ภาพ : อนุช ยนตมุติ
ผมจำไม่ชัดว่า พบหน้าภิญโญครั้งแรกปีไหน
ที่จำได้คือ มันเริ่มต้นจากร้านใดร้านหนึ่งย่านถนนพระอาทิตย์ พอสาดของเหลวใส่คอจนหน้าตึงได้ที่ บรรยากาศส่อเค้าว่ากำลังเข้าสู่ช่วงปลายยก วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เสนอว่าพวกเราน่าจะเลื้อยไปต่อกันที่สำนักงานนิตยสาร open
ตอนนั้น open ยังเช่าตึกแถวอยู่ย่านสามเสน ก่อนยุคบ้านสีฟ้า ถนนพิชัย
ภิญโญลงมาต้อนรับขับสู้ เชิญชวนขึ้นไปนั่งคุยกันชั้นบน วรพจน์ยัดแบงก์ร้อยกี่ใบก็ไม่รู้ใส่มือน้องคนหนึ่งให้ช่วยเป็นธุระจัดหาเครื่องดื่ม
พ.ศ.นั้น พวกเราแต่ละคนเพิ่งมีพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มแรกของตัวเอง หัวข้อสนทนาจึงวนเวียนอยู่แถวๆ เรื่องนี้ คุยถึงเนื้องาน คุยเรื่องสไตล์การเขียน รสนิยมในการออกแบบรูปเล่มและลูกเล่น ซึ่งคุยไปสักพัก ก็อดไม่ได้ที่จะพาดพิงไปถึงพฤติกรรมและอุปนิสัยใจคอตัวละครคนนั้นคนนี้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมในวงสนทนา
พูดง่ายๆ มันคือบรรยากาศวิกาลนินทาโดยแท้
อืม…แล้วจู่ๆ สุภาพบุรุษอย่างเราๆ จะไปนินทาชาวบ้านได้อย่างไร หากไม่มีคนชง ไม่มีผู้เปิดประเด็นยุยง
เช้าวันรุ่งขึ้น แม้นว่าผมจะรู้สึกผิดและละอายใจเป็นเบื้องต้น ด้วยเหตุที่เมื่อคืนกล่าวถ้อยคำเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปไม่น้อย แต่ก็พอปะติดปะต่อเหตุการณ์ได้ว่า ระหว่างที่ผมออกอาวุธอย่างเมามันอยู่นั้น มันมีเสียงมโหรี ปี่กลองเชิด ชงประเด็นจากไอ้คนใส่แว่นทำหน้านวลยิ้มแฉล้มอยู่ข้างๆ นี่เอง
ที่นึกถึงฉากเหตุการณ์นี้ ก็เพราะมันเป็นภาพเชื่อมไปถึงบทบาทหน้าจอโทรทัศน์ของเขาในอีก 10 กว่าปีถัดมา
วิธีส่งประเด็น ชิงจังหวะ เหลี่ยมคูการเข้าออก ทักษะการคุมทิศทางบทสนทนา และคุมหน้าจอโทรทัศน์ เหมือนจะฝังอยู่ในดีเอ็นเอเขามาตั้งแต่ต้น
มันเป็นทักษะที่คนเขียนหนังสือคนทำหนังสือส่วนใหญ่ไม่มี
ภิญโญมีหลายอย่างแตกต่างไปจากคนในแวดวงนี้ ตอนเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งช่วงที่รับงานนิตยสาร GM เขาชอบแต่งตัวเนี้ยบเหมือนนักเรียนอังกฤษ หิ้วกระเป๋าหนัง ออกไปนัดคุยกับนายแบงก์ เป็นที่หมั่นไส้ของเพื่อนนักข่าวและบรรณาธิการ
“สมัยเป็นนักข่าวอยู่ ผู้จัดการ กับวรพจน์ ตอนนั้นกูไม่ค่อยอยากคุยกับมันนักหรอก พวกไว้ผมยาว แต่งตัวรุ่งริ่ง มันดูไร้อนาคต”
พูดเล่นหรือพูดจริงอย่าเพิ่งไปถือสา แต่ก็อย่าลืมว่า ทิศทางของนิตยสาร open ในช่วงปีแรกๆ ไม่ได้เป็นเรื่องสังคม การเมือง หรือสำแดงรสนิยมทางวัฒนธรรมอย่างที่ผู้คนจดจำในทุกวันนี้ แต่มันเริ่มต้นจากนิตยสารที่พยายามเปิดพื้นที่ให้กับเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการเอนเตอร์ไพรส์รุ่นใหม่ๆ
ผมจำไม่ได้ชัดอีกนั่นแหละว่า ทิศทางความสนใจของเขาเปลี่ยนมาทางสังคมการเมืองอย่างชัดเจนตั้งแต่ตอนไหน ที่มีหลักฐานจากความทรงจำคือ เคยเชิญเขามาเป็นนักเขียนรับเชิญคอลัมน์หมุนเวียน สมัยที่ผมดูแลเซ็คชั่น จุดประกาย-เสาร์สวัสดี
ภิญโญถามว่าให้เขียนประเด็นอะไร ผมตอบว่าเอาประเด็นที่เขาสนใจอยู่นั่นแหละ สังคมการเมืองยุคปัจจุบันก็ได้
ถึงวันนัดหมายส่งต้นฉบับ ภิญโญเขียนบทความชื่อ ‘การเมืองเรื่องหุนตุ้น’ มาให้ (หุนตุ้นทำจากแป้ง ห่อไส้หมูสับ เสิร์ฟมาในน้ำซุป คล้ายๆ เกี๊ยวน้ำ เป็นเมนูประทังชีวิตนักเรียนไทยที่ไปเรียนภาษาในประเทศจีน)
ถึงเวลาเขาจะทำพ็อคเก็ตบุ๊ค October ภิญโญก็เรียกต้นฉบับจากผมคืนบ้างเป็นระยะ แลกกันไปแลกกันมาโดยไม่มีใครสร้างเงื่อนไขบ่ายเบี่ยง
มีอยู่ครั้งเดียวที่ผมตอบปฏิเสธ ตอนนั้นนิตยสาร open จะทำฉบับเดือนกุมภาพันธ์ เกี่ยวพันกับประเด็นความรัก น้องกองบรรณาธิการติดต่อขอสัมภาษณ์ ผมได้แต่ตอบกลับด้วยความสุภาพว่า ผมไม่มีคุณสมบัติที่จะพูดเรื่องแบบนี้
ผู้ชายที่ผ่านเรื่องราวคล้ายๆ กันมา ฟังแล้วเข้าใจโดยไม่ต้องอธิบาย
มันเป็นคุณสมบัติของนักกลืนเลือด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องส่วนตัว แต่รวมถึงประเด็นวิชาชีพ ตั้งแต่ยุคปิด open กรณีรายการตอบโจทย์ไทยพีบีเอส จนถึงกรณีอมรินทร์ทีวี
หากฝ่ายจารีตในสังคมไทยมีสติปัญญามากกว่านี้ พวกเขาควรตระหนักว่า – พลาดแล้วที่ไม่ใช้สอยขุมพลังและศักยภาพของคนแบบภิญโญ
**************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ 90, ตุลาคม 2558)