ฉันทามติภายใต้แนวคิด ‘คนสตูลจัดการตนเอง’

10. Sunset at Pak Bara Bay

ชาวบ้านแห่ร่วมเวทีสมัชชาสตูลกว่า 1,000 คน ห่วงท่าเรือปากบารากระทบวิถีชีวิต นายกฯ อบจ.สตูล ประกาศค้านสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ที่ประชุมได้ฉันทามติต้องพัฒนาภายใต้แนวคิดคนสตูลจัดการตนเอง

ที่ประชุมสมัชชาสตูลครั้งที่ 4 เพื่อกำหนดทิศทาง ‘เมืองสตูลที่เราอยากเป็น’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ณ ลานสาธารณะหาดปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล มีส่วนราชการและเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,000 ราย โดยที่ประชุมได้แสดงความกังวลต่อโครงการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จะทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวว่า จ.สตูล ไม่จำเป็นต้องมีท่าเรือน้ำลึกก็อยู่ได้ แต่หากโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องเกิดขึ้นจริงเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล ก็จำเป็นต้องมาพูดคุยถึงผลดีผลเสียให้ชัดเจนเสียก่อน แต่หากมีการสร้างโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมยืนยันว่าจะเกิดการต่อต้านอย่างหนักอย่างแน่นอน

“ย้ำว่าเราไม่เอาโรงงาน โรงงานอย่ามาสร้าง ถ้าเป็นโรงงานเราจะต่อต้านอย่างหนัก เพราะเราไม่อยากเป็นแบบมาบตาพุด” นายสัมฤทธิ์ กล่าว

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต สว.นครราชสีมา กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นเพราะส่วนกลางมองทิศทางการพัฒนาแตกต่างไปจากชาวบ้าน โดยรัฐมองแต่ในเชิงยุทธศาสตร์ว่าการพัฒนาต้องมีทุนขนาดใหญ่ ต้องใช้ปูน ใช้เหล็ก ส่งผลให้ชาวบ้านต้องปรับชีวิตให้เข้ากับทุน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่ดีไม่ใช่การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ไม่ใช่เอาทะเลไปสร้างท่าเรือน้ำลึกจนกระทั่งทำลายสัตว์น้ำ พืชพรรณ หรือถึงขั้นที่ประมงขนาดเล็กไม่หลงเหลือ

“รัฐบาลที่แล้วได้ประกาศพื้นที่อุทยานหลายแห่ง เรียกได้ว่าเกือบจะทั้งจังหวัดสตูล เพราะในอดีตเขามองว่าการสร้างอุทยานคือการสร้างสมดุลของภาคการเกษตร ประมง รักษาวิถีที่คนสืบต่อเป็นชุมชน แต่มาวันนี้วิธีคิดของผู้นำเปลี่ยนแปลงไปมาก อยากแปรสภาพไทยเป็นญี่ปุ่น เกาหลี แต่มันเป็นไปไม่ได้” นายไกรศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีฉันทามติว่า ทิศทางการพัฒนา จ.สตูล ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและการพึ่งพาตนเอง ที่สำคัญต้องมีการศึกษาศักยภาพพื้นที่ควบคู่กระบวนการเรียนรู้ การตัดสินใจบนฐานข้อมูล การมีส่วนร่วมของภาคีทุกฝ่าย ภายใต้แนวคิดคนสตูลจัดการตนเอง

นายยูหนา หลงสมัน ประธานเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.สตูล กล่าวว่า ทิศทางที่ต้องการอยากให้เป็น คือการพัฒนาบนฐานความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และการพัฒนาที่ยั่งยืนจากฐานรากประวัติศาสตร์ ต้นทุนทรัพยากร และจิตวิญญาณของผู้คน

อนึ่ง ความคืบหน้าโครงการท่าเรือปากบาราล่าสุด กระทรวงคมนาคม ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 50 ล้านบาท ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2559

พร้อมกันนี้ กรมเจ้าท่าได้ขอตั้งงบปี 2559 จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment: EHIA)

 

ที่มา: ที่ประชุมสมัชชาสตูล

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า