“พวกคุณโชคดีมาก ดีนะที่ท้องเรือไม่ติดสันดอนทราย บางคนต้องรอหลายชั่วโมงกว่าจะเอาเรือกลับฝั่งได้” ชาวประมงสักคนพูดกับเรา
บ่ายวันนั้น มันคือช่วงมรสุมของเดือนมกราคม นักข่าวและชาวประมงพื้นบ้านนับสิบชีวิต ล่องเรือหางตัดอยู่กลางอ่าวปัตตานี โคลงเคลงตามแรงคลื่นลม ปลายทางคือสันดอนทรายขนาดมหึมา บริเวณบ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
กว่า 2 ปีแล้วที่การออกทะเลของชาวประมงที่นี่ คล้ายกับการเสี่ยงดวงว่าจะออกหัวหรือก้อย วันไหนโชคดีหน่อย พวกเขาก็อาจสัญจรหาปลาได้อย่างราบรื่น แต่หากวันไหนโชคไม่เข้าข้าง ไม่แน่ว่าท้องเรืออาจติดแหง็กกับสันทรายที่ระเกะระกะใต้ทะเล และมิวายต้องรอคอยอยู่กลางอ่าวหลายชั่วโมง กระทั่งน้ำขึ้นสูงกว่าเดิม เรือจึงจะแล่นออกได้อีกครั้ง
เกิดอะไรขึ้นที่อ่าวปัตตานี
เรื่องของเรื่องต้องเริ่มต้นจากปี 2558 เมื่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี เพื่อแก้ปัญหาการตื้นเขินของอ่าวปัตตานี โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้เป็นผู้ดูแล ก่อนลงนามอนุมัติงบกลางจำนวน 664 ล้านบาท ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ในกรอบระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2562
โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการตื้นเขินของอ่าวปัตตานี จากการทับถมตะกอนตามธรรมชาติ และปัจจัยการไหลเวียนของกระแสน้ำบริเวณอ่าวไทยที่ได้พัดพาตะกอนทรายมาทับถมในบริเวณอ่าว ทำให้มีลักษณะเป็นอ่าวกึ่งปิด ตลอดจนเพื่อรักษาร่องน้ำเดิมซึ่งเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ และอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ 4 ประการคือ
1. เพื่อขุดลอกดินตะกอนที่ทับถมอยู่บริเวณก้นอ่าวปัตตานี
2. เพื่อทำให้การระบายน้ำจากแม่น้ำยะหริ่งและแม่น้ำปัตตานี ไหลลงสู่อ่าวปัตตานีได้ดีขึ้น ช่วยบรรเทาน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี
3. เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศรอบอ่าวปัตตานีให้ดีขึ้น เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
4. เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบอ่าวปัตตานี
“ก่อนทำโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี มีการตั้งโครงการชื่อว่า ‘โครงการพสกนิกรรอบอ่าวสู่สันติสุข’ ได้ยินชื่อก็สุ่มเสี่ยงแล้วที่จะค้าน ทั้งที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลยซ้ำ
“พวกคุณได้ยินแล้วรู้สึกอย่างไรล่ะ มันแปลกเนาะ ถ้าหากเราไม่เห็นด้วยแล้วคัดค้าน จะโดน ม.112 ไหม จะโดน ม.116 ไหม”
จตุรนต์ เอี่ยมโสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ กล่าวกับสื่อมวลชน
“สันดอนทรายมันตื้นเขินโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จากการทับถมของสิ่งต่างๆ ปากอ่าวก็เริ่มปิด ทำให้โครงการรัฐพยายามที่จะขุดลอกอ่าวปัตตานีให้มันมีความลึก เมื่อมีความลึก สาหร่ายทะเลก็จะเริ่มเติบโต สัตว์น้ำก็จะเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง แต่การขุดลอกอ่าวปัตตานี มันคือการขุดลอกที่ผิดแบบ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข แทนที่จะเอาทรายทั้งหมดไปไว้บนฝั่ง แต่เขากลับเอาไปไว้ในอ่าวปัตตานี”
ว่ากันตามจุดประสงค์ ประโยชน์ของโครงการนี้ถือว่ามีมาก แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามตัวหนังสือบนเอกสาร เพราะปลายทางที่ควรนำมาซึ่งประโยชน์ กลับนำพาปัญหาใหม่มาสู่ชุมชนโดยรอบ อ่าวปัตตานีในวันนี้เกิดสันดอนทรายจำนวนมาก สัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด จากกระบวนการขุดลอกอ่าวที่ได้ทิ้งตะกอนทรายและวัสดุทับถมยังบริเวณแหล่งทำมาหากินของชาวประมงและแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ
“อ่าวปัตตานีกำลังจะตาย” ถ้อยคำนี้ถูกเอ่ยขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และนำพาเรามาค้นหาข้อเท็จจริงของเรื่องนี้
ขุดลอกอ่าวปัตตานี
664,994,414 บาท คือตัวเลขงบประมาณสำหรับโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ซึ่งถูกอนุมัติในยุคสมัยการบริหารประเทศของ คสช.
