NHS ระบบสุขภาพอังกฤษ 75 ปีของความภาคภูมิใจสู่ภาวะล่มสลาย

“ในปีที่แล้วชาวอังกฤษมากกว่า 500 คน ต้องเสียชีวิตหลังจากรอรถพยาบาลนานเกินไป”

“3 ใน 10 ของเจ้าหน้าที่ NHS กำลังใคร่ครวญถึงการลาออก”

“วันแห่งความเลวร้ายของ NHS เมื่อพยาบาลและพนักงานการแพทย์ฉุกเฉินประท้วงวันเดียวกัน”

พาดหัวข่าวที่สะท้อนให้เห็นวิกฤตของระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ (National Health Service: NHS) ที่ปรากฏในสื่ออังกฤษเป็นระยะตั้งแต่กลางปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ ไม่เพียงสั่นคลอนความมั่นใจของชาวอังกฤษ แต่ยังสั่นสะเทือนไปถึงความมั่นคงของระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้าในอีกหลายประเทศที่ยึด NHS เป็นต้นแบบ

NHS ถือกำเนิดในปี 1948 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน บนหลักการพื้นฐานสำคัญ 3 ประการ 1) ให้บริการสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมทุกคนที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมาย 2) ให้บริการเบ็ดเสร็จครอบคลุมทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ 3) ครอบคลุมทุกชนชั้น ไม่มีการเก็บค่ารักษาพยาบาล ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นไร 

NHS จึงเป็นความภูมิใจของชาวอังกฤษมาโดยตลอด ถึงขนาดในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 2012 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ ยังมีการแสดง แสง สี และเสียง ที่สรรเสริญความดีงามของ NHS ให้ชาวโลกได้รับรู้ และชาวอังกฤษเป็นประชากรไม่กี่ประเทศบนโลกใบนี้ที่เต็มใจจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้เงินภาษีของพวกเขาถูกนำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการสาธารณสุขของประเทศตนเอง และปฏิเสธการซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว

แต่แล้วในปี 2022 บริษัทประกันสุขภาพหลายแห่งกลับพบว่าตนเองมีลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ BUPA บริษัทประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่สำคัญรายหนึ่งระบุว่า เฉพาะปี 2022 ปีเดียว บริษัทมีลูกค้าใหม่ถึงกว่า 150,000 คน ขณะที่คู่แข่งอย่าง Vitality Health ก็มีลูกค่าเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ยอดลูกค้ารวมของบริษัทสูงกว่า 900,000 คนแล้ว 

ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง Cleveland Clinic เครือธุรกิจผู้ให้บริการสุขภาพรายใหญ่จากอเมริกาวางแผนเปิดสถานพยาบาลแห่งที่ 3 ในกรุงลอนดอนช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพิ่งเปิดโรงพยาบาลขนาด 184 เตียง และคลินิกขนาดใหญ่ที่เป็นอาคาร 6 ชั้น เมื่อปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ และ HCA Healthcare ที่มีสถานพยาบาลในกรุงลอนดอนมากกว่า 30 แห่งแล้ว ก็เตรียมลงทุนกว่า 100 ล้านปอนด์ เพื่อเปิดโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งในเบอร์มิงแฮมภายในปีนี้เช่นกัน คาดการณ์ว่ากราฟตัวเลขของธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการสุขภาพปี 2023 จะยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเติบโตของธุรกิจบริการสุขภาพภาคเอกชน เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความทุกข์ของผู้ป่วยในระบบ NHS เมื่อพวกเขาต้องรอคอยนานขึ้นกว่าจะได้รับบริการ มีข้อมูลตัวเลขปรากฏว่าเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คนป่วยในอังกฤษที่มีอาการไม่เร่งด่วนถึง 7.2 ล้านคน ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อรอคิวเข้ารับบริการภายใต้ระบบ ‘เลือกให้บริการตามความเร่งด่วน’ (elective care) ใครไม่ด่วนก็รอไป ไม่ด่วนในที่นี้หมายความรวมถึงผู้รอรับการเปลี่ยนหัวเข่า เปลี่ยนสะโพก รวมถึงการผ่าตัดหัวใจ การรักษามะเร็ง และศัลยกรรมประสาทด้วย โดยพบว่ากว่าครึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรอนานประมาณ 4-5 เดือน และมีผู้ป่วยมากกว่า 400,000 คน ต้องรอนานกว่า 1 ปี จากที่ป่วยเล็กน้อย ไม่เร่งด่วน กลายเป็นผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องลางานเพื่อรักษาตัวนานขึ้น เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวข้องกับหัวใจและรอคิวเข้ารับการรักษาอยู่ก็พบว่ามีจำนวนมากกว่า 340,000 คน

