กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดจากการเข้ารับบริการสาธารณสุขที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ และร่างพระราชบัญญัติผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการดูจะถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในผู้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยของคนไข้ ที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ ‘Engagement for Patient Safety’ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) มองเห็นช่องทางที่จะทำให้บุคลากรสาธารณสุขและคนไข้ วางความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง แล้วหันหน้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกและการป้องกันร่วมกัน
ในฐานะแพทย์ เริ่มต้นโครงการเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยอย่างไร
เมื่อเราตั้งใจจะทำเรื่องความปลอดภัยในผู้ป่วย ก็ต้องกลับมาดูว่า มีประเด็นอะไรบ้างที่สามารถป้องกันได้ ถ้าทำเฉพาะระบบของบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะป้องกันได้ในระดับหนึ่ง
แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ เราก็ไม่อยากให้เกิดความไม่เข้าใจและเกิดความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน หลายครั้งเราพบว่า จริงๆ แล้วต้องมีการร่วมมือกัน ดังนั้นโครงการที่ทำ ไม่ได้ทำเฉพาะกับผู้ป่วย แต่ร่วมกันหลากหลายภาคส่วน
ชื่อโครงการ ‘Engagement for Patient Safety’ ไอเดียของเราคือ ‘ความปลอดภัยในผู้ป่วย ร่วมด้วยช่วยได้ทุกคน’
ก็เลยกลับมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ จากประสบการณ์ที่ตัวเองทำงานมา เราเป็นหมอสูตินรีเวช ซึ่งก็พบภาวะไม่พึงประสงค์ (adverse event) เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ตามประสาหมอสูติ ซึ่งโด่งดังตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว ซึ่งทุกเคสมันมีเรื่องราว
และเมื่อเราย้อนกลับมา ไม่มีใครมีเจตนา แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เป็นช่องว่างอยู่ ก็คือ ต่างคนต่างไม่เข้าใจบทบาทของกันและกัน และไม่เข้าใจความหวังดีของกันและกัน
ถ้าเราจะทำ Patient Safety ทั้งระบบ ก็มองว่า มันต้องเคลื่อนทุกส่วน จุดพลิกผันของเรา เราอยากจะทำให้มันเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากถ้าเมื่อใดมันเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อนั้นทุกคนจะเห็นความสำคัญ
มีการขับเคลื่อนด้านใดบ้าง
ส่วนสำคัญที่เราขับเคลื่อน จะเน้นไปที่การศึกษา และทำความเข้าใจกับภาคประชาชน
เรื่องการศึกษาในส่วนของบุคลากรทางสาธารณสุข สิ่งที่หายไป ณ ปัจจุบัน เรามีการเรียนการสอนบุคลากรสาธารณสุขเรื่องโรค ว่าจะทำอย่างไร รักษาอย่างไร ด้วยนวัตกรรม วิธีการต่างๆ แต่สิ่งที่เราไม่ได้สอนก็คือ เมื่อเข้าไปทำงานจริงๆ แล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครคนเดียว มันต้องมีทีม จะเป็นศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยของคนไข้และคุณภาพการบริการ
สมมุติเราบอกว่าคนไข้คนหนึ่งผ่าตัดแล้วมีสว็อป (ลักษณะคล้ายผ้าก็อซขนาดใหญ่) ค้างในท้อง ถามว่าเกิดจากอะไร หมอก็อาจจะเทรนมาดี แต่หมอไม่เคยเรียนรู้ว่าการนับสว็อปของพยาบาลมีความสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องทำกันเป็นทีม สิ่งสำคัญคือ เราขาดการเรียนการสอนเรื่อง multi professional ที่จะเรียนรู้ร่วมกันเพื่อความเข้าใจบทบาทหน้าที่