รายทางของเงินมหาศาลก้อนนี้ ถูกใช้จ่ายไปกับสิ่งใด ใช้จ่ายอย่างไร กระทั่งว่าเหตุใดปลายทางของการทำงานที่ควรก่อประโยชน์ จึงกลับให้ผลตรงกันข้าม แล้วทิ้งภาระให้ประชาชนที่พึ่งพิงอ่าวปัตตานีตามล้างตามร้องต่อหน่วยงานกันพัลวัน ถัดจากนี้คือ การคลี่ข้อมูลและชะตากรรมของชุมชนที่กำลังรอความยุติธรรม
ในรายละเอียดตามขอบเขตงาน (Term of Reference: TOR) ระบุว่า ให้มีการขุดลอกทั้งหมด 23 ร่องน้ำ เป็นร่องน้ำเล็ก 22 ร่องน้ำ ขนาดกว้าง 14 เมตร และ 24 เมตร ในระดับความลึก 2.5 เมตร มีความยาวทั้งสิ้น 29,725 เมตร
อีกส่วนคือร่องน้ำใหญ่ 1 ร่องน้ำ ขนาดกว้าง 50 เมตร ลึก 5 เมตร ยาว 25,250 เมตร รวมแล้วบริษัทรับเหมาต้องขุดให้ได้ปริมาณวัสดุไม่น้อยกว่า 11,082,700 ลูกบาศก์เมตร โดยกำหนดแนวทางการจัดการวัสดุที่ได้จากการขุดลอก ดังนี้
1. ทิ้งวัสดุขุดลอกบริเวณอ่าวไทยที่ระดับน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 15 เมตร ห่างจากบริเวณอ่าวปัตตานีออกไปประมาณ 9 กิโลเมตร
2. ทิ้งวัสดุจากการขุดลอกบนฝั่ง
3. ทิ้งวัสดุขุดลอกริมอ่าว
4. การนำวัสดุจากการขุดลอกมาเสริมอ่าว
ส่วนวัสดุที่ขุดจากร่องน้ำเล็กทั้ง 22 ร่อง จะต้องนำไปทิ้งตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้บริเวณ A1-A8 โดยพื้นที่ดังกล่าวสามารถรองรับวัสดุการขุดลอกมากถึง 13,267,200 ลูกบาศก์เมตร
วัสดุที่ได้จากการขุดลอก ควรจัดการและดำเนินงานดังเช่นที่ไล่เลียงตามเอกสารทั้งหมดนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ใช่เช่นนั้น
“ตามข้อกำหนดของโครงการคือ จะมีการขุดลอกเอาทรายออกไปทั้งหมด 13 ล้านคิว โดย 9 ล้านคิว จะเอาไปทิ้งกลางทะเลห่างจากฝั่ง 9 กิโลเมตร ส่วนอีก 3 ล้านคิว ต้องเอาไปทิ้งริมชายฝั่งและเสริมชายหาด แต่กลายเป็นว่า เขาเอาไปทิ้งแค่บางส่วน แต่อีกหลายส่วนกลับทิ้งผิดที่ เขาดันไปทิ้งในอ่าว” อัลอามีน มะแต อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และประธานเครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้าน บอกกับเรา
หลังการดำเนินงานของบริษัทผู้รับเหมากลับพบว่า วัสดุจากการขุดลอกถูกนำไปทิ้งห่างจากอ่าวปัตตานีเพียงบางส่วน และมีการนำไปทิ้งบนฝั่งเพียงจุดเดียว ทว่าส่วนที่เหลือกลับถูกทิ้งไว้กลางอ่าวปัตตานีเสียอย่างนั้น โดยทิ้งไว้เป็นหย่อมๆ บริเวณข้างร่องน้ำที่บริษัทผู้รับเหมาเป็นผู้ขุด ซึ่งเป็นพื้นที่ทำมาหากินของชาวประมงและเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำทะเลจำนวนมาก
“สันดอนทรายที่เกิดจากการทิ้งผิดที่ ได้ไปขัดขวางทางเรือของชาวบ้าน จากเดิมเวลาน้ำลง ชาวบ้านจะสามารถทำประมงแถวนั้นได้ หรือใช้ทางนั้นสัญจรเรือกลับบ้านได้ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว ต้องขับเรืออ้อมไปหลายกิโลเมตร ไม่อย่างนั้นเรือจะติดสันดอนทรายที่เขาทำ
“สันดอนทรายมีทั้งสันดอนที่โผล่เหนือน้ำและอยู่ใต้น้ำ ซึ่งสันดอนที่อยู่ใต้น้ำนั้น เวลาน้ำขึ้น มันเลยตาตุ่มไปนิดเดียว เห็นปริ่มๆ น้ำ หากมองด้วยสายตาเปล่าจะสังเกตยาก แต่ถ้าเราเดินดู จะเห็นเลยว่ามันตื้นมากกว่าปกติ เรือไม่สามารถสัญจรได้ ทำประมงก็ไม่ได้ นี่คือปัญหา”
ภาพด้านบนจาก Google Earth เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2563 พบว่า เส้นสีแดงในภาพ มีเนินทรายบริเวณใต้น้ำและที่อยู่โผล่เหนือน้ำปรากฏเป็นหย่อมๆ จำนวนมากตามแนวการขุดร่องน้ำของโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี และหากดูเปรียบเทียบกับภาพด้านล่าง จะพบว่าทางโครงการได้มีการทิ้งตะกอนไว้บริเวณด้านข้างที่ขุดลอก โดยไม่ได้นำไปทิ้งบนฝั่งหรือบนเรือ เพื่อนำไปทิ้งกลางทะเลตามที่กล่าวอ้างในเอกสารหรือคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ในวันทำประชาคมจากความเห็นชอบของผู้มีส่วนได้เสียแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน จากรายละเอียดรายงานการศึกษาวางแผนในระหว่างการขุดลอก คณะที่ปรึกษาได้เสนอให้มีการติดตั้ง ‘ม่านดักตะกอน’ โดยรอบพื้นที่แนวขุดร่องน้ำ ทั้งร่องน้ำสายหลักและร่องน้ำสายรอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนออกไปบริเวณอื่นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณการขุดลอก แต่ในข้อเท็จจริงกลับกลายเป็นว่า ผู้รับเหมาไม่ได้ติดตั้งม่านดักตะกอนแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังปล่อยตะกอนหรือวัสดุขุดลอกไว้บริเวณด้านข้างร่องน้ำที่ขุดลอก ชี้ให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการว่าจ้าง การปล่อยปละละเลยและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ที่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลและประชาชนโดยรอบ
บริษัทผู้รับเหมาในการดำเนินการโครงการ คือ บริษัท 2 แห่ง ซึ่งร่วมกันทำงานภายใต้ชื่อ ‘กิจการร่วมค้าฯ’ จากสัญญาการจ้างงานระบุว่า บริษัทผู้รับเหมาต้องทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2562
เมื่อตรวจสอบงบการเงินของบริษัทผู้รับเหมาโครงการนี้ ในเว็บไซต์กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ช่วงดำเนินการขุดลอกอ่าวปัตตานี ได้มีการชี้แจงตัวเลขรายรับของบริษัท ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 200 กว่าล้านบาท ข้อสังเกตคือ จากตัวเลขการเซ็นสัญญาว่าจ้างประมาณ 664 กว่าล้านนั้น เงินอีกราว 400 ล้านบาท หายไปไหน?