ไม่เพียงผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่ต้องรอนาน แต่ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องการบริการทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนก็ต้องถูกปล่อยให้รอนานด้วย เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้ป่วยฉุกเฉินกว่า 54,000 คน ต้องรอนานกว่า 12 ชั่วโมง จึงจะได้รับบริการทางการแทพย์ ขณะที่ผู้ป่วยภาวะหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตกที่ไม่ควรต้องรอรถพยาบาลนานเกิน 18 นาที ก็เริ่มต้องรอรถพยาบาลนานเกิน 90 นาที และผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องรับการรักษาในรถพยาบาลที่จอดอยู่หน้าโรงพยาบาล เนื่องจากเตียงเต็ม ไม่สามารถรับคนไข้เพิ่มได้ 

การหันหน้าไปพึ่งพาภาคเอกชนจึงเป็นการซื้อหลักประกันว่า เมื่อพวกเขาป่วยจะไม่ต้องรอนาน

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ จากความภูมิใจของชาติ NHS มาถึงจุดที่ต้องปล่อยให้ประชาชนรอคอย จนถูกประชาชนละทิ้งได้อย่างไร

การบริหารที่ผิดพลาดในนามของการเพิ่ม ‘ประสิทธิภาพ’ 

ปัญหาประสิทธิภาพที่ลดลงของ NHS ไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น หากเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และหายไป สลับกันอยู่เป็นระยะ ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และขึ้นอยู่กับใครเป็นรัฐบาลขณะนั้น โดยในปี 1997 เมื่อพรรคแรงงานเข้ามาบริหารประเทศ เม็ดเงินจำนวนมากถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบ NHS สามารถเพิ่มบุคลากรได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน แต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2007-2008 ทำให้การเลือกตั้งในปี 2010 ชาวอังกฤษเปิดประตูรับพรรคอนุรักษนิยมเข้ามาเป็นรัฐบาลผสม และงบประมาณของ NHS ก็ถูกตัดอย่างมโหฬาร จนถึงกับมีการระงับการจ่ายเงินเดือนบุคลากร 

Health Foundation องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นในอังกฤษ ระบุว่าในช่วง 2010-2019 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของระบบสุขภาพของอังกฤษอยู่ที่ 3,005 ปอนด์ (ประมาณ 125,855 บาท) /คน/ปี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปในขณะนั้นซึ่งอยู่ที่ 3,655 ปอนด์ (ประมาณ 153,000 บาท) /คน/ปี ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองยังเป็นช่วงที่อังกฤษมีเครื่อง MRT และ CT Scan ต่อหัวประชากรน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD หมายความว่าคนป่วยและบุคลากรต้องรอนานขึ้นกว่าจะได้ใช้งานเครื่องนี้ 

สิ่งสำคัญคือมีความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของ NHS ด้วยการลดจำนวนเตียง จนทำให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลของรัฐหายไปกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่แล้ว คือ จาก 299,000 เตียง ในปี 1987 ลดลงมาอยู่ที่ 141,000 เตียง ในปี 2019 

ศิวะ อนันตชีวา (Siva Anandiciva) นักวิเคราะห์แห่ง King’s Fund หน่วยงานวิจัยอิสระที่ทำหน้าที่เป็นคลังสมอง (Think Tank) ของอังกฤษ วิเคราะห์ว่าการลดลงของจำนวนเตียงเกิดจาก 2 สาเหตุ สาเหตุแรก เป็นผลจากการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่เมื่อเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ผู้ป่วยก็ใช้เวลาในโรงพยาบาลน้อยลง ความต้องการเตียงจึงลดลง ซึ่งการลดจำนวนเตียงด้วยเหตุผลนี้ถูกมองว่าเป็นสัญญาณของการมีระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1997-2010 เมื่ออังกฤษประสบวิกฤตทางการเงินเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รัฐบาลพรรคแรงงานในขณะนั้นจึงเลือกลดจำนวนเตียงในโรงพยาบาลลงไปอีก เพื่อนำเงินไปลงทุนด้านอื่นแทน ซึ่งศิวะมองว่าการเร่งลดจำนวนเตียงจนไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนต่อประชากรเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลด้านลบต่อระบบ

