มีคำถามว่า ถ้าหากวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งในรูปแบบลาออกหรือยุบสภา ฉากทัศน์การเมืองไทยถัดจากนี้จะเป็นอย่างไร
กระแสร้อนๆ นี้ สืบเนื่องมาจากกรณีสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ติดแฮชแท็ก #ไม่เอานายกพระราชทาน ตั้งแต่ช่วงกลางดึกวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ กระแสนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือบางคนพึงใจเรียกว่า ‘นายกรัฐมนตรีพระราชทาน’ ยังดังเซ็งแซ่ไม่ขาดสาย ท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ลุกลามบานปลายไร้หางเสือ
แม้ว่าประเทศไทยจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระยะเวลาถึง 89 ปี แต่การขึ้นสู่อำนาจของผู้นำรัฐบาลในการเมืองไทย ส่วนใหญ่นั้นมีเพียง 2 ที่มาหลักๆ คือ หนึ่ง มาจากการเลือกตั้ง และ สอง มาจากการรัฐประหารหรือแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีในรูปแบบที่สองครองอำนาจเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของระยะเวลาที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมาเลยทีเดียว
กรณีนี้รวมไปถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหารในปี 2557 ก่อนที่คณะรัฐประหารจะร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดการเลือกตั้ง 2562 นำตัวเองกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะรายชื่อที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ
เหตุที่กระแส ‘นายกฯ คนนอก’ ดังหนาหูขึ้นมา ก็เนื่องมาจากการที่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่คณะรัฐประหาร คสช. เขียนขึ้น ได้เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่เสนอจากพรรคการเมือง ในมาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งเวลานี้มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ที่เป็นไปได้ เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังอยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกมือสนับสนุนให้กลับเข้ามาได้
ส่วนการดำเนินการตามมาตรา 272 วรรคสอง คือการเปิดช่องที่ว่านั้นปรากฏในรูปแบบการลงมติ เพื่อขอให้รัฐสภายกเว้นการไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของพรรคการเมือง
ทั้งนี้ กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีเสียงจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา 750 เสียง โหวตรับรอง นั่นคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 500 เสียง ในกระบวนการสรรหานายกฯ คนนอก โดย ส.ส. และ ส.ว. (ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.) 376 คนขึ้นไป ยื่นขอให้รัฐสภามีมติอนุญาตให้มีนายกฯ คนนอก
ต่อมาจึงให้ ส.ส. อย่างน้อย 50 คน เสนอรายชื่อผู้ชิงนายกฯ คนใหม่ โดยต้องมี ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 376 ขึ้นไปโหวตรับรอง กระบวนการทั้งหมดจะทำให้ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนนอก โดยไม่ต้องทำรัฐประหาร
กระนั้นก็ตาม ‘นายกรัฐมนตรีคนนอก’ ไม่ได้เท่ากับ ‘นายกรัฐมนตรีพระราชทาน’ ความเข้าใจต่อการได้มาของนายกฯ พระราชทาน จำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น เพราะสิ่งที่พึงตระหนักในการเมืองไทยคือ ทุกปรากฏการณ์ล้วนมิใช่ทั้งอุบัติเหตุทางการเมืองหรือการเกิดขึ้นอย่างมีแบบแผน หลายกรณีขึ้นกับสถานการณ์ กติกาในแต่ละยุคสมัย และสิ่งสำคัญคือ พระบารมี
จุดอ้างอิงที่กล่าวถึงกันในกรณีนายกฯ พระราชทาน คือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งจบลงด้วยการหนีออกนอกประเทศของ ‘3 ทรราช’ คือ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร หลังจากใช้อาวุธสงครามปราบปรามนักศึกษาประชาชน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ท่ามกลางการปะทะกันในเหตุการณ์นั้น นำมาซึ่งความโกรธเกรี้ยวของประชาชนจนมีการเผาสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว
สำหรับการค้นคว้าที่ดีมากในเรื่องนี้ โดย จันทนา ไชยนาเคนทร์ เรื่อง ความเป็นมาและสถานะทางกฎหมายของ ‘สภาสนามม้า’ พบว่า ‘สภาสนามม้า’ สัมพันธ์กับเครือข่ายแวดล้อมสถาบันกษัตริย์ แสดงให้เห็นผ่านประกาศแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ ซึ่ง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าประกาศนี้ไม่ปรากฏการอ้างกฎหมายมาตราใด ซึ่งไม่สอดคล้องไปกับระบอบใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้นแล้วเมื่อพิจารณาตามลำดับเวลาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม) กับสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ พบว่า มีการซ้อนทับในแง่ของเวลา จนส่งผลต่อการทยอยลาออกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่จอมพลถนอมได้แต่งตั้งไว้ และมีการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นในเวลาต่อมา โดยมี สัญญา ธรรมศักดิ์ ทำหน้าที่เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ
สิ่งที่น่าสนใจคือ คำให้สัมภาษณ์ของ สัญญา ธรรมศักดิ์ กล่าวถึงความเหลื่อมทับกันระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมัชชาแห่งชาติไว้ว่า หากนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือมีบทบาททางการเมือง ก็ย่อมจะตกอยู่ในฐานะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ อันอาจจะเป็นการเสื่อมเสียต่อฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดละเมิดมิได้ หรือกลับกันหากนำเอาพระองค์ท่านมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ‘แต่ไม่ตกอยู่ในฐานะที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือละเมิดได้’ ก็จะผิดแบบแผนการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปอีก ที่สุดการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนได้เสียสละชีวิตและต่อสู้มาก็จะสลายไป
นี่คือเส้นแบ่งบางๆ ของสิ่งที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งฐานะของพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องอยู่เหนือการเมือง ความเข้าใจข้อนี้ไปปรากฏในทุกวิกฤติการเมืองไทย อันเนื่องมาจากทุกวิกฤติมักจะมีความเคลื่อนไหวผลักดันนายกฯ พระราชทาน อยู่เสมอ อาทิ หลังเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน มีข้อเสนอ ‘ฎีกาสภากระจก’ จากบางกลุ่มขึ้นมา เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้ง ก่อนที่ความคิดนี้จะตกไป เนื่องจากสังคมไทยในเวลานั้นให้ค่ากับข้อเรียกร้องหลักของวีรชนพฤษภา 35 คือ การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง
หรือกระทั่งในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญบางคนยังมีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้าการรัฐประหาร 2549 มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 แต่การเคลื่อนไหวครั้งนั้นก็จบลงที่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ในวันที่ 25 เมษายน 2549
บางช่วงบางตอนพระองค์ตรัสว่า “…แต่ก่อนนี้มีอย่างเดียว มีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา ศาลแพ่ง เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่างอันนับไม่ถูก ก็เมื่อมีก็ต้องให้ไปดำเนินการด้วยดี ดังนั้น ก็ขอให้ไปปรึกษากับศาลอื่นๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯ พระราชทาน เพราะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย
“ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษพูดแบบมั่ว แบบไม่ไม่ ไม่มีเหตุมีผล”
เป็นที่ทราบกันว่าวิกฤติครั้งนั้นถูกส่งต่อมายัง ‘ตุลาการภิวัฒน์’ คือการที่ฝ่ายตุลาการขยายบทบาททางอำนาจเข้ามาในพื้นที่การเมืองมากยิ่งขึ้น ตลอดทศวรรษ 2550 เราจึงได้เห็นบทบาทและความขัดแย้งของศาลกับประชาชนอย่างกว้างขวาง
แต่ถึงที่สุด ‘นายกฯ คนนอก’ ก็ได้มาปรากฏในกฎกติกาปัจจุบันอย่างเป็นทางการ คือในมาตรา 272 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 สิ่งที่ควรคำนึงคือ กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนนอก นับว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยพลังทางการเมืองขนานใหญ่ เพื่อทำให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คำถามคือ สิ่งนั้นคืออะไร ประชาชนคงต้องร่วมจับตาไปด้วยกัน