เรื่องสั้นตามใจชอบลำดับที่ 6: องค์อภิรดี นักเขียนสตรี ฐานันดร ‘เจ้า’ ‘พระหลานเธอ’ ในรัชกาลที่ 5 ในฐานะนักเขียนเรื่องสั้น

ราชนิกุล เลือดขัตติยะ เชื้อพระวงศ์ในลำดับชั้นต่างๆ ที่เข้ามามีชื่อเสียงปรากฏในวงการนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ เหมือนสามัญชนทั่วๆ ไป ว่าไปก็มีบทบาทอยู่ในประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกงานเขียนร้อยแก้วแนวใหม่ (prose narrative) เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งลูกพี่ลูกน้องของรัชกาลที่ 5 จัดทำหนังสือ ดรุโณวาท (2417) วชิรญาณวิเศศ (2427) ยุทธะโกษ (2436) ลักวิทยา (2443) ทวีปัญญา (2447) ดุสิตสมิต (2461) ฯลฯ

ชื่อเสียงของนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ในลำดับชั้นต่างๆ ที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะสยามหนุ่ม’ เหล่านี้ก็มีเช่นกรมหลวงพิชิตปรีชากร, พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์, กรมหมื่นนราธิปพันธ์พงศ์ (‘นราธิป’ คนพ่อ นามปากกา ‘ประเสริฐอักษร’) กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (นามปากกา ‘น.ม.ส.’) และที่สืบต่อมาเรื่อยจนถึงเชื้อเจ้าในรุ่นหลัง เช่น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์, ม.จ.สิทธิพร กฤดากร, ม.จ.พงศ์รุจา รุจวิชัย (นามปากกา ‘พันธุ์งาม’) ม.จ.นิมิตรมงคล นวรัตน (นามปากกา ‘นิมิตมงคล’), ม.จ.ขจรจบกิติคุณ กิตติยากร, ม.จ.จันทรจิรายุ รัชนี (นามปากกา ‘นายโต๊ะ ณ ท่าช้าง’), ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.จ.อายุมงคล โสณกุล ฯลฯ

ในส่วนของนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ในฐานะสตรีเพศที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ในลำดับชั้นต่างๆ ก็มีมาตั้งแต่รุ่นบุกเบิกของงานเขียนร้อยแก้วแนวใหม่ เช่น พระนางเธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ (นามปากกา ‘ปัทมะ’ อดีตคู่หมั้นของรัชกาลที่ 6), ม.จ.พูนพิสมัย ดิศกุล, ม.จ.สวาทดิ์ วัฒโนดม ประวิตร (นามปากกา ‘ดวงดาว’ อดีตคู่หมั้นของ ม.จ.อากาศดำเกิง), ม.จ.วิภาวดี รังสิต (นามปากกา ‘ว. ณ ประมวญมารค’), ม.จ.จันทรเจริญ รัชนี (นามปากกา ‘จ.จ.ร.’ บุตรสาวของ ‘น.ม.ส.’ ที่ต่อมาแหกคอกจากฐานันดร ‘เจ้า’ มาแต่งงานกับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์สามัญชนชื่อ สเตอร์ กัณหดุล), ม.ล.บุปผา กุญชรนิมมานเหมินทร์ (นามปากกา ‘ดอกไม้สด’), ม.ล.บุญเหลือ กุญชร – เทพยสุวรรณ (นามปากกา ‘บุญเหลือ’) ฯลฯ

นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ฐานันดร ‘เจ้า’ ทั้งหญิงและชายในลำดับต่างๆ กัน แต่ก่อนนั้น ว่าไปแล้วก็เหมือนไม่แตกต่างไปจากสามัญชนสักเท่าใดนัก มีเรื่องเล่ามากมายในหมู่ ‘เจ้า’ ที่ลงมาคลุกคลีและทำงานร่วมกับชาวบ้านสามัญชน จนกลายเป็นเหมือนสามัญชนไปในที่สุด เช่น ม.จ.สิทธิพร กฤดากร บรรณาธิการนิตยสาร กสิกร ราย 2 เดือน เมื่อ พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นนักเขียนเจ้าของคอลัมน์ บ้านและไร่นา ผู้โด่งดัง และเป็นผู้ที่เอ่ยกล่าวประโยคอมตะที่บอกว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

 

‘องค์อภิรดี’ เป็นใคร?

‘องค์อภิรดี’ เป็นนามปากกาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามยุรฉัตร ฐานันดรศักดิ์ พระองค์เจ้าชั้นตรีแห่งราชวงศ์จักรี เป็นพระธิดาในนายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (พ.ศ. 2424-2479) และพระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล (พ.ศ. 2428-2506)

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ 5) และเจ้าจอมวาด มีตำแหน่งจเรทหารช่าง ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เสนาบดีกระทรวงพานิชย์และคมนาคม ซึ่งถือเป็นตำแหน่งทางราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยที่สยามประเทศเปิดประตูรับอิทธิพลจากตะวันตก และเป็นผู้ริเริ่มการค้นหาปิโตรเลียมให้กับสยามเป็นครั้งแรก

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ถือพระยศกันว่าอยู่ใน ‘ราชสกุลวังหลวง’ ของราชวงศ์จักรี ที่มีอยู่ 15 ราชสกุล เช่น มหิดล, จักรพงษ์, กิตติยากร, บริพัตร, รพีพัฒน์, ดิศกุล, รังสิต, ฉัตรชัย, ยุคล, สวัสดิวัตน์, ฯลฯ  และพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรทรงอยู่ในราชสกุล ฉัตรชัย (บางแห่งเขียน ‘ฉัตรไชย’)

ตามประวัติเท่าที่ค้นได้ในชั้นนี้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ามยุรฉัตร ทรงประสูตรเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2448 (คือเกิดในปีเดียวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์) และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2513  มีพระชนมายุรวม 65 พรรษา พระสวามีคือหม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัตน์ มีผู้สืบทายาท 1 พระองค์ คือ หม่อมราชวงศ์พรรธนภณ สวัสดิวัตน์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามยุรฉัตรมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา (พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล) คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร (ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมภาษาและหนังสือฯ) และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร (ผู้ก่อตั้งและองค์ประธานรางวัลอายุมงคล โสณกุล) อีกทั้งยังมีพระอนุชาและพระขนิษฐาต่างพระมารดาอีกหลายพระองค์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามยุรฉัตร ทรงจบการศึกษาชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และทรงมีพระอิสริยยศตามลำดับ คือ

  • พ.ศ. 2448 – ม.จ.มยุรฉัตร ฉัตรไชย
  • พ.ศ. 2448 – 2453 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้ามยุรฉัตร
  • พ.ศ. 2453 – พ.ศ. 2513 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามยุรฉัตร

 

เข้าใจว่านามปากกา ‘องค์อภิรดี’ ในฐานะนักเขียน นักประพันธ์ เริ่มปรากฏเป็นที่คุ้นตาของบรรดานักอ่านในรุ่นทศวรรษ 2490 จากการเป็นนักเขียนเรื่องสั้นและนักเขียนความเรียงที่แสดงความสามารถทางการประพันธ์ไม่เป็นรองใคร น่าเสียดายที่ผลงานการประพันธ์ทั้งทางด้านเรื่องสั้นและงานเขียนสารคดีหลายเรื่อง ได้ถูกหลงลืมไปโดยไม่มีผู้ให้ความสำคัญไว้ในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่อย่างมีฐานอ้างอิง เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นหลังที่ต้องการเห็นฝีมือทางการประพันธ์ของ ‘เจ้า’ รุ่นก่อนในฐานะ ‘พระหลานเธอ’ ของรัชกาลที่ 5

ผลงานเรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยของ ‘องค์อภิรดี’ มีกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ และได้ถูกหลงลืมไปในที่สุด และยังไม่เคยมีการจัดพิมพ์ผลงานที่ปรากฏอยู่ในแหล่งเอกสารชั้นต้นไว้อย่างเป็นระบบ เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อพระวงศ์ นักเขียน นักประพันธ์ที่เป็นสตรีในรุ่นร่วมสมัยเดียวกัน เช่น ‘ดอกไม้สด’ และ ‘ว. ณ ประมวญมารค’ หนังสือประเภทนามานุกรม นักเขียนไทย ทั้งรุ่นสมัยเก่าและสมัยใหม่ในบ้านเรา ว่าไปแล้วก็อยากขอทำการเสียดสีว่า ยังไม่เคยมีองค์กรจำพวกสมาคม และหรือสถาบันภาษาหนังสือแห่งใด ได้ริเริ่มจัดทำโครงการในงานประเภทนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาข้อมูลเชิงประวัติอย่างเป็นระบบ จนสามารถเป็นแหล่งอ้างอิงที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และทำให้คนรุ่นหลังได้มองเห็นภาพรวมของคำว่า ‘วรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่’ ที่ปรากฏขึ้นมานับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 จนมองเห็นพัฒนาการเริ่มต้นอย่างมีรูปธรรมว่าเป็นมาอย่างไร และดำรงต่อเนื่องสืบมาอย่างไร เป็นต้นเช่นผลงานเรื่องสั้นต่างๆ ของ ‘องค์อภิรดี’ ที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘พระหลานเธอ’ ของรัชกาลที่ 5 แต่ชื่อเสียงทางด้านการประพันธ์ก็กลับถูกหลงลืมไป ไม่แตกต่างไปจากนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ของไทยในอดีตอีกมากมาย

‘องค์อภิรดี’ มีผลงานกระจัดกระจายอยู่มากในนิตยสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ในช่วงทศวรรษ 2490 เท่าที่เคยเห็นเอกสารชั้นต้นก็เช่นที่ปรากฏอยู่ในนิตยสาร เพลินจิตต์ ของนายเวช กระตุฤกษ์ ที่มีนายเอื้อม รุจิดิษฐ์ (นามปากกา ‘อ.ร.ด.’) รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาในช่วงทศวรรษ 2490

‘องค์อภิรดี’ ในฐานะนักเขียน นักประพันธ์ ‘สตรี’ จึงเท่ากับมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาพร้อมๆ กับนักเขียน นักประพันธ์ ‘บุรุษ’ ในสำนักนิตยสาร เพลินจิตต์ ของ นายเวช กระตุฤกษ์ เช่น เหม เวชกร ‘ไม้ เมืองเดิม’ ‘มนัส จรรยงค์’ ‘ส.บุญเสนอ’ ‘เวทางค์’ ‘ยศ วัชรเสถียร’ ‘จำนง วงศ์ข้าหลวง’ ‘ลพบุรี’ ‘อรวรรณ’ ‘สุวัฒน์ วรดิลก’ ‘อุษา เข็มเพ็ชร’ ฯลฯ  ซึ่งว่าไปแล้วก็ล้วนแต่เป็นนักเขียน นักประพันธ์ ในฐานะไพร่สามัญชน ที่มีผลงานปรากฏมาตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งสำนักพิมพ์เพลินจิตต์เมื่อปี พ.ศ. 2476 และเข้าใจว่าคงมีไม่น้อยที่นักอ่านส่วนใหญ่คงจะไม่ทราบว่ามีเจ้าหญิงเชื้อพระวงศ์ในฐานะ ‘พระหลานเธอ’ ของรัชกาลที่ 5 ได้ส่งผลงานการประพันธ์เรื่องสั้นมาแสดงฝีมือจนเป็นที่ประจักษ์ร่วมกับนักเขียน นักประพันธ์ ‘ไพร่’ คนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และในเวลานั้นเข้าใจว่าคงจะมีแต่ผู้ใกล้ชิดเท่านั้นที่ทราบว่า ‘องค์อภิรดี’ เป็นใคร และมีฐานันดรสูงส่งเป็นถึง ‘พระองค์เจ้าชั้นตรี’ ของราชวงศ์จักรี

ผลงานเรื่องสั้นของ ‘องค์อภิรดี’ จากเอกสารชั้นต้นเท่าที่ผมเคยเห็นปรากฏอยู่ในนิตยสาร เพลินจิตต์พิเศษ รายเดือน ก็มีเช่น

  1. กลับจากนอก (เพลินจิตต์พิเศษ : มีนาคม 2495)
  2. บิกินีร้อนๆ จ้ะ (เพลินจิตต์พิเศษ : กรกฎาคม 2495)
  3. เจ้าไม่มีศาล (เพลินจิตต์พิเศษ : กันยายน 2495)
  4. เครื่องดักเสียง (เพลินจิตต์พิเศษ : ธันวาคม 2495) เรื่องนี้เป็นงานเขียนในเชิงไซไฟ ที่น่าสนใจยิ่ง
  5. ดาวโรจน์แห่งเวทีละคร (เพลินจิตต์พิเศษ : เมษายน 2496)
  6. หลังฉากโรงละคร (เพลินจิตต์ ชุมนุมนักประพันธ์ อันดับ 3 : 2496)

 

‘ฉัตรชัย’ เป็นใคร?

 

นอกเหนือไปจากเรื่องสั้นที่ปรากฏในเอกสารชั้นต้นเช่น เพลินจิตต์ รายเดือน และ เพลินจิตต์ พิเศษ ที่ให้รายชื่อมาข้างต้น งานเขียนเรื่องสั้นอีกจำนวนหนึ่งของ ‘องค์อภิรดี’ ยังได้ไปปรากฏรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือปกแข็งชื่อ 1 นาฑีทอง ที่ในสมัยนั้นได้จัดพิมพ์ออกมาอย่างสุกเอาเผากิน ไม่ปรากฏชื่อสำนักพิมพ์ แต่ปรากฏหลักฐานชื่อผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และชื่อโรงพิมพ์ คือ น.ส.ถนอม คุปตรักษ์ และโรงพิมพ์ประสานอักษรกิจ เลขที่ 465 ถนนอนุวงศ์ พระนคร และ ไทม์ไลน์ที่ปรากฏ คือรวมพิมพ์เป็นเล่มเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2493

หนังสือรวมเรื่องสั้น 1 นาฑีทอง ที่ปรากฏเมื่อ พ.ศ. 2493 นี้ แม้จะเป็นการนำเอาเรื่องสั้นของ “องค์อภิรดี” มารวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก แต่นี่ก็ต้องถือว่าเป็น “เอกสารชั้นสอง” ในแง่ชั้นของหลักฐาน และเรื่องสั้นต่างๆ จำนวน 20 เรื่องที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ 1 นาฑีทอง เล่มนี้ แต่ละเรื่องไม่ได้ระบุแหล่งการพิมพ์ครั้งแรกในฐานะ “เอกสารชั้นต้น” ให้ปรากฏแต่ประการใด ทำให้คนรุ่นหลังต้องยุ่งยากในการมองหาข้อมูลเชิงเวลาและพื้นที่ของบริบทในทางการประพันธ์ว่ามีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันอย่างไร เนื่องจากโรงพิมพ์ของเราแต่รุ่นเก่าก่อนไม่มีระบบบรรณาธิการดูแลรับผิดชอบ ไม่มีคำแถลงของสำนักพิมพ์ ไม่มี “คำนำ” ของผู้ประพันธ์ และแทบไม่ให้ความสำคัญใน “แหล่งก่อเกิดครั้งแรก” ที่จะเป็นไทม์ไลน์ของบริบทต่างๆ ในแง่ประวัติวรรณกรรม