“คุณสามารถลดจำนวนวันที่ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาลได้ แต่สุดท้ายการลดเช่นนี้จะมาถึงจุดต่ำสุดที่ลดต่อไปไม่ได้ แต่คุณกลับยังคงลดจำนวนเตียงลงอยู่…แล้วมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาประสิทธิภาพของระบบ” ศิวะกล่าว

ในช่วงปีที่เศรษฐกิจรัดตัวนั้น การลดจำนวนเตียงยังคงดำเนินต่อไป ทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่มีจำนวนเตียงต่อหัวประชากรน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศ โดยพบว่าตัวเลขในปัจจุบันของจำนวนเตียงอยู่ที่ 2 เตียงต่อประชากร 1,000 คน และมีเตียงผู้ป่วยหอวิกฤตอยู่ที่ 6 เตียง ต่อประชากร 100,000 คน นับเป็นสัดส่วนที่ต่ำสุดในกลุ่มประเทศ OECD

ความวิตกของศิวะเป็นความจริงอันน่าโหดร้าย เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนเตียงที่น้อยอย่างไม่ได้สัดส่วนกับประชากร ทำให้ NHS ไม่มีความพร้อมในการรับมือวิกฤตครั้งนี้ เมื่อผนวกกับความผิดพลาดและความไม่สนใจบริหารจัดการสถานการณ์อย่างจริงจังของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการเมืองอย่างการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มากกว่า และการประกาศใช้หลักการภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) หรือการปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้างเพื่อให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ทำให้อังกฤษมียอดผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในช่วงเวลาหนึ่ง เตียงในโรงพยาบาลซึ่งมีจำกัดต้องถูกกันไว้สำหรับผู้ติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคอื่นถูกเลื่อนการรักษาออกไป จนคิวยาวกลายเป็นวิกฤตในปัจจุบัน 

มีตัวเลขประมาณการว่า ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลาดของระบบสุขภาพภาคเอกชนในอังกฤษขยายตัวขึ้น 2 เท่า จนมีลูกค้าแตะ 15 ล้านคน และเริ่มมีเสียงหวั่นวิตกว่าระบบบริการสุขภาพในอังกฤษกำลังจะกลายเป็น 2 ระบบ ใครรอได้และมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้อก็อยู่กับ NHS ต่อไป ใครไม่อยากรอและสามารถควักกระเป๋าได้ก็หันหน้าหาภาคเอกชนหรือซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว ความรู้สึกว่าการจ่ายภาษีและเงินประกันสังคมเพื่อรักษาระบบสุขภาพกลายเป็นภาระทางการเงินเริ่มดังขึ้นในใจชาวอังกฤษมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะประสิทธิภาพของ NHS ลดลงอย่างต่อเนื่อง

บุคลากร: เมื่องานที่รักและภาคภูมิใจกลายเป็นภาระ ก็ต้องช่างมันฉันไม่ทน

NHS ได้ชื่อว่าเป็นตลาดงานที่ใหญ่ในทวีปยุโรป มีบุคลากรรวมถึง 1.2 ล้านคน เป็นองค์กรที่มีฐานะทางการเงินเข้มแข็งด้วยเงินภาษีจากรัฐบาล แต่ตัวเลขล่าสุดในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาพบว่า ตลาดงานที่มั่นคงและเป็นความภาคภูมิใจของประเทศแห่งนี้มีตำแหน่งว่างถึง 133,000 ตำแหน่ง แพทย์ของ NHS ลาออกไปต่างประเทศกันมากขึ้น ประเทศเป้าหมายคือประเทศที่จ่ายค่าตอบแทนให้ดีกว่า มีสภาพแวดล้อมในการทำงานดีกว่า โดยเฉพาะออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา เป็น 3 ประเทศหลักที่รองรับแพทย์ของ NHS ในปัจจุบัน 

