ฝุ่น PM2.5 จากภาคอุตสาหกรรมในเมือง แหล่งผลิตมลพิษที่ยังลอยนวล

“ฝุ่นกลับมาแล้ว” 

“ค่าฝุ่นแดงแล้ว แดงอยู่ แดงต่อ”

“ปัญหามันควรเป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว” 

นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนหนึ่งจากผู้ใช้งานเอ็กซ์ (X) ท่ามกลางคนไทยอีกมากมายบนโลกโซเชียลที่สะท้อนถึงปัญหามลภาวะทางอากาศที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน อย่างฝุ่น PM2.5 ที่ไทยประสบมาตั้งแต่ประมาณปี 2561 โดยเกิดปรากฏการณ์ฝุ่นปกคลุมอย่างหนาแน่นจนประชาชนต่างเกิดคำถามว่าปรากฏการณ์นี้คืออะไร นับตั้งแต่นั้นมาฝุ่น PM2.5 ก็แวะเวียนมาอย่างต่อเนื่องทุกรอบปีจนถึงปัจจุบัน 

ฝุ่น PM2.5 หรือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ความอันตรายของฝุ่นขนาดจิ๋วนี้สามารถทะลุผ่านการกรองของขนจมูกและเข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ แม้จะไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพอย่างฉับพลัน แต่เมื่อสั่งสมเข้าไปเป็นเวลานานก็ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้เช่นกัน

ปัญหาระดับประเทศเช่นนี้ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังแพร่ไปยังหลายภาคทั่วประเทศ ไม่ว่าจะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคตะวันออก โดยต้นกำเนิดฝุ่นอาจจะมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ผู้คนมักพูดถึงในโลกโซเชียลนั้นจะมาจากการเผาวัสดุทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย แต่อีกต้นตอหลักๆ ที่ผู้คนอาจจะยังไม่ค่อยกล่าวถึงก็คือ มลภาวะจากภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในเมือง

‘อุตสาหกรรม’ ต้นตอม่านหมอกของมลภาวะ

มลภาวะ PM2.5 เป็นปัญหาเรื้อรังโดยเฉพาะบริเวณเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เป็นแหล่งรวมอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ปัญหาเรื้อรังเช่นนี้ก่อให้เกิดฤดูกาลใหม่ที่ผู้คนพากันเรียกว่า ‘ฤดูฝุ่น’ ที่มักเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี โดยจะมีค่าสูงเกินมาตรฐานอันเป็นต้นเหตุที่ทำให้อากาศแย่ลง 

เมื่อพิจารณาจังหวัดที่มีค่าฝุ่นมากที่สุด ได้แก่ สระบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ราชบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น ปราจีนบุรี ตาก เป็นต้น ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วจังหวัดเหล่านี้มีจุดร่วมคือ เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมมากมาย โดยการก่อตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เหมืองแร่ หรือแม้แต่การขจัดขยะของเสียขนาดใหญ่ ล้วนเป็นต้นตอของมลพิษทางอากาศที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงหรือสารอันตรายในกระบวนการผลิตหรือการกำจัดสารอันตราย

จากงานวิจัยของ ดุษฎี หมื่นห่อ นักวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ศึกษาเรื่อง ‘ความเข้มข้นของโลหะหนักในฝุ่นถนน จากโรงงานแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์และชุมชนใกล้เคียงในประเทศไทย’ โดยชี้ให้เห็นว่า ฝุ่นที่เกิดจากอุตสาหกรรมเป็นตัวนำพาโลหะหนักให้แพร่กระจายไปสู่ชุมชนโดยรอบ เนื่องจากโลหะหนักสามารถปนเปื้อนกับสภาพแวดล้อมทางน้ำหรืออากาศได้ แม้จะมีค่าคำนวณที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับบุคคลที่มีโรคประจำตัว ภูมิต้านทานต่ำ หรือเด็ก ฝุ่นเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรง รวมถึงสารตกค้างในร่างกายที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้

สถานการณ์วิกฤต PM2.5 นอกจากจะมีสาเหตุมาจากกิจกรรมในใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์หรือการเผาไหม้จากภาคการเกษตรแล้ว ในบางจังหวัดโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐานก็เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมเองก็เป็นหนึ่งในตัวการของปัญหา PM2.5 ที่นับว่าเป็นความเสี่ยงทางสังคมสมัยใหม่

ค่ามลภาวะสูงตามการเติบโตของอุตสาหกรรม

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีโรงงานที่ก่อมลพิษทางอากาศรวม 66,300 แห่ง ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 5,000 แห่ง และสมุทรสาครประมาณ 6,000 แห่ง โดยมากสุดเป็นอันดับ 3 ของภาคกลาง หากย้อนดูสถิติที่ผ่านมาของค่ามาตรฐานฝุ่นพบว่า ในปี 2559 จังหวัดสระบุรีมีค่ามาตรฐานฝุ่น PM10 สูงสุด และการสูดฝุ่น PM2.5 เป็นระยะเวลานานสะสมหลายปีทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากกว่าปีละ 50,000 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมจากการเสียชีวิตส่วนนี้คิดเป็นเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไทยในปี 2559 (ราวๆ 2,100 ล้านล้านบาท)

แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาต่อยอดนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมในรัฐบาลหลายๆ ชุด โดยเริ่มมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ที่เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งใหญ่โดยมีเป้าหมายลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมการส่งออก และกระจายอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 

ช่วงเวลานั้นประเทศไทยมีแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเมืองหลักๆ และแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออก ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2525-2535 มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมายกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย ผลพวงจากการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออก นับเป็นสาเหตุทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 เติบโตเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับเศรษฐกิจด้วย

ผลจากการสำรวจโดย ‘โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล’ พบว่าการตรวจวัดของสถานีตรวจวัด 7 สถานี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบค่าเฉลี่ยรายปีเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับว่าเกินค่ามาตรฐานใน 2 สถานี และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่เป็นค่ามาตรฐาน 40-50 วันต่อปี กรมควบคุมมลพิษได้แสดงความกังวลต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและกระทบต่อภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานครในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกปัญหาจากภาคอุตสาหกรรม นอกเหนือจากฝุ่น PM2.5 แล้วยังมีเรื่องสารพิษตกค้างในอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและปราจีนบุรี โดยสมุทรสาครมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่มาจากการคมนาคม การเผา และโรงงานอุตสาหกรรม

PM2.5 ปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้

มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและการใช้สารเคมีเป็นหลัก โดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงนับเป็นการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จึงเป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศมากมาย ปัญหามลภาวะฝุ่น pm2.5 ก็นับเป็นผลพวงจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบมากที่สุดและยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลอย่างเป็นแบบแผน

ทิโมธี เค. ชอย (Timothy K. Choy) อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ศึกษาเรื่องฝุ่นควันทางอากาศและการเมืองเรื่องอากาศ ในหัวข้อ ‘Air’s Substantiations’ ซึ่งได้แสดงมุมมองทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาต่อฝุ่น PM2.5 โดยอาศัยการมองฝุ่นควันทางอากาศในฐานะวัตถุทางสังคมที่ประกอบสร้างประสบการณ์ทางอากาศ ฝุ่นควันเปรียบเสมือนตัวกระทำการที่ก่อความวุ่นวายและสร้างผลกระทบให้แก่มนุษย์ ส่งผลให้มนุษย์ต้องป้องกันและหลีกเลี่ยงการเผชิญปัญหา โดยเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อากาศปลอดโปร่งแทน

เป็นข้อเท็จจริงที่ปัญหาฝุ่นเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการพัฒนาตามยุคสมัยและการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้การใช้ชีวิตของมนุษย์แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลและปัจจัยในการป้องกันของแต่ละคนแตกต่างกัน โดย PM2.5 มีผลต่อมนุษย์แทบจะทุกมิติ อย่างวิถีชีวิต สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี 

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้แสดงมุมมองต่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า มีความเป็นไปได้ยาก โดยปัจจัยแรกคือ เกณฑ์วัด PM2.5 ในประเทศไทยไม่เข้มงวดเท่าสากล เช่น ไทยกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลต่อสุขภาพเมื่อมีค่าเกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่สากลกำหนดไว้้ที่ไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลต่อสุขภาพเมื่อมีค่าเกิน 35.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ปัจจัยที่สองคือ แหล่งกำเนิดของฝุ่นที่มาจากหลายปัจจัย และปัจจัยที่สามคือ นโยบายแก้ฝุ่นที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง รัฐบาลควรเริ่มปรับแก้ตั้งแต่กระบวนการควบคุมโดยปรับให้เป็นสากล แก้ปัญหาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพิ่มกฎหมายควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม และเพิ่มกฎให้โรงงานต้องแจ้งปริมาณมลพิษที่ปล่อยแก่ผู้กำกับดูแล เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

มลภาวะฝุ่น pm2.5 เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมามากมาย การที่มนุษย์ใช้ชีวิตโดยคุ้นชินกับฝุ่นเป็นชีวิตประจำวันนั้น ไม่ต่างอะไรจากการผัดผ่อนเวลา รอวันที่โรคร้ายแรงจะแสดงตัวในอนาคต เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และโรคสมอง เป็นต้น 

ประเทศไทยยังคงเผชิญกับฤดูฝุ่นในทุกๆ ปี กลายเป็นปัญหาระดับประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และรัฐบาลไม่ควรมองข้ามปัญหาฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับการควบคุมอย่างเป็นระบบโดยไม่กระทบต่อการพัฒนา 

ที่มา: 

อชิรญา ดวงแก้ว
ชอบฟัง ชอบเขียน ชอบแลกเปลี่ยนเรื่องราว

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า