นอกจากนั้นที่ปกหนังสือ 1 นาฑีทอง ยังระบุชื่อผู้ประพันธ์ว่า “ฉัตรไชย” อย่างไม่มีที่มาที่ไป จนเกิดความสับสนขึ้นมาอีกว่านามปากกา “ฉัตรชัย” เป็นใคร มีความสัมพันธ์กับนามปากกา “องค์อภิรดี” ประการใด เปิดไปที่หน้าแรกหนังสือ ก็มีข้อความระบุว่า

รวมเรื่องสั้น

ของ

“องค์อภิรดี”

+

“ฉัตรชัย”

‘องค์อภิรดี’ มีอีกนามปากกาหนึ่งว่า ‘ฉัตรชัย’ เช่นนั้นหรือ ความสับสนเหล่านี้ทำให้ต้องเปิดไปที่หน้าสารบาญ ที่ปรากฏชื่อเรื่องสั้น 21 เรื่อง และชื่องานเขียนสารคดีอีก 2 เรื่อง แต่ผู้อ่านต้องไล่เปิดไปทีละเรื่อง เพื่อจะดูว่ามีเรื่องไหนใช้นามปากกา ‘องค์อภิรดี’ และเรื่องไหนใช้นามปากกา ‘ฉัตรชัย’

ปัญหาที่สับสนในเวลาต่อมาก็คือ คุณแครส อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ได้สนทนายืนยันให้ความรู้ว่า นามปากกาที่ใช้ว่า ‘ฉัตรชัย’ นั้น เป็นนามปากกาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นเอก ที่มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร คือพระบิดาของ ‘องค์อภิรดี’ หรือพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามยุรฉัตร

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

 

นี่หมายความว่ากระไร

นี่หมายความว่า หนังสือรวมเรื่องสั้น 1 นาฑีทอง ที่โรงพิมพ์ประสานอักษรกิจ จัดรวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2493 คือการรวมเอางานประพันธ์ของพ่อกับลูกมาไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ต้องถือว่า หนังสือรวมเรื่องสั้น 1 นาฑีทอง เล่มนี้ คือการรวมงานของนักเขียน นักประพันธ์ พ่อและลูกในฐานะเชื้อพระวงศ์แห่ง ‘ราชสกุลหลวง’ มาไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน แม้จะเป็นเพียง ‘เอกสารชั้นสอง’ แต่มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ เพราะพ่อกับลูกในฐานะ ‘เจ้า’ ระดับสูง ได้มาแสดงฝีมือทางการประพันธ์เรื่องสั้นอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน หนังสือ 1 นาฑีทอง (ที่รอดจากน้ำท่วม) เล่มนี้ จึงมีความหมายในเชิงประวัติวรรณกรรมของงานเขียนในแบบ prose narrative ที่ผู้สร้าง คือเชื้อพระวงศ์แห่งราชสกุล ‘วังหลวง’ ของราชวงศ์จักรี

แต่กระนั้น ผมก็ยังสงสัยว่าเรื่องสั้นในนามปากกาว่า ‘ฉัตรชัย’ ที่มีรวมอยู่ 5 เรื่องในหนังสือ 1 นาฑีทอง เล่มนี้ เป็นผลงานเขียนของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร) จริงหรือ เพราะเท่าที่ตรวจสอบสำนวนภาษาและวันเวลาที่ปรากฏบริบทในทางสังคม มันไม่น่าจะใช่สำนวนภาษาและวันเวลาของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 6

ไทม์ไลน์ของพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ผู้เป็นบิดา คือช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2424-2479 พระองค์มีพระชนมายุสั้นเพียง 55 ปีเท่านั้น ส่วนไทม์ไลน์ของพระองค์เจ้ามยุรฉัตร ผู้เป็นบุตรสาว คือ พ.ศ. 2448-2513 ดังนั้น เป็นไปได้อย่างไรที่ ‘ฉัตรชัย’ ในฐานะของผู้ประพันธ์ ที่ได้ลาลับจากไปเมื่อ พ.ศ. 2479 จะเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งโดยอ้างพื้นที่เวลาในไทม์ไลน์ของนิตยสาร สตรีสาร ที่ก่อเกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 ในความเป็นจริง มันน่าจะเป็นงานเขียนเรื่องสั้นของ ‘องค์อภิรดี’ ที่เข้าใจว่าเคยมีส่วนอยู่ในบรรยากาศของการก่อเกิดนิตยสาร สตรีสาร เมื่อ พ.ศ. 2591 มากกว่า (อ่านบรรยากาศได้จากเรื่อง เธออยากทำหนังสือพิมพ์ ที่นำมาเป็นตัวอย่าง ‘เรื่องสั้นตามใจชอบ’ ในวาระนี้)

เรื่องสั้นในนามปากกา ‘ฉัตรชัย’ ที่ปรากฏอย่างไม่มีแหล่งอ้างอิงของเอกสารชั้นต้นในหนังสือ 1 นาฑีทอง มีทั้งหมด 5 เรื่อง คือ

  1. นิทานไม่สนุก (ยกเว้นเรื่องสั้นเรื่องนี้ สไตล์การเขียน สำนวนภาษา และเนื้อหาที่ปรากฏ ก็ให้สงสัยอยู่เหมือนกันว่า บางทีอาจ เป็นงานเขียนของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ทรงเคยใช้นามปากกาว่า ‘ฉัตรชัย’ ตามที่มีผู้รู้บอกไว้ก็เป็นได้ แต่ก็มีเรื่องสั้นในสไตล์แบบนี้อยู่เพียงเรื่องเดียวในหนังสือเล่มนี้)
  2. ของขวัญ (ใช้นามปากกาว่า ‘ฉัตรชัย’ แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลงานเขียนของ ‘องค์อภิรดี’ เสียมากกว่า เพราะบริบทที่นำมาเขียนไม่น่าจะใช่อยู่ในยุคสมัยของพระวรวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน)

ตัวอย่างเช่น “มารศรีกำลังนั่งฟังเพลงจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยของ กรมโฆษณาการ ในโปรแกรมของคณะหนังสือพิมพ์ สตรีสาร…”

ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่นักเขียนในสมัยไทม์ไลน์ของรัชกาลที่ 5-6-7 จะอ้างถึงสิ่งที่เรียกว่า กรมโฆษณาการ และคณะหนังสือพิมพ์ สตรีสาร ในสมัยรัชกาลที่ 9 ดังนั้นแม้จะระบุว่าใช้นามปากกา ‘ฉัตรชัย’ แต่ก็น่าจะชัดเจนว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นงานเขียนของ ‘องค์อภิรดี’ เนื่องจากคณะหนังสือพิมพ์ สตรีสาร นั้นก่อเกิดเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2491)

  1. เจ็ดวันเว้นดีดซ้อมดนตรี
  2. นักเรียนหัวนอก
  3. ผู้ชนะใจตนเอง

เรื่องสั้นทั้ง 5 ในหนังสือ 1 นาฑีทอง ใช้นามปากกา ‘ฉัตรชัย’ เหล่านี้ ยกเว้นเรื่อง นิทานไม่สนุก เพียงเรื่องเดียว อีก 4 เรื่องที่ปรากฏ แม้ว่าจะใช้นามปากกา ‘ฉัตรชัย’ แต่ผมก็เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลงานเขียนของ ‘องค์อภิรดี’ ทั้งหมด