“บริษัทนี้มีการทำสัญญากับกรมเจ้าท่ามายาวนาน 14 ปี หากไปดูงบการเงินของบริษัทฯ จะพบว่า ตอนที่เขาขุดลอก เขามีรายรับแค่ 200 กว่าล้านเอง แสดงว่าเขาทำสัญญาด้วยงบประมาณนี้ คำถามคือ แล้วเงินที่เหลือไปอยู่ไหน” อัลอามีนตั้งข้อสังเกต
‘อ่าวปัตตานี’ ความเสียหาย ที่อาจสูญสิ้น
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานไม่ตรงตาม TOR ของบริษัทผู้รับเหมา และกรมเจ้าท่าในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ จึงไม่อาจปัดความจริงได้ว่า เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งย่อมไม่ใช่ชาวบ้านที่ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมที่ตนไม่ได้ก่อดังเช่นที่เป็นอยู่
เรื่องราวของอ่าวปัตตานีเดินทางมาไกลเกินกู่กลับ โครงการที่ประชาชนตั้งตารอผลสำเร็จบนความหวังในการฟื้นฟูระบบนิเวศและปากท้อง กลับพังทลายกลายเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เข้าปะทะชุมชนอย่างยากที่จะเลี่ยง
จากถ้อยคำและเรื่องราวที่พรั่งพรูจากปากของชาวบ้าน ทำให้พอจะสรุปผลกระทบหลังดำเนินการเสร็จสิ้นได้ 4 ประเด็น ดังนี้
หนึ่ง – ทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลชายฝั่งและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำทะเลได้ลดลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สาเหตุจากโครงการได้ทิ้งตะกอนทรายหรือวัสดุขุดลอกไปทับถมบริเวณแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตวน้ำ เช่น หญ้าทะเล สาหร่ายผมนาง ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำ นอกจากการทิ้งตะกอนทรายและขี้เลนกลางอ่าวปัตตานี ส่งผลให้เกิดปัญหาการตื้นเขินในบริเวณต่างๆ ของอ่าวเพิ่มขึ้น เกิดภาวะน้ำทะเลสีขุ่นผิดปกติ บางพื้นที่ไม่สามารถเลี้ยงปลากะพงในกระชังได้ เพราะปลาตายจากการขาดออกซิเจน
สอง – ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงจากการทิ้งตะกอนกลางอ่าวปัตตานี มีการเกิดขึ้นของเกาะแก่งหรือเนินทรายเพิ่มมากขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านคนหนึ่งเล่าว่า ปกติตนใช้เวลาทำประมง 5-6 ชั่วโมงต่อวัน แต่เมื่อมีการขุดลอกอ่าวปัตตานี ส่งผลให้กระแสน้ำขึ้นลงสั้นลงกว่าปกติ นั่นคือ น้ำขึ้น 3 ชั่วโมง น้ำลง 3 ชั่วโมง ทำให้เกิดภาวะน้ำเปรี้ยว และนำไปสู่ภาวะน้ำนิ่งหรือ ‘น้ำตาย’ กระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์น้ำ และอาจถึงขั้นการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังมีแมงกะพรุนที่เข้ามาในอ่าวปัตตานีช่วงน้ำขึ้น แต่ไม่สามารถออกจากอ่าวได้ในช่วงน้ำลง เพราะติดสันดอนทรายกลางอ่าว ทำให้ภายในอ่าวมีแมงกะพรุนมากขึ้น รบกวนการทำอวนลอยกุ้งของชาวประมง เนื่องจากพิษของแมงกะพรุนได้ทำร้ายชาวบ้านขณะกู้อวน
สาม – การเกิดขึ้นของสันดอนทรายกลางอ่าว ทำให้เส้นทางสัญจรทางน้ำของชาวบ้านผิดเพี้ยนจากเดิม บางพื้นที่ไม่สามารถสัญจรได้ในช่วงเวลาน้ำลด ทั้งที่ก่อนหน้านี้สามารถใช้สัญจรได้ตามปกติ บางครั้งเกิดอุบัติเหตุเรือพลิกคว่ำหรือติดสันดอนทราย และบางครั้งชาวประมงต้องอ้อมลัดเลาะไปตามร่องน้ำแคบๆ หรือเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือใหม่ที่ไกลกว่าเดิม ทำให้มีต้นทุนค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น ในขณะที่จับสัตว์น้ำได้น้อยลง ส่งผลให้มีรายได้ลดลง จากเดิมเมื่อออกเรือวันหนึ่งจะมีรายได้ 600-1,000 บาท แต่ปัจจุบันได้เงินกลับมาเพียง 200-300 บาทเท่านั้น
สี่ – รายได้ลดลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด เศรษฐกิจชุมชนได้รับความเดือดร้อนเป็นห่วงโซ่ เพราะประชาชนรอบอ่าวปัตตานีส่วนใหญ่ต้องพึ่งพิงและหารายได้จากทรัพยากรทางทะเลในอ่าวปัตตานีเป็นหลัก เมื่อรายได้ลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง บางครอบครัวถึงขั้นไม่สามารถส่งเงินให้ลูกเรียนจนต้องออกจากการศึกษากลางคัน นอกจากนี้ ประชาชนรอบอ่าวปัตตานีที่ตัดสินใจไปใช้แรงงานในร้านอาหารที่ประเทศมาเลเซียนับหมื่นคน เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด พวกเขาจึงไม่สามารถไปประกอบอาชีพในประเทศเพื่อนบ้านได้ ครั้นจะกลับมาพึ่งพิงอ่าวปัตตานีบ้านเกิดเพื่อหารายได้ประทังชีวิตก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
“พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราจึงนำเรื่องไปหารือในสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้าวาระหรือญัตติประจำของวันนั้นๆ 2 นาที ซึ่งเป็น 2 นาทีที่มีค่ากับชาวบ้านมาก พอเราไปหารือปั๊บ ส่วนราชการต่างๆ เต้นทันที เพราะเมื่อ ส.ส. พูดเสร็จปั๊บ สภาจะทำการบันทึกและสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้นจะต้องตอบ ส.ส. ผู้หารือให้ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร”
หลังสืบสาวราวเรื่องไปมา จตุรนต์ เอี่ยมโสภา ก็ถึงบางอ้อ
“ปรากฏว่าปัญหาเรื่องอ่าวปัตตานี มันคือการทำงานที่ผิด TOR คราวนี้ทำยังไงล่ะ นี่มันผิดกฎหมายนะ เราสามารถร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้”
การเอาผิดไม่ง่ายขนาดนั้นในโลกที่ปกคลุมด้วยหมอกหนาลายพราง ในดินแดนที่ถูกกดทับด้วยกฎหมายพิเศษมานับทศวรรษ …ไม่มีใครเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีเท่ากับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ชายแดนใต้อีกแล้ว
“ถ้ากรมเจ้าท่าไม่แก้ไขโดยการเอาสันดอนทรายในอ่าวออกให้หมด ติดคุกนะ คุณเลือกเอาว่าจะติดคุก หรือจะแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน”
หลังการไล่เลียงเรื่องราวและสืบหาข้อเท็จจริงในชั้นกรรมมาธิการ สรุปได้ว่า ชาวบ้านตัดสินใจไม่ฟ้องศาลปกครอง ไม่ร้องเรียนถึง ป.ป.ช. บนเงื่อนไขที่กรมเจ้าท่าและบริษัทผู้รับเหมาต้องแก้ไขปัญหาโดยการนำสันดอนทรายที่ทิ้งระเกะระกะทั่วอ่าวออกไปให้หมด
ทางเลือกนี้ของชุมชนรอบอ่าวปัตตานี ถือว่าเสี่ยงต่อการถูกละเลยปัญหาหลังการเจรจา ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว เงื่อนไขและข้อจำกัดมากมายในพื้นที่ปัตตานี ให้ตัวเลือกพวกเขาไม่มากนัก ไม่มากเท่าที่ควร…
“ตอนแรกชาวบ้านจะฟ้อง ปปช. นะ แต่โครงการนี้เป็นโครงการสมัย คสช. อำนาจหนุนหลังก็หนาเหมือนกัน เราจึงคิดว่าถ้าไปศาลปกครองคงจะยาก เรามาไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ปัญหาดีกว่า มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า” อัลอามีนว่า
สอดคล้องกับเสียงของชุมชนที่กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “โครงการนี้เป็นของทหารในรัฐบาล คสช. นะ แล้วตอนนี้ใครมีอำนาจล่ะ?”
