เกิด ‘สุญญากาศ’ เรื่องการอนุญาตให้จ่ายยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค (PrEP) และยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกรณีฉุกเฉิน (PEP) หลังหน่วยบริการด้านสาธารณสุขที่ไม่ใช่โรงพยาบาลจำนวนมากไม่กล้าตัดสินใจจ่ายยา PrEP และ PEP เพราะกลัวขัดต่อกฎหมายและนโยบายที่ไม่มีความชัดเจนของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ประเทศไทยเผชิญสภาวะเสี่ยงต่อเชื้อเอชไอวีมากขึ้น
ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม 2565 นายอนุทินในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่เซ็นอนุมัติ ‘หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566’ ที่ครอบคลุมการใช้งบประมาณสำหรับโครงการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ (Prevention and Promotion: PP) เนื่องจากเห็นว่า งบประมาณในโครงการ PP ไม่สมควรถูกใช้เพื่อสนับสนุนประชาชนนอกสิทธิบัตรทอง เช่น กลุ่มสวัสดิการข้าราชการและกลุ่มประกันสังคม จึงเกิดเป็นสภาวะสุญญากาศทางนโยบายการจ่ายยาขึ้น
ต่อมา วันที่ 28 ธันวาคม 2565 รมว.สาธารณสุข ลงนามในหลักเกณฑ์ดังกล่าว และให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทองจะมีสิทธิในการรับยา PrEP และ PEP ต่อเนื่องเช่นเดิม ส่วนประชาชนนอกสิทธิบัตรทองที่เข้ารับบริการจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลนั้น สปสช. จะเป็นผู้ประสานงานจัดหาบริการให้
แต่สภาวะสุญญากาศครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น เมื่อ สปสช. ยังคงชะลอการอนุมัติงบประมาณตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จำนวน 5,146.05 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรวมถึงค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วย
เดือนธันวาคมยังมีกรณีแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ อาทิ ชลบุรี พิษณุโลก และสงขลา ให้บุกจับหน่วยบริการด้านสาธารณสุขที่ไม่ใช่โรงพยาบาลแต่จ่ายยา PrEP และ PEP แก่ประชาชนที่มารับบริการจำนวนมาก การบุกจับเหล่านี้สร้างความหวาดกลัวแก่หน่วยบริการทั้งหลาย และบีบให้ประชาชนต้องเข้ารับยา PrEP และ PEP รวมไปถึงตรวจหาเชื้อเอชไอวีฟรีในโรงพยาบาลเท่านั้น และผู้เข้ารับบริการได้คือผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ปัญหาที่ตามมาคืออาจเกิดการตีตราผู้ป่วย และการรักษาความลับทางการแพทย์
วันที่ 10 มกราคม 2566 คลินิกที่ให้บริการด้านสุขภาพทางเพศอย่าง SWING Thailand กล่าวว่าจะงดให้จ่ายยา PrEP และ PEP เนื่องจากเสี่ยงที่จะทำผิดข้อกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมแนะนำให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคมย้ายไปรับบริการจากโรงพยาบาลหรือสถานบริการในระบบแทน เช่นเดียวกัน คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง รามคำแหง และเมืองชลบุรี ก็ยุติการให้บริการยาชนิดเดียวกันในวันที่ 9 มกราคม 2566
ภาวะสุญญากาศเช่นนี้จึงทำให้ประเทศไทยขาดการจ่ายยา PrEP และ PEP ชั่วขณะ จนกระทั่งเกิดเป็นการรณรงค์บน Change.org โดย TestBKK และแฮชแท็ก #PrEPต้องเข้าถึงได้#อย่าหยุดจ่ายPrEP#สุขภาพคือสิทธิ#HealthIsRights
ปัจจุบัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า แม้จะยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายว่า สิทธิในการรักษาและรับยาเหล่านี้จะจัดให้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้นหรือไม่ แต่ก็จะเปิดช่องให้ประชาชนยังคงใช้สิทธิได้ตามเดิม และให้หน่วยบริการอื่นๆ ยังคงสามารถเข้าถึง PrEP และ PEP ได้ตามปกติ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนออกมา
ณ ตอนนี้ แม้ภาวะสุญญากาศจะหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่การจ่ายยาต้านเชื้อเอชไอวีจะยังไม่ชัดเจน จนกว่า สปสช. และนายอนุทินจะมีประกาศออกมามากกว่านี้ การต่อสู้เพื่อให้ได้รับยาต้านเชื้อเอชไอวีฟรี และลดการผูกขาดในการเข้าถึงสุขภาพที่ดีของประชาชนจึงยังเป็นเรื่องที่น่าจับตาต่อไป
ที่มา
- https://www.hfocus.org/content/2022/12/26586
- https://mgronline.com/qol/detail/9650000123223
- https://mgronline.com/qol/detail/9660000002325
- https://www.nhso.go.th/news/3857…
- https://www.gcc.go.th/?p=94335
- https://www.facebook.com/429537333903204/posts/pfbid04uUMbpvAqVbAg24EuFpk2peC5hA62NDmDmZbSTLLN1NyX8hwY341ophXFb8RDFtWl/
- https://www.change.org/p/หยุดรวมการจ่ายยา-prep-pep-เพื่อป้องกันhiv-ไว้ที่รัฐ-อนุทินต้องกระจายจุดจ่ายยาให้ประชาสังคม/u/31209210