ระบบการรวบรวมจัดพิมพ์หนังสือที่ไม่อ้างแหล่งของ ‘เอกสารชั้นต้น’ ว่าเคยปรากฏครั้งแรก ณ ที่ใด วันเวลาใด ของวรรณกรรมสยามไทยในอดีต มักสร้างให้เกิดความสับสนให้ผู้ศึกษาวรรณกรรมในรุ่นหลังเสมอ และหนังสือ 1 นาฑีทอง คือตัวอย่างของเอกสารชั้นสองที่โรงพิมพ์ได้จัดพิมพ์ขึ้นมา ‘สุกเอาเผากิน’ จนทำให้บทประพันธ์ในระดับชนชั้น ‘เจ้า’ ปรากฏออกมาอย่างไม่มีคุณภาพ

ผลงานเรื่องสั้น 20 เรื่องของ ‘องค์อภิรดี’ และ ‘ฉัตรชัย’ ในหนังสือรวมเรื่องสั้น 1 นาฑีทอง เมื่อ พ.ศ. 2493 เล่มนี้ มีรายชื่อในสารบาญตามลำดับที่ปรากฏ ดังนี้

  1. เธออยากทำหนังสือพิมพ์
  2. หัวหินเดือนมกราคม
  3. ร้อยชู้หรือจะสู้เมียตน
  4. เศรษฐีสมัยใหม่
  5. นักประพันธ์หลังฉาก
  6. ผิดฝาผิดตัว
  7. ความรักสามเหลี่ยม
  8. ความรักในทัศนะของรักษ์
  9. วราภรณ์
  10. เจ้าหล่อนตามหาผัว
  11. ธาตุทั้งสี่
  12. หลังฉากโรงละคร
  13. ไทยกับเทศ
  14. มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่
  15. ความสำเร็จอยู่ที่ความพยายาม
  16. นิทานไม่สนุก
  17. ของขวัญ
  18. นักเรียนหัวนอก
  19. เรื่องอะไร
  20. ผู้ชนะใจตัวเอง

และใน 1 นาฑีทอง เล่มนี้ ยังมีงานเขียนสารคดีรวมพิมพ์ไว้ด้วย 2 เรื่อง คือ เมื่อข้าพเจ้าไปฟังดนตรี และ สวรรค์ของคนต่างถิ่น เรื่องแรกใช้นาม ‘องค์อภิรดี’ ส่วนเรื่องหลังใช้พระนามจริงว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (หญิง) มยุรฉัตร

เท่าที่ปรากฏข้อมูลในวิกิพีเดีย ผลงานด้านงานเขียนอื่นๆ ของพระองค์เจ้ามยุรฉัตรก็ยังมีอีก เช่น ชีวิตในต่างประเทศ (2493) ศิลปะแห่งการครองชีพ (2494) และ บันทึกความทรงจำในต่างประเทศ (ไม่ทราบปีพิมพ์)

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (พ่อ) และ พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล (แม่)
‘องค์อภิรดี’ กับแม่
‘องค์อภิรดี’ ในช่วงบั้นปลาย (ภาพนี้เอื้อเฟื้อโดย แครส อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ)

 

น่าแปลกที่หนังสือประเภท ประวัตินักเขียนไทย และหรือ ‘นามานุกรมนักเขียนไทย’ เท่าที่เคยเห็นผ่านมา ผมยังไม่เคยเห็นชื่อของ องค์อภิรดี อยู่ในฐานะนักเขียน นักประพันธ์ ฐานันดร ‘เจ้า’ ปรากฏหลักฐานข้อมูลไว้ให้แวดวงรุ่นหลังได้รับทราบแต่ประการใด นักอ่าน หรือนักวรรณกรรมศึกษารุ่นหลังที่สนใจเรื่อง ‘ภาพรวม’ ของประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทย ส่วนใหญ่มักจะเคว้งคว้างปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเอง เพราะไม่สามารถจะพึ่งองค์กรระดับสถาบัน หรือสมาคมใดๆ ได้เลย อีกทั้งแม้แต่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่เคยมีโครงการจัดสร้างระบบ นามานุกรมนักเขียนไทย ขึ้นมาเพื่อการเก็บบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบแต่ประการใดไม่ ถ้าหนังสือเก่า 1 นาฑีทอง ของผมเล่มนี้บังเอิญไม่เหลือรอดมาจากน้ำท่วมเมื่อหลายปีก่อน ผมเองก็คงจะสงสัยอยู่ต่อไปว่า นักเขียนสตรีของไทยในอดีต ผู้ใช้นามปากกาว่า ‘องค์อภิรดี’ ผู้นี้เป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร เป็น ‘เจ้า’ หรือเป็น ‘ไพร่’

ประวัตินักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ นักแปล ฯลฯ ในบ้านเรานั้น ต้องขอบอกว่า ตั้งแต่มีคำว่า ‘ประวัติวรรณกรรมสมัยใหม่’ ของสยามประเทศเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย ‘หนังสือจดหมายเหตุ Bangkok Recorder’ ของหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2387 ประเทศนี้ยังไม่เคยมีโครงสร้างในการจัดเก็บแหล่งเอกสารชั้นต้นไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ‘ภาพรวม’ ของ ‘ประวัติวรรณกรรมสมัยใหม่’ อย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการจัดเก็บแบบปัจเจก ‘บ้านใครบ้านมัน’ ปะติดปะต่อกันเอาเองตามใจเลือก และดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะเป็น ‘นักเขียนไพร่’ หรือ ‘นักเขียนเจ้า’ ทั้งหมดต่างก็เหมือนค่อยๆ ถูกลืมไปในที่สุด

 

ประเทศนี้เป็นเช่นนั้นเอง

5 พฤษภาคม 2562

 


เธออยากทำหนังสือพิมพ์

‘องค์อภิรดี’

 

คณะผู้ก่อสร้างหนังสือพิมพ์ เปนสุภาพสตรีทั้งสิ้น เธอทั้งหกคนลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะให้ชื่อว่า “นารีบันเทิง” มีเงินทุนจำนวนห้าหมื่นบาทอยู่ในกำมืออย่างพร้อมมูล

นางสาวนารีรัตน์เปนบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นางสาวศรีสุรางค์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ นางสาวพรทิพย์ และ นางสาวพวงสุดาเปนฝ่ายธุรการ นางถนอมลักษณ์เปนสมุห์บัญชี นางสาวเกศมณีหาแจ้งความมาลงในหนังสือพิมพ์

เมื่อได้ขออนุญาตให้หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ “นารีบันเทิง” ได้ถือกำเนิดในบรรณโลกเรียบร้อยแล้ว ก็มีการเลี้ยงโต๊ะจีนที่บ้านของบรรณาธิการอย่างมโหฬาร

ในบรรดาญาติมิตรผู้ได้รับเชิญต่างลงนามเปนสมาชิกหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ทุกคน เปนอันว่าได้เริ่มต้นด้วยมีศุภนิมิตอันเลอเลิศ

หน้าปกฉบับปฐมฤกษ์ใช้รูปสตรีผู้มีเกียรตินามกระเดื่องเฟื่องฟุ้งในสังคม แต่งแบบเต็มยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงเด่น ชูความสง่าราศีอย่างภาคภูมิ

กระดาษหน้าปกเปนกระดาษอาร์ตชนิดดีเยี่ยม ด้านในก็ใช้ชนิดดีที่สุดที่จะหาได้ในประเทศไทย มีความหนา ๔๘ หน้า ผู้ประพันธ์เรื่องทั้งยาวและสั้น ล้วนแล้วไปด้วยสุภาพสตรีผู้เริ่มงานทั้งสิ้น ส่วนภาพประกอบเรื่องก็ได้จ้างจิตรกรหญิงมาเขียนให้เปนประจำ ในอัตราเงินเดือนสูงมาก