จากการสำรวจจำนวนสันดอนทรายผ่านภาพถ่ายดาวเทียม โดย อัลอามีน มะแต อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และประธานเครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้าน พบว่า สันดอนทรายที่พอจะสำรวจได้มีอยู่ 6 จุดด้วยกันคือ
- บริเวณตำบลดาโต๊ะ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จำนวน 5 กอง
- บริเวณบ้านบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ประมาณ 8 กอง
- บริเวณตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี จำนวน 2 กองใหญ่ (สันดอนทรายมีลักษณะปริ่มน้ำ)
- หน้าชุมชนบางปู อำเภอยะหริ่ง และ ตำบลบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี จำนวน 5 กอง
- หน้าปากคลองยามู ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ประมาณ 7 กอง
- หน้าชุมชนบ้านบานา และชุมชนแหลมนก ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ประมาณ 4 กอง
สันดอนทรายกองมหึมาที่กระจายตัวอยู่ใน 6 จุด ตามที่ไล่เลียงมานี้ เป็นเพียงการประมาณผ่านการสำรวจภาพถ่ายดาวเทียมเท่านั้น เพราะในความจริงยังมีสันดอนทรายอีกจำนวนมหาศาลที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำ ยากต่อการสำรวจ และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนผู้พึ่งพาอาศัยผืนทะเลอ่าวปัตตานีโดยตรง
อีกเรื่องที่ไม่ควรตกหล่น คือกระบวนการเยียวยาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งกินเวลา 3 ปีเต็มที่ประชาชนรอบอ่าวต้องสูญเสียโอกาสในการทำมาหากินจากการขุดลอกอ่าวที่กระทบนิเวศทางทะเลทั้งระบบ จากการทำงานผิดพลาดของหน่วยงานรัฐ แถมถูกซัดซ้ำด้วยการระบาดของโควิด-19 ประเทศ เมือง ชุมชนถูกล็อกดาวน์ ขณะที่ปากและท้องไม่อาจอิ่มได้ด้วยลมด้วยทราย
เราถามอัลอามีนตรงๆ “หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเคยเข้ามาเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการบ้างหรือไม่”
คำตอบที่ได้กลับกลายเป็นว่า…
“ไม่มีๆ เขาอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่เขาในการเยียวยา กรมเจ้าท่าอ้างแบบนี้ เป็นกรมเจ้าท่าจากส่วนกลางครับ เพราะในวันนั้นมีรองอธิบดีกรมเจ้าท่าเข้าร่วมประชุมด้วย เขาก็อ้างข้อมูลในพื้นที่ว่า กรมเจ้าท่าเองไม่มีอำนาจในการเยียวยาความเสียหายตรงนั้น แล้วเขาก็อ้างว่า โครงการเป็นความต้องการของชาวบ้านเอง ชาวบ้านอยากให้ทิ้งสันดอนทรายไว้ ไม่ใช่ความผิดเขา”
ด้านจตุรนต์ เอี่ยมโสภา เล่าว่า มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมของคณะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ว่ากรมเจ้าท่าควรจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรอบอ่าวทั้งหมด
“เขาพูดในที่ประชุม และมีบันทึกการประชุมอยู่ที่คณะทำงานที่ศาลากลางจังหวัด แต่การพูดคุยครั้งนั้นไม่ได้ระบุถึงกรม เราแค่เสนอว่า ทางเจ้าท่าควรจะมีการเยียวยา เจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่าที่มาประชุมเขาก็รับปากว่า เขาจะหางบประมาณมาเยียวยา อันนั้นเป็นเรื่องของเขาว่าเขาจะหาจากไหน แต่มันต้องเยียวยา”
อ่าวปัตตานีกำลังจะตาย
หลายต่อหลายครั้ง อ่าวปัตตานีต้องเผชิญกับภัยคุกคามนับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนแล้วเป็นเงาของสิ่งที่ชื่อว่าโครงการพัฒนา และมืออันยาวเยียดของมนุษย์เงินหนาอยู่เบื้องหลัง
อัลอามีน ชวนเราไล่เลียงถึงการมาเยือนของโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ทำให้อ่าวซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงในอดีต กลับกลายเป็นอ่าวที่กำลังรอวันล่มสลาย ไม่ต่างอะไรกับคนในพื้นที่
“ผมเกิดและโตที่นี่ นี่คือบ้านของผม ตอนเด็กๆ ประมาณปี 2530 อ่าวปัตตานีเต็มไปด้วยสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก มีปลาหลายชนิด มีกุ้ง มีปู มีหอยหลายๆ ชนิด”
ราวปี 2535 มีโครงการที่ชื่อว่า ‘โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก’ หรือ Eastern Seaboard Development Program (ESB) บริเวณรอบอ่าวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีโครงการถางป่าชายเลนเพื่อแทนที่ด้วย ‘นากุ้ง’ นี่คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้อ่าวปัตตานีไม่มีวันเหมือนเดิม
