[On This Day] 12 มีนาคม 2547 เขาถูกบังคับให้สูญหาย สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน

12 มีนาคม 2547 สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกอุ้มหายอย่างไร้ร่องรอย 

สถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้ทวีความตึงเครียดมากขึ้นในยุครัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เมื่อมีการส่งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่อย่างเข้มงวด และมีการประกาศสภาวะยกเว้น ใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ ในขณะที่ลิดรอนสิทธิของคนท้องถิ่น จนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและคนในพื้นที่แย่ลง

นโยบายปราบปรามผู้ที่รัฐมองว่าเป็นภัยความมั่นคงหรือผู้ก่อการร้ายอย่างเข้มงวดและรุนแรง ส่งผลกระทบและละเมิดสิทธิของชาวมุสลิมในพื้นที่จำนวนมาก ทนายสมชายเป็นหนึ่งในนักสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกกล่าวหา ดำเนินคดี หรือมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ คดีโต๊ะกูเฮง หรือ กูมะนาเส กอตอนีลอ ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุเผาโรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดชายแดนใต้ คดีหมอแว หรือ นายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ ที่ถูกกล่าวหาว่า พัวพันกับกลุ่มก่อการร้ายเจไอ หรือเจมาห์ อิสลามิยาห์ (Jemaah Islamiyah) และคดีอื่นๆ และอีกมาก ทนายสมชายช่วยว่าความจนทำให้ผู้ต้องหาเหล่านี้รอดพ้นจากข้อกล่าวหาได้หลายคดี

นอกจากงานด้านกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้มีปัญหากับภาครัฐ ทนายสมชายยังเคลื่อนไหวเพื่อสื่อสารปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ให้สังคมวงกว้างรับรู้อยู่บ่อยครั้ง เช่น เข้าร่วมอภิปรายกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งกำลังตึงเครียด 

วันที่ 12 มีนาคม 2547 ระหว่างที่ทนายสมชายกำลังเดินทางไปพบเพื่อนที่โรงแรมชาลีน่า ซอยมหาดไทย ถนนรามคำแหง มีพยานเห็นว่า รถของทนายสมชายถูกรถต้องสงสัยที่ขับตามมาพุ่งเข้าชน เมื่อทนายสมชายลงจากรถ ก็มีกลุ่มชายฉกรรจ์ 5-6 คน รุมทำร้ายและพาตัวเขาขึ้นรถ

สันนิษฐานกันว่า การบังคับให้สูญหายครั้งนี้เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากทนายสมชายมีกำหนดการจะเดินทางไปยื่นรายชื่อเพื่อคัดค้านการใช้กฎอัยการศึกต่อนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในอีก 3 วันข้างหน้า จึงเป็นไปได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางฝ่ายอาจเกรงว่าทนายสมชายจะเปิดโปงข้อมูลบางอย่างที่ทำให้ตนเสียผลประโยชน์ให้สาธารณชนรับทราบ แต่ในเวลาต่อมา ทักษิณออกมาชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะกระตุ้นให้สังคมไทยตื่นตัวต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและการอุ้มหายโดยรัฐมากขึ้น แต่การสืบสวนคดีการหายตัวไปของทนายสมชายไม่ราบรื่นนัก และยิ่งไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนกระทั่งปี 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งหนังสือไปยัง นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ความว่า 

“บัดนี้การสอบสวนได้เสร็จสิ้นแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นว่าควรงดการสอบสวน เนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด และส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” 

แม้อังคณาจะทำหนังสือคัดค้านส่งกลับไปยังอธิบดีดีเอสไอ แต่ก็ไม่เป็นผล การสืบสวนคดีนี้ได้สิ้นสุดลงนับแต่นั้น

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีร่างกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย และยังคงมีผู้ถูกบังคับสูญหายอีกหลายราย

อ้างอิง

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า