การเรียงพิมพ์และเย็บเล่ม จำเปนต้องจ้างโรงพิมพ์ ซึ่งคนงานเปนบุรุษเพศเป็นส่วนมากทำไปก่อน โดยชาวคณะได้ตั้งใจไว้แล้วว่าถ้าการจำหน่ายได้ผลดี มีแฟนมาก ได้กำไรงาม ก็จะจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเอง โดยจะพยายามไม่ใช้คนงานที่เปนผู้ชาย

ฉบับแรกและฉบับที่สอง-สาม ขายดีมาก แต่ทางด้านโฆษณาของห้างร้านหาได้ยาก แทบจะมองไม่เห็นประกาศใดๆ เลย เรื่องจึงพราวไปทั้งฉบับ ผู้อ่านชมเชยมาทุกทิศทุกทางว่าหนังสือพิมพ์ “นารีบันเทิง” เปนหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่ไม่เห็นว่าการโฆษณาของห้างร้าน

เปนเรื่องสำคัญ เสียอย่างเดียวแค่มีนามปากกาใหม่ๆ ทั้งฉบับ

ตามความเปนจริง คณะหนังสือพิมพ์ “นารีบันเทิง” ต้องการค่าแจ้งความเปนอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเพื่อนหนังสือพิมพ์อื่นๆ หากแต่ว่าอัตราค่าแจ้งความสูงลิบลิ่ว จนกระทั่งพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายไม่กล้ารับรองผู้หาแจ้งความ คราใดที่นางสาวเกศมณีเข้าไปยื่นนามบัตรขอพบเจ้าของหรือผู้จัดการ ท่านเหล่านั้นก็รีบปิดประตูห้องบ้าง โดดลงทางบันไดหลังไปซ่อนตัวอยู่ในห้องน้ำบ้าง บอกว่าติดประชุมบ้าง แล้วแต่ใครจะมีวิธีหลีกเลี่ยงดีกว่ากัน

เช้าวันหนึ่ง เกศมณีเดินผ่านห้างเปิดใหม่แห่งหนึ่ง ซึ่งในที่นั้นไม่ขายอะไร นอกจากจักร์เย็บผ้าอย่างเดียว เธอลอบมองเข้าไปในร้าน เห็นสุภาพบุรุษผู้หนึ่ง ทีท่าจะเป็นเจ้าของห้าง กำลังชี้นิ้วออกคำสั่งโบ๊เบ๊อยู่ รอบๆ ตัวมีลูกน้องยืนประสานมือสงบนิ่งคอยรับคำสั่งด้วยท่าทางเคารพยำเกรง เกศมณีจึงเดินเข้าไปอย่างองอาจกล้าหาญ

เด็กรุ่นหนุ่มคนหนึ่งเหลียวมาเห็นเข้า จึงรีบเดินมาหา พลางถามว่า “คุณมีธุระอะไรหรือครับ?”

เกศมณีพูดหน้าตาเฉย “ฉันต้องการพบนายห้าง”

“คุณจะมาซื้อจักร์หรือครับ?”

“ถ้าฉันซื้อก็ซื้อมาก” เธอพูดไว้สง่า “แต่ฉันจะต้องตกลงกับนายห้างเปนส่วนตัว”

เด็กหนุ่มโค้งคำนับอย่างงาม แล้วรีบเดินไปประสานมือรายงานกับสุภาพบุรุษ ผู้ซึ่งกำลังสั่งให้ลูกน้องตั้งจักร์ให้ถูกที่

“นายห้าง” หันมามองเกศมณีด้วยความสนใจ เขาค่อยๆ เดินอาดๆ มาที่เธอยืนอยู่

“คุณต้องการพบผมหรือ?”

เกศมณีก้มศีร์ษะให้พองามและไว้ท่าที “ค่ะ ดิฉันขอเวลาท่านสัก ๑๐ นาทีได้ไหมคะ?”

“คุณจะมาพูดตกลงเรื่องจักร์ของผมหรือครับ?” “นายห้าง” แสดงกิริยาอ่อนโยนลงบ้างเล็กน้อย “เชิญข้างบนซีครับ เชิญพูดธุระได้ในออฟฟิศของผม เชิญทางนี้”

เกศมณีเดินอกผายไหล่ผึ่งขึ้นไปชั้นบน โดยมีพวกที่ทำงานอยู่หลีกทางแหวกช่องให้สองข้างเข้าแถวยืนระวังตรง ราวกับรับเสด็จพระราชินี “นายห้าง” เดินตามหลัง หัวใจเต็มเปี่ยมด้วยความหวังว่าอย่างน้อยคงจะขายจักร์ได้สักร้อยเครื่อง

เมื่อขึ้นไปข้างบนแล้ว เกศมณีได้รับเชิญให้นั่งบนเก้าอี้นวมหรูหรา เด็กรับใช้นำน้ำส้มแช่เย็นมาวางให้ด้วยอากัปกิริยานอบน้อม

“นายห้าง” หยิบแค็ตตาลอคมีทั้งเปนชิ้นเล็กชิ้นน้อย เครื่องอะไหล่ต่างๆ จนกระทั่งถึงเปนรูปร่างจักร์โดยสมบูรณ์ พลางชี้อธิบายให้เห็นความสำคัญต่างๆ อย่างภูมิใจ

“ผมเป็นผู้แทนบริษัททำจักร์นี้แต่ผู้เดียวในประเทศไทย จักร์นี้มีคุณภาพดีมาก คุณใส่สายเสียบปลั๊กก็กลายเปนจักร์ไฟฟ้า คุณอยากให้เปนจักร์ธรรมดาก็ถอดปลั๊ก คุณอยากถอดจากเครื่องถีบด้วยเท้าเพื่อนำติดตัวไปต่างจังหวัดก็ทำได้ ถ้าคุณจะซื้อเปนจำนวนมาก ผมจะลดราคาให้เปนพิเศษ”

เกศมณียิ้มอย่างมีเสน่ห์ “แหม! ดิฉันพอใจมากค่ะ ราคาเท่าไหร่คะ?”

“พันห้าครับ ถ้าคุณต้องการชนิดสมบูรณ์แบบดังที่ผมเรียนให้ทราบเมื่อกี้นี้ จะต้องขอเพิ่มราคาอีกเล็กน้อยเปนสองพันบาทถ้วน”

เกศมณีเริ่มเปิดฉากการโจมตี “ดิฉันอยากให้ท่านโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ คงจะได้ผลดีมาก อาจจะขายได้วันละร้อยสองร้อยคัน”

“โอ๊! จักร์ของผมไม่ต้องโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์หรอกครับ แต่ถ้าผมจะลง ผมลงเต็มหน้าเลยทีเดียว”

“งั้นหรือคะ ถ้าลงได้เต็มหน้าก็จะดีมากที่สุด”

“ครับ ผมลงก็ลงเต็มปกหลังทีเดียว”

เกศมณีเปิดกระเป๋าเอกสาร หยิบใบสัญญาออกมาวางตรงหน้า “นายห้าง” พร้อมด้วยปากกาหมึกซึม

เขาทำหน้าฉงนสนเท่ห์ “คุณจะให้ผมทำอะไร”

“เซ็นสัญญาแจ้งความเต็มหน้าหลังสำหรับหนังสือพิมพ์ “นารีบันเทิง” ค่ะ กรุณาเซ็นหกเดือนเต็มก็ยิ่งดี”

