“ในปีที่แล้วชาวอังกฤษมากกว่า 500 คน ต้องเสียชีวิตหลังจากรอรถพยาบาลนานเกินไป”
“3 ใน 10 ของเจ้าหน้าที่ NHS กำลังใคร่ครวญถึงการลาออก”
“วันแห่งความเลวร้ายของ NHS เมื่อพยาบาลและพนักงานการแพทย์ฉุกเฉินประท้วงวันเดียวกัน”
พาดหัวข่าวที่สะท้อนให้เห็นวิกฤตของระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ (National Health Service: NHS) ที่ปรากฏในสื่ออังกฤษเป็นระยะตั้งแต่กลางปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ ไม่เพียงสั่นคลอนความมั่นใจของชาวอังกฤษ แต่ยังสั่นสะเทือนไปถึงความมั่นคงของระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้าในอีกหลายประเทศที่ยึด NHS เป็นต้นแบบ
NHS ถือกำเนิดในปี 1948 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน บนหลักการพื้นฐานสำคัญ 3 ประการ 1) ให้บริการสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมทุกคนที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมาย 2) ให้บริการเบ็ดเสร็จครอบคลุมทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ 3) ครอบคลุมทุกชนชั้น ไม่มีการเก็บค่ารักษาพยาบาล ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นไร
NHS จึงเป็นความภูมิใจของชาวอังกฤษมาโดยตลอด ถึงขนาดในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 2012 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ ยังมีการแสดง แสง สี และเสียง ที่สรรเสริญความดีงามของ NHS ให้ชาวโลกได้รับรู้ และชาวอังกฤษเป็นประชากรไม่กี่ประเทศบนโลกใบนี้ที่เต็มใจจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้เงินภาษีของพวกเขาถูกนำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการสาธารณสุขของประเทศตนเอง และปฏิเสธการซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว
แต่แล้วในปี 2022 บริษัทประกันสุขภาพหลายแห่งกลับพบว่าตนเองมีลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ BUPA บริษัทประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่สำคัญรายหนึ่งระบุว่า เฉพาะปี 2022 ปีเดียว บริษัทมีลูกค้าใหม่ถึงกว่า 150,000 คน ขณะที่คู่แข่งอย่าง Vitality Health ก็มีลูกค่าเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ยอดลูกค้ารวมของบริษัทสูงกว่า 900,000 คนแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง Cleveland Clinic เครือธุรกิจผู้ให้บริการสุขภาพรายใหญ่จากอเมริกาวางแผนเปิดสถานพยาบาลแห่งที่ 3 ในกรุงลอนดอนช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพิ่งเปิดโรงพยาบาลขนาด 184 เตียง และคลินิกขนาดใหญ่ที่เป็นอาคาร 6 ชั้น เมื่อปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ และ HCA Healthcare ที่มีสถานพยาบาลในกรุงลอนดอนมากกว่า 30 แห่งแล้ว ก็เตรียมลงทุนกว่า 100 ล้านปอนด์ เพื่อเปิดโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งในเบอร์มิงแฮมภายในปีนี้เช่นกัน คาดการณ์ว่ากราฟตัวเลขของธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการสุขภาพปี 2023 จะยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การเติบโตของธุรกิจบริการสุขภาพภาคเอกชน เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความทุกข์ของผู้ป่วยในระบบ NHS เมื่อพวกเขาต้องรอคอยนานขึ้นกว่าจะได้รับบริการ มีข้อมูลตัวเลขปรากฏว่าเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คนป่วยในอังกฤษที่มีอาการไม่เร่งด่วนถึง 7.2 ล้านคน ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อรอคิวเข้ารับบริการภายใต้ระบบ ‘เลือกให้บริการตามความเร่งด่วน’ (elective care) ใครไม่ด่วนก็รอไป ไม่ด่วนในที่นี้หมายความรวมถึงผู้รอรับการเปลี่ยนหัวเข่า เปลี่ยนสะโพก รวมถึงการผ่าตัดหัวใจ การรักษามะเร็ง และศัลยกรรมประสาทด้วย โดยพบว่ากว่าครึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรอนานประมาณ 4-5 เดือน และมีผู้ป่วยมากกว่า 400,000 คน ต้องรอนานกว่า 1 ปี จากที่ป่วยเล็กน้อย ไม่เร่งด่วน กลายเป็นผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องลางานเพื่อรักษาตัวนานขึ้น เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวข้องกับหัวใจและรอคิวเข้ารับการรักษาอยู่ก็พบว่ามีจำนวนมากกว่า 340,000 คน
