#ทวงคืนน้ำพริกปลาทู ประมงพื้นบ้านยื่นข้อเรียกร้องถึงสภาฯ ห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนสูญพันธุ์

เรือประมงหลายลำจอดเทียบท่าเจ้าพระยา คงเป็นภาพแปลกตาและไม่อาจพบเห็นได้ในวาระปกติ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเรือประมงนั้นคือของคู่กับทะเล

แต่เหตุที่เรือประมงต้องเดินทางไกลจากผืนทะเลมาโบกสะบัดธงอยู่กลางแม่น้ำสายใหญ่ที่ตัดผ่านเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เพราะบางอย่างในทะเลกำลังจะหายไป

กลุ่มประมงพื้นบ้านจากภาคใต้ของประเทศไทยที่กลายมาเป็นขบวนการทวงคืนน้ำพริกปลาทู ไม่ได้ตั้งต้นจากการทวงคืนเมนูอาหารไทยชนิดหนึ่ง แต่เกิดขึ้นเพราะวัตถุดิบอย่าง ‘ปลาทู’ ในน่านน้ำทะเลไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งไม่ได้กระทบแค่ระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังกระเทือนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประมงพื้นบ้าน และปากท้องของประชาชนผู้บริโภคอาหารทะเล 

จากทะเลสู่สภาฯ เรามาทวงคืนน้ำพริกปลาทู

“เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ชาวประมงในพื้นที่จับปลาทูได้วันละเป็นตัน บางวันได้ถึง 7 ตัน แต่พอเราทำงานไปสัก 3-4 ปี กลับพบว่าแทบไม่มีปลาทูเลย

“แต่ก่อนปลาทูที่ซื้อจากแพปลาราคากิโลกรัมละ 20 บาท ตอนนี้ปลาทูกิโลกรัมละ 120 บาท จะเห็นได้ชัดว่าการที่สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกตัดตอน ทำให้อาหารทะเลราคาแพงขึ้น

“น้ำพริกปลาทูที่โด่งดังอยู่ตอนนี้ อนาคตจะไม่ได้กินแล้ว ถ้าจะกินก็ต้องไปกินมื้อละ 3,000 ที่ห้องอาหารแพงๆ แต่ถ้าจะกินแบบบ้านๆ ไม่มีแล้ว เพราะไม่มีให้กิน”

เรื่องราวการหายไปของปลาทูในทะเลไทย ถูกถ่ายทอดสู่คนบนบกในค่ำคืนเสวนาวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ สวนสันติชัยปราการ เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนับเป็นวันที่ 12 ของการออกเดินทางเพื่อทวงคืนน้ำพริกปลาทู

เมื่อปลาทูหายไป รายได้ก็หายตาม ชาวประมงจำนวนหนึ่งจึงต้องแบกรับหนี้สินจากการทำการประมงไปพร้อมๆ กับเสาะแสวงหาหนทางทำมาหากินอื่นเพื่อสร้างรายได้ให้ตัวเอง

“เมื่อก่อนออกทะเลก็ได้วันละ 3,000 หักค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน ค่าแรงนิดหน่อย ก็พอเหลือกำไรไปเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย แต่ทุกวันนี้ 300 ยังไม่ได้เลยหนู ต้องเติมน้ำมันครั้งละประมาณ 700-1,000 บาท ขาดทุนยับเยิน นี่ลุงก็ยังค้างค่าน้ำมันเถ้าแก่อยู่ นี่แหละที่บอกเดือดร้อน” 

ทนง ช้างน้ำ ชาวประมงพื้นบ้าน เกาะจำ จังหวัดกระบี่

คือคำบอกล่าวจาก ทนง ช้างน้ำ ชาวประมงพื้นบ้าน เกาะจำ จังหวัดกระบี่ หนึ่งในตัวแทนชาวประมงที่เดินทางมาเพื่อทวงคืนน้ำพริกปลาทูที่กรุงเทพฯ

จากข้อมูลของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ระบุว่าสถานการณ์ของของปลาทูไทยอยู่ในภาวะวิกฤตตั้งแต่ช่วงปี 2562 และอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์หากไม่เร่งแก้ไขปัญหา การทวงคืนน้ำพริกปลาทูในครั้งนี้จึงมีความหมาย 2 ประการ คือการทวงคืนปลาทูอันเป็นวัตถุดิบหลักของน้ำพริกปลาทู และทวงคืนความสมบูรณ์ทางอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศไทย

‘เพราะเป็นชาวประมง จึงอยากล่องเรือมาบอกเล่าเรื่องราว’ จุดเริ่มต้นจากชายหาดในอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ขบวนเรือของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน นำโดยสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และสมาคมรักษ์ทะเลไทย บรรทุกความหวังและความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นเข้าสู่น่านน้ำเจ้าพระยา เพื่อบอกเล่าปัญหาและข้อเรียกร้องสำคัญต่อรัฐสภา ว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน 

หมุดหมาย 15 วันของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการล่องเรือจากทะเลใต้ขึ้นมาสู่เมืองหลวงท่ามกลางข้อจำกัดทางร่างกาย สภาพอากาศ และการติดต่อสื่อสาร นับเป็นเรื่องอันตรายยิ่งของคนทะเล หากแต่สถานการณ์ของทรัพยากรสัตว์ทะเลอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน การเข้าเทียบท่า ณ สัปปายะสภาสถาน เพื่อเดินทางสู่รัฐสภา จึงเป็นหนทางที่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเชื่อว่าจะช่วยให้ข้อเรียกร้องนี้ถูกตอบรับได้มากที่สุด

‘กฎหมายหลวม’ กระเทือนทรัพยากรและประมงพื้นบ้าน

“สิ่งที่ประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ขัดแย้งกันมีอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องฐานทรัพยากรลดลง มันไม่พอให้จับ แล้วมันก็ลามไปทุกเรื่อง หนึ่ง – การแย่งชิงพื้นที่ทำมาหากิน สอง – การกักทรัพยากรสัตว์น้ำไว้จับเอง ไม่มีการบอกเพื่อนฝูง เขาเรียกว่าการเก็บความลับ เช่น เรารู้ว่าแหล่งนี้มีปลา เราจะไม่บอกใคร ต่างจากเมื่อก่อนที่จะเราจะเเชร์กัน สาม – การโทษกันไปมาว่าใครคือต้นเหตุของการทำให้สัตว์น้ำลดลง”

ปิยะ เทศเเย้ม นายกสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

เสียงสะท้อนจาก ปิยะ เทศเเย้ม นายกสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย หนึ่งในไต๋เรือจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เล่าถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ทำประมงรายใหญ่และรายย่อยที่ยังคาราคาซังและไม่สามารถหาทางออกที่ชัดเจนร่วมกันได้ นั่นเป็นเพราะข้อบังคับของกฎหมายที่ยังไม่หนักแน่นพอให้เกิดผลบังคับใช้ต่อชาวประมงทุกกลุ่ม

“หากมองลงลึกไปในรายละเอียด ปัญหานี้อยู่ที่เรื่องเดียวคือทรัพยากรลดลง สาเหตุที่ทำให้มาถึงจุดนี้มีอยู่ไม่กี่เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องรัฐที่ไม่มอง คือเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความเท่าเทียมในการเข้าถึงอาหาร”

ปัญหาการจับ ซื้อ ขาย และบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อระบบนิเวศทะเลไทย กล่าวคือเป็นการตัดตอนระบบการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคอาหารทะเล ซึ่งได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ฉบับแรกของขบวนทวงคืนน้ำพริกปลาทูว่า “เป็นการทำลายโอกาสของประชาชนคนเล็กคนน้อยทั่วประเทศที่จะได้เข้าถึงอาหาร ด้วยการปล่อยให้มีการนำอาหารทะเลน้ำหนัก มากกว่า 300 ล้านกิโลกรัม ถูกป่นในราคาถูกๆ โดยผลประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมประมงและกลุ่มประกอบการอาหารสัตว์”

ทั้งนี้ หากมองถึงข้อกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อดูแลและควบคุมการทำการประมงในน่านน้ำทะเลไทยใน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ปิยะระบุว่า มีบางมาตราที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อกลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมทั้งเกิดช่องโหว่บางอย่างภายใต้ข้อกำหนดที่ไม่ชัดเจนและไม่ตอบโจทย์ ดังนี้

มาตรา 5 ว่าด้วยนิยามที่ส่งผลกระทบเรื่องการบริหารจัดการอำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด โดยระบุว่า ประมงพื้นบ้านคือเรือที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส หากใหญ่กว่านั้นจะถูกจัดเป็นประมงพาณิชย์ ซึ่งในความเป็นจริงเรือขนาดขนาด 10 ตันกรอส กับ 9.9 ตันกรอส มีขนาดที่ใกล้เคียงกันมาก หากคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดขยายพื้นที่ประมงออกเป็น 12 ไมล์ จะเป็นปัญหาสำหรับเรือขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป แต่กลับเป็นผลดีต่อเรือขนาด 9.9 ตันกรอส นั่นหมายความว่าข้อนิยามและการจำกัดความหมายนี้มีผลสัมฤทธิ์ที่ผิดพลาด ต้องได้รับการแก้ไข

