ระลึก 4 ปี กับ ‘ความสนุก’ ในพื้นที่ชุมนุม กปปส.

เรื่องและภาพ: บัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ

 

การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. มีจุดเริ่มต้นจากการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 กระทั่งเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาฯ การชุมนุมก็ได้ยกระดับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลาออกด้วย เพื่อเปิดทางไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยสภาประชาชนก่อนการเลือกตั้ง

ท้ายที่สุดการชุมนุมดำเนินมาอย่างยาวนานจบลงด้วยการรัฐประหารโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

เรายังจดจำอะไรได้บ้างกับการชุมนุมของ กปปส. เมื่อสี่ปีก่อน

หนึ่ง-การชุมนุมในครั้งนั้นถือเป็นการชุมนุมที่ยาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 204 วัน

สอง-การชุมนุมในครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจาก ‘มวลมหาประชาชน’ ประมาณการว่ามีผู้ร่วมชุมนุมราว 5.8 ล้านคน/วัน และที่สำคัญคือการขับไล่รัฐบาลในครั้งนั้นยังได้รับการกล่าวถึงในฐานะการชุมนุมที่สร้างสีสันอบอวลไปด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า [1]

ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลหลายหมื่นคนได้ยึดพื้นที่ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ … บรรยากาศของการชุมนุมเต็มไปด้วยงานรื่นเริง ผู้ประท้วงจำนวนมากออกไปเต้นและร้องเพลงอยู่กลางถนน …

บ่อยครั้งที่ในสังคมวัฒนธรรมไทยจะเกิดการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่ดูซีเรียสจริงจังกับสิ่งที่ดูบันเทิงผ่อนคลาย การ ‘ชุมนุมทางการเมือง’ กับ ‘ความสนุก’ หรือทำให้สิ่งที่เคร่งเครียดกับสิ่งที่ผ่อนคลายสนุกสนานประนีประนอมอยู่ร่วมกันได้ภายใต้พื้นที่ชุมนุม

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบันทึกการเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ชุมนุมผ่านการสังเกตของนักเรียนมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่ง ที่อยากจะเข้าใจความสำคัญของพื้นที่ชุมนุมในบริบทแบบ ‘ไทยๆ’

1. ‘ความสนุก’ ในพื้นที่ชุมนุม

‘สนุก’ เป็นคำพื้นๆ ธรรมดาคำหนึ่งในภาษาไทย เป็นการแสดงออกถึงความคิดบางอย่างออกมาทางการกระทำ ให้ความสำคัญกับมิติของปัจจุบันมากกว่าอนาคต เราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความสนุกก็เพราะสิ่งนั้นให้ความสำราญจากกระบวนการที่ทำ มากกว่าความพอใจที่จะได้รับจากการบรรลุผล

ที่สำคัญคำว่า ‘สนุก’ ยังสะท้อนให้เห็นโลกทัศน์ในการดำรงชีวิตและลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมด้วย ซึ่งได้รับการนำไปประยุกต์กับกิจกรรมอื่นๆ อย่างกว้างขวางในหลายบริบท ที่สำคัญยังเป็นเครื่องบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมได้ในระดับหนึ่ง

การชุมนุมในครั้งนั้นดำเนินต่อเนื่องยาวนาน และยากจะคาดการณ์ว่าจะจบลงตอนไหน แน่นอนว่าการจัดการพื้นที่ ทรัพยากร และคน เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรผู้ชุมนุมบางส่วนต้องใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงบนท้องถนน ที่ต่างต้องเผชิญความเครียด กดดัน และสับสนวุ่นวาย

เราอาจแบ่งผู้ชุมนุมออกเป็นสองประเภทกว้างๆ ได้สองกลุ่ม ประเภทแรกคือ ‘ผู้ชุมนุมค้างคืน’ เป็นกำลังสำคัญในการทำทุกกิจกรรมตามที่เวทีร้องขอ ทำหน้าที่เป็นทหารประจำการคอยรักษาพื้นที่การชุมนุมไว้หรือเป็นเหมือน ‘กระดูก’ ที่ทำให้การชุมนุมเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ขณะที่ ‘ผู้ชุมนุมชั่วคราว’ มักจะออกมาร่วมสมทบหลังจากเลิกงานและวันหยุด ผู้ชุมนุมชั่วคราวไม่ต่างจาก ‘เนื้อหนัง’ ที่ช่วยสนับสนุนให้วงจรชีวิตของการชุมนุมเดินต่อไปได้อย่างราบรื่น

