นาฬิกายืมเพื่อน: ความไม่เป็นสมัยใหม่จนน่าขนลุก

อดสูและเสื่อมทรุดลงทุกขณะอยู่แล้ว ยิ่งหลังถ้อยแถลงของมติที่ประชุม ป.ป.ช. เกี่ยวกับการยืมนาฬิกาเพื่อน ยิ่งตอกย้ำความอดสูและเสื่อมทรุดให้เกิดขึ้นในใจคนไทย ซ้ำวันรุ่งขึ้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม เปิดบ้านให้ผู้นำเหล่าทัพและข้าราชการภาคส่วนต่างๆ เข้าอวยพรเนื่องในโอกาสวันปีใหม่ พร้อมเปิดปากหลังสื่อสัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ไม่เคยมีอยู่ในใจเลย

ชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่า นี่มิใช่แค่เรื่องการเมืองสีเหลืองหรือแดง มิใช่แค่การทะเลาะเบาะแว้งของคนไทยด้วยกันเพราะความเชื่อส่วนตัวอีกแล้ว มันคือจุดร่วม คือต้นตอ คือรากของปัญหาที่คอยแบ่งประชาชนออกเป็น 2 ฝั่ง ทว่าสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากกำลังสงสัย คืออะไรกันแน่ที่เราควรอดสูและมันทวีความเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ

หนังสือชื่อ ความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่: ความเปลี่ยนแปลงและย้อนแย้งของไทย อาจตอบคำถามนี้ได้บ้าง หากเราค่อยๆ แกะรอยด้วยใจที่เปิดกว้าง

ในคำนำกล่าวไว้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นผลผลิตทางความคิดจากโครงการวิจัย ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมีคณะผู้วิจัยร่วม 7 คน แบ่งออกเป็น 7 บท 7 หัวข้ออันน่าสนใจไม่แพ้กัน และได้ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการ รวมถึงนั่งแท่นบรรณาธิการเล่มด้วย

ธเนศให้ความเห็นว่า ลัทธิสมัยใหม่ในสังคมไทยเมื่อนำเข้ามาแล้ว ก็ไม่ได้ทำลายและกวาดล้างซากปรักหักพังของโลกเก่าแบบศักดินาลงไปอย่างจริงๆ เสียทั้งหมด บางอย่างสูญสลายไป แต่กลับนำไปสู่การรื้อฟื้นและสร้างชีวิตใหม่ให้แก่มิติโลก ‘ก่อน’ สมัยใหม่เสียอีก

คือทำหน้าที่ในการเสนอทางเลือกในระบบการเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจวัฒนธรรมสมัยใหม่ ด้วยการกลับไปหาอุดมคติแบบธรรมราชา อำนาจของผู้มีบุญบารมี ความเป็นไทย รวมถึงการเป็นประชาธิปไตย แบบ ‘ไม่’ ประชาธิปไตยในนามของ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’

ทั้งนี้เพราะท่ามกลางกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นสมัยใหม่ ไม่มีการปฏิวัติภูมิปัญญาและศาสนาดังที่ได้เกิดในยุโรป จึงไม่อาจเกิดรัฐที่หลุดพ้นจากการรับรู้และเข้าใจอดีตแบบ ‘จารีต’ ได้

ในบทที่ใช้ชื่อ ‘การสร้างความเป็นพลเมืองยุคเปลี่ยนผ่าน: ข้อสังเกตเบื้องต้นจากกรณีศึกษาวิชาสังคมธรรมาธิปไตย’ ได้ขยายขอบเขตความเข้าใจตามที่ธเนศได้แสดงทัศนะเอาไว้ออกไปอีกว่า คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมากว่าทศวรรษ สามารถแก้ได้โดย ลดความเป็น ‘การเมือง’ มุ่งแก้ปัญหาในมิติของ ‘ปัจเจกบุคคล’

ทั้งหมดเกิดจากการศึกษาวิจัย กรณีมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ได้จัดการเรียนการสอนในรายวิชาเกี่ยวกับ สังคมธรรมาธิปไตย

