สุขภาพจิตดีขึ้นแน่ แค่ขยับร่างกาย

วารสารการแพทย์ The Lancet Psychiatry ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่ระบุว่า การเคลื่อนไหวร่างกายแบบทั่วไปติดต่อกันครั้งละ 45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง สามารถลดอาการทางสุขภาพจิตได้

นักวิจัยได้วิเคราะห์รายงานระดับกิจกรรมและคะแนนสุขภาพจิตของคนอเมริกัน 1.2 ล้านคนภายในหนึ่งเดือน ระหว่างปี 2011-2015 เพื่อหาความเชื่อมโยงของการเคลื่อนไหวทางร่างกายและสุขภาพจิต โดยพบว่า กลุ่มที่ออกกำลังกายจะมี ‘วันแย่ๆ’ น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายเดือนละ 1.5 วัน

นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ การอุดตันในเส้นเลือด และเบาหวาน

ถึงผลจะออกมาว่า ประเภทกีฬาที่เล่นเป็นกลุ่ม การปั่นจักรยาน และเต้นแอโรบิกส่งผลด้านบวกมากที่สุด แต่ผลการศึกษาได้พบว่า กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายทุกประเภทสามารถพัฒนาสุขภาพจิตได้ในทุกเพศและวัย ไม่ว่าจะเป็นแค่การทำงานบ้านหรือเลี้ยงเด็กเล็กๆ ก็ตาม

ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยที่ได้ทดสอบผลของการออกกำลังกายต่อสุขภาพจิตและได้ผลลัพธ์ผสมผสานกัน ขณะที่บางงานวิจัยแนะนำว่า การไม่เคลื่อนไหวทางร่างกายสามารถทำให้สุขภาพจิตแย่ลงได้พอๆ กับการเกิดโรค

ผู้เข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้บอกว่า พวกเขารู้สึกสุขภาพจิตแย่เฉลี่ยแล้วเดือนละ 3.4 วัน แต่ในส่วนของกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ ตัวเลขลดลงเหลือเพียงเดือนละ 2 วัน

และในกลุ่มคนที่ก่อนหน้านี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า การเคลื่อนไหวร่างกายดูจะสร้างผลกระทบได้ใหญ่โตกว่า โดยผลการศึกษาออกมาว่า กลุ่มที่ออกกำลังกายจะมีอาการสุขภาพจิตแย่เดือนละ 7 วัน น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกายที่มีอาการเกือบ 11 วัน

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่อาจฟันธงได้เลยว่าการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นผลโดยตรงให้สุขภาพจิตดีขึ้น

หนักไปก็ไม่ดี

เมื่อพูดถึงเรื่องการออกกำลังกาย สิ่งที่เกิดตามมาคือความถี่และระยะเวลาในแต่ละครั้งที่เป็นผลดีมากพอ เพราะเช่นเดียวกับทุกอย่าง การออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายมากเกินไปก็ไม่ได้เป็นเรื่องดี

แม้ผลการศึกษาจะระบุว่า การเคลื่อนไหวร่างกาย 30-60 ชั่วโมงในทุกๆ สองวันดูจะเป็นกิจวัตรที่เหมาะสมที่สุด แต่ก็ยังสรุปว่า นั่นอาจเป็นการออกกำลังกายที่มากเกินไปได้

ดร.อดัม เชคราวด์ (Adam Chekroud) ผู้เขียนผลการศึกษาและเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ ผู้คนมักเชื่อว่า ยิ่งออกกำลังกายมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีกับสุขภาพจิตมากขึ้นเท่านั้น แต่การศึกษาของเราแนะนำว่าไม่ใช่ในกรณีนี้”

“การออกกำลังกายมากกว่า 23 ครั้งต่อเดือน หรือครั้งละนานกว่า 90 นาทีมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่แย่ลง”

เขาบอกว่าผลด้านบวกของการเล่นกีฬาเป็นทีมคือ สามารถลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ดีต่อการฟื้นฟูสุขภาพจิตใจ และ ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย

ความเชื่อมโยงอันซับซ้อน

ถึงผลของการศึกษานี้จะหนุนหลังแนวทางของรัฐบาลที่แนะนำให้ประชาชนใช้เวลาออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที แต่การศึกษานี้มีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ มันอ้างอิงจากการรายงานด้วยตัวเองซึ่งไม่ถูกต้องเสมอไป และไม่มีทางวัดการเคลื่อนไหวทางร่างกายได้

ดร.ดีน เบอร์เน็ตต์ (Dean Burnett) นักประสาทวิทยาและนักวิจัยกิตติมศักดิ์ จากวิทยาลัยจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ กล่าวว่า ปกติแล้วไม่ง่ายนักที่จะค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการออกกำลังกายและสุขภาพจิต แต่การศึกษาครั้งนี้ใหญ่พอที่จะบอกได้ว่า ทั้งสองอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน

“อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะของการศึกษาหมายความว่ามันยากที่จะบอกอย่างแน่นอนได้มากกว่านั้น”

ศาสตราจารย์ สตีเฟน ลอว์รี (Stephen Lawrie) หัวหน้าแผนกจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ กล่าวว่า มันแสดงให้เห็นว่า สังคมและการออกกำลังกายตามที่ตัวเองสนใจมีผลดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิต – แต่ต้องไม่ทำมากเกินไป

“เราต่างรู้จักคนที่ดูเหมือนจะเสพติดการออกกำลังกาย วัดง่ายๆ คือ ถ้าการออกกำลังกายเริ่มส่งผลต่อส่วนอื่นๆ ในชีวิต เช่น กิจกรรมทางสังคม การพบปะผู้คน เพราะหมกมุ่นอยู่กับการทำลายสถิติการวิ่งของตัวเอง การออกกำลังกายจะเปลี่ยนเป็นศัตรูต่อร่างกายและจิตใจของคุณได้ทันที”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า