พื้นที่การชุมนุมแน่นขนัดไปด้วยผู้คนในคืนวันศุกร์ เป็นเวลาที่ ‘ลุงกำนัน’ สุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นปราศรัยบนเวทีราชดำเนิน ไม่นับรวม ‘ดาวเวที’ ที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนขึ้นปราศรัยตลอดทั้งคืน คนนั่งฟังการปราศรัยหนาแน่นหน้าเวทีราชดำเนินอันป็น ‘เวทีศูนย์กลาง’ มากที่สุด ขณะที่ดาวเวทีคนอื่นๆ เป็นเหมือนแม่เหล็กดูดผู้คนให้มายืนล้อมหน้าเวที คนที่อยู่หน้าเวทีฟังอย่างจดจ่อไม่ลุกออกไปไหน ร้านนวดเท้าไม่ไกลจากนั้นคับคั่งไปด้วยลูกค้าที่มานอนนวดเท้าพร้อมฟังการปราศรัยไปพร้อมกัน แม้ว่าจะทำให้มองเห็นคนบนเวทีไม่ค่อยชัดแต่ก็ได้นั่งผ่อนคลาย โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ส่วนใหญ่มากันเป็นกลุ่ม นั่งจิบเบียร์ เสียงพูดคุยในร้านดังสลับกับเสียงจากเวที

กิจกรรมบนเวทีแบ่งออกได้เป็นสี่ช่วงเวลา

  • ช่วงเช้า-กลางวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-13.00 น.
  • ช่วงบ่าย ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น.
  • ช่วงเย็น-ค่ำ ตั้งแต่เวลา 16.00-00.00 น.
  • ช่วงเช้ามืด ตั้งแต่เวลา 00.00-6.00 น.

ขณะที่กิจกรรมบนเวทีแบ่งได้กว้าง ๆ เป็นสี่ลักษณะ คือ

หนึ่ง-ปราศรัยหรือการบรรยายเชิงวิชาการ
สอง-แสดงดนตรี การแสดงรื่นเริง
สาม-อ่านคำแถลงการณ์จากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
สี่-รับบริจาคเงิน/สิ่งของในช่วงเวลาเย็น-ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ชุมนุมชั่วคราวเข้ามาร่วมชุมนุมมากที่สุด

ไม่ว่ากิจกรรมบนเวทีจะเป็นไปอย่างเข้มข้นอย่างไร กิจกรรมความบันเทิง อย่างการแสดงดนตรีจากศิลปิน นักร้องมืออาชีพ และมือสมัครเล่น ก็จะเข้ามาช่วยทำให้บรรยากาศที่บีบรัดดูผ่อนคลายลง เสียงที่ตะโกนด่าทอจากผู้ชุมนุมก็ค่อยๆ กลืนหายไปกับเสียงเพลงบนเวที

2. ถนนคนเดินกับการท่องเที่ยว

กลยุทธ์สำคัญหนึ่งของการชุมนุมในครั้งนั้นมาจากการจัดความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พื้นที่’ กับ ‘เวลา’ ด้วยการเคลื่อนย้ายรวมทั้งแบ่งกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามที่พื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ แม้ว่าจำนวนมวลมหาประชาชนเข้าร่วมชุมนุมอาจไม่ได้มากอย่างที่คิด แต่การปักหลักกิน-อยู่-นอน ณ ใจกลางเมืองหลวงก็ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้

การปิดถนนเพื่อทำให้เกิด ‘ถนนคนเดิน’ แนวคิดที่เกิดขึ้นจากการปราศรัยของนายสุเทพ เป็นหนึ่งในยุทธวิธีของการปิดล้อมกรุงเทพฯ ขยายพื้นที่ออกเป็นเจ็ดจุด

  • หน้าศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
  • ห้าแยกลาดพร้าว
  • อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • สี่แยกปทุมวัน
  • สวนลุมฯ
  • แยกอโศก
  • แยกราชประสงค์