“ถ้าเดินเข้าไปในโรงพยาบาลตอนเช้า สิ่งที่เราจะพบคือเสียงบ่น ด้วยความไม่พอใจของผู้ป่วยที่ต้องยืนรอคิวกันตามทางเดิน แล้วเราทำอะไรกับมันไม่ได้ นอกจากรู้สึกแย่ เรากำลังสู้กับระบบที่กำลังล่มสลาย…เมื่อไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นได้ บุคลากรทางการแพทย์ก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า จะออกไปจากจุดที่อยู่ตรงนี้ดีไหม” แพทย์คนหนึ่งจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอีสท์ ลอนดอน กล่าว 

สถานการณ์ในปัจจุบันไม่เพียงแพทย์ที่มีอายุการทำงานนานจะพากันย้ายออกจากระบบ แต่แพทย์ที่เพิ่งเรียนจบไม่นานก็กำลังพิจารณาถึงอนาคตของตนเองเช่นกัน แพทย์หญิงอายุน้อยคนหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ในแมนเชสเตอร์ให้สัมภาษณ์ CNN เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เธอตัดสินใจแล้วว่าซัมเมอร์นี้จะย้ายไปทำงานที่ออสเตรเลีย โดยก่อนหน้านี้มีเพื่อนเธอ 6 คน ย้ายไปแล้ว ทำให้ในกลุ่มเพื่อนแพทย์ที่เธอทำงานด้วย 8 คน จะเหลืออยู่กับ NHS ของอังกฤษเพียง 1 คน 

การตัดสินใจละทิ้งระบบบริการสุขภาพของอังกฤษเป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวดมากสำหรับแพทย์อายุน้อยหลายคน

“ฉันคิดถึงเพื่อนสนิทของฉัน ถ้าฉันไปทำงานในประเทศอื่น และให้การรักษาเพื่อนสนิทของคนอื่น ในขณะที่เพื่อนสนิทของตัวเองต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อจะได้พบหมอในอังกฤษ มันเป็นเรื่องสะเทือนใจมาก” อิลลิดห์ การ์เร็ตต์ (Eilidh Garrett) นักศึกษาแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลกล่าวกับ CNN

ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักบุคลากรออกจากระบบ นอกจากการไม่สามารถทำหน้าที่ของแพทย์ได้เต็มที่แล้ว ยังมีเรื่องของภาระงานที่มากเกิน ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า ความเครียด การขาดขวัญกำลังใจ และการได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม โดยพบว่า ค่าตอบแทนบุคลากรในสายวิชาชีพของ NHS ถูกแช่แข็งไม่มีการปรับขึ้น จนไม่สอดคล้องกับอัตราภาวะเงินเฟ้อมานานกว่า 15 ปีแล้ว และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 บุคลากรด้านการแพทย์ของ NHS ประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ ติดเชื้อ หรือต้องถูกกักตัวเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เป็นอัตราการติดเชื้อของบุคคลกรที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากระบบ

สวัสดิการสังคม (Social Care) ความเชื่อมโยงที่ไม่เชื่อมต่อ

การขาดแคลนเตียงในโรงพยาบาล จนเป็นผลทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน นอกจากจำนวนเตียงที่ถูกลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นผลมาจากความไม่เข้มแข็งของระบบสวัสดิการสังคมในอังกฤษ โดยพบว่าเตียงจำนวนมากถูกยึดครองโดยผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องรับบริการทางการแพทย์ในฐานะผู้ป่วยใน แต่ระบบไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีที่ไป 

“เคสผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องรับบริการในระบบแล้ว แต่ยังต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพราะไม่มีที่ไปนานที่สุดที่เราเคยพบคือ 4 สัปดาห์ เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากระบบสวัสดิการสังคม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ต่อในโรงพยาบาล เพราะที่บ้านไม่มีระบบการดูแลที่ดีไว้รองรับ หรือไม่มีบ้านพักให้เขาไปอยู่ ทำให้เราไม่สามารถจำหน่ายพวกเขาออกได้อย่างปลอดภัย” นายแพทย์อันกัส ลิฟวิงสโตน (Angus Livingstone) แพทย์ประจำโรงพยาบาลจอห์น เรดคลิฟท์ ในออกซ์ฟอร์ด กล่าว