“ถ้าเราดูแผนที่ จะเห็นบริเวณที่เคยเป็นนากุ้งเยอะมาก ตั้งแต่หมู่บ้านดาโต๊ะ หมู่ 4 แล้วเวลาเขาเลี้ยงกุ้ง เขาจะปล่อยสารเคมีเพื่อปรับสภาพหน้าดินให้พร้อมกับการเลี้ยงกุ้ง พอเขาเติมน้ำ เติมสารเคมีลงไป เขาก็ปล่อยสารเคมีลงสู่ทะเล ทำให้ช่วงนั้นทรัพยากรทางทะเลหายเกลี้ยง ประมงพื้นบ้านตอนนั้นจากที่เคยจับกุ้งจับปลาได้เยอะ ต้องขายเรือ ขายอวน แล้วย้ายไปขายแรงงานที่มาเลเซีย เพราะทำประมงไม่คุ้มทุน”
ถัดมาในปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นากุ้งเข้าสู่ช่วงซบเซา นายทุนจำนวนมากปล่อยนากุ้งทิ้งร้าง ทิ้งอ่าวปัตตานีที่มีสภาพเสื่อมโทรมไว้ให้ดูต่างหน้า ขณะเดียวกัน รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากร นำมาสู่โครงการ ‘SEA FOOD BANK’ เริ่มมีการสนับสนุนให้เลี้ยงหอยแครงในอ่าวปัตตานีราวปี 2548 เพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นทุน นายทุนจำนวนมากเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อเลี้ยงหอยแครง ความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่จึงเริ่มต้นขึ้น
“โครงการเลี้ยงหอยแครงผ่านการประชาคมของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ในการทำด้วย แต่พอผ่านกระบวนการต่างๆ จนเวลาผ่านไป 1-2 ปี นายทุนก็เริ่มที่จะเข้ามาคุมพื้นที่อ่าวปัตตานี ถามว่าการเลี้ยงหอยแครงมันดีไหม มันดีนั่นแหละ แต่เวลาเขาปล่อยหอยแครง มันไม่ได้มีหอยแครงอย่างเดียว แต่มันมีหอยหนามติดมาด้วย ทำให้เกิดหอยหนามเยอะมากในอ่าวปัตตานี”
อัลอามีนอธิบายผลกระทบของหอยหนามเป็นข้อๆ คือ หนึ่ง – กระทบต่อคนทำประมงพื้นบ้านด้วยอวนลอย เพราะอวนมักไปติดหอยหนาม ทำให้เครื่องมือประมงเสียหาย สอง – ชาวบ้านจะเปลี่ยนอวนประมาณ 4-5 เดือนต่อครั้ง แต่พอมีหอยหนาม ต้องเปลี่ยนอวนทุก 1-2 เดือน ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น 4,000-5,000 บาท
จากนั้นเริ่มมีการเดินขบวนต่อต้านให้ยกเลิกโครงการ SEA FOOD BANK เหตุเพราะมีการจับจองพื้นที่ของนายทุน ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านถูกจำกัดและกีดกันพื้นที่วางอวน ความขัดแย้งเริ่มปะทุขึ้นกระทั่งเกิดคดีความยืดเยื้อถึง 10 ปี เมื่อชาวบ้านชนะคดี ท้ายที่สุดโครงการถูกยกเลิก หอยแครงก็อันตรธานไปประมาณปี 2550 ทรัพยากรทางทะเลเริ่มฟื้นฟูตนเอง ชาวประมงเริ่มทำมาหากินได้อีกครั้ง กระทั่งการระบาดของปัญหาใหม่ที่ใครๆ ก็เรียกกันว่า ‘ไอ้โง่’ ไล่เลี่ยมากับโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ในยุครัฐบาล คสช.
ไอ้โง่ โรคระบาด อ่าวพินาศ และรัฐไทย
“การทำประมงพื้นบ้านเมื่อก่อนเราหาปลายังไง ตอนนี้เราก็หาปลาแบบนั้น ไม่มีการเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือเหมือนประมงพาณิชย์ นอกจากการมาของ ‘ไอ้โง่’”
ไอ้โง่ มีอีกชื่อว่า ‘ลอบพับ’ หน้าตาของไอ้โง่มีลักษณะสี่เหลี่ยมหรือทรงกลม ด้านข้างมีทางเข้าของสัตว์น้ำทั้งสองด้าน อยู่สลับกันทั้งซ้ายขวา โดยลอบพับ 1 ลูก มีความยาว 8 เมตร
จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยพบว่า ชาวประมงใช้เครื่องมือนี้ทำการประมงตั้งแต่ 8-100 ลูก วางต่อกันเป็นแนวยาวที่ความลึกของระดับน้ำประมาณ 0.60-10 เมตร นาน 6-24 ชั่วโมง อัตราการจับสัตว์น้ำด้วยไอ้โง่เพียง 1 ลูก สามารถจับสัตว์น้ำได้เฉลี่ย 15 กิโลกรัม และที่สำคัญสัตว์น้ำทุกชนิดที่จับได้ มีสัดส่วนขนาดความยาวเฉลี่ยน้อยกว่าระยะแรกเริ่มสืบพันธุ์ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 80 โดยเฉพาะในกลุ่มกุ้งทะเล
สรุปได้ว่า ไอ้โง่มีราคาถูกราว 5-6 เท่า เมื่อเทียบกับอวนลอยของชาวบ้าน ซื้อหาได้ง่ายเพียงเปิดแอพ Lazada ราคาราว 600 บาท มีตาขายถี่จนสามารถดักจับสัตว์น้ำที่ยังโตไม่เต็มวัยได้ทุกชนิด แถมยังสามารถวางดักสัตว์ได้ตลอดเวลา ไม่ต้องคำนึงถึงฤดูกาลหรือการเปลี่ยนแปลงของน้ำ
ทว่าหากเราพินิจเรื่องนี้กันจริงจัง จะพบว่าไอ้โง่เป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งกลางทะเล ที่ใต้ผืนน้ำเต็มไปด้วยความหิว ความโกรธ ความสิ้นหวัง และจนตรอกของผู้คน
อัลอามีนอธิบายว่า “คนที่เขาแอบใช้ลอบพับเป็นเพราะทรัพยากรมันน้อยลง เขาหากินไม่ได้ ถ้าเขาใช้อวนปกติ 3-4 เดือน เปลี่ยนอวนครั้งหนึ่ง เสียเงิน 3,000-4,000 แต่พอเขาใช้ไอ้โง่ ซื้อมาแค่ 600 บาท ใช้ได้ทั้งปี ผมมองว่า เมื่อทรัพยากรมันน้อยลง ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะใช้เครื่องมือที่คุ้มค่า หรือในเชิงเศรษฐศาสตร์มันคือ economies of skill พอเขาเปลี่ยนมาใช้ไอ้โง่ เขาจับสัตว์น้ำได้เยอะมาก แต่มันทำลายทรัพยากร”