พื้นที่หลายแห่งสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในฐานะสถานที่ราชการ แหล่งธุรกิจการค้า บางแห่งยังมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ความทรงจำ ที่กลุ่ม นปช. เคยใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมจนนำมาสู่การ ‘ขอคืนพื้นที่’ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นอกจากนี้ เวทีทั้งหมดยังถูกเชื่อมด้วยเครือข่ายคมนาคมของรถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน MRT ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่ค้างคืนสามารถมาร่วมการชุมนุมได้ตลอดเวลาในวันหยุด หรือหลังเลิกงานในวันธรรมดา ที่สำคัญยังสามารถเคลื่อนย้ายไปชุมนุมยังเวทีอื่นได้รวดเร็ว

การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมไทย และได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการชุมนุมของ กปปส. ในเวลานี้การท่องเที่ยวได้ถูกสร้างขึ้นให้ซ้อนทับอยู่บนพื้นที่การชุมนุม เป็นกิจกรรมความบันเทิงเพื่อเติมเต็มประสบการณ์ที่ไม่อาจพบเจอได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ถนนคนเดินจะเกิดขึ้นในวันเสาร์และวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดของข้าราชการและพนักงานออฟฟิศโดยทั่วไป ความเคร่งเครียดกดดันจากการทำงานมาทั้งอาทิตย์ที่นอกจากจะใช้เวลามาขับไล่รัฐบาลแล้วยังได้ใช้เวลาผ่อนคลายไปด้วย

เวทีชุมนุมแต่ละแห่งได้สร้าง ‘แลนด์มาร์ค’ และมีมุมสำหรับผู้รักการถ่ายรูป มีฉากหลังเป็นภาพของเวทีการชุมนุม ไวนิลลุงกำนันพร้อมดาราศิลปิน พร้อมคำด่านักการเมืองชั่วช้าสามานย์  การได้อัพโหลดภาพบนโลกโซเชียลเป็นเหมือนการประกาศถึงการมาเยือนจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ผู้ชุมนุมคนหนึ่งพยายามเดินทางไปทุกเวทีให้ได้ภายในหนึ่งวัน ด้วยการนั่งรถไฟฟ้า BTS เวียนไปตามเวทีแต่ละแห่งจนครบทั้งเจ็ดเวที และโพสต์ภาพถ่ายตัวเองกับแลนด์มาร์คแต่ละแห่งลงเฟซบุ๊ค

แม้ว่าบางช่วงเวลาการชุมนุมก็ดูแข็งแรงขึงขัง เต็มไปด้วยผู้เข้าร่วมมากมาย ขณะที่บางเวลาคนก็ดูจะแผ่วลงหลงเหลือผู้ชุมนุมค้างคืนไม่มาก เทศกาลในปีปฏิทินเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ ‘เรียกแขก’ ให้มาเติมในพื้นที่ชุมนุม เช่น ‘งานปีใหม่ในบรรยากาศของงานวัด’  ‘วันบอกรักประเทศไทย 14 กุมภาพันธ์ 2557’ ‘วันเด็ก: สร้างอนาคตชาติที่ราชดำเนิน’ ‘สงกรานต์สวนลุมฯ’

แน่นอนว่าพื้นที่ชุมนุมยังได้กลายเป็นโอกาสทำมาหากินของใครอีกหลายคน บางคนก็เห็นช่องทางการประกอบอาชีพ ด้วยการซื้อสินค้ามาขายโดยเฉพาะของกินและเสื้อผ้า ขณะที่บางส่วนที่ไม่มีทุนรอนมากก็เลือกนำทักษะที่มี เช่น การนวด การวาดภาพ การสัก มาให้บริการ การชุมนุมเป็นโอกาสที่คนไร้บ้านจะได้ขายพลาสติกปูนั่ง

3. สัญลักษณ์ผ่านสินค้า ‘รักชาติ’

ช่วงการชุมนุม ‘ถนนคนเดิน’ ในพื้นที่ชุมนุม กปปส. กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่สำหรับคนกรุง บนสื่อโซเชียลมีการนำเสนอสถานที่ตั้ง พร้อมการเดินทาง บทรีวิวสินค้าหรือ ‘ของฝาก’ ที่วางขายในเวทีชุมนุมแต่ละแห่ง รวมทั้งอาหารขึ้นชื่อที่หาทานไม่ได้จากเวทีอื่น แน่นอนว่า ‘สินค้ารักชาติ’ ตั้งแต่นกหวีดรักชาติหลากสีสัน ผ้าโพกหัวรักชาติ นาฬิการักชาติ กางเกงรักชาติ เคสไอโฟนรักชาติ สินค้าทำมือ

