เราจะส่งต่อสังคมแบบไหนให้คนรุ่นถัดไป

’55 (ปี) หัวเราะร่าน้ำตาริน…จ้าาา’

ในโลกที่ความรุนแรง ความอยุติธรรม และการเอารัดเอาเปรียบยังคงเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันเช่นนี้ ข่าวดีที่ทำให้เรา ‘หัวเราะร่า’ จึงไม่ได้มีมากกว่าไปว่าข่าวร้ายที่ทำให้เรา ‘น้ำตาริน’ เท่าใดนัก

ในช่วง Amnesty Talk ของงาน 55 ปี แอมเนสตี้ ’55 (ปี) หัวเราะร่าน้ำตาริน…จ้าาา’ อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร WAY ได้ชวนทุกท่านตั้งคำถามร่วมกันว่า ‘เราจะส่งต่อสังคมแบบไหนให้คนรุ่นถัดไป’ และนี่คือคำถาม นี่คือปัญหา ที่ชวนให้เราทุกคนร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน


55 ปี แอมเนสตี้ Amnesty International Thailand
27 พฤษภาคม 2559 รูทการ์เด้น ทองหล่อ

ภาพ : อนุช ยนตมุติ
ภาพ : อนุช ยนตมุติ

สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมรู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณที่แอมเนสตี้ให้เกียรติ เรียกใช้ผมมากล่าวอะไรเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้ แม้นว่าในเบื้องต้นจะดูเป็นภารกิจของคนเฒ่า/ผู้อาวุโสอยู่บ้าง

ก่อนที่จะตอบคำถามว่า ‘เราจะส่งต่อสังคมแบบไหนให้คนรุ่นถัดไป’ ผมอยากเชิญชวนทุกท่านร่วมสำรวจสันฐาน หน้าตา และภูมิประเทศที่คนรุ่นถัดไปจากพวกเรากำลังเผชิญ เท่าที่ผมเคยสัมผัสและรู้จักอยู่บ้างพอสังเขป

+ + +

เวลาเราพูดถึงคนรุ่นถัดไป คนกลุ่มแรกที่เรามักนึกถึงก็คือ ผู้ที่อยู่ในระดับการศึกษาปริญญาตรี มีชีวิตอยู่ในเมือง กับอีกกลุ่มคือคนอายุไม่เกินยี่สิบต้นๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในส่วนอื่นๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคแรงงาน ภาคเกษตร รวมถึงภาคบริการ

สำหรับคนกลุ่มแรกเราจะเห็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า คนรุ่นนี้เติบโตมากับสภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว พวกเขาเป็นลูกหลาน ‘ชนชั้นกลางกลุ่มเดิม’ มีคนรุ่นพ่อ แม่ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย สะสมทุนรองรับความมั่นคงในชีวิตเอาไว้บางส่วนแล้ว (นับแต่หลังปี 2516 เป็นต้นมา) ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้ถูกเคี่ยวเข็ญให้ต้องแข่งขันสอบเข้าเรียนสาขาวิชาชีพ อาทิ ด้านการแพทย์ วิศวกร หรือนักบัญชี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงเช่นคนรุ่นก่อนหน้านั้นเสมอไป หรืออย่างน้อย โจทย์ของการเข้าเรียนระดับปริญญาตรีของพวกเขา อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเอาชีวิตรอดในทางเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก

ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะคล้ายๆ กันนี้ ก็เกิดขึ้นในสังคมของคนุร่นถัดไปอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง

แต่ก็อย่างที่หลายท่านคงทราบ ปัจจุบันนิยามคำว่าชนบทเคลื่อนเปลี่ยนไปไกล ในภาคเกษตร เกษตรกรปรับตัวเองจากกระดูกสันหลัง จากรากหญ้า มาเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ภาคแรงงานมีการเลือกเฟ้นลักษณะงานมากขึ้น งานหนักและเสี่ยงถูกผลักไปให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงภาคบริการที่ช่องทางในการหาอยู่หากินขยายความหลากหลายมากขึ้น