“นายห้าง” ตกตะลึง หยิบผ้าขึ้นมาซับเหงื่อบนหน้าผาก “คุณเปนผู้แทนหนังสือพิมพ์ คุณมีหน้าที่หาแจ้งความหรือครับ?” เขาถามอย่างไม่อยากเชื่อนัยน์ตาตัวเอง

เกศมณียิ้มอย่างมีเสน่ห์อีกครั้งหนึ่ง “ค่ะ ขอท่านกรุณาช่วยอุดหนุนหนังสือพิมพ์ของดิฉันให้ยืนหยัดอยู่ได้หน่อยนะคะ”

“แต่ผมเข้าใจว่าคุณจะมาซื้อจักร์ของผม ทำให้ผมเสียเวลาไปเปล่าๆ” เขาพูดอย่างมีโมโหเล็กน้อย

“ไม่เสียเวลาหรอกค่ะ ท่านลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์ของดิฉัน ซึ่งจำหน่ายแพร่หลายทั้งในและนอกประเทศ มีแฟนมากมายก่ายกอง ตอบรับกันไม่หวาดไหว ท่านจะได้ผลประโยชน์คุ้มค่าทีเดียว”

“หนังสือพิมพ์ส่งออกนอกประเทศด้วยหรือครับ แล้วใครจะไปอ่านภาษาไทยออก คุณพิมพ์เปนจำนวนเท่าไหร่?”

“หนังสือพิมพ์ของดิฉันได้มีโอกาสได้ไปเที่ยวประเทศอังกฤษ อเมริกา เดนมาร์ค และอีกหลายประเทศเทียวค่ะ ก็พวกคนไทยในประเทศต่างๆ นั้น เขาสั่งให้เราส่งไปนี่คะ ส่วนการพิมพ์ แหม เราพิมพ์เปนจำนวนแสนๆ ฉบับทีเดียวค่ะ”

“นายห้าง” เช็ดเหงื่อที่หน้าผากอีกวาระหนึ่ง “อือ! คุณควรจะมาเปนคนโฆษณาและช่วยขายจักร์ให้ผมดีกว่าที่จะไปหาแจ้งความให้หนังสือพิมพ์”

“แต่ดิฉันชอบทำหนังสือพิมพ์นี่คะ ถึงแม้จะเหนื่อย เงินจะได้น้อย แต่ก็สนุกดี”

“นายห้าง” เริ่มแสดงความสนใจในตัวเกศมณีโดยฉะเพาะ เขาลอบพิศดูเธอก็เห็นว่าเปนคนสวย สมาร์ท และมีความไหวพริบ เธอเก่งพอที่หลอกให้เขาตกหลุมพรางของเธอได้ จนได้มีโอกาสขึ้นมานั่งบนออฟฟิศอันเปนที่หวงห้าม และสำหรับต้อนรับแต่ผู้มีความสำคัญในกิจการค้าจริงๆ เท่านั้น

“นายห้าง” กระแอมติดๆ กัน แล้วพูดว่า “ผมขอชมเชยความเก่งกล้าของคุณ ในการที่ต้อนผมเข้ามุมจนได้ ฉะนั้นผมจะช่วยเหลือลงแจ้งความในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ของคุณสักหนึ่งเดือน คุณจะคิดราคาเท่าไหร่?”

เกศมณียิ้มอย่างอ่อนหวานยิ่งขึ้น “เต็มหน้าหลังปกนะคะ เดือนหนึ่งสองพันบาทค่ะ” เธอตอบอย่างคล่องแคล่วว่องไว

“นายห้าง” ตกตลึงจังงังอยู่ครู่ใหญ่จึงสามารถพูดออกมาได้ “อะไรกันตั้งสองพันสามพัน คิดเพียงร้อยบาทต่อเดือนไม่ได้หรือ?”

“ไม่มีธรรมเนียมค่ะ หนังสือพิมพ์ดีๆ ในขั้นมาตรฐานอย่าง “นารีบันเทิง” รับค่าแจ้งความเต็มปกหลัง สอดสีสามสีด้วยเงินเพียงร้อยบาท ครั้งละ ๒๕ บาทเท่านั้นเอง ใครๆ เขาก็ไม่ลงให้” เกศมณีพูดด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียว ครั้นแล้วกลับคิดได้จึงเปลี่ยนเสียงให้อ่อนหวานแกมฉอเลาะ

“ท่านมีเงินมากมายก่ายกอง ท่านเปนนายห้างใหญ่โต จักร์ของท่านก็ดี กรุณาช่วยลงแจ้งความหน่อยเถิดค่ะ ชื่อเสียงของท่านจะแพร่หลายไปหลายประเทศ ท่านช่วยดิฉันสักเดือนเถิดนะคะ แล้วดิฉันจะชักชวนเพื่อนๆ มาซื้อจักร์ของท่าน”

“นายห้าง” เอาปากกาเคาะโต๊ะเชิงตรึกตรอง แล้วพูดช้าๆ “เอาอย่างนี้เถิดครับ คุณให้เวลาผมตรึกตรองดูก่อน อีกสองสามวันจึงค่อยมาฟังข่าว”

“แล้วท่านต้องเซ็นสัญญาให้ดิฉันนะคะ”

“คุณมาหาผมอีกครั้งก็แล้วกัน แล้วผมจะตอบให้ทราบ อ้อ! ขอโทษ คุณมีนามว่าอะไรนะครับ

“จำเปนที่จะต้องทราบชื่อด้วยหรือคะ” เกศมณีถามด้วยกิริยาชมดชม้อย

“ผมต้องทราบนามของทุกคนที่มาติดต่อกับผม” เขาอธิบาย

“ดิฉันชื่อเกศมณีค่ะ นางสาวเกศมณี”

“นางสาวเกศมณี” นางห้างทวนคำ “คุณทำงานในหน้าที่หาแจ้งความมานานเท่าไหร่แล้ว”

“หนึ่งเดือนเต็มๆ ค่ะ”

“หนังสือพิมพ์ของคุณออกวางตลาดมากี่ปีแล้ว”

“เดือนนี้เปนเดือนแรก นี่ไงคะฉบับปฐมฤกษ์ของเรา” เกศมณีพูดแล้วหยิบหนังสือพิมพ์ส่งให้

“นายห้าง” รับไปพลิกดูทีละหน้าอย่างเสียไม่ได้

“ อือ! ผมก็ไม่ใช่นักอ่านหนังสืออ่านเล่นเสียด้วย หนังสือที่ผมสนใจมีแต่เรื่องกิจการค้าทั้งสิ้น”

เกศมณีลุกขึ้นยืน ยกมือกระทำความเคารพ “ดิฉันจะมาอีกครั้งในวันพฤหัสนะคะ”

นายห้างถอนหายใจยาวอย่างโล่งอก “ครับ”

เมื่อเกศมณีลงบันไดไปชั้นล่าง จนกระทั่งผ่านประตูห้างไปแล้ว จึงมีเสียงกริ่งดังขึ้นติดๆ กันจากชั้นบน

เลขานุการวิ่งพรวดพราดขึ้นไปหาอย่างรีบร้อน และไปยืนในท่าสำรวมอยู่ที่หน้าโต๊ะทำงาน

“นายห้าง” ยกมือขึ้นชี้หน้าเลขานุการ “ฉันขอสั่งเธอ และให้เธอสั่งทุกคนในห้างนี้ว่า ถ้าแม่คนนั้นมาอีก ให้บอกกับเขาว่าฉันไม่อยู่ ไปต่างจังหวัดยังไม่มีกำหนดกลับ ถ้าแม้นผู้ใดปล่อยให้ผู้หญิงคนเมื่อตะกี้มาพบฉันได้ ฉันจะตัดเงินเดือนคนละสิบบาททุกคน เข้าใจไหม?”