แผงของ BLUESKY Channel ดูจะได้รับความนิยมมากที่สุด ผู้คนมาต่อแถวเพื่อซื้อนกหวีดสายฟ้า สนนราคาตั้งแต่ 20 บาท ไปจนถึง 500 บาท มี 10 สี แต่ขายเพียงวันละสี แม้นกหวีดสายฟ้าผลิตออกมาวันละ 2,500 ถึง 3,000 ชิ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของคนซื้อที่ต้องการจะได้ทั้งของฝาก ของสะสม และเวลาเดียวกันก็ได้สนับสนุนเงินเพื่อโค่นล้มรัฐบาล

ถนนคนเดินช่วยแต่งแต้มพื้นที่ถนนที่ปกติมีแต่รถราวุ่นวายให้กลับมาเดินได้อย่างรื่นรมย์อีกครั้ง ผ่านการได้นั่งชมคอนเสิร์ต พบปะดารา เลือกซื้อสินค้า ถ่ายรูป โดยคอนเสิร์ตในวัน ‘บอกรักประเทศไทย’ ที่จัดขึ้นบนถนนหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม มีวัยรุ่นมาร่วมงานจำนวนมากทั้งชายหญิงตกแต่งร่างกายและสวมเครื่องประดับลายธงไตรรงค์ ทั้งระเป๋า ตุ้มหู กำไล ที่แสดงสัญญะแห่งความ ‘รักชาติ’ แม้แต่แฮมเบอร์เกอร์ ไอศกรีม ก็สกรีนคำว่า ‘รักประเทศไทย’

ในแง่นี้อุดมการณ์ชาตินิยมได้ถ่ายเทความหมายมาประทับลงบนตัวสินค้า และประสานเป็นส่วนหนึ่งกับร่างกายผ่านการบริโภค ไม่ว่าจะกิน เจาะ ติด แขวน ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมได้แสดงตัวตนออกมาได้

ในแง่หนึ่งการจัด ‘เฟสติวัล’ จึงมีหน้าที่ช่วยสร้างประสบการณ์ของผู้ร่วมชุมนุมให้ผูกพันและรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันมากขึ้น ลดความตื่นตระหนก หวาดกลัว ซึ่งมักเป็นภาพแทนของการชุมนุมประท้วง ที่สำคัญการสร้างความสนุกดูจะเป็นกลไกทางวัฒนธรรมหนึ่งที่ช่วยรักษาสัมพันธภาพระหว่างผู้ชุมนุมชั่วคราวและผู้ชุมนุมค้างคืนให้ราบรื่น

การสร้างความสนุกในพื้นที่ชุมนุม พื้นที่ชุมนุมอาจไม่ได้มีแค่เพียง ‘หน้าที่’ ทางกายภาพด้วยการรองรับการใช้ชีวิตของผู้ชุมนุมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปฏิบัติการของพื้นที่ และ ‘ความสนุก’ ผ่านเฟสติวัลก็เป็นตัวอย่างที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามให้ความหมายของพื้นที่ใหม่ สร้างอัตลักษณ์ให้กับพื้นที่ใหม่เพื่อเชื้อเชิญให้คนเข้ามาเยี่ยมชม ที่สำคัญทำให้การท้าทายอำนาจเหนือดินแดนขององค์อธิปัตย์ การท้าทายอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องที่ต้องซีเรียสจริงจัง

ตราบใดถ้าระหว่างทางที่เราทำนั้นสนุก ปัญหาอุปสรรคที่รออยู่ปลายทางก็ดูจะไม่สำคัญเท่า


เชิงอรรถ
[1] อ้างอิงใน AMY SAWITTA LEFEVRE, “No resistance as crowds occupy Thai capital in festive protest,”http://uk.reuters.com/article/2014/01/13/us-thailand-protest-idUKBREA0B03C20140113; สืบค้นข้อมูล 17เมษายน 2557.

อ้างอิงข้อมูลจาก:
การชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2556-2557 ศาสนาแห่งรัฐ ชุมชนทางศาสนา และผู้ศรัทธา (รายงานการวิจัย).
คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี (คยส.) สังกัดสำนักสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า