เราอาจเรียกสภาพดังกล่าวว่า เป็นลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ ‘ชนชั้นกลางใหม่’ ที่เริ่มเห็นเนื้อเห็นตัวมากขึ้น นับจากปี 2535 เป็นต้นมา

+ + +

Athikom-2ในทางสังคม แม้นว่าคนเหล่านี้จะเติบโตมาคนละสภาพแวดล้อม แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก นั่นก็คือพวกเขาเติบโตมาในโลกที่ท่วมท้นด้วยข้อมูลข่าวสาร โลกที่ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ รวมถึงสินค้าทางวัฒนธรรม แนวทางรสนิยม การกิน การอยู่ การเสพศิลปะ ถ่ายเทถึงกันเหมือนโลกที่หลอมเยิ้มเข้าหากัน มันไม่ใช่โลกที่แข็งตัวแบบต่างคนต่างอยู่ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นโลกที่พวกเขานึกไม่ออกว่าคนรุ่นเราทำรายงานหรือเขียนหนังสือกันโดยไม่มีกูเกิลได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาและพฤติกรรมของพวกในการปะทะกับข้อมูลข่าวสารก็เปลี่ยนไป ในสังคมของพวกเขา ผู้รับสารไม่ใช่ฝ่ายตั้งรับอยู่ข้างเดียวแบบที่คนรุ่นเก่าเคยชินอีกต่อไป พวกเขาไม่ใช่คนรุ่นเดิมที่เคยชินกับการภักดีต่อชุดความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง แต่พื้นที่ทางสังคมของพวกเขามีช่องทางแสดงความคิดเห็นมหาศาล มีเวทีที่จะบอกว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร สงสัยหรือไม่สงสัยอะไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับอะไร รวมกระทั่งลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ท้าทายตรรกะ หาข้อมูลใหม่มาคัดง้าง หรือสามารถแสดงความเห็นต่างได้ในทุกเรื่อง

ภายใต้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื้อหาที่สอนกันในระบบการศึกษาหรือการผลิตข่าวสารประชาสัมพันธ์แบบโฆษณาชวนเชื่ออยู่ฝ่ายเดียว จึงถูกตั้งคำถามและถูกท้าทายอย่างซึ่งหน้า

ในบรรดาคนรุ่นนี้ เหลือคนที่ยังเชื่อนิทานปรัมปราที่มีวาระซ่อนเร้น เหลือคนที่ยังเชื่อเรื่องเล่าที่มีเจตนาปลูกฝังทัศนะทางสังคมการเมืองน้อยลงไปทุกที

+ + +

แม้นว่าสภาพภูมิประเทศรายรอบทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมจะดูเหมือนว่า เราไม่สามารถปฏิเสธสังคมเปิด เราไม่สามารถหมุนนาฬิกากลับไปอยู่ในยุคพ่อปกครองลูก ระบอบการเมืองที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วม การเมืองที่ไม่มีความยึดโยงระหว่างประชาในการออกแบบและตัดสินใจนโยบายสาธารณะสำคัญๆ เนื่องจากบริบทรายรอบประเทศไทยไม่อนุญาตให้เป็นเช่นนั้น และโดยแนวโน้มจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ ยิ่งไม่มีทางเป็นเช่นนั้น

แต่ข้อเท็จจริงทางการเมือง เรื่องเศร้ามีอยู่ว่าช่วงชีวิตของคนรุ่นนี้ สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของประเทศเป็นเพียงเรื่องเล่า

