World Suicide Prevention Day: การป้องกันและความช่วยเหลือ…เพื่อวันพรุ่งนี้

‘ทุกๆ 40 วินาที จะมี 1 คนบนโลกที่จำใจตัดสายป่านชีวิตก่อนเวลาอันควร’

ใน 1 ปี มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายด้วยวิธีต่างๆ เกือบ 800,000 คน หรือคิดเป็น 1 คนต่อเวลาเพียง 40 วินาที เท่ากับระยะเวลาฮัมท่อนฮุคเพลงโปรดสักเพลง และมีตัวชี้วัดว่าเป็นไปได้ที่กว่าคนคนหนึ่งจะเสียชีวิต เขาอาจผ่านประสบการณ์พยายามฆ่าตัวตายมาแล้วกว่า 20 ครั้ง

‘การฆ่าตัวตาย’ เป็นเหตุการณ์ที่พบได้ทั่วโลก และพบได้ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดๆ การตายของคนคนหนึ่งอาจส่งผลสะเทือนไปถึงเพื่อนใกล้ชิด สมาชิกครอบครัว หรือสังคมโดยรวม ในทางกลับกัน เพื่อน ครอบครัว และสังคม ก็สามารถป้องกันคนที่รักไม่ให้เกิดเหตุอันไม่คาดคิดได้

วันที่ 10 กันยายนของทุกปี คือวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) #WSPD มาจับมือคนที่เรารักไว้แน่นๆ ลองนั่งลงรับฟังปัญหาและโอบกอดแทนคำบอกว่า “อยู่ด้วยกันนานๆ นะ”

 

ใครคือกลุ่มเสี่ยงบ้าง?

ปี 2016 การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปีทั่วโลก ประเด็นการฆ่าตัวตายไม่ใช่แค่ปัญหาของประชากรมีฐานะจากโลกที่หนึ่งเท่านั้น องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า สถิติการฆ่าตัวตายเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์มาจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

ในประเทศร่ำรวย คนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายมักมีโรคทางจิตเวชบางอย่าง อาทิ โรคซึมเศร้า หรือมีความผิดปกติจากการดื่มสุรา (alcohol use disorders) อยู่แล้ว เช่น การดื่มสุราจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายหรือจิต แต่ยังไม่ถึงขั้นติดสุรา การดื่มสุราจนก่อผลกระทบทางสังคมต่อตนเองและผู้อื่นซ้ำๆ ไปจนถึงอาการติดสุรา

คนที่ผ่านประสบการณ์รุนแรง เช่น ภัยพิบัติ ความขัดแย้ง ความรุนแรง ความสูญเสีย การถูกรังแก การอยู่อย่างโดดเดี่ยว รวมถึงผู้ที่กำลังประสบปัญหาชีวิต เช่น ภาวะทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเงิน ความสัมพันธ์ระหองระแหง หรือเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ยากจะรักษาให้หายขาด อย่างมะเร็ง เอดส์ หรือเบาหวาน เมื่อปัญหาเหล่านี้เริ่มจะ ‘หลุดมือ’ หรือเกินจะรับไหวจนเกิดความเครียด บ่อยครั้งคนเหล่านี้ก็เลือกที่จะจบชีวิตตนเองลง

อีกกลุ่มที่ต้องการความเข้าใจจากสังคมเป็นอย่างมากเพื่อเหนี่ยวรั้งไม่ให้เขาจากไปเร็วกว่าที่ควร ได้แก่ กลุ่มคนที่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันให้ออกไปจากสังคม เช่น ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ชนชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) และนักโทษ

เรื่องเพศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง แม้ผู้หญิงจะมีแนวโน้มพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า แต่สถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุดในบรรดากลุ่มประชากรทั้งหมดกลับเป็นของผู้ใหญ่เพศชาย เนื่องจากติดกับดักของภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งที่สังคมปลูกฝังมาให้ ทำให้ผู้ชายมักไม่ค่อยร้องหาความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา เช่น มีอาการซึมเศร้า เพราะกลัวถูกมองว่าอ่อนแอ อีกทั้งคนทั่วไปยังมองว่าภาวะซึมเศร้าในผู้ชายรุนแรงน้อยกว่าผู้หญิง หลายครั้งผู้ชายจึงมักจบลงด้วยการใช้อาวุธที่รุนแรง เช่น ปืนพก ฆ่าตัวตาย เป็นการสะท้อนความอ่อนแอในภาพจำที่เข้มแข็งเป็นครั้งสุดท้าย

แม้หลายคนเชื่อว่าคนที่เคยพยายามฆ่าตัวตายแล้วไม่สำเร็จมักกลับมาฆ่าตัวตายซ้ำอีกครั้ง องค์การอนามัยโลกชี้ว่าไม่เสมอไป เพราะความเสี่ยงของการก่อเหตุเป็นความเสี่ยงระยะสั้นและขึ้นอยู่กับสถานการณ์บางอย่างโดยเฉพาะ โดยผู้เคยพยายามฆ่าตัวตายหลายคนกลับมาใช้ชีวิตได้หลังรับการช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ผู้ใกล้ชิดควรเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

 

