‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ นโยบายรัฐบาลที่ช่วยเกื้อหนุนชีวิตในบั้นปลาย หากแต่อัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพที่เพิ่มขึ้นเพียงน้อยนิด ทำให้คนชราจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญชีวิตที่แร้นแค้นด้วยเม็ดเงินที่ไม่พอเลี้ยงดูปากท้อง
ปี 2565 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) พร้อมกับสถานการณ์ทางการเงินของประเทศที่ยังทุลักทุเล ทำให้เห็นได้ว่าคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยยังคงน่าเป็นห่วงไม่ต่างกับเด็กจบใหม่และหนุ่มสาววัยทำงาน
‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ ความลำบากระยะยาวของประเทศไทย
ในช่วงต้นปี 2565 นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และรองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งอธิบายตามการให้ความหมายของ United Nations World Population Ageing คือ สังคมไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกันในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่น้อยลง
ปัจจัยในเรื่องอายุเฉลี่ยของคนไทยที่ยืนยาวขึ้นและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาระทางการเงินทั้งในด้านค่าบำรุงสุขภาพและการจัดสรรทรัพยากร เมื่อควบรวมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้น รวมไปถึงภาวะยากจนหลังวัยเกษียณ
ขณะเดียวกัน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยผลลัพธ์จากการคำนวณบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (NTA) พบว่า ในการวางแผนการเงินของประชาชนสำหรับการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยเพื่อให้สามารถดูแลเด็กวัยเรียน ดูแลคนแก่ และมีเงินเก็บส่วนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุไปจนถึงอายุ 90 ปี จะต้องมีเงินออมประมาณ 7.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุหลังเกษียณไปแล้วจำนวน 3.1 ล้านบาท นับเป็นเงินจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับรายได้ของแรงงานในประเทศไทย นั่นหมายถึงรัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายของประชาชน รวมทั้งต้องเร่งแก้ไขปัญหาค่าแรงและรายได้ขั้นต่ำอันเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงจะได้รับ
เพิ่มงบอุดหนุนเบี้ยยังชีพ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
การวิเคราะห์และเตรียมการในเชิงนโบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่อปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงอายุเป็นที่จับตามองของจากทั้งองค์กรเอกชนและภาคประชาชน ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เปิดเผยข้อมูลจากงานศึกษาของนักวิชาการไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อสรุปตรงกันว่าการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขึ้นน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยครัวเรือนสูงวัยที่ยากจนในรุ่นปัจจุบันได้ทันการณ์ที่สุด แต่อาจต้องมีการพิจารณาว่าระดับที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด
สำหรับรายได้เบื้องต้นของคนชราในประเทศไทย รัฐบาลได้จัดสรรกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุในชุมชน (เบี้ยยังชีพ) สำหรับบุคคลที่ถือสัญชาติไทยซึ่งมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเริ่มกำหนดใช้ในปี 2536 โดยในช่วงแรกรัฐบาลจะจ่ายให้เป็นจำนวน 200 บาทต่อเดือน จนมาถึงปัจจุบันที่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการจ่ายแบบขั้นบันได คือ อัตราเบี้ยยังชีพจะเพิ่มขึ้นในทุกๆ 10 ปี ปีละ 100 บาท เริ่มต้นจาก 600 บาท ไปจนถึง 1,000 บาท เมื่ออายุครบ 90 ปี
ภายใต้ข้อเสนอการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราเพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุ พบว่า ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดในปี 2562 หลายพรรคการเมืองได้เสนอนโยบายปรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยให้จ่ายเท่ากันทุกช่วงอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่เกิดการแข่งขันและเปรียบเทียบว่าใครจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากกว่า โดยเฉพาะกับคนวัยทำงานและวัยหลังเกษียณ
- พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน
- พรรคอนาคตใหม่ ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,800 บาทต่อคนต่อเดือน
- พรรคชาติพัฒนาและพรรคเพื่อชาติ ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน
- พรรคประชาชาติ ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน
แน่นอนว่าแนวทางในการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพนี้มาพร้อมกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลรายงานการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี พ.ศ. 2555-2562 ของกรมกิจการผู้สูงอายุ จะพบว่างบประมาณในแต่ละปีสอดคล้องกันกับจำนวนคนชราในประเทศที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะใช้เกณฑ์การจ่ายเบี้ยแบบเดิมมาโดยตลอดก็ตาม โดยสถิติในปี 2562 มีจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าระบบรับเบี้ยยังชีพถึง 9,093,916 คน และใช้งบประมาณในการจ่ายเบี้ยยังชีพไปทั้งสิ้นกว่า 72 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นจนถึงปัจจุบัน นโยบายการปรับเพิ่มเบี้ยคนชรายังคงไม่มีความคืบหน้าใดเพิ่มเติมและยังคงใช้อัตราการจ่ายเท่าเดิม โดย สุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ชี้แจงว่า แนวโน้มการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยยังชีพในอนาคตขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ความหวังของคนชราที่ยังห่างไกล
หนึ่งในความหวังของการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคือ การพิจารณาปรับใช้ ‘ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …’ ซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างการแก้ไขปรับปรุงและรับฟังความความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีความเห็นว่า ควรใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำในการพิจารณาจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยเกณฑ์นี้จะต้องไม่กระทบกับคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว แต่ในส่วนของการเพิ่มเบี้ยยังชีพยังคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเกิดขึ้น ทั้งหมดอยู่ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาล
ท้ายนี้ คณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคาดว่าร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ยังคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกเป็นเวลานาน เนื่องจากต้องผ่านการพิจารณาควบคู่ไปกับข้อกฎหมาย สถานการณ์ทางการเมือง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ปัจจุบันยังระส่ำระสายเกินรับมือ
ที่มา :
- ก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์! กผส.เดินหน้าดันเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตัวเองได้
- ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ: ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน
- ส่องนโยบายขายฝัน 6 พรรคการเมืองแห่เพิ่มเงิน “เบี้ยคนชรา” ทำได้จริงหรือ?
- สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและเศรษฐกิจในประเทศไทย
- สว.เบาใจ!พม.ตั้งโต๊ะแจงยังไม่สรุป เกณฑ์ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ย้ำจ่ายปกติ
- อัปเดตสถานะ ‘ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ’ ตลอด 1 ปี ไปถึงไหนแล้ว ?
- เปิดเหตุผลแรงงานยุค ‘สังคมสูงวัย’ ทำไมต้องมีเงินออม 7.7 ล้านบาท