เพราะถ้าหากเรานับเอาการเลือกตั้งปี 2554 เป็นการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ประเทศเราเคยมีมา (โดยไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 ที่ถูกกีดกัน ก่อกวน และทำให้เป็นโมฆะ) เราก็จะพบว่า คนรุ่นนี้ที่อายุครบ 18 ปี ยังเรียนวิชารัฐศาสตร์ วิชานิติศาสตร์ หรือวิชาด้านสังคมศาสตร์อยู่ในมหาวิทยาลัย นับถึงวันนี้ พวกเขาไม่เคยได้รับโอกาสที่จะสัมผัส จับต้อง หรือร่วมอยู่ในบรรยากาศการเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่ามันจะสวยงามหรืออัปลักษณ์

ยิ่งมองไปถึงคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในภาคเกษตร ภาคแรงงาน หรือภาคบริการ ก็จะเห็นว่าตั้งแต่เกิดจนโต พวกเขาแทบจะถูกตัดขาดออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง

+ + +

Athikom-1ที่กล่าวมาในเบื้องต้น คือภาพสเก็ตช์คร่าวๆ เพื่อให้เรามองเห็นสภาพแวดล้อม ข้อเท็จจริง และสภาพจิตเบื้องต้นของคนรุ่นใหม่ร่วมกัน

ในทางเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่า เมื่อคนรุ่นนี้จำนวนหนึ่งเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางยุคเก่าที่สะสมความมั่งคั่งเอาไว้พอสมควร โจทย์ใหญ่ในชีวิตของพวกเขาจึงไม่ใช่การเอาชีวิตรอดในทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการมีตัวมีตนในพื้นที่หรือในที่ทางที่ตัวเองเลือก เนื่องจากชีวิต ความคิด ความฝันของพวกเขา มีทางเลือกที่หลากหลาย

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ภาคการผลิต ภาคแรงงาน หรือภาคบริการ พวกเขาต้องการโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตอย่างเท่าเทียมเสมอหน้า พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในการออกแบบกติกา มีส่วนในการกำหนดแนวทางตัดสินใจใช้ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยไม่มีใครเบียดเบียนใคร

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในระบบสังคมที่คนรุ่นใหม่สังกัด เราจะพบว่าพวกเขาอยู่ในสังคมที่มีความสัมพันธ์ซับซ้อน ทั้งโลกความเป็นจริงและโลกเสมือน

สิ่งที่เป็นต้นทุนพื้นฐานสำคัญในการจัดการความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีการปะทะ แลกเปลี่ยน ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่อะไรอื่น แต่มันคือ หลักคิดในการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันอย่างหนักแน่น

ด้วยหลักคิดชนิดนี้เอง หลักคิดที่เคารพในสิทธิของผู้อื่น เท่าๆ กับที่หวงแหนสิทธิของตนเอง มันจึงนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวันอันหลากหลาย นับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ อาทิ ไม่ส่งเสียงตะโกนโหวกเหวกในที่สาธารณะ เพราะเคารพว่ามีผู้อื่นใช้พื้นที่ร่วมกับเรา / ไม่จอดรถกีดขวางหน้าประตูรั้วเพื่อนบ้าน เพราะเคารพในสิทธิการใช้พื้นที่ของเขา / ไม่ไปขัดขวางเพื่อนร่วมประเทศที่กำลังเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง เพราะเคารพว่าเรามีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน / รวมถึงความตระหนักที่จะเคารพสิทธิของมนุษย์ทุกคน แม้นว่าจะแตกต่างฐานะ เชื้อชาติ หรือศาสนา เป็นต้น

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า เราควรส่งต่อสังคมแบบไหนไปให้คนรุ่นนี้ คำตอบคือ หนึ่ง เราควรส่งต่อสังคมที่ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งในและนอกประเทศ สอง เราควรสร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงสินทรัพย์และทรัพยากรอย่างเสมอหน้า และ สาม เป็นสังคมที่ควรเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นั่นเป็นคำตอบวิชารัฐศาสตร์ ว่าด้วยบทบาทหน้าที่ของรัฐ

