11 ธันวาคม 2552 อับดุลเลาะ อะบูการี พยานปากคำสำคัญของคดีที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวของทนาย สมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายขณะออกไปร้านน้ำชาใกล้บ้าน
กว่า 19 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ในปี พ.ศ. 2547 จุดเริ่มต้นของความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำให้มองไปทางไหนก็เจอแต่ทหาร และด่านตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐที่กล่าวอ้างว่าการกระทำของพวกเขาเป็นการ ‘คืนความสงบ’ ให้กับคนในพื้นที่
คดีของอับดุลเลาะ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ในเหตุการณ์บุกปล้นปืนในกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จังหวัดนราธิวาส โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดในคดีปล้นปืน
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 อับดุลเลาะถูกตำรวจหน่วยคอมมานโดหลายสิบนาย บุกล้อมขณะกรีดยางอยู่ในสวน เขาถูกควบคุมตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรตำบลตันหยง จังหวัดนราธิวาส ถูกซ้อมทรมานอยู่ 3 วันเต็ม โดยทุกครั้งที่ถูกเรียกตัวไปสอบสวนจะถูกทำร้ายร่างกายไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง
อับดุลเลาะเล่าว่าการถูกทำร้ายร่างกายที่ทรมานที่สุดคือการโดนไฟฟ้าช็อต เพราะขณะถูกช็อตไฟฟ้าตำรวจก็จะตะคอกถามซ้ำไปมาว่า ‘ตัดไม้จริงหรือไม่’ พยายามให้อับดุลเลาะตอบว่าใช่ เพื่อจะสรุปว่ามีส่วนร่วมในการปล้นปืน ผ่านการรับหน้าที่ตัดต้นไม้พื้นที่ใกล้ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการหลบหนีให้กับกลุ่มปล้นปืน
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว อับดุลเลาะจึงนัดพูดคุยกับ ทนายสมชาย นีละไพจิตร แล้วเล่าเหตุการณ์การถูกซ้อมทรมานทั้งหมด วันที่ 10 มีนาคม 2547 ที่ทั้งคู่มาพบกันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและเตรียมยื่นคำสอบสวนการซ้อมผู้ต้องหาคดีปล้นปืน ผ่านไปเพียง 2 วัน ทนายสมชายก็ถูกอุ้มหายอย่างไร้ร่องรอย
หลังการหายตัวไปของทนายสมชาย อับดุลเลาะก็อยู่ในการคุ้มครองพยานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะพยานปากสำคัญ ในคดีที่ดีเอสไอริเริ่มขึ้นเพื่อเอาผิดตำรวจระดับสูงที่ถูกกล่าวหาว่าทรมานและทำร้ายร่างกายลูกความของทนายสมชาย ทั้งยังเป็นพยานในคดีการหายตัวไปของทนายสมชายอีกด้วย
จนกระทั่งคืนวันที่ 11 ธันวาคม 2552 อับดุลเลาะออกไปร้านน้ำชาซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเพียงแค่ 150 เมตร เจะรอฮานี ภรรยาของเขาเล่าว่า นอกจากโทรศัพท์มือถือ อับดุลเลาะก็ไม่ได้เอาอะไรไปเลยแม้แต่กระเป๋าเงิน จากนั้นประมาณ 2 ทุ่มกว่า ก็ได้ยินเสียงรถขับผ่านหน้าบ้าน เสียงบีบแตร 3 ครั้ง แล้วตามด้วยเสียงคล้ายปืน เจะรอฮานีพยายามโทรหาอับดุลเลาะเท่าไรก็โทรไม่ติด เธอรอสามีตลอดทั้งคืน แต่เขาก็ไม่ติดต่อมาอีกเลย
แม้สาเหตุของการหายตัวไปของอับดุลเลาะห์จะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็มีการสันนิฐานกันว่าน่าจะเป็นการถูกอุ้มไปโดยบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินคดีกับตำรวจหลายนายที่ซ้อมทรมานเขา
การหายตัวไประหว่างอยู่ในการคุ้มครองพยานของรัฐ ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตอกย้ำให้เห็นภาพความพยายามที่ล้มเหลวในการนำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
อับดุลเลาะ อาบูการี ไม่ใช่คนแรกที่ถูกอุ้มหาย อาชญากรรมโดยรัฐยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากรัฐ หรือการที่รัฐเพิกเฉยต่อความรุนแรง ประชาชนจึงมีหน้าที่จับตาดูท่าทีของรัฐบาลในการเยียวยาความสูญเสียของผู้เสียหายในอดีต และดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
อ้างอิง:
- สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, ดอน ปาทาน และทีมข่าวภาคสนามเครือเนชั่น, สันติภาพในเปลวเพลิง เนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล, 2547.
- การหายตัวไปของอับดุลเลาะ อาบูการี เป็นภัยร้ายแรงต่อคดีอาญาสำคัญ ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของพยาน
- ส่งเสียงหน่อย…อับดุลเลาะห์ อาบูคารี ตอนที่ 2
- ตำรวจใหญ่อดีตผู้ถูกกล่าวหาซ้อมผู้ต้องหา ฟ้องกลับเหยื่อถูกซ้อมทรมานเกี่ยวเนื่องคดีปล้นปืนอุ้มทนายสมชาย
- ตามหา ‘อับดุลเลาะห์ อาบูคารี’ เรื่องราวจากแม่ หรือจะเสียไปอีกคนเหมือน‘ตากใบ’
- รู้ทัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ป้องกันไม่ให้มีใครถูกทรมาน – อุ้มหาย
- ‘กฎหมายอุ้มหาย’ มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ!