ภาคประชาชนยื่นหนังสือค้าน ม. 272 ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ


วันที่ 6 กันยายน 2565 เวลาราว 10.00-12.00 น. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน และอีก 130 กว่าองค์กรแนวร่วม นำโดย ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ธัชพงศ์ แกดำ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข เดินทางมาที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือขอให้พิจารณายกเลิกกฎหมายมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะกำลังจะมาถึงดำเนินไปด้วยความเป็นธรรม และให้พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยทางกลุ่มเรียกร้องว่าที่ประชุมรัฐสภาต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวในคราวเดียว 3 วาระรวด

“ถ้าเราส่งหนังสือไปแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคใดก็ตาม ไม่เห็นด้วย ยังจะไปเห็นด้วยกับ ส.ว. 250 คน ให้มีอำนาจในการเลือกนายกคนนอก ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ แล้วมาสร้างแต่ปัญหากลับวนลูปเหมือนเดิม เราจะนำรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนั้น มาเสียบประจานแล้วบอกเลยว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะถึง อย่าเลือก ส.ส. คนนี้” ธัชพงศ์ แกดำ กล่าวกับสื่อมวลชนที่หน้าประตูทางเข้ารัฐสภา

ต่อมา ธนพร วิจันทร์ กล่าวแกลงการณ์มีใจความว่า

“ขอให้พิจารณายกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดยเร็ว 3 วาระรวด หนังสือยื่นถึงประธานรัฐสภา เนื่องด้วยวันที่ 6-7 กันยายน 2565 มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในประเด็นสำคัญคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยการเสนอชื่อเข้ากันของประชาชน ซึ่งเป็นข้อเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือการตัดอำนาจ ส.ว. ที่มาจากการเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการลงมติเลือกบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี

“เครือข่ายภาคประชาชนที่มีรายชื่อตามข้างท้ายนี้เห็นว่า อำนาจที่มากเป็นพิเศษของสมาชิกวุฒิสภาที่มาแบบพิเศษนั้น เป็นปัจจัยสำคัญทำให้รัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้รับการเชื่อถือและยอมรับ และทำให้รัฐบาลที่มาจากเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาขาดความชอบธรรม ขาดการยึดโยงกับประชาชน อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในปัจจุบัน เครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านมาตรา 272 มีความเห็นว่าตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารในปี 2557 ก็ได้ยึดอำนาจในการปกครองประเทศไว้ในมือคนกลุ่มเดียว และยังไม่คืนอำนาจให้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ยังคงยึดกุมอำนาจไว้ด้วยกลไกหลากหลายในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพระราชบัญญัติประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และองค์กรอีกมากมายที่ถูกแต่งตั้งขึ้น

“ทั้งนี้เครื่องมือที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดจากผลพวงเหล่านี้ ก็คืออำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี อันเป็นปัจจัยที่กำลังนำไปสู่การสืบทอดอำนาจของคนกลุ่มเดิมต่อไป อย่างไรก็ตาม กลไกจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้ที่สำคัญที่สุดคือ การจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์โปร่งใส เป็นธรรม และโดยเร็ว ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ จะไม่มีทางเป็นธรรมได้ และไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชน หากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงมีอำนาจเหนือประชาชน ที่ยังสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และรัฐบาลชุดต่อไปได้ พวกเราจึงมีความเห็นร่วมกันว่านายกรัฐมนตรี และรัฐบาลในอนาคตนั้นจะต้องมีที่มาจากระบอบประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชน เราจึงเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นต่อแนวทาง โดยจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจพิเศษของสมาชิกวุฒิสภา ตามที่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งถือว่าภารกิจดังกล่าวคือเรื่องสำคัญ และจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ลดหายไปในที่สุด ในช่วงเวลาที่อายุของรัฐบาลนี้กำลังจะหมดลง และมีข้อเสนอจากประชาชนให้ยกเลิกมาตรา 272 บรรจุในระเบียบวาระแล้ว เครือข่ายภาคประชาชนจึงขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภานำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว และเนื่องจากเป็นข้อเสนอให้แก้ไขเพียงการตัดข้อความออก 5 บรรทัดเท่านั้น ไม่มีการเพิ่มเติมข้อความใดๆ เข้ามาใหม่ และไม่ได้มีถ้อยคำที่ต้องพิจารณารายละเอียด ไม่กระทบต่อมาตราอื่น ๆ ในรัฐธรรมนูญ และไม่มีเหตุผลชอบธรรมจะเห็นคัดค้านเป็นอย่างอื่นได้ จึงขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นชอบ 3 วาระรวด ภายในวันที่ 7 กันยายน 2565 เพื่อไม่ให้เป็นการยืดเยื้อต่อไปโดยไม่จำเป็น และอาจทำให้เรื่องสำคัญนี้พิจารณาไม่เสร็จก่อนอายุของรัฐบาลนี้จะหมดลง นั่นหมายความว่าสังคมไทยยังจะต้องตีบตัน และไม่สามารถสร้างทางออกได้อย่างแท้จริง”

จากนั้นเครือข่ายภาคประชาชน พร้อมสื่อมวลชนเดินเข้าไปภายในรัฐสภา โดยมีนายณัฐกานต์ ชูชนะ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือ ธนพร วิจันทร์ ได้ย้ำอีกครั้งว่า “เราคิดว่าไม่มีเหตุผลอื่นอีกแล้ว เราจะเห็นสถานการณ์ปัญหาที่ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายก ซึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน นี่คือประเด็นที่เราไม่สามารถยอมรับได้ และเราคิดว่าการอภิปรายในสภาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เราขอตัดแค่วรรคแรกของมาตรา 272 นั่นก็คือ การตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีอาจเป็นคนนอกก็ได้ สาระสำคัญเราคิดว่า มันจะเกิดปัญหาถ้ามีการเลือกตั้งในครั้งหน้า ถ้าไม่มีการตัดอำนาจ ส.ว. ก็จะเกิดความขัดแย้ง”

“ส.ว. เป็นส่วนเกินของรัฐสภา เป็นส่วนเกินของประชาธิปไตย ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และขั้วอำนาจสาม ป. เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการ เพราะอย่างนั้น ส.ว. ในวันนี้เราถือว่าเป็นรากฐานของเผด็จการที่ฝังตัวอยู่ในอาคารแห่งนี้ ซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ และวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า นอกจากจะเป็นส่วนเกินของประชาธิปไตยแล้ว ยังขาดจริยธรรมพื้นฐาน” สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวภายในอาคารรัฐสภา

ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยที่ด้านหน้าประตูทางเข้ามีการนำกรรไกรมาตัดป้ายที่มีข้อความคัดค้านมาตรา 272 และฉีกป้ายด้วยมืออีกครั้งบริเวณที่แถลงข่าวภายในรัฐสภา

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า