จากกรณีที่สื่อจำนวนมาก ไม่ว่าจะสื่อโทรทัศน์หรือออนไลน์ เข้าไปทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ชุมนุม จนเป็นเหตุให้หลายครั้งได้รับความเสียหายทั้งทางร่างกายและทรัพย์สินจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะช่วงที่เจ้าหน้าที่มีการสลายการชุมนุม
นอกจากสื่อจะได้รับอันตรายจากการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตา หลายกรณียังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่อีกด้วย เช่น ถูกห้ามให้มีการถ่ายทอดสด (live) กระทั่งถูกมองว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่ ‘สื่อแท้’ อาจเนื่องจากเป็นสื่อสังกัดใหม่ที่รัฐไม่เคยรู้จัก ไม่มีบัตรสื่อที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์ หรือไม่มีปลอกแขนที่ออกโดยสมาคมนักข่าวฯ ทั้งยังพบกรณีที่ว่าแม้จะมีปลอกแขนยืนยันแล้วก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับให้เหตุผลว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่สื่อ
คำถามจึงเกิดขึ้นอีกครั้งว่า สื่อคืออะไร แค่ไหนถึงจะเรียกว่าสื่อ จำเป็นต้องได้รับการประทับตราจากรัฐด้วยหรือไม่ บัตรสื่อหรือปลอกแขนมีความหมายแค่ไหน ไปจนถึงบทบาทของสมาคมวิชาชีพสื่อควรเป็นอย่างไร
นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร WorkpointTODAY เป็นหนึ่งในคนที่เราคิดว่าน่าจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุด หากดูจากทั้งชื่อเสียงเรียงนาม ผลงาน ตลอดจนประสบการณ์ในการทำงานสื่อของเขา ก็เดาได้ไม่ยากว่าจะต้องได้คำตอบที่กระชับ ชัดเจน และตรงไปตรงมา
เมื่อถามถึงนิยามของสื่อยุคปัจจุบัน นภพัฒน์จักษ์เห็นว่า สื่อเกิดเมื่อมีการสื่อสาร เป็น Journalism and Communication เมื่อมีคนหนึ่งพูดและมีอีกคนหนึ่งฟังก็เกิดการสื่อสารขึ้นแล้ว ยิ่งในยุคดิจิทัล สิทธิในการเป็นสื่อในลักษณะของสื่อสารมวลชนก็ยิ่งขยายขอบเขตกว้างขึ้น แม้บางคนอาจไม่ได้ออกตัวว่าเป็นสื่อ แต่ก็ยังสามารถทำให้เกิดการสื่อสารได้
“พูดง่ายๆ ว่า ยุคนี้คุณจะเป็นใครก็ตาม เป็นสื่อหรือไม่ได้เป็นสื่อ แต่ถ้ามีคนดู มันก็เกิดการสื่อสารขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะนิยามแบบไหน เมื่อเกิดการส่งสารจาก A ไปสู่ B แล้ว ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าสื่อแล้ว”
นภพัฒน์จักษ์ยังเล่าต่อว่า กระแสธารของวงการสื่อปัจจุบันได้เปลี่ยนวิถีการไหลไปสู่โลกออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตหรือมีโครงสร้างการจัดการแบบสื่อยุคก่อนดิจิทัล พฤติกรรมการบริโภคสื่อเองก็เปลี่ยนไป การระบุตัวเองว่าเป็นสื่อมวลชนหรือสื่อกระแสหลัก ไม่ได้รับประกันว่าจะมีฐานคนดูเยอะเหมือนก่อน การแบ่งลำดับว่าใครเป็นสื่อแบบไหน ชนิดใด จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น
“เอาแค่ช่วงเดือนที่ผ่านมา สื่อที่คนดูเยอะคือใครบ้าง ก็เป็นพระมหาไพรวัลย์ เขามีอะไรบ้าง เขาไม่มีอะไร ไม่ได้มี license ไม่ได้มีอะไรเลย เขามีกล้องถ่ายผ่านเฟซบุ๊คตัวเอง คนก็เลือกดู ต่อให้ใครจะไปจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เผยแพร่ศาสนา ใช้งบลงทุนพันล้านหมื่นล้าน แต่ถ้าคนมันไม่ดู มันก็ไม่ดู เพราะฉะนั้นจึงพ้นจุดที่จะใช้วิธีการจัดจำแนก level ว่าคนไหนเป็นสื่อแบบไหน”