เลขานุการทำหน้าซีดเซียว “เข้า- – เข้าใจแล้วครับ”

“ดีแล้ว ไปได้ ไปสั่งให้รู้เรื่องเดี๋ยวนี้”

“ครับ” เลขานุการรับคำปากคอสั่น รีบเดินไปออกคำสั่งอย่างด่วนจี๋

“นายห้าง” ฉีกใบเซ็นสัญญาแจ้งความเปนชิ้นเล็กชิ้นน้อยทิ้งลงในตะกร้าเศษกระดาษ บ่นพึมพัมว่า “สองพัน หนึ่งเดือนสองพัน บ้า! ใครจะไปลงแจ้งความในหนังสือบ้าๆ พรรณนั้น เอ! สาวน้อยนั้นชื่ออะไรนะ เกศสุดา – – เอ๊ย – – เกศอนงค์ – อ๊า ไม่ใช่ อ้อ! เกศมณี  ถ้าได้แกมาขายของหน้าร้านของเรายังจะดีกว่าไปเดินท่อกแท่กกวนชาวร้านบ้านช่องอย่างนี้เปนไหนๆ”

 

ณ สำนักงานหนังสือพิมพ์ “นารีบันเทิง” ชาวคณะทุกคนกำลังนั่งประชุมกันอยู่พร้อมเพรียง นางสาวนารีรัตน์ บรรณาธิการเงยหน้าขึ้นจากกองจดหมาย เธอมีสีหน้าบึ้งตึงด้วยความหงุดหงิด

“แหม! ใครก็ไม่รู้ ส่งก้อนอิฐกับไม้ตะพดมาให้กองพะเนินเทินทึก ฟังนี่แน่ะ”

 

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “นารีบันเทิง”

ผมเห็น น.ส.พ. ของคุณฉบับปฐมฤกษ์ ดูท่าจะดี แต่ทีเหลว ผมจวนเจียนจะสมัครเปนแฟนของคุณ  ยิ่งอ่านไปยิ่งเวียนศีร์ษะขึ้นทุกที ผมอยากทราบว่าคุณตรวจปรู๊ฟกันอย่างไร จึงมีผิดมากมายหลายแห่ง เช่นมีอยู่ตอนหนึ่งว่า – – – “ชีวิตลูกผู้หญิงต้องมัเย้าเอนรึ” ซึ่งควรจะเปนเหย้าเรือน

อีกฉบับหนึ่งในฉบับที่สอง มีเรื่องชื่อ “รักในนรก” ของ “นานิน” มีอยู่ตอนหนึ่งว่า “ – เขามองดูหล่อนด้วยหัวใจแสนเศร้าชื่นชม – -”

ผมขอถามว่าถ้าพระเอกในเรื่องกำลังเศร้าเสียใจอยู่ จะมองดูอย่างชื่นชมได้อย่างไร ควรจะเปนขื่นขมมากกว่า ทั้งนี้อยู่ที่คนตรวจปรู๊ฟและอยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของบรรณาธิการใช่ไหม?

ขอให้พยายามหานักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว มาลงในฉบับบ้าง อย่าใช้นักเขียนหน้าใหม่ทั้งหมดเลย

หวังว่าท่านบรรณาธิการจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา

                                                          ขอแสดงความนับถือ

                                                                   นายมะเขือขื่น

 

นารีรัตน์อ่านจดหมายให้ที่ประชุมฟังจบแล้ว ก็ถามศรีสุรางค์ว่า

“จะว่าอย่างไรศรี ตรวจปรู๊ฟอย่างไรกัน ไม่แก้คำผิด”

ศรีสุรางค์เถียงเสียงใส “แน้! ฉันแก้คำผิดไปแล้วนี่ ช่างเรียงเขาไม่ดูเอง จะมาโทษฉันได้อย่างไร?”

เกศมณีเถียงแทนช่างเรียง “เอะอะอะไรก็โทษช่างเรียง คนที่ตรวจปรู๊ฟทำไมไม่โยงให้เห็นถนัดชัดแจ้งเล่า”

“ถ้าอย่างนั้นฉันลาออกจากหน้าที่รองบรรณาธิการ ฉันเปนคนสะเพร่าเลินเล่อจึงทำงานให้ไม่ได้”

นางถนอมลักษณ์ผู้มีอาวุโสกว่าชาวคณะอื่นๆ จึงไกล่เกลี่ยว่า “ขอเสียทีเถิดหน้า อย่าทะเลาะกันเลย เขายิ่งว่าพวกผู้หญิงทำอะไรไม่ยืดเยื้อ เราต้องหันหน้าเข้าปรึกษากัน ไม่ใช่แตกแยกจากกัน”

“ถ้างั้นพี่หนอมตรวจปรู๊ฟซี ฉันจะเปนสมุห์บัญชีแทนเอาไหมล่ะ?”

“พี่ไม่ชอบตรวจปรู๊ฟ พี่ชอบทำบัญชี”

“ถ้างั้นให้พรทิพย์หรือพวงสุดาก็ได้”

“ธุระไม่ใช่” พรทิพย์ตอบโดยฉับพลัน

“ฉันอยู่ฝ่ายธุรการ แล้วฉันต้องเขียนเรื่องลงทุกฉบับ งานเต็มมือรับไม่ไหว” พวงสุดาพูดเบี่ยงบ่าย

“เห็นไหม งานตรวจปรู๊ฟเป็นงานหนักใจจะตาย จึงไม่มีใครยอมทำ อ้อ! ยังมีอีกคน เกศมณีแน่ะ  เห็นเปนเจ้ากี้เจ้าการกับช่างเรียงนัก คงจะทำหน้าที่นี้ได้ดี” ศรีสุรางค์พูด

“เสียใจ ฉันเปนหน้าที่หาแจ้งความ” เกศมณีตอบ

นารีรัตน์ตบโต๊ะดังปัง “มัวแต่เกี่ยงงอนกันอย่างนี้ หนังสือสัปดาห์หน้าต้องล่าช้าแน่”

“ฉันไม่ทำไม่แทมละ ไปนอนร้องเพลงที่บ้านดีกว่า” ศรีสุรางค์พูดด้วยความงอน

เสียงกริ่งโทรศัพท์ดังกังวานอย่างเร่งเร้า บรรณาธิการเดินไปรับโทรศัพท์ทันที

“ฮัลโล ที่นี่สำนักงานหนังสือพิมพ์ “นารีบันเทิง” ค่ะ นั่นที่ไหนคะ?”

มีเสียงตอบมาทางหูโทรศัพท์ “ที่นี่ห้างไทยเหลาเหย่ บรรณาธิการอยู่ไหมครับ”

“บรรณาธิการกำลังพูดค่ะ” นารีรัตน์ตอบด้วยเสียงอ่อนหวาน แล้วพูดต่อไป “แจ้งความของคุณจะหมดกำหนดฉบับหน้านะคะ โปรดต่ออีกสักสามเดือนได้ไหมคะ?”

เสียงจากสายตอบอย่างโมโหโทโส “ต่ออะไรกัน ผมจะไม่จ่ายค่าแจ้งความเสียด้วยน่ะซี มีอย่างที่ไหน ผมแจ้งความขายยาน้ำมันผสมพิเศษใหม่เอี่ยม แก้มดตอม คุณกลับลงแจ้งความว่าแก้หมัด มดกับหมัดเหมือนกันที่ไหน เลิกที ผมไม่ลงแจ้งความอีกแล้ว ลูกค้าพากันหัวเราะเยาะผมใหญ่ หาว่าเป็นอ้ายงั่งและอื่นๆ อีกมาก ที่ดันไปโฆษณาปราบหมัดแทนมด”

นารีรัตน์ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดกับโทรศัพท์ “ขอโทษในความพลั้งพลาด เราจะลงแก้คำผิดให้ฟรีสองครั้ง แต่ขอความกรุณาอย่างดแจ้งความเลยนะคะ”

เสียงตอบว่า “คุณจะลงต่ออีกกี่สิบปีก็ตามใจ แต่ผมจะไม่จ่ายเงินให้คุณเปนอันขาด สวัสดี”

บรรณาธิการกระแทกหูโทรศัพท์ลงกับที่โครมใหญ่

“อะไรกัน”

“เขาว่าอย่างไร?”