ไอ้โง่ระบาดหนักมาหลายปี แม้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 จะบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองไอ้โง่เพื่อใช้ทำการประมงในแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ทั้งพื้นที่ทะเลและพื้นที่น้ำจืดโดยเด็ดขาด ทว่าในสถานการณ์อันหิวโหยของผู้คน โดยเฉพาะในห้วงเวลาโรคระบาด ทรัพยากรที่ลดลง แล้วไหนเลยยังมีผลกระทบจากการขุดลอก ชาวประมงจำนวนมากยังคงใช้ไอ้โง่เป็นทางเลือก แม้รู้ว่าไม่ใช่ทางรอดที่ยั่งยืน
“สมัยก่อนนั้น อ่าวปัตตานีจะเต็มไปด้วยปะการังและหญ้าทะเล พอมีไอ้โง่ ตอนแรกชาวบ้านในหมู่บ้าน (บ้านแหลมโพธิ์) ก็มีคนไปซื้อมาใช้เหมือนกัน แต่พอเขาเริ่มเห็นว่ามันติดสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยมาด้วย เขาก็มีจิตสำนึกแล้วเลิกใช้ ไม่อย่างนั้นทรัพยากรในอ่าวปัตตานีจะหายไปเลย ซึ่งมันก็หายจริงๆ ครับ อย่างปูม้าเนี่ย เกือบ 3 ปีกว่าแล้ว ไม่มีให้จับเลย ลูกปูเล็กๆ ที่กรมประมงปล่อยลงทะเล สุดท้ายก็โดนไอ้โง่จับไปหมด” อาแซ จึดาแม อายุ 48 ชาวประมงพื้นบ้าน เล่าถึงปัญหาที่พ่วงมากับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล
หลังเล่าเสร็จ อาแซคนนี้พาเราล่องอ่าวไปให้เห็นด้วยตา รายทางของมันไม่งดงามดังเช่นอดีตที่เขาเล่า และราวกับว่ามันไม่ทางกลับไปเป็นเช่นเดิม
หลังแล่นเรือออกไปได้ราว 15 นาที อาแซชี้ให้เราดูเรือลำข้างหน้า ซึ่งหากมองไกลๆ ดูเหมือนชายบนเรือหางตัดลำนั้นกำลังสาวอวนตามปกติ ทว่าเมื่อเราขยับเรือเข้าไปใกล้ ในมือเขาคือไอ้โง่ …ไอ้โง่ที่ไม่ได้โง่ดังใครเขาว่า
“ผมมาตกอับแบบนี้ก็ประมาณ 10 กว่าปีได้แล้ว เมื่อก่อนทรัพยากรมันมีเยอะ ชาวบ้านก็อยู่ได้ ทำมาหากินได้ อย่างตอนนี้ผมทำเงินไม่ได้เลย พอหากินไปวันๆ เท่านั้นเอง เมื่อก่อนยังมีเงินเหลือเก็บบ้าง นี่ก็ตกอับมา 10 กว่าปีแล้ว” ถ้อยคำของ นิมา อีอาแซ ชาวบ้านบูดี อาชีพรับซื้อของทะเลจากชาวประมงในหมู่บ้าน
ใครๆ ก็แนะนำเขาว่าเป็น ‘เถ้าแก่’ แล้วในทันที นิมาจะยกมือยกไม้ขึ้นโบกปัดไปมา พร้อมปฏิเสธพัลวัน เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาอาจจะยืดอกรับนิยามดังว่า แต่มาตอนนี้ ลำพังจะหาข้าวปลามาเลี้ยง 8 ชีวิตในครอบครัวยังเป็นเรื่องยาก
“ก็บอกว่าอย่าเรียกเถ้าแก่ มันเขิน กระดากปาก เรียกว่าคนรับซื้อปลาเถอะ” เขาจะปรามแกมยิ้มเช่นนี้ เมื่อใครก็ตามเผลอหลุดปากเรียกเถ้าแก่
นิมาเล่าว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจของปัตตานีที่ราวกับถูกแช่แข็งมานับทศวรรษ แหล่งอาหารและอาชีพอย่างอ่าวปัตตานีถูกคุกคามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทรัพยากรที่เคยอุดมได้อันตรธานและไม่มีทีท่าจะฟื้นคืนโดยเร็ว ไหนจะโครงการแล้วโครงการเล่าที่มาพร้อมงบประมาณของรัฐ ซึ่งสุดท้ายแล้วประโยชน์ก็ไม่เคยตกถึงมือชาวบ้าน
สิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้หนุ่มสาวต้องออกไปหาความหวังยังที่ห่างไกลในดินแดนมาเลเซีย ในฐานะ ‘แรงงานต้มยำกุ้ง’ นับแสนคน “บางคนอยู่มาเลเซียนานเข้าก็ไม่กลับ บางทีก็ไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายบ้าง” นิมาเล่า
อาแซ จึดาแม เดินมาสมทบวงสนทนา “ผมก็เคยคิดไปเหมือนกัน แต่ว่าไม่อยากจะไปเพราะที่นี่เป็นบ้านเกิด ถ้าจะไปอยู่ที่อื่นก็ต้องซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน มันลำบาก การย้ายที่มันลำบากอยู่แล้วแหละ เราสร้างตัวอยู่ตรงนี้ เราก็พยายามจะอยู่ให้ได้”
“ถ้าจะไป อยากไปอยู่ที่ไหนคะ” เราถาม
“คิดในใจนะ ถ้าจะย้าย คงอยากย้ายไปอยู่มาเลเซีย” อาแซว่า
หลายปีแล้วที่อาแซกัดฟันสู้กับอาชีพประมงที่เขารัก เพราะในวัยเด็ก เขาแทบจะหาปลาเป็นก่อนพูดคล่องเสียด้วยซ้ำ การหาปลาเป็นสิ่งที่เขาถนัดแล้วทำได้ดี ข้อนี้ถูกการันตีผ่านนิมาที่ยืนอยู่ข้างๆ อาแซ ที่กล่าวว่า “คนนี้แหละเซียน (ชี้ไปที่เพื่อน) เขารู้หมดเลยว่าตรงไหนมีปลา ดูจากกระแสลม กระแสน้ำ ส่วนมากชาวประมงเขาจะรู้ แต่คนนี้เขารู้ดีกว่า”
อาแซเก่งเรื่องประมง เชี่ยวชาญเรื่องหาปลา สร้างตัวได้จากอาชีพนี้ มันจึงไม่ง่ายเมื่อวันหนึ่งการออกทะเลในเช้าตรู่จะได้กลับมาเพียงลำเรือที่ว่างเปล่าในตอนโพล้เพล้