เมื่อถามถึงกรณีการชุมนุม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) มีพฤติกรรมที่คนจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการกีดกันสื่อ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าไปรายงานสถานการณ์ในฐานะสื่ออิสระ นภพัฒน์จักษ์เห็นว่า ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะหากเจ้าหน้าที่ปล่อยให้ทุกคนทำทุกอย่างได้ตามอิสระ ก็ไม่รู้ว่าจะมีการตัดต่อหรือถ่ายทอดเฉพาะมุมที่ได้ประโยชน์ต่อข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ อย่างไรก็ดี นภพัฒน์จักษ์ได้เสนอว่า อีกทางเลือกหนึ่งที่เจ้าหน้าที่สามารถทำได้คือ การปล่อยให้มีนำเสนอกันได้อย่างเต็มที่ เพราะแม้การทำเช่นนั้นอาจจะดูวุ่นวาย (noisy) ในโลกออนไลน์บ้าง แต่ท้ายที่สุดข้อเท็จจริงจะเกิดสมดุลกันไปเอง
“สุดท้ายแล้วยึดหลักเอาไว้ว่า มันมีคนที่คอยบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ ถ้าทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร จริงใจกับข้อเท็จจริง ถึงยังไงการมีคนบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ก็ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว”
นภพัฒน์จักษ์ยังเสนอให้ภาครัฐมีการชี้แจงระเบียบวิธีหรือหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อให้ชัดเจน ผู้ที่เข้าไปทำงานในฐานะสื่อจะได้ทราบว่าตนสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ในฐานะบรรณาธิการข่าวที่ต้องบริหารทีมข่าว นภพัฒน์จักษ์มีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงอยู่ 2 ประการ
ประการแรก กรณีที่ไม่ได้มีข้อตกลงอะไรเลย ซึ่งหมายความว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้รู้หรือไม่ได้ใส่ใจกับการมีข้อตกลงเลย
ประการที่สอง นภพัฒน์จักษ์มองว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่ากรณีแรก คือ มีข้อตกลงเกิดขึ้นแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่กลับไม่ได้คำนึงถึงข้อตกลงนั้นเลยโดยสิ้นเชิง
เมื่อถามว่าจะอธิบายกับเจ้าหน้าที่อย่างไรให้สื่อที่ไม่มีสังกัดสามารถทำงานได้ นภพัฒน์จักษ์ตอบคำถามนี้ด้วยการกลับไปหาหลักที่ว่า สุดท้ายแล้วหากปล่อยให้สื่อได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ ย่อมเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย
“ความจริงในตัวมันเอง มันไม่เลือกข้าง คือการทำงานสื่อเวลานำเสนอออกไป ยิ่งยุคนี้ที่เขาถ่ายไลฟ์กันนานๆ มันยากที่จะนำเสนอในเชิงกระตุ้นให้คนเกลียดกัน หรือเกลียดตำรวจ แล้วถ้าจะทำก็ทำยากมากด้วย ตอนนี้มันเหมือนเป็นกล้องวงจรปิด เป็นกล้อง CCTV ที่ถ่ายเก็บไว้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าฝั่งตำรวจรู้สึกว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นไปตามกระบวนการ เป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง ก็ไม่น่าจะต้องกังวลหรือกลัวอะไร”
นภพัฒน์จักษ์ทิ้งท้ายถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า ในฐานะที่ตนสังเกตการทำงานของสมาคมนักข่าวฯ ตลอดมา เห็นว่าได้มีความพยายามยกระดับวิชาชีพขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้ยกระดับขึ้นมาได้อีก เช่น การนัดพูดคุยกับคนทำงานสื่อเพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริง เพราะโดยหลักแล้วสมาคมนักข่าวฯ จะต้องเป็นเสาหลักที่จะสนับสนุนเสรีภาพสื่อ
“เราเห็นความพยายามอยู่ ก็อยากให้เข้มแข็งไว้ เพราะหลายคนอาจมองว่า ทำได้แค่นี้เองเหรอ แต่ถ้ามองจากฝั่งสมาคมนักข่าวฯ เองก็คงคิดว่า เขาก็โดนหนักเหมือนกัน จากคนที่อาจจะสนับสนุนรัฐบาลอะไรอย่างนี้ ก็ต้องพยายามไป ยังไงก็ปี 2021 แล้ว ประเทศไทยในบริบทของเสรีภาพสื่อ บริบทเรื่องการมองตัวเองเป็นสื่อ มันต้องมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ (free market of idea) ยังไงสมาคมสื่อ โดยหลักเขาคงเป็นเสาหลักด้วยซ้ำที่จะสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้ายังไปไม่ถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องค่อยๆ ปรับทิศทางให้ไปทางนั้นมากขึ้น”