ไม่เพียงผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่ต้องรอนาน แต่ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องการบริการทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนก็ต้องถูกปล่อยให้รอนานด้วย เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้ป่วยฉุกเฉินกว่า 54,000 คน ต้องรอนานกว่า 12 ชั่วโมง จึงจะได้รับบริการทางการแทพย์ ขณะที่ผู้ป่วยภาวะหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตกที่ไม่ควรต้องรอรถพยาบาลนานเกิน 18 นาที ก็เริ่มต้องรอรถพยาบาลนานเกิน 90 นาที และผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องรับการรักษาในรถพยาบาลที่จอดอยู่หน้าโรงพยาบาล เนื่องจากเตียงเต็ม ไม่สามารถรับคนไข้เพิ่มได้
การหันหน้าไปพึ่งพาภาคเอกชนจึงเป็นการซื้อหลักประกันว่า เมื่อพวกเขาป่วยจะไม่ต้องรอนาน
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ จากความภูมิใจของชาติ NHS มาถึงจุดที่ต้องปล่อยให้ประชาชนรอคอย จนถูกประชาชนละทิ้งได้อย่างไร
การบริหารที่ผิดพลาดในนามของการเพิ่ม ‘ประสิทธิภาพ’
ปัญหาประสิทธิภาพที่ลดลงของ NHS ไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น หากเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และหายไป สลับกันอยู่เป็นระยะ ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และขึ้นอยู่กับใครเป็นรัฐบาลขณะนั้น โดยในปี 1997 เมื่อพรรคแรงงานเข้ามาบริหารประเทศ เม็ดเงินจำนวนมากถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบ NHS สามารถเพิ่มบุคลากรได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน แต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2007-2008 ทำให้การเลือกตั้งในปี 2010 ชาวอังกฤษเปิดประตูรับพรรคอนุรักษนิยมเข้ามาเป็นรัฐบาลผสม และงบประมาณของ NHS ก็ถูกตัดอย่างมโหฬาร จนถึงกับมีการระงับการจ่ายเงินเดือนบุคลากร
Health Foundation องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นในอังกฤษ ระบุว่าในช่วง 2010-2019 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของระบบสุขภาพของอังกฤษอยู่ที่ 3,005 ปอนด์ (ประมาณ 125,855 บาท) /คน/ปี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปในขณะนั้นซึ่งอยู่ที่ 3,655 ปอนด์ (ประมาณ 153,000 บาท) /คน/ปี ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองยังเป็นช่วงที่อังกฤษมีเครื่อง MRT และ CT Scan ต่อหัวประชากรน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD หมายความว่าคนป่วยและบุคลากรต้องรอนานขึ้นกว่าจะได้ใช้งานเครื่องนี้
สิ่งสำคัญคือมีความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของ NHS ด้วยการลดจำนวนเตียง จนทำให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลของรัฐหายไปกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่แล้ว คือ จาก 299,000 เตียง ในปี 1987 ลดลงมาอยู่ที่ 141,000 เตียง ในปี 2019