อัตราการฆ่าตัวตายรายประเทศ

[table id=3 /]

เรื่องเล่าของ พุชพากุมาร: จากความยากจนและยาฆ่าแมลง สู่ความช่วยเหลือเพื่อวันพรุ่งนี้

กรมสุขภาพจิตรายงานว่า เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ประชากรไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 4,137 คน หรือเฉลี่ยแล้วทุกๆ 100,000 คนจะมีคนไทยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 7 คน โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ชาย และหากคิดเป็นรายวัน จะมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จวันละ 11-12 คน จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ เชียงใหม่ 165 คน ส่วนกรุงเทพฯ ตามมาติดๆ ที่ 150 คน กรมสุขภาพจิตบันทึกสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540-2559 พบว่ายอดผู้เสียชีวิตสูงสุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ คือช่วงปี 2542 หรือ 2 ปีหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

มีการประมาณคร่าวๆ ขององค์การอนามัยโลกว่า การฆ่าตัวตายราว 20 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกมาจากการดื่มยาฆ่าแมลงหรือสารพิษ ซึ่งมักพบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง บริเวณเขตกสิกรรมที่อยู่ห่างออกไปนอกเมือง โดยยอดผู้เสียชีวิตจากการดื่มยาฆ่าแมลงเพียงอย่างเดียวมีถึง 150,000 คนทั่วโลก ส่วนสาเหตุอื่นๆ นอกจากนี้มักหนีไม่พ้นวิธีแขวนคอหรือยิงตัวตาย

อสังคะ พุชพากุมาร (Asanka Pushpakumara) ชายวัย 24 ปีชาวศรีลังกา เกิดในครอบครัวชาวนายากจนทางตอนเหนือของศรีลังกา เขาทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยครอบครัวปลูกข้าวโพด งา และถั่วเหลือง บนที่ดินผืนเล็กๆ ถึงกระนั้นเขายังได้เงินเพียง 23,000 รูปีต่อเดือน หรือประมาณ 9,780 บาท คิดเป็น 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ฟางเส้นสุดท้ายของพุชพากุมาร คือเมื่อคู่หมั้นของเขาเข้ามาบอกลาเพราะเห็นว่าเขายากจน

“เธอโทรมาบอกว่าขอโทษที่อยู่กับผมไม่ได้ เธอบอกว่าเพราะผมมันไม่มีอะไรเลย จังหวะนั้นเองผมก็หยิบแก้วใส่ยาฆ่าแมลงขึ้นมาซดลงคอ”

เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป ยาฆ่าแมลงเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายอุปกรณ์การเกษตรในศรีลังกา มีการประมาณกันว่าหลังการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ที่พลิกการเกษตรมาเป็นการใช้ปุ๋ยและยาเพื่อเร่งเพิ่มผลผลิตเพื่อขาย ก็มีเยาวชนมากกว่า 14 ล้านคนที่เสียชีวิตเพราะกินยาฆ่าแมลง

ศาสตราจารย์ไมเคิล เอ็ดเดิลสตัน (Michael Eddleston) จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระห์ (The University of Edinburgh) กล่าวว่า ยาฆ่าแมลงเหล่านี้เป็นอันตรายพอๆ กับอาวุธเคมี แต่ในหลายประเทศก็ยังอนุญาตให้วางขายในชั้นวางได้ตามปกติ “นึกภาพว่ามีคนขอให้คุณเก็บซาริน-อาวุธเคมีทำลายล้างสูงที่แม้แต่สหประชาชาติยังออกกฎห้ามครอบครอง-เก็บเอาไว้ใต้บันไดบ้าน นั่นแหละปัญหาที่เรากำลังเผชิญ”

หลายคนห่วงว่าการประกาศแบนยาฆ่าแมลงอย่างสิ้นเชิงจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรและทำให้พวกเขามีรายได้ลดลง มีหลักฐานพิสูจน์แล้วว่าการประกาศแบนยาฆ่าแมลงที่มีฤทธิ์อันตรายควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกษตรกรมีทางเลือกอื่นๆ ในการกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสมจะไม่กระทบต่อผลผลิต ภายหลังศรีลังกาออกกฎห้ามวางขายยาฆ่าแมลงบนชั้นวาง อัตราผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายก็ลดลงจาก 57 เป็น 17 คนต่อประชากร 100,000 คน และไม่ทำให้ผลผลิตลดลงแต่อย่างใด

ด้วยความช่วยเหลือจากโครงการห้ามวางขายยาฆ่าแมลงของศรีลังกา ร่วมกับสหราชอาณาจักร ปัจจุบันพุชพากุมารยังคงทำการเกษตรที่ศรีลังกา เขากลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งด้วยกำลังใจจากครอบครัวและหน่วยบริการทางการแพทย์ชุมชน แม่ของพุชพากุมารบอกว่าเขาเป็นคนที่ “ร้องเพลงเพราะที่สุดในครอบครัว” และตอนนี้ได้รับความรักความใส่ใจอย่างเต็มเปี่ยม