หรือถ้าเคยได้ยินข่าว ผ่าตัดตาแล้วติดเชื้อไปทั่วร่างกาย อาจจะตกใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่พอไล่ไปไล่มา มันเป็นระบบ มันเป็นเรื่องของห้องผ่าตัดที่มีการติดเชื้อ มันมีอะไรอีกเยอะแยะมากมาย
สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องสร้างกระบวนการทางความคิด (mindset) คือเรื่องการศึกษา เราก็ทำเรื่องนี้ร่วมกับ WHO พยายามบูรณาการหลักสูตรให้มีการเรียนการสอนเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของคนไข้ในสถาบันการศึกษา อันนี้คือส่วนแรกที่เคลื่อน
ตอนนี้มี 133 สถาบันการศึกษาที่เห็นด้วยและต้องการบูรณาการ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนมันเต็ม เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้มันเกิด นี่เป็นโจทย์แรก
มีการทำความเข้าใจกับภาคประชาชนอย่างไร
เรื่องนี้จะขยับมาที่อีกงานที่เราทำ ก็คือ Patient for Patient Safety (PFPS) คือสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชน โดยเริ่มต้นจากโครงการ Patient for Patient Safety ของ WHO เราเปิดรับอาสาสมัครที่คิดว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความปลอดภัยในระบบบริการสาธารณสุข รับทั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ทั้งคนไข้ทั่วไป มาเข้ากลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน
ตอนแรกเราเข้าไปคุยกับ คุณอุ้ย-ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เราถือว่าเขาเป็น key person ถ้าจะทำเรื่องความปลอดภัยของคนไข้ แล้วเรายืนฝั่งตรงข้ามกับเขา ให้ตายเราก็ทำไม่ได้ เพราะเขาคือตัวแทนของผู้ได้รับความเสียหาย
จุดที่เราคุยตรงกันก็คือ ลึกๆ แล้วคุณอุ้ยออกมาทำเรื่องพวกนี้เพราะเขาอยากจะให้เคสของเขาเป็นเคสสุดท้าย นี่คือมุมของคุณอุ้ย เราเองก็อยากให้เคสที่เราทำเป็นเคสสุดท้ายเหมือนกัน สิ่งแรกคือเรามีจุดร่วมเดียวกัน ต่างกันที่กระบวนการเท่านั้นเอง
เราไม่ได้คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. … เลย เพราะเข้าใจสภาพความเป็นจริงว่ามันเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่เราทำคือ การวางระบบป้องกัน ทำอย่างไรไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก
กระบวนการที่เริ่มทำก็คือ เราสร้างทีมขึ้นมาแล้วแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ซึ่งก็จะมีทั้งมุมมองฝั่งคนไข้ และฝั่งบุคลากรทางสาธารณสุข
แล้วสองฝั่งนี้มีมุมมองในแบบขั้วตรงข้ามกันเลยหรือเปล่า
มุมมองของคนไข้ เขาอยากจะมีส่วนร่วมในระบบบริการสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย พอมีคนทางสาธารณสุขเข้าไปร่วมแชร์มุมมอง ก็จะเพิ่มเติมว่า คุณภาพและความปลอดภัยนั้น ต้องอยู่ ‘ภายใต้ข้อจำกัด’ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
เพราะไม่อย่างนั้น ความต้องการในมุมของคนไข้ ซึ่งอาจจะไม่รู้บริบทของแพทย์ แล้วในบริบทของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เราก็วางยุทธศาสตร์ร่วมกันว่าจะเคลื่อนอะไรบ้าง แล้วเริ่มดำเนินการ ค่อยๆ ขยับ
พอจะยกตัวอย่างเคสที่ทุกคนมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ได้ไหม