ศิวะ อนันตชีวา (Siva Anandiciva) นักวิเคราะห์แห่ง King’s Fund หน่วยงานวิจัยอิสระที่ทำหน้าที่เป็นคลังสมอง (Think Tank) ของอังกฤษ วิเคราะห์ว่าการลดลงของจำนวนเตียงเกิดจาก 2 สาเหตุ สาเหตุแรก เป็นผลจากการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่เมื่อเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ผู้ป่วยก็ใช้เวลาในโรงพยาบาลน้อยลง ความต้องการเตียงจึงลดลง ซึ่งการลดจำนวนเตียงด้วยเหตุผลนี้ถูกมองว่าเป็นสัญญาณของการมีระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1997-2010 เมื่ออังกฤษประสบวิกฤตทางการเงินเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รัฐบาลพรรคแรงงานในขณะนั้นจึงเลือกลดจำนวนเตียงในโรงพยาบาลลงไปอีก เพื่อนำเงินไปลงทุนด้านอื่นแทน ซึ่งศิวะมองว่าการเร่งลดจำนวนเตียงจนไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนต่อประชากรเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลด้านลบต่อระบบ
“คุณสามารถลดจำนวนวันที่ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาลได้ แต่สุดท้ายการลดเช่นนี้จะมาถึงจุดต่ำสุดที่ลดต่อไปไม่ได้ แต่คุณกลับยังคงลดจำนวนเตียงลงอยู่…แล้วมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาประสิทธิภาพของระบบ” ศิวะกล่าว
ในช่วงปีที่เศรษฐกิจรัดตัวนั้น การลดจำนวนเตียงยังคงดำเนินต่อไป ทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่มีจำนวนเตียงต่อหัวประชากรน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศ โดยพบว่าตัวเลขในปัจจุบันของจำนวนเตียงอยู่ที่ 2 เตียงต่อประชากร 1,000 คน และมีเตียงผู้ป่วยหอวิกฤตอยู่ที่ 6 เตียง ต่อประชากร 100,000 คน นับเป็นสัดส่วนที่ต่ำสุดในกลุ่มประเทศ OECD
ความวิตกของศิวะเป็นความจริงอันน่าโหดร้าย เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนเตียงที่น้อยอย่างไม่ได้สัดส่วนกับประชากร ทำให้ NHS ไม่มีความพร้อมในการรับมือวิกฤตครั้งนี้ เมื่อผนวกกับความผิดพลาดและความไม่สนใจบริหารจัดการสถานการณ์อย่างจริงจังของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการเมืองอย่างการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มากกว่า และการประกาศใช้หลักการภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) หรือการปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้างเพื่อให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ทำให้อังกฤษมียอดผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในช่วงเวลาหนึ่ง เตียงในโรงพยาบาลซึ่งมีจำกัดต้องถูกกันไว้สำหรับผู้ติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคอื่นถูกเลื่อนการรักษาออกไป จนคิวยาวกลายเป็นวิกฤตในปัจจุบัน
มีตัวเลขประมาณการว่า ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลาดของระบบสุขภาพภาคเอกชนในอังกฤษขยายตัวขึ้น 2 เท่า จนมีลูกค้าแตะ 15 ล้านคน และเริ่มมีเสียงหวั่นวิตกว่าระบบบริการสุขภาพในอังกฤษกำลังจะกลายเป็น 2 ระบบ ใครรอได้และมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้อก็อยู่กับ NHS ต่อไป ใครไม่อยากรอและสามารถควักกระเป๋าได้ก็หันหน้าหาภาคเอกชนหรือซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว ความรู้สึกว่าการจ่ายภาษีและเงินประกันสังคมเพื่อรักษาระบบสุขภาพกลายเป็นภาระทางการเงินเริ่มดังขึ้นในใจชาวอังกฤษมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะประสิทธิภาพของ NHS ลดลงอย่างต่อเนื่อง
บุคลากร: เมื่องานที่รักและภาคภูมิใจกลายเป็นภาระ ก็ต้องช่างมันฉันไม่ทน
NHS ได้ชื่อว่าเป็นตลาดงานที่ใหญ่ในทวีปยุโรป มีบุคลากรรวมถึง 1.2 ล้านคน เป็นองค์กรที่มีฐานะทางการเงินเข้มแข็งด้วยเงินภาษีจากรัฐบาล แต่ตัวเลขล่าสุดในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาพบว่า ตลาดงานที่มั่นคงและเป็นความภาคภูมิใจของประเทศแห่งนี้มีตำแหน่งว่างถึง 133,000 ตำแหน่ง แพทย์ของ NHS ลาออกไปต่างประเทศกันมากขึ้น ประเทศเป้าหมายคือประเทศที่จ่ายค่าตอบแทนให้ดีกว่า มีสภาพแวดล้อมในการทำงานดีกว่า โดยเฉพาะออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา เป็น 3 ประเทศหลักที่รองรับแพทย์ของ NHS ในปัจจุบัน
