นี่อาจเป็นข่าวเล็กๆ ที่ถูกมองข้ามในสังคมไทย แต่เป็นข่าวใหญ่ที่น่ายินดีสำหรับผู้มีประจำเดือน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศให้สิทธิสำหรับนักศึกษาที่มีประจำเดือนสามารถลาหยุดได้โดยไม่กระทบกับการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน นับเป็นอีกหนึ่งมูฟเมนต์ที่สะท้อนความก้าวหน้าในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และสะท้อนถึงสิทธิของผู้มีประจำเดือนที่ขยับไปอีกขั้น เพราะนอกเหนือจากเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีแล้ว สิทธิการลาหยุดของผู้มีประจำเดือนก็เป็นเรื่องที่สถานศึกษาต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน
อาการเจ็บป่วยขณะมีประจำเดือนถูกบอกกล่าวกับสังคมมาโดยตลอดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสำหรับวัยเรียนแล้วเรียกได้ว่าส่งผลกับการเรียนเป็นอย่างมาก เหมือนอย่างที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า “ในหลายส่วนของโลก การไปโรงเรียนถือเป็นเรื่องต้องห้ามหากคุณมีประจำเดือน” ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเจ็บป่วยขณะมีประจำเดือน และขาดแคลนทุนทรัพย์ในการซื้อผ้าอนามัย จึงมีการเรียกร้องสิทธิการลาหยุดขณะมีประจำเดือน พร้อมๆ กับการเรียกร้องสวัสดิการผ้าอนามัย และบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ อยู่เสมอ
ลองมาสำรวจตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในต่างประเทศว่ามีมาตรการต่อเรื่องนี้อย่างไร เพื่อรองรับสิทธิของผู้มีประจำเดือนในสถานศึกษา
สกอตแลนด์
เป็นประเทศแรกที่บุกเบิกนโยบายเพื่อผู้มีประจำเดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระทางการเงิน โดยมีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัย และให้เข้าถึงได้ฟรีทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่ทำงาน
นิวซีแลนด์
เมื่อปี 2564 ประกาศให้ทุกโรงเรียนมีบริการผ้าอนามัยฟรี หลังจากเคยมีโครงการนำร่องให้เยาวชนประมาณ 3,200 คน จาก 15 โรงเรียน เข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขอนามัยได้ฟรี แล้วพบว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดเรียนระหว่างที่นักเรียนมีประจำเดือนได้
บอตสวานา
รัฐบาลของบอตสวานามีความตั้งใจแก้ปัญหาเด็กผู้หญิงขาดเรียนขณะที่มีประจำเดือน ด้วยสาเหตุมาจากไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย จึงลงมติให้สนับสนุนผ้าอนามัยฟรีแก่เด็กนักเรียน
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าตัวอย่างประเทศที่หยิบยกขึ้นมาจะเน้นการสนับสนุนสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษา และอีกหลายประเทศนอกเหนือจากนี้ก็จัดให้มีสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีเช่นเดียวกัน
ส่วน ‘สิทธิลาหยุด’ สำหรับผู้มีประจำเดือน ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ออกกฎหมายรองรับสิทธิดังกล่าว ซึ่งอนุญาตอย่างเป็นรูปธรรมแก่สถานประกอบการ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย แซมเบีย และสเปน นอกเหนือจากนี้ส่วนมากจะเป็นองค์กรเอกชนที่เห็นความสำคัญและกำหนดกฎระเบียบให้สิทธิหยุดงานแก่พนักงานขณะมีประจำเดือน
อย่างไรก็ตาม มีสถิติชัดเจนว่าอาการปวดท้องประจำเดือนส่งผลกับผลการเรียนและการทำกิจกรรมอื่นๆ ในโรงเรียน ประกอบกับส่งผลต่อสมาธิและการเรียนรู้ในชั้นเรียนอีกด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ในออสเตรเลียได้ตรวจสอบผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง 21,573 คนจากทั่วโลก จากงานวิจัย 38 เรื่อง พบว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าจำเป็นต้องขาดเรียนเนื่องจากปวดท้องประจำเดือน และประมาณ 41 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสมาธิในห้องเรียนหรือการทำข้อสอบ
นอกจากนี้แบบสำรวจออนไลน์ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้หญิงอายุ 13-25 ปี จำนวน 4,202 คน ทั่วออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ในระดับโรงเรียนและอุดมศึกษา พบว่า 3 ใน 4 ปวดท้องประจำเดือนเป็นประจำ มากกว่า 1 ใน 3 เกิดภาวะอารมณ์แแปรปรวน ส่งผลโดยตรงต่อการขาดงานหรือไปเรียน ซึ่งอาการเหล่านี้ยังส่งผลระยะยาวต่อช่วงเวลาที่สำคัญในช่วงชีวิตการศึกษา
ดังนั้นแล้วรัฐและสถานศึกษาทั่วโลกควรหันมาให้ความสำคัญกับนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องเผชิญกับภาวะความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับการเรียน สนับสนุนให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับกระชับช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศให้แคบลงไปด้วย
ที่มา:
- The global fight against period poverty, inequality and stigma
- อาการปวดท้องประจำเดือน โรงเรียนทั่วโลกควรทำอย่างไร