สมมุติว่ามีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เช่น มีสว็อปค้างในท้อง หมอพยาบาลก็บอกว่า เรามีแล้วทุกอย่าง สเต็ป 1-2-3-4 เราก็บอกคุณอุ้ย แต่จริงๆ คนไข้ที่มีในเครือข่ายเขาเยอะเลย ที่มีสว็อปค้างในท้อง ก็ชวนมาคุยกันว่า มันหลุดไปที่สเต็ปไหน แล้วเรามาเติมเต็มให้แนวทางปฏิบัติสมบูรณ์ขึ้น ทั้งมุมหมอและมุมคนไข้ คนไข้อาจจะมองแต่มุมนี้ หรือหมอก็จะมองแต่มุมนั้น ทำอย่างไรที่จะได้แนวทางปฏิบัติที่สมบูรณ์และมีส่วนร่วม ซึ่งเขาเห็นด้วย
เรื่องแรกที่เราเริ่มทำ ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า การวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหา (Root Cause Analysis: RCA) เพื่อค้นหาสาเหตุของความเสียหาย อันนี้เรานำร่องไปที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ไม่ขอระบุนาม เขามีเคสสว็อปหรือผ้าก็อซค้างในท้อง เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากคนไข้เข้ามาผ่าตัดภาวะท้องนอกมดลูกได้ประมาณเก้าเดือน
พอกลับบ้านไป คนไข้จะมีอาการปวดท้องแน่นๆ เขาก็คิดเอาเองว่าอาจจะท้องอืด ก็หายากินไปเรื่อยๆ ยังไม่เป็นอะไร เมื่อผ่าตัดไปแล้ว โรงพยาบาลก็นัดคนไข้มาตรวจเพื่อติดตามอาการตามปกติ แต่คนไข้ก็รู้สึกว่าอาการที่ตัวเองเป็นยังไม่เป็นอะไร เพราะแค่รู้สึกอืดแน่นท้อง
ผ่านไปเก้าเดือน อาการอืดแน่นท้องเป็นมากขึ้น แล้วมีไข้ พอกลับมาตรวจอีกครั้ง หมอก็พบความผิดปกติในท้อง ก็เซ็ตผ่าตัด พอผ่าตัด สิ่งที่เจอในท้องก็คือสว็อป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หมอที่ทำผ่าตัดครั้งก่อนเดินไปบอกคนไข้ว่า มีสว็อปในท้อง ผมขอโทษ
ปรากฏว่า คนไข้ทุกคนที่มีความเสียหายทางการแพทย์ เขาจะต้องปรึกษาคุณอุ้ยหมด เขาก็ส่งไลน์ปรึกษาคุณอุ้ย ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า ไม่เคยเห็นบุคลากรทางการแพทย์หรือหมอคนไหนยอมรับแล้วขอโทษ ดังนั้นกรณีนี้ เราน่าจะได้คุยกับเขา คุณอุ้ยก็ติดต่อมาที่เราทันที บอกว่า มันเกิดเคสอย่างนี้ขึ้น เราควรจะทำยังไงดี
เราก็ติดต่อไปที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล บอกว่า จะชวนทำ Root Cause Analysis แบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะจัดให้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย เครือข่ายผู้เสียหายฯร่วมด้วย เขาก็ถามว่า ทำไมจึงชวนทำ เราก็บอกว่า อย่างแรกเลยคือ หมอที่นั่นเปิดใจมากๆ และยอมรับความจริง อันนี้เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ และอีกข้อคือ คนไข้ไม่คิดจะฟ้องร้อง เพราะรู้สึกว่า หมอจริงใจกับเขา
สิ่งที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นไปในเชิงบวก?
ก็เลยเป็นที่มาของการชวนแพทย์ พยาบาล และคนไข้มานั่งคุยกัน โดยเราจะเป็นคนกลาง เราบอกว่า วิธีการของเราจะสำเร็จได้ เราต้องมีโค้ชคนละฝั่ง คุณอุ้ยเป็นโค้ชฝั่งคนไข้ ส่วนเราเป็นโค้ชฝั่งโรงพยาบาล พอเปิดเวที เราและคุณอุ้ยก็จะบอกว่า วันนี้เราจะพูดคุยกันเพื่อมองไปข้างหน้า และกรณีนี้จะเป็นกรณีตัวอย่าง ที่ทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจกัน
กติกาในการพูดคุย เรายึดอยู่สองคำเท่านั้น ก็คือ Trust กับ Love
Trust คือ คนไข้เชื่อใจไว้ใจหมอ เจ็บไข้ได้ป่วยมาหา มีอะไรกลับมา หมอไว้ใจเชื่อใจคนไข้ ว่ามีอาการผิดปกติอะไรให้บอก Love คือ ไม่ว่าคนไข้หรือหมอ เราต่างมีความรักซึ่งกันและกัน เราเอาสองตัวนี้เป็นหลักในการพูดคุย กติกาอีกข้อก็คือ ไม่มีการตรวจเวชระเบียน แต่เราจะคุยกันด้วยความเป็นจริงว่า เราจะแก้ปัญหาอย่างไร