ในอังกฤษระบบบริการสุขภาพกับสวัสดิการสังคมถูกแยกออกจากกัน ระบบบริการสุขภาพอยู่ภายใต้การดูแลของ NHS แต่สวัสดิการสังคมเป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่ได้เป็นบริการฟรี ผู้รับบริการต้องผ่านการคัดเลือกและร่วมชำระค่ารับบริการ ทำให้ 2 ระบบที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่เชื่อมต่อกัน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการเรียกร้องให้บูรณาการระบบสุขภาพกับสวัสดิการสังคมเข้าด้วยกัน เพื่อไม่ให้วิกฤตของระบบหนึ่งไปก่อผลให้อีกระบบหนึ่งวิกฤตตามไปด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ระบบสวัสดิการสังคมของอังกฤษไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่จำนวนประชากรสูงวัยที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมมีเพิ่มมากขึ้น แต่งานด้านสวัสดิการสังคมกลับขาดแคลนบุคลากร เพราะเป็นงานที่เหนื่อยและรายได้น้อย โดยพบว่าค่าตอบแทนรายชั่วโมงของงานด้านสวัสดิการสังคมน้อยกว่าค่าตอบแทนของพนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ต 

King’s Fund รายงานตัวเลขในเดือนสิงหาคม 2022 ว่า ตำแหน่งงานด้านสวัสดิการสังคมว่างถึง 165,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้งบประมาณในด้านการจัดระบบการดูแลสวัสดิการสังคมในภาพรวมก็ลดน้อยลง ทำให้ไม่สามารถจัดระบบรองรับผู้ที่ต้องการสวัสดิการสังคมได้อย่างเต็มที่

“ถ้านำเตียงจำนวนมากมายมหาศาลที่ทุกวันนี้ถูกครอบครองโดยผู้ป่วยที่ต้องการสวัสดิการสังคมคืนให้ระบบได้ ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและอุบัติเหตุได้ทันที รถพยาบาลที่จอดรอผู้ป่วยอยู่ด้านนอกโรงพยาบาลก็จะหมดไปทันที” ที่ปรึกษาโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในระบบ NHS กล่าว โดยอ้างถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่รถพยาบาลเมื่อรับผู้ป่วยฉุกเฉินแล้วไม่สามารถหาโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยได้ เพราะทุกแห่งเตียงเต็ม ทำให้ต้องจอดรอหน้าโรงพยาบาล จนนำสู่การประท้วงของเจ้าหน้าที่รถพยาบาลในต้นเดือนมีนาคม 

ตัวเลขจากสมาพันธ์ NHS (NHS Confederation) แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ถูกจำหน่ายออกไปเพียง 39.9 เปอร์เซ็นต์ และในแต่ละวันมีเตียงมากกว่า 134,000 เตียง ถูกครอบครองโดยผู้ป่วยที่ควรพร้อมออกจากโรงพยาบาล แต่ออกไม่ได้เพราะไม่มีการรองรับด้านสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาว

“ถ้าถามว่าควรต้องเอาเงินไปลงตรงไหนของ NHS เพื่อแก้วิกฤตนี้ ผมตอบได้ทันทีว่า NHS ไม่ได้ต้องการเงิน แต่สวัสดิการสังคมต่างหากที่ต้องการเงิน” ที่ปรึกษาโรงพยาบาลที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว

อัดฉีดเงินเข้าระบบ วงจรแก้ปัญหาแบบเดิม

แม้วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้จะถูกมองว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของ NHS และมีสัญญาณหลายอย่างสื่อถึงการเข้าใกล้ภาวะล่มสลายหากไม่มีการปรับโครงสร้างของระบบ แต่รัฐบาลอังกฤษก็เลือกแก้วิกฤตด้วยวิถีทางเดิมๆ คือการอัดเงินเพิ่มเข้าไปในระบบบริการสุขภาพ โดยละเลยการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม 

ภายหลังการประท้วงของเจ้าหน้าที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคม อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประท้วงของพยาบาลทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษได้ประกาศเพิ่มงบประมาณให้ NHS อีก 250 ล้านปอนด์ (ประมาณ 10,400 ล้านบาท) พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้กองทุนส่งกลับผู้ป่วย (Discharged Fund) อีก 500 ล้านปอนด์ (ประมาณ 20,800 ล้านบาท) เพื่อลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาล และให้สามารถจำหน่ายผู้ป่วยออกได้เร็วขึ้น โดยหวังว่าจะสามารถลดแรงกดดันในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินได้ และปลดล็อกการส่งต่อผู้ป่วยจากรถพยาบาลให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้

