เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกรณีนักเขียนท่านหนึ่งเขียนบทความวิจารณ์สาวอีสานลงในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ในทำนองว่า ผู้หญิงอีสานนั้นมีนิสัยหวังรวยทางลัด ขี้เกียจ ไม่ขวนขวาย รักสบาย ไม่ขยันเท่าผู้ชาย ฯลฯ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงโต้กลับกันไปแล้ว ทั้งบนเฟซบุ๊คและบนหน้าบทวิเคราะห์ตามหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ถึงความเหยียดหยามอันรุนแรงของนักเขียนท่านนั้น
บทความชิ้นนี้ไม่ได้มีเจตนาตอกย้ำ หรือวิพากษ์วิจารณ์นักเขียนท่านนั้น แต่จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับสาวอีสานที่พากันอพยพไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากผมมีโอกาสได้เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างไต้หวันกับไทยเป็นปกติอยู่แล้ว จึงพอได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในไต้หวันอยู่บ้าง (ซึ่งจำนวนมากมักจะเป็นคนที่มีพื้นเพมาจากทางอีสาน) ก็ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันไปเรื่อย ตามประสาคนไทย
ในไต้หวันนั้น แต่ละเมืองที่เป็นเขตอุตสาหกรรมมักจะมีพื้นที่สวนสาธารณะตั้งอยู่ใจกลางเมือง ไว้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และจัดกิจกรรมในวันช่วงสุดสัปดาห์ของชาวเมือง เมื่อมีแรงงานข้ามชาติทยอยอพยพเข้าไปทำงานในเมืองหนึ่งๆ มากขึ้น สวนสาธารณะบางแห่งจึงถูกทำให้กลายเป็นศูนย์รวม ศูนย์พักพิงจิตใจของแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะไทย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย
ทุกๆ เมืองจะมีสถานที่ลักษณะนี้อย่างน้อยหนึ่งแห่งเสมอ เช่น สวนสาธารณะ Taichung Park เลียบถนนกงหยวน ที่แรงงานข้ามชาติ แรงงานอพยพ มักจะมารวมตัวกันในวันหยุด เพื่อทำกิจกรรม ปิกนิก พูดคุย พักผ่อน เดินเล่นร่วมกันในหมู่เพื่อนฝูง ตั้งแต่เช้าตรู่ยันเวลาตะวันลับขอบฟ้าของวันอาทิตย์ ที่แห่งนี้ผมได้พบกับแรงงานไทย ครอบครัวคนไทยที่พากันอพยพกันมาแสวงหาโอกาสการยังชีพและทำงานในต่างแดนมากมาย
วันหนึ่ง ผมมีธุระที่ถนนแถบนั้นพอดี เลยเข้าไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ Taichung Park พอพวกเขาเห็นผมเป็นคนไทย พูดภาษาไทย ก็ทักทายด้วยการยิ้มให้ เลยถือโอกาสนั่งคุยกันเล็กน้อย ได้ความว่าพี่ๆ ป้าๆ น้าๆ เหล่านั้นอพยพตามคนรักมาทำงานที่ไต้หวัน เพราะแถวบ้านเราไม่ค่อยมีงานใช้แรงงานให้ทำกัน บวกกับค่าแรงขั้นต่ำที่เทียบกันแล้วไต้หวันสูงกว่าเป็นเท่าตัว (ค่าแรงขั้นต่ำตกวันละประมาณ 700 กว่าบาท ค่า OT คิดให้เป็นชั่วโมงละ 100 กว่าบาท)
ทำให้คนอีสานและคนไทยจำนวนมากมักนิยมมาหางานทำในไต้หวันไม่แพ้ที่เกาหลีใต้ สถิติการส่งออกแรงงานไทยไปยังประเทศแถบเอเชียของกรมการจัดหางาน ประจำเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุว่า มีจำนวนเกือบ 3,000 คน กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,600 คน มีไต้หวันเป็นปลายทาง (1,200 กว่าคนในจำนวนนั้นเป็นคนอีสาน) เพื่อมาแสวงหาโอกาส และรายได้ที่มากขึ้น ส่งเงินกลับบ้านจุนเจือครอบครัวได้มากขึ้น