“ถ้าเดินเข้าไปในโรงพยาบาลตอนเช้า สิ่งที่เราจะพบคือเสียงบ่น ด้วยความไม่พอใจของผู้ป่วยที่ต้องยืนรอคิวกันตามทางเดิน แล้วเราทำอะไรกับมันไม่ได้ นอกจากรู้สึกแย่ เรากำลังสู้กับระบบที่กำลังล่มสลาย…เมื่อไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นได้ บุคลากรทางการแพทย์ก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า จะออกไปจากจุดที่อยู่ตรงนี้ดีไหม” แพทย์คนหนึ่งจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอีสท์ ลอนดอน กล่าว
สถานการณ์ในปัจจุบันไม่เพียงแพทย์ที่มีอายุการทำงานนานจะพากันย้ายออกจากระบบ แต่แพทย์ที่เพิ่งเรียนจบไม่นานก็กำลังพิจารณาถึงอนาคตของตนเองเช่นกัน แพทย์หญิงอายุน้อยคนหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ในแมนเชสเตอร์ให้สัมภาษณ์ CNN เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เธอตัดสินใจแล้วว่าซัมเมอร์นี้จะย้ายไปทำงานที่ออสเตรเลีย โดยก่อนหน้านี้มีเพื่อนเธอ 6 คน ย้ายไปแล้ว ทำให้ในกลุ่มเพื่อนแพทย์ที่เธอทำงานด้วย 8 คน จะเหลืออยู่กับ NHS ของอังกฤษเพียง 1 คน
การตัดสินใจละทิ้งระบบบริการสุขภาพของอังกฤษเป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวดมากสำหรับแพทย์อายุน้อยหลายคน
“ฉันคิดถึงเพื่อนสนิทของฉัน ถ้าฉันไปทำงานในประเทศอื่น และให้การรักษาเพื่อนสนิทของคนอื่น ในขณะที่เพื่อนสนิทของตัวเองต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อจะได้พบหมอในอังกฤษ มันเป็นเรื่องสะเทือนใจมาก” อิลลิดห์ การ์เร็ตต์ (Eilidh Garrett) นักศึกษาแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลกล่าวกับ CNN
ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักบุคลากรออกจากระบบ นอกจากการไม่สามารถทำหน้าที่ของแพทย์ได้เต็มที่แล้ว ยังมีเรื่องของภาระงานที่มากเกิน ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า ความเครียด การขาดขวัญกำลังใจ และการได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม โดยพบว่า ค่าตอบแทนบุคลากรในสายวิชาชีพของ NHS ถูกแช่แข็งไม่มีการปรับขึ้น จนไม่สอดคล้องกับอัตราภาวะเงินเฟ้อมานานกว่า 15 ปีแล้ว และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 บุคลากรด้านการแพทย์ของ NHS ประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ ติดเชื้อ หรือต้องถูกกักตัวเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เป็นอัตราการติดเชื้อของบุคคลกรที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากระบบ
สวัสดิการสังคม (Social Care) ความเชื่อมโยงที่ไม่เชื่อมต่อ
การขาดแคลนเตียงในโรงพยาบาล จนเป็นผลทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน นอกจากจำนวนเตียงที่ถูกลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นผลมาจากความไม่เข้มแข็งของระบบสวัสดิการสังคมในอังกฤษ โดยพบว่าเตียงจำนวนมากถูกยึดครองโดยผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องรับบริการทางการแพทย์ในฐานะผู้ป่วยใน แต่ระบบไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีที่ไป
“เคสผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องรับบริการในระบบแล้ว แต่ยังต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพราะไม่มีที่ไปนานที่สุดที่เราเคยพบคือ 4 สัปดาห์ เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากระบบสวัสดิการสังคม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ต่อในโรงพยาบาล เพราะที่บ้านไม่มีระบบการดูแลที่ดีไว้รองรับ หรือไม่มีบ้านพักให้เขาไปอยู่ ทำให้เราไม่สามารถจำหน่ายพวกเขาออกได้อย่างปลอดภัย” นายแพทย์อันกัส ลิฟวิงสโตน (Angus Livingstone) แพทย์ประจำโรงพยาบาลจอห์น เรดคลิฟท์ ในออกซ์ฟอร์ด กล่าว