เราจะช่วยป้องกัน ‘การฆ่าตัวตาย’ ได้อย่างไร

คนที่รู้สึกสิ้นหวังในวันนี้ยังคงกลับมายิ้มและใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขได้อีกครั้ง หากคนรอบตัวเป็นกำลังใจและช่วยสนับสนุนอย่างเหมาะสม มาดูกันว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อคนที่รักได้บ้าง

  • สังเกตคนรอบข้าง โดยเฉพาะเมื่อคนที่รักมีพฤติกรรมต่างไปจากปกติ เช่น รู้สึกโกรธ เครียด กังวล ละอาย รู้สึกเป็นภาระ ซึมเศร้า อารมณ์เกรี้ยวกราดรุนแรงหรือแปรปรวน รวมถึงทำอะไรอย่างยั้งคิดในลักษณะไม่ห่วงชีวิต ใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์อย่างหนัก เริ่มค้นหาวิธีการฆ่าตัวตายจากอินเทอร์เน็ต หรือเริ่มซื้อวัสดุต่างๆ มาเตรียมไว้ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน ให้คอยอยู่เคียงข้างและเปิดใจรับฟังปัญหาอย่างไม่ตัดสิน
  • ระวังไม่ให้คนใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงข้างต้นเข้าถึงเครื่องมือต่างๆ ที่อาจถูกใช้เพื่อฆ่าตัวตายได้โดยง่าย โดยเก็บปืน ยาบางอย่าง หรือกระป๋องยาฆ่าแมลงไว้ในที่มิดชิด
  • บ่งชี้กลุ่มเสี่ยงที่มีอาการทางจิตเวช (mental disorder) หรือโรคทางจิตเวชที่เกิดจากการใช้สุราสารเสพติด (substance use disorders) อาการปวดเรื้อรัง หรือโรคเครียด ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า เพื่อให้สามารถจัดการรักษาและดูแลได้อย่างทันท่วงที
  • มีการตรวจตราและเฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพจิตในสถานศึกษา
  • กำหนดนโยบายเพื่อลดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่ปลอดภัย
  • ฝึกอบรมผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์มืออาชีพให้สามารถประเมินสถานการณ์ และจัดการได้เมื่อพบบุคคลที่มีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย
  • สื่อมวลชนต้องรายงานข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างระมัดระวังและมีความรับผิดชอบ
  • ติดตามผลและให้ชุมชนช่วยสนับสนุนกลุ่มเสี่ยงที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน เพื่อลดการก่อเหตุซ้ำ

การตัดสินใจฆ่าตัวตายไม่ใช่ความคิดชั่ววูบเสมอไป ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่งมีแนวโน้มว่ามักวางแผนการตายของตัวเองไว้อย่างถี่ถ้วน และอาจแสดงออกมาเป็นสัญญาณ ‘คำใบ้’ ร้องขอความช่วยเหลือครั้งสุดท้าย เช่น การแสดงออกว่า “ฉันไม่เหลือใครแล้ว” มีทีท่าหมดอาลัยในชีวิต หรือเริ่มฝากฝังทรัพย์สิน/หน้าที่ต่างๆ ให้กับผู้อื่นรับช่วงต่อ สิ่งสำคัญที่คนรอบข้างต้องสังเกตคือสัญญาณเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือได้ทันท่วงที

การฆ่าตัวตายเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหา ที่สะสมมาจากปัญหาในชีวิตอีกนับพันนับหมื่นที่คนนอกมองไม่เห็น การบอกว่า “ก็เรื่องแค่นี้เอง” ไม่อาจรั้งคนที่เรารักให้กลับคืนมาจากปากเหวแห่งความเศร้า แต่การรับฟังและความเข้าใจต่างหากคือสิ่งสำคัญที่ช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้ ปัจจุบันมีผู้ช่วยหลายรายที่สามารถรับฟังผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอพพลิเคชั่น เช่น OOCA (อูกา) เพื่อรับปรึกษาปัญหาจากจิตแพทย์ผ่านวิดีโอคอล

สุดท้ายแม้เราจะสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายในระดับบุคคลใกล้ชิดได้ การฆ่าตัวตายก็ยังเป็นปัญหาที่ซับซ้อน จึงไม่อาจแก้ไขได้ด้วยคนคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น ภาคสาธารณสุข การศึกษา แรงงาน การเกษตร ธุรกิจ กระบวนการยุติธรรม กฎหมาย การเมือง และสื่อ เข้ามาประสานกันเป็นร่างแหเพื่อโน้มน้าวสมาชิกของสังคมให้ออกห่างจากการแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีวิตตัวเอง

 

หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังมีปัญหาสุขภาพจิต ติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่กรมสุขภาพจิต สายด่วน 1323

หากต้องการพบจิตเพทย์ สามารถดูรายชื่อ โรงพยาบาลรัฐ และ โรงพยาบาลเอกชน ได้ที่นี่ (ที่มา: เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย)

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
who.int/news-room/fact-sheets/detail/suicide
who.int/gho/mental_health/suicide_rates
who.int/news-room/fact-sheets/detail/suicide
dmh.go.th/report/suicide
dmh.go.th/report/suicide/stat_prov.asp
psycom.net/suicide-warning-signs
telegraph.co.uk/global-health

 

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า