ค้นหานิยามสู่ ‘การตายดี’ สิทธิที่ทุกคนควรเข้าถึง

แม้คำว่า ‘สิทธิการตาย’ จะเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงมานาน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า แพทย์จำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจความหมายและแนวทางที่ถูกต้องในการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือแม้แต่โรงเรียนแพทย์เองก็อาจไม่มีการบรรจุเรื่องเหล่านี้ไว้ในหลักสูตรแพทยศาสตร์

เมื่อความหมายยังไม่กระจ่าง จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้คำจำกัดความที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ เกิดความเข้าใจตรงกัน และมองเห็นแนวทางการดูแลรักษาร่วมกัน

“ที่ผ่านมาเราพบกรณีที่หมอไม่รู้ว่าคนไข้เป็นผู้ป่วยระยะท้าย เลยไม่ได้ให้การดูแลแบบประคับประคอง ก็รักษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเสียชีวิต แต่ถ้าหมอมีความเข้าใจ เมื่อหมอพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายนี้ หมอก็จะส่งต่อไปที่ศูนย์ดูแลประคับประคอง ศูนย์ดูแลประคับประคองก็จะจัดบริการให้ผู้ป่วยตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลไปจนถึงเยี่ยมบ้าน เพื่อให้คนไข้เข้าถึงบริการที่เหมาะสม”

เป็นคำบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงของ พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พบว่าการที่แพทย์ไม่เข้าใจความหมายที่ชัดเจนส่งผลอย่างไรต่อชีวิตผู้ป่วยระยะท้าย

นี่จึงเป็นที่มาของการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยนิยามปฏิบัติการ (operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา

 

นิยามไม่ชัด อุปสรรคของระบบราชการไทย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ เล่าว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพยายามผลักดันระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง แต่ติดขัดระเบียบราชการ ทำให้องค์กรท้องถิ่นหลายแห่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วต้องสะดุดลง ซึ่งกระทบต่อการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน

“หน่วยราชการด้วยกันเองมีส่วนสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เวลาเสนองบประมาณเข้าไป สำนักงบประมาณอ้างว่าซ้ำซ้อนกัน เราจึงต้องทำคำจำกัดความให้ชัด ถ้าเข้าใจตรงกันก็จะแบ่งหน้าที่กันได้ ส่วนท้องถิ่นก็สามารถตั้งงบประมาณได้ ถ้าทำสำเร็จ ต่อไปหน่วยงานสนับสนุนทั้งหลาย สำนักงบประมาณ รวมถึงหน่วยตรวจสอบอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะได้เข้าใจตรงกัน”

เมื่อนิยามชัด บทบาทการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ก็จะไม่ซ้ำซ้อน ทั้งยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ จนถึงสังคม ชุมชน และครอบครัว ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

การ ‘ตายดี’ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้…” ซึ่ง พญ.ศรีเวียง อธิบายว่า การดูแลแบบประคับประคอง ไม่เพียงเป็นการดูแลเพื่อลดความเจ็บปวด แต่ยังรวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค เช่น หากผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่รักษายาก อาจมีการแจ้งข้อมูลให้คนไข้รับรู้เพื่อการวางแผนล่วงหน้าให้กับตนเองได้

“โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เขาอาจจะวางแผนดูแลตนเองไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าถึงระยะสุดท้ายแล้ว อย่ามารักษารุกราน อย่ามาปั๊มหัวใจ ใส่ท่อ ซึ่งผู้ป่วยมีสิทธิเลือกได้”

 

สิทธิการตายที่เลือกได้

อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ เลขานุการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า การกำหนดนิยามให้ชัดจะมีผลเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนให้สามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ จะเป็นการสนับสนุนผ่านไปทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เกิดการดูแลแบบประคับประคองในครอบครัว

“ระบบการดูแลแบบประคับประคองควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งในทุกโรงพยาบาล ทั้งหมอและประชาชนต้องเข้าใจตรงกันเรื่องสิทธิในการตายดี ถ้าคนไข้ทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต หมอก็จะต้องจัดการดูแลแบบประคับประคองให้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาดูแลที่โรงพยาบาล ดูแลที่ครอบครัวก็ได้ ดูแลโดยชุมชนก็ได้ แล้ว สปสช. ก็พยายามจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนท้องถิ่นให้ดำเนินการเรื่องเหล่านี้ได้” อรพรรณกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมรับรองร่างมตินิยามปฏิบัติการ (operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) สำหรับประเทศไทยแล้ว จะนำเสนอไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในการดูแลแบบประคับประคองต่อไป

 

ภาพ: กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า