แต่ในเมื่อบทบาทของรัฐไทยในชั่วโมงปัจจุบัน กลับกระทำทุกอย่างในทิศทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่กล่าวมา ทั้งเป็นผู้ลงมือข่มขู่คุกคามพลเมือง ทั้งดำเนินนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเกลียดชังจากประชาคมโลก ถูกตำหนิถูกจับตาจากประชาคมโลกครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ส่งผลกระทบด้านลบไปถึงสิทธิโอกาสในการใช้สินทรัพย์และทรัพยากร รวมกระทั่งถึงบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม อาทิ จับพลเรือนขึ้นศาลทหาร ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิพื้นฐานที่พลเมืองโลกยอมรับและเข้าใจร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา

กระบวนการทั้งหมดนี้ ยังคงดำเนินไปภายใต้คำอธิบายว่า ประเทศของเรามีลักษณะเฉพาะตัว เป็นความเฉพาะตัวที่ประชาคมโลกต้องศึกษา ทำความเข้าใจ โดยมีแนวโน้มว่าไม่มีวันเข้าใจ

ท่านทั้งหลายครับ ในเมื่อเราไม่สามารถย้ายประเทศไปอยู่ดาวเคราะห์ดวงอื่นได้ ขณะเดียวกัน ตัวเราเองก็ไม่ประสงค์จะย้ายตัวเองไปอยู่ประเทศอื่นตามที่เขาชอบไล่ สิ่งที่เราควรยืนยัน ค้ำยัน และร่วมกันขีดเส้นเป็นเพดานเอาไว้ก็คือ ไม่ว่าเราจะขัดแย้ง เราจะเห็นต่าง เราจะรักใคร หรือเกลียดชังใครแค่ไหนก็ตาม แต่หากเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เราจะไม่เพิกเฉย แต่จะช่วยกันส่งเสียงทักท้วงเพื่อค้ำยันเพดานสิทธิพื้นฐานนี้เอาไว้

หรือหากคนรุ่นถัดจากเรา เขาเป็นฝ่ายออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคด้วยตนเอง สิ่งที่เราควรทำคือ รับรองว่าสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องและชอบธรรม เพราะอย่างน้อยที่สุดคำรับรองนี้ก็ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในปฏิญญาสากล 30 ข้อว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในปี 2491 ซึ่ง ณ ขณะนั้นประเทศไทยได้ร่วมออกเสียงสนับสนุนด้วย

ดังนั้นหากถามว่า เราจะส่งต่อสังคมแบบไหนให้กับคนรุ่นถัดไป ผมคิดว่าเป็นความรับผิดชอบและเป็นเรื่องสมควรละอายของคนรุ่นเรา ที่ไม่สามารถลงหลักปักฐาน สร้างทัศนคติ ยืนยันความแม่นยำในหลักการนี้ให้ส่งทอดไปถึงคนรุ่นเขาอย่างแข็งแรง

เราควรเริ่มต้นด้วยความละอาย สำนึกผิด และรีบลงมือสร้างหลักค้ำยันสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ในระหว่างที่ยังพอมีพละกำลังเหลืออยู่

ทั้งหมดที่กล่าวมา ทุกท่านคงตระหนักดีว่า หาได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ใดๆ แม้แต่น้อย

ดังนั้นแม้ว่าผมจะรู้สึกเป็นเกียรติ แต่ในวาระสำคัญเช่นนี้ ผมรู้สึกเศร้าใจและเสียดายโอกาส โอกาสที่เราควรจะได้รับฟัง แลกเปลี่ยนวิชาความรู้ใหม่ๆ ด้านสิทธิและเสรีภาพ แต่พวกท่านต้องมานั่งอดทนฟังคนรู้น้อยแบบผมพูด

แต่เราจำเป็นต้องส่งเสียงพูดซ้ำๆ กล่าวย้ำในหลักการนี้ ตราบเท่าที่สภาพการณ์วิปริตผิดเพี้ยนยังดำรงอยู่

 

ขอบคุณที่รับฟังครับ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า