ตัวผู้เขียน ปฤณ เทพนรินทร์ สรุปไว้ในเล่มเลยว่า ในภาพกว้างรายวิชานี้มีความทะเยอทะยานมากกว่าแค่ปลูกฝังความเป็นพลเมืองประเภทเสพติดการสังคมสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสเป็นครั้งคราว จนขาดการวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้าง หากแต่เป็นการกล่อมเกลาขนาดใหญ่ทางการเมือง ที่ต้องการบรรลุถึงสังคมธรรมมาธิปไตย ในความหมายของการทวงคืนสถานะอำนาจนำ ของเหล่าชนชั้นนำจารีต

จุดเล็กๆ ในสังคมมหาวิทยาลัยนี้ ได้ขยายให้เห็นถึงภาพใหญ่ในสังคมประเทศ และมันคงเป็นเพียงแค่คำกล่าวหาลอยๆ หากขาดผลงานที่ คสช. สร้างเพื่อปูทางไว้ จนเป็นที่ประจักษ์

ต่อให้วารสาร นิเคอิ เอเชียน รีวิว ไม่ต้องนำเสนอรายงานพิเศษว่า กรณีนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตรนั้นเป็นการสะท้อนวัฒนธรรมลอยนวล คนไทยจำนวนมากก็คงซาบซึ้งดีแล้วว่า ในประเทศนี้กฎหมายไม่เพียงอยู่ในมือของผู้มีอำนาจและคนรวยเท่านั้น ควรต้องเติมไปอีกหน่อยว่า เป็นผู้มีอำนาจที่ไม่เคยแคร์ความรู้สึกของประชาชนเลยด้วย

ก็จะเอาอย่างนี้ มีอะไรไหม!

กลุ่มชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ผู้สนับสนุนการรัฐประหารในปี 2557 อย่างกว้างขวางต่างยอมรับต่อระบบที่ล้าหลังของตำรวจและกระบวนการยุติธรรม – นิเคอิ ระบุ

บรรณาธิการอย่างธเนศเขียนไว้ว่า ความเป็นสมัยใหม่ในไทยนั้น ให้น้ำหนักไปที่รูปแบบภายนอก แต่เนื้อหาสาระไม่เท่ากัน เช่น ระบบโรงเรียนมีอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ ทว่าคุณภาพล้วนรวมศูนย์อยู่ในส่วนกลางเท่านั้น

กระบวนการเป็นสมัยใหม่ที่ผ่านมา จึงมักไม่ใช่เป็นการทำให้คนทั่วไปเข้าถึงอย่างเสรีและกลายเป็นสมัยใหม่ได้ด้วยตนเอง อย่างการเป็นพลเมืองที่สามารถใช้เหตุผลและเสรีภาพได้อย่างเท่าเทียม มีอำนาจกฎหมายรองรับ

ลักษณะเด่นของความทันสมัยในสังคมไทย จึงแสดงออกอย่างเด่นชัดในลักษณะของอุดมการณ์หรือมายาคติ อันครอบงำที่มีอยู่เหนือชนชั้นอื่นๆ และพื้นที่นอกศูนย์กลาง มากกว่าการปรากฏในสถาบันของประชาชน

ความเป็นไทยในแง่หนึ่ง คือเครื่องมือสำคัญในการควบคุมหรือปกครองรัฐไทย ให้อยู่ในระเบียบแบบแผน ตามที่ผู้มีอำนาจรัฐต้องการ แม้ชนชั้นนำไทยจะหลงใหลความเป็นตะวันตกมากเพียงใด ยังต้องอิงอาศัยความเป็นไทย เพื่อกำหนดทิศทางของสังคมอยู่เสมอ

นี่คือความเป็นสมัยใหม่แบบไทยๆ ที่ย้อนแย้ง และชวนขนลุกเมื่อมันสำแดงอะไรบางอย่างออกมา

 

ความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่: ความเปลี่ยนแปลงและย้อนแย้งของไทย
หลายคน เขียน
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์ ศยาม

 

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า