มาตรา 10 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง มีความหมายครอบคลุมถึงเรือที่ไม่มีทะเบียน เรือที่เปลี่ยนธงชาติขณะทำประมง และเรือที่มีทะเบียนเรือ 2 เล่ม ซึ่งเป็นปัญหาต่อกลุ่มที่ใช้เรือประมงยังชีพ เพราะเมื่อไม่มีทะเบียนเรือจะถูกตีความว่าเป็นเรือไร้สัญชาติและถูกริบเรือ รวมถึงถูกปรับตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป

มาตรา 34 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง ซึ่งหากจังหวัดไหนมีเขตทะเลชายฝั่งเป็นระยะทางที่น้อยก็จะหาปลาได้ในพื้นที่น้อยลงเช่นกัน

และข้อสำคัญของการล่องเรือทางไกลมาถึงกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ นั่นคือมาตรา 57 ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ําหรือนําสัตว์น้ําที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดขึ้นเรือประมง นับเป็นแนวทางสำคัญในการปกป้องดูแลสัตว์น้ำขนาดเล็ก แต่กลับเป็นมาตราที่ยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างชัดเจน

ปิยะกล่าวเสริมว่า เป้าหมายสำคัญของการเดินทางไกลครั้งนี้คือ การยื่นจดหมายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันที่ 7 มิถุนายน และนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภาในวันที่ 8 มิถุนายน เพื่อให้รัฐมนตรีประกาศใช้มาตรา 57 ภายในระยะเวลา 30 วันนับจากนี้ ซึ่งหากไม่สัมฤทธิ์ผล จะดำเนินการฟ้องร้องต่อไปในฐานะที่หน่วยงานรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

‘ผู้บริโภค’ ตัวแปรสำคัญในห่วงโซ่การค้าสัตว์น้ำวัยอ่อน

“เราเชื่อว่าผู้บริโภคนี่แหละเป็นตัวกำหนดตลาดมาตั้งแต่ต้น”

ในกระบวนการเรียกร้องเพื่อปกป้องสัตว์น้ำขนาดเล็ก เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายสมาคมรักษ์ทะเลไทย มองว่าไม่เพียงแต่ภาครัฐและชาวประมงเท่านั้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แต่ยังรวมไปถึงผู้บริโภคทุกคนที่อยู่ในระบบตลาด โดยจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ รวมไปถึงความตระหนักในการไม่สนับสนุนการบริโภคสัตว์น้ำขนาดเล็ก

เสาวลักษณ์กล่าวว่า ปัจจุบันสัตว์น้ำขนาดเล็กถูกนำมาประกอบอาหารด้วยชื่อที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ อย่างเช่นปูกะตอย หมึกกะตอย ซึ่งในความจริงไม่ใช่สายพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็ก แต่คือสัตว์น้ำที่ติดมากับอวนโดยที่ยังไม่โตเต็มวัย เมื่อไม่สามารถขายได้ในราคาเต็ม จึงต้องนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จนกลายเป็นค่านิยมทางอาหารที่คนทั่วไปเคยชิน 

เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายสมาคมรักษ์ทะเลไทย

เมื่อมีคนอยากกินย่อมต้องมีคนอยากขาย เป็นไปตามกลไกของตลาด ดังนั้นหากผู้บริโภคเลือกที่จะปฏิเสธ เสาวลักษณ์เชื่อว่าจะช่วยให้วงจรการค้าสัตว์น้ำขนาดเล็กยุติลงได้

“ถ้าเรากินปลาตัวเล็กแล้วเราตั้งคำถามว่า ปลาตัวนี้ได้มาจากการจับด้วยเครื่องมืออะไร ปลาตัวนี้โตเต็มวัยหรือยัง มันถึงวัยที่เราควรจะกินได้หรือยัง ถ้าปล่อยไว้สัก 3 เดือน เราจะได้กินปลาตัวใหญ่กว่านี้ไหม ในทางกลับกัน ถ้าเราปฏิเสธที่จะไม่รับรู้เรื่องราวอย่างอื่นเลย อนาคตลูกหลานของเราซึ่งเป็นผู้บริโภคจะมีอาหารทะเลกินไหม แค่เริ่มตั้ง 3 คำถามนี้ เราคิดว่าระบบการจับไปจนถึงระบบการกินจะเปลี่ยนแปลงได้”

การเดินทางสู่เป้าหมายในเวลาเกือบครึ่งเดือนใกล้จะสิ้นสุด แต่ภารกิจทวงคืนน้ำพริกปลาทูของกลุ่มประมงพื้นบ้านยังคงยืนหยัดต่อไปในเกลียวคลื่นและลมแรง เพราะปลาทูไม่ได้เป็นแค่ของชาวประมง แต่ยังส่งต่อถึงปากท้องของประชาชนทุกคนให้มีความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า