ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร? เมื่อไทยตกขบวน EV หรือต้องเอาดีด้าน ‘โปรตีนทางเลือก’

Madre Brava องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนของระบบอาหารโลกและความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก เปิดเผยงานวิจัยล่าสุดที่สำรวจแนวโน้มและทิศทางผู้บริโภคอาหารในประเทศไทย พบว่า ผู้บริโภคชาวไทย ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ภายใน 2 ปี แม้การสำรวจครั้งนี้ได้สะท้อนแนวโน้มความต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง ทว่าทางเลือกในการหาโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ยังมีข้อจำกัดในหลายส่วนด้วยกัน 

จักรชัย โฉมทองดี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Madre Brava ได้นำเสนอรายงานการวิจัยในครั้งนี้ อันมีจุดประสงค์เพื่อการลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนและสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน สร้างองค์ความรู้และผลักดันการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน โดยคำนึงถึงบริบทพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการสื่อสารองค์ความรู้ สร้างบทสนทนากับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้ตระหนักถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและเห็นความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตและการบริโภคโปรตีนอย่างยั่งยืน

Madre Brava ชี้คนไทยต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ภายใน 2 ปี

จากรายงานการวิจัยของ Madre Brava ที่ได้สำรวจตัวอย่างประชากรมากกว่า 1,500 คนทั่วประเทศ โดยมีตัวชี้วัดที่หลากหลายทั้งอายุ เพศ ภูมิภาค การอาศัยในเมืองและชนบท รายได้ โครงสร้าง และการศึกษา พบว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคไทยมีความตั้งใจที่จะปรับลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงภายใน 2 ปี โดยให้เหตุผลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้บริโภคจะลดการบริโภคโปรตีนลง ซึ่งผู้บริโภคไทยในส่วนนี้รวม 56 เปอร์เซ็นต์ จะทดแทนการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ด้วย ‘โปรตีนทางเลือก’ (alternative protein) 29 เปอร์เซ็นต์ ทดแทนด้วย ‘โปรตีนผสมระหว่างโปรตีนทางเลือกและโปรตีนจากพืช’ (mixed protein) 28 เปอร์เซ็นต์ และทดแทนด้วย ‘โปรตีนจากพืช’ (plant-based protein) 44 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนสุดท้ายนี้มีทั้งโปรตีนจากพืชที่ผ่านและไม่ผ่านการแปรรูป เช่น ถั่ว งา เต้าหู้ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภคไทยมีแนวโน้มสูงในการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ทว่า รายงานยังชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงทางเลือกในการบริโภคโปรตีนด้วย เนื่องจาก 47 เปอร์เซ็นต์ มองว่า มีความต้องการในการบริโภคอาหารจากพืชมากกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป (processed food) ส่วน 47 เปอร์เซ็นต์ มองว่า โปรตีนทางเลือกมีราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์ในปริมาณเดียวกัน เพราะมีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง อีก 31 เปอร์เซ็นต์ พบว่าโปรตีนทางเลือกเหล่านี้ผ่านการแปรรูปมากกว่าเนื้อสัตว์หลายเท่า และ 22 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถซื้อหาได้ง่ายดาย เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นด้วยกับการสนับสนุนโปรตีนทางเลือก ต้องการให้ภาครัฐลดภาษีเพื่อให้ราคาสินค้าเหล่านี้ถูกลง อุดหนุนให้เพิ่มการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก และสนับสนุนเกษตรกรในการผลิต

หากสามารถทำให้โปรตีนทางเลือกมีราคาถูกลง คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โปรตีนทางเลือกจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในเมนูของร้านอาหารตามสั่ง นอกจากเนื้อสัตว์ ยังมีโปรตีนจากพืชให้เลือก คนที่อยากกินอาหารที่ให้รสชาติแบบเนื้อสัตว์อยู่ก็สามารถสั่งโปรตีนทางเลือกได้ หรือแม้แต่ผสมระหว่างโปรตีนทางเลือกกับเนื้อสัตว์ (mixed protein) ซึ่งก็จะส่งผลดีมากกว่าบริโภคเนื้อสัตว์อย่างเดียว 

‘โปรตีนทางเลือก’ ลดภาวะโลกร้อน สร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย

จากการนำเสนอรายงานฉบับนี้ จักรชัยระบุว่า “นอกจากกลุ่มผู้บริโภคไทยจะให้ความสำคัญต่อการรักษาสุขภาพแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากการผลิตโปรตีนจากสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด” 

นอกจากนี้ การผลิตโปรตีนจากสัตว์ยังต้องพึ่งพาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะ ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตอของการเกิดมลพิษทางอากาศ PM2.5 และการใช้พื้นที่ป่าเพื่อการผลิตโปรตีนจากสัตว์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม จักรชัยยํ้าว่า เราไม่ได้ต้องการสร้างสังคมวีแกน (vegan) แต่อย่างใด แต่การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ แล้วเพิ่มการบริโภคโปรตีนทางเลือก จะเป็นประโยชน์ในหลายด้านมากกว่าทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

