‘People Go’ ฉากที่ 6 สู่สังคมพหุวัฒนธรรม

go6

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” – ถ้อยคำอันเป็นปัญหาที่แฝงฝังอยู่ในเนื้อเพลงชาติไทย ปลุกกระแสความรักชาติ แต่ละเลยความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ เบียดขับผู้คนที่แตกต่างให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง นี่คือต้นธารความขัดแย้งในสังคมพหุวัฒนธรรม

เช่นนี้แล้ว เราจะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง

เครือข่ายภาคประชาชนในนาม ‘People Go Network Forum’ สรุปสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ชำแหละออกมาให้เห็นว่า สิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญกับสิ่งที่ คสช. กระทำนั้น จะพาประเทศไปสู่อะไร

 

สาระสำคัญที่ต้องจับตา

  • ชาติพันธุ์ รัฐให้การยอมรับเฉพาะเชื้อชาติไทยรวมถึงอีกบางเชื้อชาติ เช่น จีน แต่ไม่ให้การยอมรับเชื้อชาติและชาติพันธุ์อื่น เช่น ชาวมลายู กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง กลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย และเป็นชนชั้นล่างในแต่ละภูมิภาค
  • สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ยังไม่มีสิทธิ สัญชาติ การเข้าถึงทรัพยากร และศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับคนไทยในภูมิภาคอื่นๆ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง กลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยอาศัยและยังชีพในเขตทะเลมาเป็นเวลานาน
  • ศาสนา รัฐไทยรวมศาสนาพุทธเป็นหนึ่งในอุดมการณ์รัฐ และประกอบพิธีทางพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐพิธี ทำให้ขาดความหลากหลายทั้งทางด้านศาสนาและภาษา โดยเฉพาะกับชาวมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีศาสนา ความเชื่อ และภาษา แตกต่างจากอุดมการณ์ของรัฐ
  • ภาษา รัฐให้การยอมรับเฉพาะภาษาไทยเป็นภาษาราชการ แม้ในพื้นที่ที่พลเมืองส่วนใหญ่ใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในชีวิตประจำวัน เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งชาวมลายูได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้เพิ่มภาษามลายูเป็นภาษาราชการมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
  • พหุวัฒนธรรม ไม่มีการยอมรับพหุวัฒนธรรมทั้งด้านเพศสภาพ ภูมิภาค และสถานะทางเศรษฐกิจ จนหลายครั้งกลายเป็นเรื่องขบขันในวัฒนธรรมกระแสหลัก อีกทั้งนโยบายด้านพหุวัฒนธรรมมักมีลักษณะฉาบฉวยและบิดเบือน เช่น วิถีชีวิตและประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกนับเป็นสิ่งแปลกตา ถูกอนุรักษ์หรือแช่แข็งไว้โดยไม่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ดำรงอยู่ และมีสถานะเป็นสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งผู้ได้ประโยชน์หลักไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์
  • ความยากจน รัฐให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมและเมืองเป็นหลัก ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนชั้นล่างจำนวนมากต้องเข้าสู่ระบบการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่ตนเสียเปรียบ และกลายเป็นแรงงานรับจ้างในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำ กลายเป็นคนจนเมืองที่ต้องเช่าที่พักอาศัยราคาถูกหรืออาศัยอยู่ในสลัม และบางกรณีกลายเป็นคนไร้บ้าน ขณะที่การแก้ปัญหาความยากจนมีลักษณะสงเคราะห์มากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำและกลุ่มทุนใหญ่ โดยที่ยังครอบงำรักษาระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่พวกตนเป็นฝ่ายได้เปรียบเอาไว้

go6-icon

สิ่งที่เขียนในร่างรัฐธรรมนูญ

  • มาตรา 31 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
  • มาตรา 67 บัญญัติว่า “ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนา ‘เถรวาท’ เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”
  • มาตรา 70 บัญญัติว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือสุขภาพอนามัย”

go6-icon

สิ่งที่ คสช. ทำ

  • ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 จงใจเปลี่ยน ‘สิทธิเสรีภาพ’ พื้นฐานของประชาชน โดยเลี่ยงไปใช้คำว่า ‘เป็นหน้าที่ของรัฐ’ ประหนึ่งว่ารัฐเป็นผู้จัดให้ มิใช่สิทธิโดยธรรมชาติ
  • คสช. เน้นความมั่นคงของรัฐ ด้วยการใช้ ม.44 ก่อให้เกิดความหวาดระแวงต่อกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือชาวมลายูมุสลิม และส่งผลให้เกิดการตรวจค้น จับกุม คุมขังโดยพลการอย่างกว้างขวาง
  • คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มชนชั้นล่างไม่สามารถเคลื่อนไหวเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่ได้ อีกทั้งยังมีการข่มขู่ คุกคาม และจับกุมคุมขังเพิ่มมากขึ้นภายใต้สภาวการณ์ที่ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ
  • นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน เช่น มาตรา 44 ตามอำนาจ คสช. เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ให้กรมธนารักษ์ทำการวัดที่ดินบริเวณบ้านวังตะเคียน หมู่ที่ 7 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อตีกรอบพื้นที่ 2,100 ไร่ ที่จะให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้ามาบริหาร โดยแบ่งสัดส่วนให้ กนอ. บริหาร 813 ไร่ และอีก 1,287 ไร่ กรมธนารักษ์จะปล่อยให้เอกชนเช่าลงทุน มาตรการเหล่านี้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน ส่งผลต่อการทำลายฐานทรัพยากรซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์และชนชั้นล่างพึ่งพา รวมทั้งทำให้ระบบการผลิตของพวกเขาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบรรษัทขนาดใหญ่มากขึ้น

go6-icon

สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น

  • สร้างสังคมพหุวัฒนธรรม ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทั้งในเชิงชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา เพศสภาวะ และอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเท่าเทียม
  • สร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีอำนาจยึดโยงกับประชาชน และให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการดำรงชีวิต ตลอดจนสิทธิที่เท่าเทียมกันของคนทุกกลุ่มในด้านการศึกษา สาธารณสุข และการเข้าถึงทรัพยากร
  • ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกลุ่มชาติพันธุ์ ชนชั้นล่าง และคนชายขอบมีส่วนร่วม

peoplego-logo

ที่มา: People Go Network Forum

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า