“มันน่าเจ็บใจ ไปแล้วไม่ได้อะไรกลับมาเลย ค่าน้ำมันก็ไม่ได้ เมื่อก่อนคนทำประมงพื้นบ้านไม่ต้องซื้อกุ้งซื้อปลานะ เพราะเราหากินได้ หาขายได้ แต่ตอนนี้ถ้าอยากกินอาหารทะเล เราก็ต้องซื้อมากิน เป็นชาวประมงที่แค่อยากจะกินปลาก็ต้องไปซื้อ! (หัวเราะ) ลองคิดดูนะ ลองคิดดู” อาแซว่า
“เวลาเราจะออกไปวางอวน ต้องมีต้นทุนขั้นต่ำ 200 บาท แต่พอออกไปวางแล้วไม่มีกุ้ง ไม่มีปลา วางไป 3 ที ก็หมดวันแล้ว บางทีกลับมาได้แค่ 70-80 บาท บางทีก็ไม่ได้เลย ขาดทุน พอออกไป 2-3 วัน แล้วไม่ได้อะไร เราก็หยุดแล้ว ไม่ออกแล้ว มันท้อใจ แต่มันก็ต้องออกทะเลอีกอยู่ดี เพราะไม่มีกิน มันก็ต้องออก (หัวเราะ)” นิมาเล่าเสริมและแทรกด้วยเสียงหัวเราะ ทว่าเมื่อเราสบตากัน แววตาคู่นั้นไม่ตลกเลยแม้แต่น้อย
“มันน่าคิดนะคุณ ชาวประมง จะกินกุ้งก็ต้องซื้อ (หัวเราะ)” ชาวประมงคนหนึ่งที่ยืนฟังเราอยู่สักพักโพล่งขึ้น มันก็จริงอย่างที่เขาว่า
กลับมาที่อาแซ เมื่อทะเลถิ่นเก่าไม่อาจเลี้ยงปากท้อง อาแซจึงหันไปทำงานรับจ้างทั่วไปสารพัด ทั้งงานก่อสร้างและจิปาถะ แต่ในหมู่เล็กๆ งานจ้างจะมีสักเท่าไรกัน ทะเลจึงเป็นความหวังเดียวของผู้ที่ปักหลักสู้ แม้รู้ว่าอาจคว้าความว่างเปล่า
แต่ในภาวะหมดหวังของอาแซ เขายังมีครอบครัวที่ต้องดูแล
“ครอบครัวผมมี 5 คน เงินที่หาได้มันไม่พอแน่นอน จะกินก็ไม่พอ จะเก็บก็ไม่พอ อนาคตคิดไว้ว่าอยากจะส่งลูกเรียนหนังสือสูงๆ มันสลายหมด ไหนจะกิน ไหนจะส่งลูกเรียนหนังสือ มันหมดหวังหมดเลย (หัวเราะ)
“ตอนนี้ลูกของผมต้องไปทำงานในโรงงานที่หาดใหญ่ เขาจบ ม.6 เราหวังว่าอยากจะส่งเขาเรียนต่อ แต่พอมาเจอโควิด แล้วทรัพยากรก็ไม่เหลือให้ทำมาหากิน ฝันมันก็สลายหมด”
อาแซเล่า ขณะกำลังทอดมองไปยังผืนน้ำข้างหน้า
“ในฐานะผู้ใหญ่ ในฐานะพ่อ ถ้าเราไม่สู้กับเรื่องนี้ ใครจะมารักษาทรัพยากรของชุมชนเราล่ะ เรากำลังสู้กับไอ้โง่ สู้กับโครงการพัฒนาของรัฐที่ทำให้เกิดสันดอนทรายในอ่าวปัตตานี และต้นตอที่ทำให้กระแสน้ำและทรัพยากรลดลง ผมไม่กลัว”
ความคืบหน้าที่ไม่เคลื่อนไปไหน
ที่สุดแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อหาแนวทางแก้ไข เป็นความคืบหน้าในปัจจุบันที่ดูเหมือนจะไม่เคลื่อนไปไหน ขณะที่ประชาชนจำนวนมากกำลังรอที่จะได้พึ่งพาอาศัยอ่าวปัตตานีอีกครั้ง ในฐานะแหล่งอาหาร แหล่งอาชีพ และแหล่งธรรมชาติของประเทศ
จากการรวบรวมข้อคิดเห็นของชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเครือข่ายประมงพื้นบ้านและชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี พบว่า
1. ชาวบ้านต้องการให้นำสันดอนทรายออกตามเส้นสีแดงที่มีผลกระทบต่อการเดินเรือและทำประมง และคงไว้ตามเส้นสีเขียวดังภาพด้านบน
2. ให้กรมเจ้าท่าดำเนินการเคลื่อนย้ายสันดอนทรายด้วยวิธีการที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด ตามหลักวิชาการและหลักวิศวกรรมสมุทรศาสตร์ (Ocean Engineering)
3. ให้กรมเจ้าท่าดำเนินการแต่งตั้งตัวแทนชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ ในแต่ละพื้นที่ขุดลอก เพื่อชี้จุดและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
4. ขอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกลางติดตามการเคลื่อนย้ายสันดอนทราย ฟื้นฟูอ่าวปัตตานี ประกอบด้วย ตัวแทนชาวบ้าน ส.ส. ภาคประชาสังคม นักวิชาการ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากอ่าวปัตตานีเท่านั้น
“ตอนนี้กรมเจ้าท่าไปแก้สันดอนที่บ้านดาโต๊ะ และบ้านกำปงบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ ซึ่งบริเวณบ้านดาโต๊ะนั้น เขาแก้ไขเรื่องของสันดอนทรายที่มองเห็นภาพชัดจากดาวเทียม มันเป็นสันดอนทรายที่สามารถมองเห็นผ่านดาวเทียมได้ แล้วก็มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือน้ำจะลง”
ก่อนหน้านี้กรมเจ้าท่าอ้างว่า สันดอนทรายบริเวณบ้านดาโต๊ะ เป็นความต้องการของชาวบ้านเพื่อทำแหล่งท่องเที่ยว ขัดแย้งกับถ้อยคำของชาวบ้านที่ต้องการให้นำสันดอนทรายออกไป โดยอัลอามีนเล่าว่า กรมเจ้าท่าได้อ้างเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่บ้านบ้านดาโต๊ะ ให้กรมเจ้าท่าไม่นำสันดอนทรายดังกล่าวออกเพื่อทำแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต
“เอกสารฉบับนั้นคือการยอมรับว่า สันดอนทรายหน้าหมู่บ้านดาโต๊ะไม่ใช่ความผิดของกรมเจ้าท่า แต่เป็นความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการให้ปล่อยสันดอนทรายตรงนั้นไว้ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมันไม่จริง ในที่ประชุมหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะในชั้นกรรมาธิการป้องกันภัยฯ กรรมาธิการกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ผมได้ชี้แจงแล้วว่า จริงๆ แล้วสันดอนทรายตรงนี้ไม่ได้เป็นที่ต้องการของชาวบ้าน แต่เขาก็ยังอ้างหนังสือฉบับนั้นที่ผู้ใหญ่บ้านเซ็น”
“ขณะเดียวกัน ผมได้สอบถามไปยังผู้ใหญ่บ้านแล้วว่า รู้ไหมว่าตัวเองได้เซ็นเอกสารตรงนี้ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเขาก็ไม่รู้ เขาไม่ได้อ่านเอกสารฉบับนั้น แต่มีเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าให้เขาเซ็นจริง เขาก็เซ็น เพราะมีการร้องขอให้เซ็น”
ตามกรอบเวลาเดิมของการแก้ไขปัญหาสันดอนทราย คือกรมเจ้าท่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 ก่อนจะยืดระยะเวลาไปถึง 30 ตุลาคม 2564 ถัดมาก็เลื่อนกรอบเวลาอีกครั้งเป็นมกราคม 2565 และท้ายที่สุด การแก้ปัญหาก็ยังไม่เสร็จเช่นเดิม
“มันเกิดปัญหาหลายอย่าง เพราะทางกรมเจ้าท่าเองเขาก็อยากจะแก้ไขเฉพาะสันดอนทรายที่อยู่เหนือน้ำตรงตำบลดาโต๊ะอย่างเดียว แต่ประเด็นก็คือมันมีสันดอนทรายใต้น้ำเยอะพอสมควรที่เขาทิ้งไว้
“เจ้าท่าเขาไม่อยากไปแก้ตรงนั้น เราก็ได้เจรจากันจนสุดท้ายแล้วเขาก็แก้สันดอนทรายใต้น้ำบางส่วน ตอนนี้เขาย้ายเครื่องจักรทั้งหมดไปแก้ไขที่ดาโต๊ะ ตรงที่เราไปลงเรือวันนั้นแหละ”
“สามารถเลื่อนเวลาออกไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีบทลงโทษ และไม่ถือเป็นการละเมิดสัญญาเลยหรือ” เราถาม
คำตอบของอัลอามีนมาพร้อมเสียงหัวเราะ “ไม่มีครับ”
ความล่าช้านี้มีราคาที่ต้องจ่าย เพราะอย่าลืมว่า กระบวนการขุดลอกเพื่อแก้ไขปัญหาสันดอน มาพร้อมกับตะกอนดินที่ฟุ้งกระจาย ไหนเลยจะสารพิษต่างๆ ที่ทับถมจากการทำนากุ้งและการปล่อยสารเคมีลงในอ่าวเมื่อครั้งอดีต กระทบกับสัตว์น้ำและนิเวศทั้งระบบ
“เขาวางม่านดักตะกอนไว้ที่จุดทิ้งตะกอนเท่านั้น แต่ระหว่างทางที่ดูด เขาไม่มีม่านดักตะกอนเลย สัปดาห์ที่แล้วมีชาวบ้านแจ้งว่า ปลาตายเยอะมาก ขี้เลนที่มันฟุ้งกระจายเข้าไปในช่องปอดของปลา ทำให้ปลาตายเยอะเหมือนกัน ซึ่งกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วย”
เครือข่ายประมงพื้นบ้านและชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานีได้รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อกังวลของชุมชนไว้ดังนี้
- การดำเนินการล่าช้า ไม่ทันตามกรอบเวลาเดิมที่วางแผนจะเสร็จสิ้นก่อนฤดูมรสุมช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม
- ชาวบ้านกังวลเรื่องการไม่ดำเนินการขนย้ายสันดอนทรายใต้น้ำที่เป็นปัญหา ณ บริเวณหมู่ 1 ให้แล้วเสร็จ ถ้าหากมีการดำเนินการขุดลอกบริเวณสันดอนทรายที่ดาโต๊ะเสร็จสิ้น
- ประเด็นปัญหาภายใน เรื่องค่าใช้จ่ายขนย้ายสันดอนทราย ระหว่างบริษัทเอกชนคู่สัญญากับกรมเจ้าท่า และห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งที่รับเหมาช่วง เนื่องจากมีการกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายเพียง 100,000 คิว คิวละ 120 บาท เป็นจำนวนเงิน 12 ล้าน ในขณะเดียวกัน ปริมาณวัสดุขุดลอก (สันดอนทราย) มีมากกว่า 100,000 คิว
- การดำเนินการขุดลอกที่ผ่านมา ไม่มีการติดตั้งม่านดักตะกอนไว้ ทำให้ขี้เลนไปทับถมร่องน้ำชุมชนและเส้นทางเดินเรือของชาวบ้านจนตื้นเขิน เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางเรือในช่วงน้ำลดต่ำสุด
แต่ถึงวันนี้ ความกังวลและข้อเสนอของเครือข่ายประมงพื้นบ้านและชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานีก็ยังคงไม่บรรลุผล สันดอนทรายเคยถูกกองทิ้งไว้อย่างไร หลายๆ พื้นที่ก็ยังกองไว้เช่นเดิม ระบบนิเวศทางทะเลที่พังทลายจากกระบวนการขุดลอกไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการฟื้นฟู การมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาของชุมชนยังคงถูกจำกัด เรือหางตัดที่เคยโลดแล่นบนผืนน้ำอย่างอิสระในทะเลอันอุดม เป็นภาพอดีตที่ยากจะหวนคืน
เราพยายามติดต่อเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงต่อประเด็นนี้จากฟากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ นายอนันต์ แก้ววิเชียร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์