ภาษา อัตลักษณ์ สำนึกและชีวิตแห่งชนชาติมลายูปตานี

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

“hilang bahasa hilanglah maruah diri”
“ถ้าสูญสิ้นภาษา เกียรติยศและศักดิ์ศรีของชาติพันธุ์มลายูสูญสิ้นไปด้วย”1

การนำเสนอปัญหาภาษามลายูในเวทีสหประชาชาติของ ฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายา แม้จะเพียงไม่กี่นาที แต่ส่งแรงสะเทือนต่อรัฐไทยอยู่ไม่น้อย ในขณะที่ฮาซันมองว่าสิ่งที่ตนนำเสนอนั้นเป็นไปเพื่อ “ที่รัฐจะได้นำเอาประเด็นที่องค์กรภาคประชาสังคมเสนอกลับไปทบทวนแก้ไข”2 แต่ปฏิกิริยาจากรัฐบาลดูจะเป็นไปในเชิงลบ พร้อมกับปรากฏงานปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ไม่ทราบต้นตอดิสเครดิตว่าเป็นแนวร่วมของ BRN ไปจนถึงการถูกขู่ฆ่าจากบุคคลซึ่งฮาซันมิได้เปิดเผย

เพราะเหตุใดการพูดเรื่องภาษาจึงสร้างความเสี่ยงได้มากเพียงนี้?

 

สำหรับฮาซัน “ภาษาคือรากเหง้าของปัญหาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ทัศนะนี้สอดคล้องกับนักวิชาการอีกหลายท่าน

เราคงต้องทำความเข้าใจสมการนี้อย่างละเอียดสักหน่อย ตรรกะที่โน้มนำสู่สภาพปัญหาของเรื่องนี้ ก็คือ เรื่องเล่าที่ผลักผู้คนไปสู่การจับอาวุธสู้กับรัฐหรือเป็นแนวร่วมกองเชียร์ BRN ในพื้นที่ปตานี อันมีอยู่ว่า

รัฐไทยในช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายผสมกลมกลืนคนมลายูปตานีให้เข้ากับความเป็นไทย โดยมีมาตรการหนึ่งอันส่งผลกระทบใหญ่หลวง คือ การปิดกั้นจำกัดทางภาษามลายู และแทนที่ด้วยภาษาไทย ทำให้แม้ในระยะหลังรัฐจะดูเหมือนส่งเสริมภาษามลายูมากขึ้น แต่ระบบของภาษามลายูก็ได้อ่อนกำลังลงไปนับแต่หนนั้น

อิทธิพลของภาษาไทยที่แผ่เข้ามาผ่านระบบการศึกษาสมัยใหม่ สื่อสมัยใหม่ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่ปตานีกับส่วนอื่นของประเทศไทย ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ด้วยแนวโน้มที่ดูเหมือนอิทธิพลนั้นจะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ส่งผลให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษาซึ่งบรรจุความรู้สมัยใหม่ในสาขาต่างๆ และเป็นภาษาแห่งโอกาสในอาชีพการงาน ทั้งราชการและเอกชน

ผู้เขียนมีโอกาสร่วมเป็นอนุกรรมการพิจารณาทบทวนนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ครั้งหนึ่งได้ประสานเข้าพบผู้นำศาสนาคนสำคัญท่านหนึ่งเพื่อประกอบการปฏิบัติงานดังกล่าว ท่านแสดงความเห็นว่า

เมื่อครั้งที่ท่านสำเร็จการศึกษากลับจากประเทศอียิปต์มายังพื้นที่ใน พ.ศ. 2512 นั้น ท่านพบว่าสังคมปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้เผชิญกับสถานการณ์ที่โลกกำลังเกิดความคิดใหม่ๆ มากมายในกระแสของการเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernization) ตามแบบตะวันตก อันเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การศึกษาในพื้นที่ตามความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไม่ทัน

ผู้นำศาสนาท่านนั้นมองว่า มันไม่มีทางเลี่ยงอื่น นอกเสียจากการยอมรับว่า การเรียนรู้ภาษาไทยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อการนำสังคมปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สามารถก้าวตามทันการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ในอีกวงพูดคุยเพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบการทบทวนนโยบายฯ นักเขียนท่านหนึ่งประเมินสถานการณ์ว่า การอ่อนกำลังลงของภาษามลายูมิได้เป็นผลจากนโยบายของรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นไปตามธรรมชาติของภาษาและสังคมที่นี่ กล่าวคือ ภาษามลายูเองเป็นภาษาหยุดนิ่งอยู่กับที่ ประกอบกับพรมแดนของภาษามลายูนั้นใกล้ชิดเหลื่อมทับกับภาษาไทย จึงมีคำหยิบยืมคำจากภาษาไทยมาใช้มากขึ้น และคนรุ่นใหม่มีแบบแผนการสื่อสารที่ใช้คำมลายูและไทยสลับกันมากขึ้นกว่าอดีต

