที่มาของ สสร. นายชูศักดิ์เน้นว่า จะต้องมาจาก ‘การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน’ จำนวนของสมาชิก สสร. นั้นอาจคำนวณตามจำนวนประชากร ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติในครั้งแรกก่อนคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณพอสมควร แต่ก็เป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
การประกาศเดินหน้ารัฐธรรมนูญใหม่ มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อ นพ.ชลน่าน ได้ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงและตอบข้อซักถามของสมาชิกรัฐสภาที่มีข้อกังขาต่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีในช่วงบ่ายของวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สามารถทำไปควบคู่กับการแก้ไขปัญหาปากท้องได้
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายดังกล่าวมีบางช่วงบางตอนที่อาจสร้างความไม่ไว้วางใจว่าพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการในเรื่องนี้จริงหรือไม่ เพราะ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ข้อห่วงใยเรื่องนโยบาย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้เป็นเพียงนโยบายที่เราใช้รณรงค์หาเสียง” จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา
ทั้งนี้ การจัดคณะรัฐมนตรีมีความคืบหน้า 99.99 เปอร์เซ็นต์แล้ว และตามที่พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยได้ทำ MOU กันไว้ว่าจะดำเนินการลงมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดตั้ง สสร. ในการประชุม ครม. วาระแรก ซึ่งจุดนี้ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าการ ‘แก้ไข’ กับการ ‘เขียนใหม่’ นั้นไม่เหมือนกัน เพราะการแก้ไขอาจแก้ได้เพียงมาตรา 272 เท่านั้นหรือไม่ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีพรรคสืบทอดอำนาจ 2 พรรคหลัก อย่างรวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ จะลงมติเพื่อเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และรายชื่อของประชาชนกว่า 200,000 รายชื่อที่เสนอต่อ ครม. จะถูกปัดตกหรือไม่ ขณะที่ สว. จำนวนมากออกมาแสดงความเห็นว่า จำเป็นต้องแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่
ท้ายที่สุดหาก ครม. มีมติตามที่ได้สัญญาไว้ จะทำให้เราจำเป็นต้องเข้าคูหาลงประชามติเร็วที่สุดภายในสิ้นปีนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำประชามติที่กำลังจะมาถึงคือ ‘คำถามประชามติ’ ซึ่งเป็นหมุดหมายแรกที่จะพาเราไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
‘คำถามประชามติ’ กระดุมเม็ดแรกของรัฐธรรมนูญใหม่
คำถามประชามติ คือกระดุมเม็ดแรกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ) คำถามประชามติที่ดีจะต้องไม่ชวนสับสน ไม่ชี้นำ เข้าใจง่าย และสะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคมได้ นอกจากนี้จะต้องระบุที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญว่ามาจากไหน และ สสร. นั้นจะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง โดยสรุปแล้วความชัดเจนของคำถามประชามติจึงสำคัญที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อรัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคต
เมื่อเรายังไม่รู้คำถามประชามติที่มาจากในส่วนของมติ ครม. จึงพอคาดการณ์ได้ว่า คำถามอาจมี 2 ลักษณะคือ 1) แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2) ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอาจตามด้วย ‘คำถามพ่วง’ คือ ที่มาของ สสร. ก็อาจมี 2 ลักษณะอีกคือ 1) แต่งตั้ง 2) เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้กระทั้ง 3) ผสม (อาจมาจากการเลือกตั้งในทุกจังหวัดและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้านตามสายอาชีพ) ก็ได้ ดังนั้นคำถามประชามติจึงมีความสำคัญไม่น้อย เพราะต้องเป็นคำถามที่สมบูรณ์ ครบถ้วน เข้าใจง่าย ไม่สับสน ไม่ชี้นำ
รัฐธรรมนูญ 2560 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และเนื้อหา เป็นผลไม้พิษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่พิษยังคงตกค้างอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการกีดกันขัดขวางการรณรงค์ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้มีผู้รณรงค์จำนวนมากถูกจับกุม นอกจากนี้ผู้มีอำนาจรัฐขณะนั้นยังแนะนำว่าให้ “รับๆ ไปก่อน แล้วค่อยแก้ทีหลัง” อีกด้วย ขณะที่ คำถามสำหรับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น มีความกำกวม ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะ ‘คำถามพ่วง’ ในการให้อำนาจ สว. เข้ามาโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราได้เห็นผลกระทบให้หลังจากการเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566 ที่พรรคซึ่งได้รับคะแนนเสียงอันดับที่ 1 ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ และคำถามพ่วงที่ว่านี้คือ
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
คำถามพ่วงนี้ เป็นคำถามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยการรับฟังความเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอขึ้นมา ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 39/1 วรรคเจ็ด ซึ่งสมาชิก สปท. จำนวนมากได้เข้ามาดำรงตำแหน่งวุฒิสภาชุดปัจจุบันด้วย เช่น นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายวันชัย สอนศิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น
การให้ความเห็นชอบในการทำประชามติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่จึงมีความสำคัญยิ่งยวด แน่นอน เป็นที่ทราบกันทั่วว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาตั้งแต่ต้น การแก้ไขก็ยากลำบาก การลงมติสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพียงแค่เข้าคูหาโหวตเห็นชอบจึงไม่เพียงพอ หากคำถามประชามติในครั้งแรกกำกวม ไม่ตรงประเด็น หรือมีความชี้นำ อาจทำให้คนไทยได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ ‘ไม่ตรงปก’ ก็ได้ และอาจจะต้องต่อสู้ยืดเยื้อกันอีก
ดังนั้น ‘คำถามประชามติ’ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่ต้นจนจบ มีที่มา กระบวนการ เนื้อหา ที่สนองตอบต่อฉันทามติของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย (ที่แท้จริง)