แต่ชีวิตพวกเขาก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายๆ คนคิด การมาทำงานต่างประเทศแล้วชีวิตดี กินหรู อยู่สบายอย่างอู้ฟู่ เป็นเพียงมายาคติเท่านั้นสำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องทำงานอยู่กับเครื่องจักร หรือการใช้แรงงานของตนเองเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างรายได้
งานหลักๆ ที่พวกเขาทำนั้นไม่ใช่งานล้างรถ หรืองานเสิร์ฟอาหารแบบที่นักเรียนนักศึกษานิยมทำกัน หากแต่เป็นงานภายในโรงงาน งานขับรถขุด งานเชื่อมเหล็ก งานเดินสายไฟ งานแบกหาม พูดง่ายๆ ก็คือ งานก่อสร้าง และงานประกอบชิ้นส่วนภายในโรงงานนั้นแล
ด้วยความที่งานก่อสร้างต้องใช้พละกำลัง แรงงานหญิงจึงถูกกีดกันอยู่เสมอ ทำให้หลายๆ ครั้งแรงงานหญิงได้เงินเดือนน้อยกว่าแรงงานชาย และในบางครั้งก็ถูกกีดกันให้ทำได้แค่งานแม่บ้าน งานดูแลคนแก่ ดูแลผู้ป่วยทั่วๆ ไป ซึ่งเงินเดือนก็จะได้น้อยลงไปอีกระดับหนึ่ง
เงินเดือนของแม่บ้านชาวต่างชาติภายในไต้หวันส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ราวๆ 20,000 บาท หากเป็นงานดูแลคนแก่ หรือผู้ป่วยติดเตียง ก็อาจจะได้เพิ่มมาเป็น 25,000 บาท ไม่ค่อยมากไปกว่านั้น (หรืออาจได้ต่ำกว่านั้น ขึ้นอยู่กับนายจ้างแต่ละราย) ซึ่งเมื่อเทียบกับการทำงานในโรงงาน งานก่อสร้าง งานโฟร์แมน (ที่ส่วนมากมักรับแต่ผู้ชาย) แล้ว งานเหล่านั้นมักมีเงินเดือนเฉลี่ย 23,000 – 25,000 บาท ขึ้นไปจนถึงราวๆ เกือบ 50,000 บาทต่อเดือน แบบไม่รวม OT สำหรับวิศวกร
คนที่ได้ทำงานในโรงงานก็มักจะถูกบีบให้ทำ OT เพิ่มทุกวัน วันเสาร์ส่วนใหญ่จะเป็นวันแห่งการทำ OT ทำให้แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในไต้หวันแทบไม่ค่อยได้หยุดวันเสาร์ บางโรงงานก็บังคับให้ทำ OT วันละ 4 ชั่วโมง ทำให้เดือนหนึ่งแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องทำ OT กันเดือนละราวๆ 50 ชั่วโมงทุกเดือน ซึ่งทำตลอดทั้งปี ส่วนแรงงานหญิงบางส่วนที่ไปทำงานตามบ้านนายจ้าง หรือตามโรงพยาบาล เพื่อดูแลคนป่วยติดเตียงหรือเฝ้าคนไข้ ก็มักจะถูกกดค่าแรง และไม่จ่ายเงิน OT ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด
มิหนำซ้ำคนที่ต้องไปทำงานตามบ้านนายจ้างยังเสี่ยงได้ทำงานเกินเวลาที่กำหนดอีกด้วย ถือเป็นข้อเสียอีกประการหนึ่งของแรงงานข้ามชาติที่ต้องแยกย้ายกันไปทำงานคนละแห่ง โดยไม่มีเพื่อนร่วมชาติร่วมภาษาไว้คอยปรับทุกข์แบบแรงงานไทยที่ได้ไปทำงานในโรงงานประกอบชิ้นส่วนและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหนักกลุ่มอื่นๆ แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันกลับถูกทำให้กลายเป็นเรื่องหยุมหยิมไปโดยปริยาย จากบริบทที่ไม่เอื้ออำนวยของแรงงานเหล่านั้น