ด้วยเหตุทั้งภายนอกและภายในพื้นที่เอง ในบริบทที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การถ่ายทอดส่งต่อภาษามลายูในวันนี้จึงจำกัดตัวอยู่ในครอบครัว ใช้ในชีวิตประจำวันแบบกลายพันธุ์ไปผสมกับคลังคำของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการเรียนการสอนกันจริงจังหลักๆ ก็ในสถาบันการศึกษาจารีต นั่นคือ ปอเนาะ ตาดีกา

สถาบันเหล่านี้โดนจับจ้องเพ่งเล็งจากรัฐว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะสำคัญต่ออุดมการณ์ต่อต้านรัฐไทย นำมาซึ่งมาตรการเชิงแทรกแซงหลากรูปแบบที่ไปไกลจนถึงใช้ตาดีกาบางแห่งเป็นที่พักแรมของพลรบ และอีกบางแห่งถูกขอเข้าไปร่วมสอนโดยทหาร ส่งผลจำกัดการคงไว้ซึ่งภาษามลายูยิ่งขึ้นไปอีก

สำนึกทางอัตลักษณ์เป็นสิ่งมิอาจขวางกั้นด้วยกรอบของรัฐชาติ ความเป็นมลายูปตานีร้อยโยงอย่างแยกไม่ขาดจากโลกมลายูในฐานะส่วนหนึ่งของลุ่มอารยธรรมย่อยเดียวกัน และปตานีเป็นพื้นที่เดียวในลุ่มอารยธรรมย่อยนั้นที่ยังรักษาอักขระยาวีเป็นตัวเขียนเอาไว้ได้ ในขณะที่พื้นที่อื่นหลายแห่งสูญเสียมันไปแล้ว และพยายามอย่างหนักในการรื้อฟื้น สิ่งนี้คือความภาคภูมิใจของคนมลายูปตานีจำนวนไม่น้อย และเป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าควรได้รับการให้เกียรติ ภูมิใจไปด้วยกัน และปกป้องรักษาจากรัฐที่เขาถูกทำให้อยู่ในสังกัด มิใช่การบ่อนทำลายกลืนกลาย แทรกแซง หรือไม่ส่งเสริมสนับสนุน

มันจึงเป็นสิ่งที่ฮาซันใช้ข้อความว่า3

…ความคล่องตัวหรือประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษามลายูมีปัญหา หนึ่งในนั้นคือการละเลยจากภาครัฐ…

หากเข้าใจสภาพการณ์ได้แบบนี้ แนวทางของรัฐไทยต่อภาษาและการศึกษาแบบจารีตของคนในพื้นที่อันสัมพันธ์กับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จำต้องถูกออกแบบไปในทิศทางที่ให้อิสระกับท้องถิ่นมากขึ้น หวาดระแวงจับจ้องน้อยลง และเพิ่มระดับการสนับสนุนให้แก่สถาบันการศึกษาจารีตของปตานี พร้อมกับเพิ่มระดับการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษามลายูเป็นวงกว้างมากขึ้น ในกรอบคิดที่ท้องถิ่นมีอิสระในการออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอนเอง รัฐควบคุมกำกับน้อยลง แต่ทำหน้าที่เชื่อมร้อยเข้ากับระบบรับรองการศึกษา ตลาดแรงงาน และระบบราชการ ซึ่งสมดุลของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาร่วมกันกับคนมลายูปตานีต่อไป

ความหวาดระแวงว่าสถาบันการศึกษาจารีตเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดต่อต้านรัฐ เป็นความหวาดระแวงอันเปล่าประโยชน์และมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจนเห็นภาพแนวทางแก้ปัญหาผิดไป

ปอเนาะ ตาดีกาหลายแห่งไม่ได้บ่มเพาะแนวคิดต่อต้านรัฐ แต่บ่มเพาะอัตลักษณ์และสำนึกแห่งชนชาติ เพียงแต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติของพวกเขากับชนชาติไทยนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์เชิงลบ ด้วยเหตุเงื่อนไขบาดหมางที่มีมาในอดีต และการปรากฏเหตุการณ์ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบัน

ความสัมพันธ์บาดหมางระหว่างชนชาติมลายูปตานีกับไทยดำรงความสดใหม่เอาไว้ได้ก็ด้วยมีเหตุการณ์เงื่อนไขใหม่ๆ เกิดขึ้นซ้ำเป็นระยะ ในขณะที่รอยแผลในอดีตยังไม่ถูกยอมรับให้พูดถึงและเคลียร์ใจกัน เรื่องเล่าเชิงปลดแอกหรือปลูกฝังเชื้อต่อต้านรัฐจึงสามารถมีพลังอยู่ได้

การบ่มเพาะสำนึกแห่งชนชาติและรากเหง้าเชิงอัตลักษณ์มิใช่เรื่องผิด แต่จะเปลี่ยนวิธีเล่าส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติมลายูปตานีกับชนชาติไทยและรัฐไทยอย่างไรต่างหากที่เป็นเป้าการดำเนินการ ซึ่งเรียกร้องการไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่ม ไปพร้อมๆ กับการเยียวยาความรู้สึกในอดีตและยอมรับให้ประวัติศาสตร์เป็นที่ถกแถลงกันได้อย่างปลอดภัยเสรี

“ปตานีสำหรับคนมลายู เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง” นักวิชาการศาสนาท่านหนึ่งกล่าวกับผู้เขียน4

แนวทางแก้ไขหนึ่งเพื่อออกจากความรุนแรงอันยืดเยื้อ คือ รัฐต้องทำให้ความฝันของคนมลายูปตานีต่อภาษาและสำนึกทางชนชาติของพวกเขาเป็นไปได้ในระเบียบทางการเมืองและวัฒนธรรมของรัฐไทย

เพราะเซนส์ของเรื่องนี้มิได้อยู่แค่กับเรื่องการดำรงอยู่หรือไม่ของภาษา หากแต่เป็นเรื่องของเซนส์การสูญหายทางอัตลักษณ์ เมื่ออัตลักษณ์อ่อนกำลัง ตัวตนก็สูญสลาย มีค่าเปรียบได้กับการตายในทางวัฒนธรรม

ดังนั้น เรื่องภาษานี้จึงมิใช่แค่เรื่องภาษา หากแต่เป็นเรื่องของคุณค่าแก่นแกนบางอย่างที่ชุมชนหนึ่งๆ ยึดมั่นอันเรียกร้องการยอมรับ ให้เกียรติ และสนับสนุนอย่างจริงใจจากรัฐ ในบริบทที่ประสบการณ์จากอดีตถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ ถึงการกระทำตรงกันข้าม การกลืนกลายในอดีตและปฏิกิริยาเชิงลบในปัจจุบันต่อข้อเรียกร้องในลักษณะของฮาซันต่างหาก ที่ทำให้สังคมมลายูปตานีไม่อาจจินตนาการถึงการผสานตนเองเข้ากับชุมชนเดียวกันกับไทยได้

ซ้ำร้าย มันยังเป็นปฏิบัติการด้านกลับ (negative function) ที่เร้าให้สำนึกความเป็นชาตินิยมมลายูปตานียิ่งเด่นชัดขึ้น

หากเราพิจารณาบนฐานคิดของสภาวะสุดโต่งรุนแรง (violent extremism) ท่ามกลางประเด็นขัดแย้งทางสังคมการเมืองหลายรูปแบบที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ประเด็นหนึ่งๆ จะมีศักยภาพพัฒนาไปสู่สถานการณ์สุดโต่งรุนแรงก็เมื่อมันพันอยู่กับคุณค่าศักดิ์สิทธิ์5 ที่คนหรือกลุ่มรู้สึกมีความหมายที่จะเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน หรือแลกด้วยชีวิตผู้อื่น (to be killed & to kill)

ปัญหาที่มักเกิดความเข้าใจผิดคือการเคลื่อนไหวหลายเรื่องในตัวของมันเองเป็นกระบวนการทางการเมืองปกติ อาทิ การเรียกร้องสิทธิ การรักษาอัตลักษณ์ของชนชาติ แต่ปฏิกิริยาตอบสนองในเชิงกดทับปิดกั้น ตลอดจนการสร้างความหวาดกลัวและการใช้กำลังจากรัฐและคน/กลุ่มที่คิดเห็นแตกต่างต่างหาก ที่กลับขับเน้นให้อีกคน/กลุ่ม รับรู้ต่อสถานการณ์เปลี่ยนไปจากรักษา (maintain) จำต้องกลายเป็นปกป้อง (protect) ซึ่งสามารถโน้มนำไปสู่ปฏิบัติการที่สุดโต่งมากขึ้น

ความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งปรากฏตัวชัดเมื่อคุณค่าที่ตนยึดถือนั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกคุกคามต้องปกป้อง ในบริบทที่สถานการณ์ให้ต้องตัดสินใจในเชิงได้อย่างเสียอย่างปรากฏให้ต้องเลือกบ่อยครั้ง บริบทที่มีเงื่อนไขให้คนและกลุ่มต้องชั่งใจบ่อยๆ ระหว่างการต้องแลกคุณค่าบางอย่างกับสิ่งอื่น เช่น การได้กลับบ้าน การได้รับสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ และกระทั่งความปลอดภัยในชีวิต ในระยะยาวเงื่อนไขเช่นนี้ยิ่งหล่อหลอมกล่อมเกลาให้คนและกลุ่มจำนวนไม่มากก็น้อย เห็นถึงความมิอาจแลกหรือประนีประนอมได้ของทั้งคุณค่าที่ตนยึดถือ และทั้งการจะได้รับการยอมรับถอยระยะลดราวาศอกของคน/กลุ่มและรัฐที่เชื่อไม่เหมือนกัน

กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง สภาวการณ์ที่ภาษาของชนชาติกำลังค่อยๆ ตายลงเรื่อยๆ และการเรียกร้องรักษามันเอาไว้กลับถูกคุกคาม หรือมองอย่างหวาดระแวง เป็นสภาวการณ์เงื่อนไขที่มีพลังผลักผู้คนไปสู่ปฏิบัติการที่สุดโต่งและพร้อมใช้ความรุนแรงมากขึ้น ด้วยเหตุที่หนทางปกป้องรักษาคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ของชนชาติด้วยแนวทางสันติถูกปิดกั้นคุกคาม ดังเราจะพบว่าประเด็นภาษา และการผสมกลืนกลายทางอัตลักษณ์เป็นเงื่อนไขอ้างอิงหนึ่งที่สำคัญของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

และก็ได้ผลไม่น้อยในการดึงดูดผู้คนเข้าร่วมอุดมการณ์

และยิ่งรัฐมีปฏิกิริยาเชิงลบ ยิ่งสะท้อนอาการร้อนตัว ยิ่งผลักไสเบียดขับผู้คนให้ออกไปจากตนเอง

 

“Tak akan Melayu hilang di dunia”

“มลายู (หมายถึง มลายูปตานี – ขยายความโดยผู้เขียน) จะไม่มีวันสูญหายไปจากโลก”

…ข้อความนี้ยังคงปรากฏให้เห็นทั่วไปตามงานเฉลิมฉลองตาดีกาในกำปง (หมู่บ้าน) ของปตานี6 มันบรรจุเอาความปรารถนาเกี่ยวกับสำนึกทางชนชาติเอาไว้ข้างในข้อความอย่างล้นปรี่

 

เชิงอรรถ

  1. ข้อความหนึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทกวีนิพนธ์ของอับดุลราซัค ปาแนมาแล เรื่อง Pantai Ini Lautnya Dalam (ทะเลนี้ลึกนัก), สำนวนแปลโดย นูรียัน สาแล๊ะ ใน, นูรียัน สาแล๊ะ. ‘อัตลักษณ์มลายูใน ‘ทะเลนี้ลึกนัก’ ของอับดุลราซัค ปาแนมาแล’, วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. ปีที่ 11, ฉบับพิเศษ, มกราคม-ธันวาคม 2559. หน้า 101.
  2. ‘ฮาซัน’ เปิดใจเหตุพูด ‘ภาษามลายู’ เวที UN ไปในนามภาคประชาสังคม ไม่ใช่ BRN, ใน The Reporters.
  3. เพิ่งอ้าง.
  4. ส่วนหนึ่งจากการเก็บข้อมูลโครงการวิจัย, ตูแวดานียา ตูแวแมแง และ อาทิตย์ ทองอินทร์. ความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของผู้คนในพื้นที่สีแดง. สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) (ชื่อเดิม). กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัย.
  5. มารค ตามไท. สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง: การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่. สนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) (ชื่อเดิม), 2562. (pdf). เข้าถึงเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2562.
  6. ตูแวดานียา ตูแวแมแง และอาทิตย์ ทองอินทร์. ความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของผู้คนในพื้นที่สีแดง. กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัย.

Author

อาทิตย์ ทองอินทร์
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายและการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงมีความสนใจบทบาทนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการเมืองในโลกอิสลาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า