“ด่ามาอีกหรือ”

หลายๆ เสียงถามขึ้นพร้อมๆ กัน นารีรัตน์ตะโกนตอบ

“ห้างไทยเหลาเหย่เขาโทรมาว่าเราโฆษณาให้เขาผิด กลายเปนปราบหมัดแทนปราบมด บ้า บ้าทั้งเรื่อง”

“ก็ออกเหลาเหย่อย่างนั้น ยังจะแค่นมาเปิดร้านขายของ” เกศมณีพูดแล้วหัวเราะ

“อย่าทำหัวเราะไปนะ เขาบอกว่าเขาไม่ให้ค่าแจ้งความ แปลว่าเปอร์เซ็นของเธอก็พลอยสูญไปด้วย” นารีรัตน์บอกกล่าว

เกศมณีหน้าซีดสลดในทันใด “อ๊ะ! ทำอย่างนั้นจะใช้ได้ที่ไหน เขาเซ็นสัญญาแล้วนี่”

“เซ็นก็เซ็น เขาบอกว่าเขาไม่จ่ายเงิน” บรรณาธิการพูดแล้วลงนั่งเอามือกุมศีร์ษะ

เสียงบุรุษไปรษณีย์ตะโกนเรียก “จดหมายครับ”

“ใครรับแล้วเปิดอ่านทีเถอะ ฉันปวดหัวเต็มทนแล้ว” บรรณาธิการพูดอย่างหมดแรง

ศรีสุรางค์เดินไปรับจดหมายมาฉีกซอง แล้วอ่านดังๆ

 

เรียนคุณบรรณาฯ

หนูได้อ่านเรื่องของ “ปฐพี” ชื่อว่า “จันทร์ทอแสงเหนือน้ำทะเลอันเวิ้งว้าง” แล้วทนอยู่ไม่ได้ ที่จะเขียนมาต่อว่า

พระจันทร์ของ “ปฐพี” ในหนังสือพิมพ์ “นารีบันเทิง” ฉบับที่สาม ทำไมจึงกลายเปนสีเขียว? ตั้งแต่หนูเกิดมาจนอายุได้ ๑๕ ปีครึ่ง ยังไม่เคยเห็นพระจันทร์สีเขียว!!

โปรดระวังหน่อยค่ะ หนูอยากเปนนักเขียนบ้าง ถ้าให้หนูเขียนให้ น.ส.พ.นี้ หนูจะไม่เขียนพระจันทร์สีเขียวเปนอันขาด อนุญาตให้หนูส่งต้นฉบับมาได้ไหมคะ เรื่องของหนูชื่อว่า “ความรักในปฐมวัย” โดยใช้นามปากกาว่า “มลิตูม”

โปรดตอบให้หนูทราบเร็วๆ นะคะ

จากหนู

แต๋ว

 

เสียงฮาครืนดังขึ้น มีนารีรัตน์คนเดียวที่นั่งหน้าบึ้งตลอดเวลาที่ทุกคนส่งเสียงเอ็ดตะโร

“รู้เองเปนเอง รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ” เกศมณีพูดแกมตลกเชิงล้อเลียน

นารีรัตน์พูดเบาๆ “ฉันยอมรับว่าเปนความผิดของฉัน เพราะมัวนึกถึงหญ้าเขียวชอุ่ม เลยใส่ไปว่าพระจันทร์สีเขียวไปได้”

เสียงบุรุษเพศกระแอมอยู่ที่ประตูสำนักงาน ชาวคณะ “นารีบันเทิง” เหลียวไปมองดูเป็นจุดเดียวกัน

“ขอประทานโทษ ผมเข้าไปได้ไหม?”

“เชิญซีคะ” นางถนอมลักษณ์ตอบแทนบรรณาธิการ

ชายหนุ่มรูปร่างสะโอดสะอง หวีผมเรียบแปล้ น้ำมันเยิ้ม เดินเข้ามาก้มศีร์ษะคำนับ เขาพูดขึ้นอย่างอ่อนน้อม ท่านบรรณาธิการอยู่ไหมครับ?”

“อยู่ค่ะ” นารีรัตน์ตอบไม่ค่อยเต็มเสียง “คุณมีธุระอะไรหรือคะ เชิญนั่งก่อนซีคะ”

“ผมมาเก็บบิลครับ” ชายหนุ่มพูดอ้อมแอ้ม

“อ้อ! คุณมาจากโรงพิมพ์หรือคะ”

“ครับ คุณโกมลให้ผมมารับเงินค่ากระดาษ ค่าเรียง ค่าพิมพ์ ค่าพับ และค่าเย็บเล่มครับ นี่บิลทั้งหมด”

นารีรัตน์พยักหน้าให้ถนอมลักษณ์รับมาดู สมุห์บัญชีตรวจแล้วก็ร้อง

“โอ๊ะ!”

“อะไรกัน” บรรณาธิการถาม

“ค่าจ้างทั้งหมด รวมทั้งค่ากระดาษ เปนเงินสองหมื่นบาท” สมุห์บัญชีรายงาน

“โอ้โฮ? ทำไมจึงมากมายอย่างนั้น” นารีรัตน์ตกใจจนแทบหล่นจากเก้าอี้ “เราขายได้มาเพียงสามพันบาท รายจ่ายตั้งสองหมื่น ยังไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายในสำนักงานด้วยซ้ำไป”

“ทำไมมากมายนักล่ะคะ” สมุห์บัญชีถามคนเก็บบิล

“ผมก็ไม่ทราบ เขาใช้ผมมา ผมก็ต้องมา”

นารีรัตน์เซ็นเช๊คจ่ายเงินให้ไปจนครบด้วยมืออันสั่นเทา เมื่อคนเก็บบิลไปแล้ว เธอก็ประกาศขึ้น “ฉันยอมแพ้ ไม่ทำอีกแล้วหนังสือพิมพ์หนังสือแพม ไปแต่งงานกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ไทยตลอดกาล” ดีกว่า ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยไปเปล่าๆ”

“ไชโย ถ้าอย่างนั้นฉันก็จะไปจดทะเบียนกับพ่อยอดชายของฉันบ้าง พระเอกของฉันเปนนักดนตรี” ศรีสุรางค์พูดอย่างกระตือรือร้น

“ฉันก็จะกลับไปเลี้ยงลูกๆ ให้พี่เขาออกไปทำงานเยี่ยงสามีที่ดี เลิกทำหนังสือพิมพ์เสียทีก็ดี” นางถนอมลักษณ์พูดอย่างตัดสินใจเด็ดขาด

 

 

พิมพ์ครั้งแรก: รวมเรื่องสั้น 1 นาฑีทอง สำนักพิมพ์สุโรจน์ โรงพิมพ์ประสานอักษรกิจ
น.ส.ถนอม คุปตรักษ์ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา พฤศจิกายน พ.ศ. 2493
หมายเหตุ: สำนวนภาษา สะกดการันต์ วรรคตอน คงไว้ตามต้นฉบับที่ปรากฏเมื่อ พ.ศ. 2493

 

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า