ในอังกฤษระบบบริการสุขภาพกับสวัสดิการสังคมถูกแยกออกจากกัน ระบบบริการสุขภาพอยู่ภายใต้การดูแลของ NHS แต่สวัสดิการสังคมเป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่ได้เป็นบริการฟรี ผู้รับบริการต้องผ่านการคัดเลือกและร่วมชำระค่ารับบริการ ทำให้ 2 ระบบที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่เชื่อมต่อกัน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการเรียกร้องให้บูรณาการระบบสุขภาพกับสวัสดิการสังคมเข้าด้วยกัน เพื่อไม่ให้วิกฤตของระบบหนึ่งไปก่อผลให้อีกระบบหนึ่งวิกฤตตามไปด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ระบบสวัสดิการสังคมของอังกฤษไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่จำนวนประชากรสูงวัยที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมมีเพิ่มมากขึ้น แต่งานด้านสวัสดิการสังคมกลับขาดแคลนบุคลากร เพราะเป็นงานที่เหนื่อยและรายได้น้อย โดยพบว่าค่าตอบแทนรายชั่วโมงของงานด้านสวัสดิการสังคมน้อยกว่าค่าตอบแทนของพนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ต
King’s Fund รายงานตัวเลขในเดือนสิงหาคม 2022 ว่า ตำแหน่งงานด้านสวัสดิการสังคมว่างถึง 165,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้งบประมาณในด้านการจัดระบบการดูแลสวัสดิการสังคมในภาพรวมก็ลดน้อยลง ทำให้ไม่สามารถจัดระบบรองรับผู้ที่ต้องการสวัสดิการสังคมได้อย่างเต็มที่
“ถ้านำเตียงจำนวนมากมายมหาศาลที่ทุกวันนี้ถูกครอบครองโดยผู้ป่วยที่ต้องการสวัสดิการสังคมคืนให้ระบบได้ ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและอุบัติเหตุได้ทันที รถพยาบาลที่จอดรอผู้ป่วยอยู่ด้านนอกโรงพยาบาลก็จะหมดไปทันที” ที่ปรึกษาโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในระบบ NHS กล่าว โดยอ้างถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่รถพยาบาลเมื่อรับผู้ป่วยฉุกเฉินแล้วไม่สามารถหาโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยได้ เพราะทุกแห่งเตียงเต็ม ทำให้ต้องจอดรอหน้าโรงพยาบาล จนนำสู่การประท้วงของเจ้าหน้าที่รถพยาบาลในต้นเดือนมีนาคม
ตัวเลขจากสมาพันธ์ NHS (NHS Confederation) แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ถูกจำหน่ายออกไปเพียง 39.9 เปอร์เซ็นต์ และในแต่ละวันมีเตียงมากกว่า 134,000 เตียง ถูกครอบครองโดยผู้ป่วยที่ควรพร้อมออกจากโรงพยาบาล แต่ออกไม่ได้เพราะไม่มีการรองรับด้านสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาว
“ถ้าถามว่าควรต้องเอาเงินไปลงตรงไหนของ NHS เพื่อแก้วิกฤตนี้ ผมตอบได้ทันทีว่า NHS ไม่ได้ต้องการเงิน แต่สวัสดิการสังคมต่างหากที่ต้องการเงิน” ที่ปรึกษาโรงพยาบาลที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว
อัดฉีดเงินเข้าระบบ วงจรแก้ปัญหาแบบเดิม
แม้วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้จะถูกมองว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของ NHS และมีสัญญาณหลายอย่างสื่อถึงการเข้าใกล้ภาวะล่มสลายหากไม่มีการปรับโครงสร้างของระบบ แต่รัฐบาลอังกฤษก็เลือกแก้วิกฤตด้วยวิถีทางเดิมๆ คือการอัดเงินเพิ่มเข้าไปในระบบบริการสุขภาพ โดยละเลยการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม
ภายหลังการประท้วงของเจ้าหน้าที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคม อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประท้วงของพยาบาลทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษได้ประกาศเพิ่มงบประมาณให้ NHS อีก 250 ล้านปอนด์ (ประมาณ 10,400 ล้านบาท) พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้กองทุนส่งกลับผู้ป่วย (Discharged Fund) อีก 500 ล้านปอนด์ (ประมาณ 20,800 ล้านบาท) เพื่อลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาล และให้สามารถจำหน่ายผู้ป่วยออกได้เร็วขึ้น โดยหวังว่าจะสามารถลดแรงกดดันในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินได้ และปลดล็อกการส่งต่อผู้ป่วยจากรถพยาบาลให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้
ขณะที่การเจรจากับวิชาชีพพยาบาลยังไม่ประสบความสำเร็จ นายกรัฐมนตรี ริซี ซูแน็ก (Rishi Sunak) ยื่นข้อเสนอการให้เงินค่าภาระงานที่หนักเป็นก้อนครั้งเดียว 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 42,000 บาท) ซึ่งฝ่ายวิชาชีพไม่ยอมรับ
“ทั้งหมดนั้นมันก็เหมือนเอาพลาสเตอร์ไปปิดไว้ มีแต่สร้างความหดหู่ใจให้เรา” บุคลากรของ NHS ผู้หนึ่งกล่าวกับ The Guardian
หรือจะถึงเวลาแล้วที่ NHS ต้องก้าวออกจากความภาคภูมิใจ
วิกฤตใน NHS ไม่เพียงถูกจับจ้องโดยประชาชนในอังกฤษและสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่สื่อหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป พากันรายงานข่าวด้วยสายตาแห่งความห่วงใย Die Welt หนังสือพิมพ์ระดับชาติของเยอรมนี เขียนถึงการประท้วงของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินและพยาบาลครั้งล่าสุดด้วยพาดหัวว่า Grossbritannien: Ein Gesundheitssystem vor dem Kollaps (สหราชอาณาจักร: ระบบสุขภาพกำลังล่มสลาย) โดยเนื้อหานอกจากรายงานสถานการณ์แล้ว ยังวิเคราะห์ไปถึงจุดอ่อนของระบบที่ยังคงยึดติดการรวมศูนย์อำนาจ และระบบราชการของอังกฤษที่ใหญ่โตอุ้ยอ้าย โดยระบุว่า “อาจจะถึงเวลาแล้วที่อังกฤษต้องหันมานำระบบสุขภาพของเยอรมนีไปปรับใช้”
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์และบรรดาคอลัมนิสต์ในอังกฤษเองก็พูดถึงรูปแบบของระบบบริการสุขภาพในประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการจัดบริการการดูแลระยะยาว (long term care) ให้กับผู้สูงอายุที่หลายประเทศจัดให้มีขึ้นแล้ว โดยส่วนใหญ่จะตั้งกองทุนแยกจากระบบบริการการแพทย์ปกติ แต่ยังไม่เกิดขึ้นในระบบบริการสุขภาพของอังกฤษที่ยังคงรวมการดูแลระยะยาวของผู้สูงอายุไว้ใน NHS หรือระบบการบริหารจัดการงบประมาณและบริการด้านสุขภาพของออสเตรเลีย ที่ดึงภาคธุรกิจการประกันสุขภาพเข้ามามีส่วนร่วมในระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกเลือกปฏิบัติจากระบบสุขภาพของประเทศ
แม้ NHS จะเป็นความภูมิใจ แต่เสียงเรียกร้องให้ NHS ยอมรับการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมในอังกฤษเองก็ดังมากขึ้น
“ความท้าทายประการหนึ่งของสหราชอาณาจักรคือ เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงการปฏิรูป NHS เราก็จะมองกันแต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลของ NHS ซึ่งที่จริงแล้วเป็นมิติเดียวของการดูแลสุขภาพ เราต้องก้าวออกไปดูระบบสุขภาพนอกโรงพยาบาลด้วย มองเข้าไปในชุมชน ขยายมุมมองไปสู่สิ่งต่างๆ ที่สนับสนุนสุขภาพของเรา มองไปรอบๆ อาหารการกิน กิจกรรมที่เราทำ หรือแม้แต่คุณภาพของที่อยู่อาศัย” แซลลี วอร์เรน (Sally Warren) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ King’s Fund กล่าวกับผู้สื่อข่าว The Guardian
อ้างอิง
Sick man of Europe: why the crisis-ridden NHS is falling apart
Britain’s NHS was once idolized. Now its worst-ever crisis is fueling a boom in private health care
Why is Britain’s health service, a much-loved national treasure falling apart?