“ประเทศไทยเรามีเทคโนโลยีด้านอาหาร เราเป็นผู้เล่นระดับต้นๆ ของโลก ยิ่งเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรและขนาดประเทศแล้ว ประเทศไทยไม่เป็นรองใคร ดังนั้นถ้าเราต้องการพัฒนาต่อยอดด้านใด ควรพิจารณาถึงศักยภาพที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นในระดับสากลด้วย”

จักรชัย โฉมทองดี

จักรชัยยังชี้ให้เห็นโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจไทยที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยไปพร้อมกัน แม้ว่าไทยดูเหมือนจะพลาดขบวน ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ (EV) ไปแล้ว แต่การสนับสนุนภาคการผลิตโปรตีนทางเลือกจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยเป็นมหาอำนาจในมิติด้านอาหารของโลกมาอย่างยาวนาน มีพื้นฐานในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นหลัก เกษตรกรมีศักยภาพ ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกโปรตีนเป็นอันดับ 4 ของโลก 

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (EU) ตั้งเป้าว่าจะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรลง ซึ่งหมายความว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกจะเติบโตขึ้น หากไทยสามารถเป็นผู้ปลี่ยนผ่านการผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์มาเป็นโปรตีนทางเลือกในสัดส่วนที่เหมาะสมแล้ว ไทยจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง แต่หากไม่เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ก็จะตกขบวนเหมือนรถยนต์ไฟฟ้าอีกเช่นกัน 

ภาครัฐไทยต้องมองให้เห็นโอกาส ผลิตอาหารแห่งอนาคต

แน่นอนว่า ประเทศไทยไม่ได้ผลิตอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกอีกด้วยในฐานะที่เป็น ‘ครัวโลก’ หากทางภาครัฐมองโปรตีนทางเลือกเหล่านี้เป็น ‘อาหารแห่งอนาคต’ (future food) จากความเปลี่ยนแปลงเทรนด์อาหารโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งเทรนด์นี้กำลังจะมาถึงในไม่ช้า หากทางภาครัฐปรับตัวช้าหรือไม่เห็นความสำคัญ ตลาดการส่งออกอาหารของไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแน่นอน เพราะต้องเผชิญมาตราการกีดกันสินค้าจากตลาดสำคัญอย่างสหภาพยุโรป 

“หากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการผลิตโปรตีนจากพืชและโปรตีนทางเลือกอย่างจริงจัง จะสอดรับกับทิศทางตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดส่งออก เราจำเป็นต้องอ่านเกมให้ทัน และเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้ ไม่อย่างนั้นอาจตกขบวนและเสียโอกาสไป”

จักรชัย โฉมทองดี

นอกจากภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับเทรนด์โลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้าแล้ว เพื่อให้การสนับสนุนโปรตีนทางเลือกเกิดขึ้นในไทย และเพื่อส่งเสริมการบริโภคทั้งภายและภายนอกประเทศ จักรชัยยังมองว่า การนำองค์ความรู้นี้มาดำเนินการเป็นนโยบาย ภาครัฐจำเป็นต้อง ‘ปลดล็อก’ กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ พร้อมทั้งประสานการทำงานแต่ละกระทรวง เพราะมิติเรื่องอาหารเกี่ยวโยงกับหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง เรื่องตลาดการค้าและการบริโภคที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสายพันธุ์และการพัฒนาพืชในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ และเรื่องการผลิตภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม หากแยกกันทำก็ย่อมทำได้ แต่จะไปช้ากว่าประเทศอื่น ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียการเป็น ‘ผู้นำ’ ในด้านนี้ 

ดังนั้น หากประเทศไทยจะเปลี่ยน จะเริ่มต้นตั้งแต่ในระดับนโยบายรัฐเป็นลำดับแรก รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์นี้ก่อน แต่เมื่อถามว่า เราจะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร จักรชัยคิดว่า นี่คือโจทย์ใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ระดับสูงสุดของประเทศอยู่ดี 

นอกจากนี้ การปลดล็อกข้อบังคับและกฎหมายต่างๆ เพียงบางส่วน ไม่ได้ก่อให้เกิดผลอะไร แต่ต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งกระบิ และมีตัวประสานกลาง เช่น คณะกรรมการในระดับรัฐบาลที่ดึงแต่ละกระทรวงเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้กระจัดกระจายลงไปในหลายกระทรวงจนกลายเป็นภารกิจของใครของมัน ซึ่งจะทำให้การผลักดันโปรตีนทางเลือกไม่เกิดผล

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า