อนึ่ง แรงงานไทยที่ไปทำงานในไต้หวัน หลายคนไปโดยไม่รู้ภาษาจีน หลายคนสื่อสารไม่ได้เลย ไม่เว้นแม้แต่ภาษาอังกฤษ สื่อสารได้อย่างเดียวคือภาษาไทย การแจ้งความ แจ้งตำรวจต่อกรณีดังกล่าวกับภาครัฐ จึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นและลำบากยิ่ง นึกสภาพแรงงานไทยที่มาทำงานในประเทศที่ใช้แต่ภาษาจีนในทุกอิริยาบถ จะทำการใด ไปไหนมาไหน คนเหล่านี้ต้องใช้ล่ามเป็นตัวกลางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะไปติดต่อเอกสารต่างๆ กับทางโรงงาน หรือแม้แต่เจ็บป่วยไปโรงพยาบาลก็ต้องใช้ล่าม ให้ล่ามเป็นคนนั่งรถพาไปหาหมอ
การจ้างล่ามครั้งหนึ่งก็ใช้เงินไม่ต่ำกว่า 400-500 บาทแล้ว (บางครั้งอาจราคาพุ่งไปที่ครั้งละ 1,000 บาทขึ้นไป) และไม่ใช่แค่ค่าล่ามอย่างเดียวนะครับ ที่แรงงานเหล่านี้ต้องเสียในการมาทำงานที่ไต้หวัน พวกนายจ้างและนายหน้าของฝั่งทางนี้ เวลาประกาศหางาน ก็มักประกาศแกมชักชวนว่าสามารถกินอยู่กับนายหน้าได้เลย มีอาหารเลี้ยง 2-3 มื้อตลอด แต่ในความเป็นจริง นายจ้างมักหักรายได้บางส่วนของลูกจ้างมาทำเป็นสวัสดิการในส่วนดังกล่าวประมาณเดือนละ 1,500-2,500 บาท
หากกระทำการใดๆ ที่ผิดสัญญากับทางโรงงานหรือนายจ้าง ก็มีสิทธิถูกหักเงินโดยตรงอีก ทำให้แรงงานหลายๆ คนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานยังต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ประเทศที่แทบจะไม่พูดภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยว จึงตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หันไปข้างหน้าก็เจอนายจ้าง และสภาวะการจ้างงานที่อาจไม่เป็นธรรม หันไปข้างหลัง จะถอยออกมาจากพื้นที่ตรงนั้น ก็ต้องเจอกับรายจ่ายและค่าเสียหายที่จะตามมาอีกไม่น้อย โดยเฉพาะกับแรงงานหลายๆ คนที่มาทำงานโดยผ่านเอเยนต์หรือบริษัทจัดหางาน ที่มักเก็บค่าหัวคิวกันไม่ต่ำกว่า 70,000-80,000 บาทต่อราย (บางรายอาจต้องจ่ายถึง 150,000-200,000 บาท) แถมยังมีค่าใช้จ่ายรายปีกับทางเอเยนต์อีกไม่ต่ำกว่า 1,500-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับข้อตกลง
เงินตั้งมากมายขนาดนั้น แล้วพวกเขาเอามาจากไหนกัน ก็ต้องไปหากู้มาอีกต่อหนึ่ง บางทีก็ต้องกู้กับนายหน้านั่นแหละ แล้วใช้วิธีทำงานส่งเอา กลายเป็นว่ามาทำงานเหมือนไม่ได้มาทำงานส่งเสียตัวเองและทางบ้านอย่างเดียว แต่ต้องส่งเงินเป็นงวดๆ ให้กับทางนายหน้าที่ตนเองกู้เงินมา
สุดท้ายก็ลงเอยที่การต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในการหาเงินมาจ่ายหนี้ที่เป็นค่าบัตรผ่านทางให้ตัวเองได้มาทำงานยังจุดนี้
การมาทำงานในต่างประเทศของผู้หญิงอีสาน และแรงงานชาวไทยคนอื่นๆ จึงไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายๆ คนคิด เพราะหนทางนั้นนอกจากจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแล้ว ยังเป็นหนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามของค่าใช้จ่าย เงื่อนไขการทำงาน และสภาพชีวิตที่บีบคั้นในระหว่างทางอีกด้วย