ขณะที่การเจรจากับวิชาชีพพยาบาลยังไม่ประสบความสำเร็จ นายกรัฐมนตรี ริซี ซูแน็ก (Rishi Sunak) ยื่นข้อเสนอการให้เงินค่าภาระงานที่หนักเป็นก้อนครั้งเดียว 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 42,000 บาท) ซึ่งฝ่ายวิชาชีพไม่ยอมรับ

“ทั้งหมดนั้นมันก็เหมือนเอาพลาสเตอร์ไปปิดไว้ มีแต่สร้างความหดหู่ใจให้เรา” บุคลากรของ NHS ผู้หนึ่งกล่าวกับ The Guardian

หรือจะถึงเวลาแล้วที่ NHS ต้องก้าวออกจากความภาคภูมิใจ 

วิกฤตใน NHS ไม่เพียงถูกจับจ้องโดยประชาชนในอังกฤษและสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่สื่อหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป พากันรายงานข่าวด้วยสายตาแห่งความห่วงใย Die Welt หนังสือพิมพ์ระดับชาติของเยอรมนี เขียนถึงการประท้วงของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินและพยาบาลครั้งล่าสุดด้วยพาดหัวว่า Grossbritannien: Ein Gesundheitssystem vor dem Kollaps (สหราชอาณาจักร: ระบบสุขภาพกำลังล่มสลาย) โดยเนื้อหานอกจากรายงานสถานการณ์แล้ว ยังวิเคราะห์ไปถึงจุดอ่อนของระบบที่ยังคงยึดติดการรวมศูนย์อำนาจ และระบบราชการของอังกฤษที่ใหญ่โตอุ้ยอ้าย โดยระบุว่า “อาจจะถึงเวลาแล้วที่อังกฤษต้องหันมานำระบบสุขภาพของเยอรมนีไปปรับใช้”

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์และบรรดาคอลัมนิสต์ในอังกฤษเองก็พูดถึงรูปแบบของระบบบริการสุขภาพในประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการจัดบริการการดูแลระยะยาว (long term care) ให้กับผู้สูงอายุที่หลายประเทศจัดให้มีขึ้นแล้ว โดยส่วนใหญ่จะตั้งกองทุนแยกจากระบบบริการการแพทย์ปกติ แต่ยังไม่เกิดขึ้นในระบบบริการสุขภาพของอังกฤษที่ยังคงรวมการดูแลระยะยาวของผู้สูงอายุไว้ใน NHS หรือระบบการบริหารจัดการงบประมาณและบริการด้านสุขภาพของออสเตรเลีย ที่ดึงภาคธุรกิจการประกันสุขภาพเข้ามามีส่วนร่วมในระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกเลือกปฏิบัติจากระบบสุขภาพของประเทศ 

แม้ NHS จะเป็นความภูมิใจ แต่เสียงเรียกร้องให้ NHS ยอมรับการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมในอังกฤษเองก็ดังมากขึ้น 

“ความท้าทายประการหนึ่งของสหราชอาณาจักรคือ เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงการปฏิรูป NHS เราก็จะมองกันแต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลของ NHS ซึ่งที่จริงแล้วเป็นมิติเดียวของการดูแลสุขภาพ เราต้องก้าวออกไปดูระบบสุขภาพนอกโรงพยาบาลด้วย มองเข้าไปในชุมชน ขยายมุมมองไปสู่สิ่งต่างๆ ที่สนับสนุนสุขภาพของเรา มองไปรอบๆ อาหารการกิน กิจกรรมที่เราทำ หรือแม้แต่คุณภาพของที่อยู่อาศัย” แซลลี วอร์เรน (Sally Warren) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ King’s Fund กล่าวกับผู้สื่อข่าว The Guardian

อ้างอิง

Sick man of Europe: why the crisis-ridden NHS is falling apart

Britain’s NHS was once idolized. Now its worst-ever crisis is fueling a boom in private health care

Why is Britain’s health service, a much-loved national treasure falling apart?

London Olympic Ceremony

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

Author

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า