เวลาคุย เราจะไม่หาสาเหตุว่ามาจากไหน เพราะหลายครั้งการทำ Root Cause Analysis หลายคนคุยกันเพื่อหาสาเหตุแล้วเกิดการทะเลาะกัน เราจึงเลือกใช้วิธีนี้ เราขอสามอย่าง
หนึ่ง-เรามาช่วยกันระดมสมองว่า จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เวลาให้ทุกคนช่วยกันคิดและเสนอ สิ่งที่เขาพูดมามันคือสาเหตุ แต่เขาไม่ต้องมารับว่าเขาผิดอะไร อย่างการเสนอว่า คิดว่าเราจะต้องเพิ่มกระบวนการนับสว็อป เพราะตรงนี้อาจมีโอกาสพลาดได้ ไม่จำเป็นต้องบอกว่าใครผิด แต่เราก้าวไปข้างหน้า ก้าวข้ามอดีตไปให้หมด มาดูกันว่า ต่อไปเราจะป้องกันได้อย่างไร
เชื่อไหมว่า หมอและพยาบาลทุกคน มีวิธีการใหม่ๆ ทุกคน ซึ่งสร้างสรรค์มาก แล้ววิธีการนั้น คนไข้ก็ได้รับรู้ว่า หมอทำกันขนาดนี้เลย หมอนับสามรอบเลยหรือ ซึ่งมันทำให้เห็นกันและกัน แล้วเราได้วิธีเยอะมาก เราจะไม่ถามกันเลยว่าคุณทำอะไร ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ แต่ถามว่า ถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ทำอย่างไร
กติกานี้ ทุกคนจะได้คิดและพูด คนที่อยู่ห้องผ่าตัดจะมีทริคเยอะมาก เราได้แนวทางปฏิบัติที่คนไข้รู้สึกดี แล้วคนไข้ก็เข้าใจว่า ทำไมหมอต้องถาม 1-2-3-4 เพราะกระบวนการตรงนี้ก็เพื่อเขา อันนี้จะถือเป็นการป้องกันก็ได้ หมอที่ทำผ่าตัดตอนแรกเขาสีหน้าไม่ดีเลย แต่พอพูดถึงการป้องกัน เขารู้สึกว่า เขามีส่วนร่วม แล้วก็ช่วยแสดงความคิดเห็น
สอง-ถ้ามันเกิดขึ้น เราจะรู้ให้เร็วที่สุด (early detection) ได้อย่างไร เราพูดกันตลอดว่า ก็เรานัดคนไข้มาอยู่แล้ว แล้วก็บอกว่า ถ้ามีอาการผิดปกติอะไรก็ให้มา แต่เมื่อถามคนไข้ว่า ทราบไหมว่าอาการผิดปกติคืออะไรบ้าง คนไข้ไม่ทราบ เราก็เลยถามพยาบาลว่า แล้วคุณรู้ไหมว่าอาการผิดปกติของการมีของค้างในท้องคืออะไร พยาบาลก็ไม่ทราบ ก็เลยแนะนำว่า ลองถามเขาดูว่าเขามีอาการอะไร สิ่งที่เขาพูดคือ มันเหมือนมีอะไรวิ่งในท้อง ซึ่งถ้าพูดอย่างนี้ พยาบาลจะรู้สึกว่า มันเป็นไปไม่ได้ อันนี้คือเราจะได้จากคนไข้โดยตรง เราก็จะได้แนวทางปฏิบัติที่มีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน
แล้วปกติ หมอนัดคนไข้มาทำอะไร หมอก็บอกว่า อ๋อ…ก็นัดมาฟังผลชิ้นเนื้อ นัดมาตัดไหม ถ้าเราจะ early detection สิ่งที่เราต้องทำเพิ่ม คือเราต้องถามเขาไหม เราต้องตรวจ หรือกดอะไรบางอย่างเพิ่มไหม มันก็จะเกิดกระบวนการที่ทำให้เขารู้แล้วว่าต้องทำ
เราก็แกล้งถามว่า แล้วถ้าทำเพิ่ม เจ้าหน้าที่จะบอกว่ามันเพิ่มภาระงาน ถามว่ามันเพิ่มภาระงานไหม แต่ ณ วันนี้เขาก็คิดว่ามันไม่ใช่ มันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำ เพราะไม่รู้ว่ามันจะเกิด มันก็เกิดกระบวนการ early detection ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้คนไข้มีส่วนร่วม หมอก็บอกว่า จริงๆ แล้ว เรามีกระบวนการโทรศัพท์ไปสอบถามอาการ แต่ให้เจ้าหน้าที่คนอื่นโทร เราก็ถามว่า จริงๆ แล้วอยากให้โทรไปไหม คนไข้ก็บอกว่าอยากให้โทร แค่หมอโทรมาก็รู้สึกดีใจมากแล้ว
สาม-แล้วถ้าเกิดขึ้นมาจริงๆ เราจะเยียวยาอย่างไร ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ
ในเคสตัวอย่าง แม่ของคนไข้ก็เล่าว่าเก้าเดือนที่ผ่านมา ลูกสาวเขาไม่ได้ทำงานเลย ต้องออกจากงาน เพราะเป็นอะไรก็ไม่รู้ เราก็ถามว่า แล้วจริงๆ ตอนนี้ อยากได้อะไร เขาก็บอกว่า ไม่ได้อยากได้อะไร เพียงแค่อยากรักษาลูกให้หาย แล้วกลับไปทำงานได้ ถ้ามีปัญหาก็ดูแลให้เขา นั่งฟังกันอยู่ธรรมดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็บอกว่า ขอเวลาโทรไปคุยกับบอร์ดบริหาร เขาบอกว่าเพิ่งรู้ว่า คนไข้ที่มีภาวะแทรกซ้อนสักคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ภาวะที่อยู่ต่อหน้าเรา แต่มันเป็นระยะเวลายาวนานที่เขาไม่ได้ทำงาน แม่เขา ทุกคนในครอบครัวได้รับผลกระทบ
มุมนี้ ถ้าไม่เปิดเวทีคุยกัน เราจะมองไม่ออก เรารู้แต่ว่า ชดใช้ค่าเสียหาย แต่มันไม่ใช่ ยังมีอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับคนไข้ เขาตัดสินใจให้เพราะว่า อยากช่วยในส่วนที่คนไข้ไม่ได้ทำงานเป็นค่าชดเชย
คือผู้อำนวยการคิดเอง ขอเอง จัดการเองทั้งหมด แล้วทางคนไข้ก็ไม่ได้เรียกร้อง ส่วนหมอที่ทำผ่าตัด ก็ให้เบอร์โทรศัพท์กับคนไข้ไว้ ถ้ามีปัญหา สามารถโทรมาปรึกษาได้ คือมันก็เกิดความเข้าใจกัน
ทางคนไข้ก็บอกว่า ไม่ว่าใครเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะพากลับมารักษาที่นี่ เพราะเรารู้ว่า หมอทุกคนตั้งใจ ภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ก็ช่วยกันดูแลและแก้ปัญหา อันนี้เป็นตัวอย่างงานที่เรากำลังเริ่มทำ
เราไม่พูดถึงการฟ้องร้อง เราพูดถึงการก้าวไปข้างหน้า ซึ่งคุณอุ้ยเห็นด้วย เขารู้สึกมีความสุขมาก ภาพสังคมในวงการแพทย์ของคุณอุ้ยเป็นลบ แต่ถ้าอยากก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน เราก็ต้องทำอย่างนี้
ด้วยความที่เราเชื่อมกับการศึกษาด้วย เราก็เริ่มนำเคสนี้ไปสอนนักเรียนแพทย์ ซึ่งมันก็จะวน ตอนนี้ได้สองขาแล้ว
ขาที่สามที่ทำก็คือด้านนโยบาย ที่ต้องการทำคือ เราต้องการโรงพยาบาลที่ประกาศตัวว่าจะเป็นโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย (Safe Hospital Model) คือเราทำทุกวิถีทางให้เกิดการป้องกันด้วยการมีส่วนร่วม ตรงนี้ก็ตั้งใจทำเพื่อเป็นต้นแบบกับสถานพยาบาลอื่นๆ
อยากทราบที่มาของสัญลักษณ์ทีมงานด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย
เมื่อเรามีทีมทำงานร่วมกัน สิ่งที่เราเห็นความสำคัญคือ ความเชื่อใจ ไว้ใจกัน และรักกัน ก็เลยคิดว่า เวลาที่จะเคลื่อนอะไรร่วมกัน ก็น่าจะมีสัญลักษณ์ที่ทำให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็เลยนึกถึงการเกี่ยวก้อย เมื่อผู้ให้บริการยื่นมือออกไป พร้อมยื่นนิ้วก้อยออกมา แล้วผู้รับบริการที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งยื่นมือออกไปเกี่ยวก้อยกัน จะเห็นว่า นิ้วโป้งจะยกขึ้นทั้งสองฝั่ง คือไม่ใช่โกรธกัน แต่กลายเป็นดีทั้งสองฝั่ง อันนี้จึงเป็นที่มาที่เราเรียกว่า ‘Pinky Promise’ เป็นสัญลักษณ์ของ Love & Trust ที่เราใช้สื่อสารและเคลื่อนไหว
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ว่าด้วยผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ พวกเขาเป็นใครหลายคน ทั้งทนายความ แพทย์ นักสิ่งแวดล้อม นักสันติวิธี นักดนตรี นักการละคร ฯลฯ
พวกเขาคือคนธรรมดา แต่ความตั้งใจและเนื้องานของพวกเขา ก่อให้เกิดมรรคผลต่อสังคม ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
บนเส้นทางที่แตกต่างหลากหลายนี้ พวกเขาแต่ละคนไม่ได้เดินเพียงลำพัง พวกเขามีเพื่อน เครือข่าย สหวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคนจำนวน ‘มาก’
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ที่มีทั้งรูปแบบบทสัมภาษณ์ขนาดสั้น สารคดี และหนังสารคดี ผลิตโดยทีมงานนิตยสาร WAY