โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 24 มีนาคม 2562 เวลานี้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนระอุ สารพัดวิชามาร ความสกปรกสามานย์ และการป้ายสีสาดโคลน ปรากฏให้เห็นอย่างน่ารังเกียจ ล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ ‘โป๊ะแตก’ ร้อนไปทั่วโซเชียลมีเดีย โป๊ะที่แตกไม่ใช่หม้อเดียว แต่แตกถึง 2 หม้อ
โป๊ะแตกหม้อแรก
แฮชแท็ก #เนชั่นโป๊ะแตก ติดอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์ ภายหลัง ‘รายการข่าวข้น คนเนชั่น’ เผยแพร่คลิปเสียงคล้ายอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กำลังพูดคุยกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแห่งพรรคอนาคตใหม่ นอกจากจะเผยแพร่คลิปเสียง รายการข่าวข้น คนเนชั่น ยังทำภาพกราฟิกซิลลูเอตที่ดูเหมือนเงาร่างของบุคคลทั้งสอง คล้ายจะบอกว่า เสียงในคลิปคือเสียงใคร แม้ว่า กนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรรายการจะพยายามกล่าวอย่างตีมึนว่า ไม่แน่ใจจริงๆ ว่าคลิปนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองหรือเสือดำ
จากนั้นมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่ง เผยแพร่เบื้องหลังคลิปเสียงดังกล่าว และเผยให้เห็นว่าคลิปเสียงที่ว่านั้นเป็นการตัดต่อ ไม่เท่านั้นยังหาหลักฐานซึ่งเป็นคลิปต้นฉบับมายืนยัน เจ้าของคลิปนี้กล่าววลีหนึ่ง ว่า “ไม่เนียน ไปเรียนมาใหม่” แม้ไม่ได้เป็นเทรนด์แฮชแท็กในทวิตเตอร์ แต่ “ไม่เนียน ไปเรียนมาใหม่” ก็ถูกแชร์ในวงกว้าง
คำถามที่สำคัญคือ จรรยาบรรณของสื่อมวลชน การทำหน้าที่สื่อมวลชนที่จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนนำเสนอข่าว ยกเว้นว่าจะเป็นการจงใจหรือแกล้งโง่ ซึ่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียเชื่อว่าการนำเสนอข่าวเช่นนี้น่าจะเป็นการดิสเครดิตทางการเมือง
ต่อมา รายการ ‘เก็บตกจากเนชั่นภาคกลางวัน’ ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม สัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถึงกรณีคลิปที่สถานีโทรทัศน์ NationTV 22 นำมาออกอากาศโดยอ้างว่ามีการแชร์กันในโลกออนไลน์
ธนาธร กล่าวว่า “สิ่งที่เนชั่นกำลังทำ คือการผลักภาระในการพิสูจน์ข้อกล่าวหานี้มาให้ผม ผมก็ยืนยันว่าสื่อที่มีคุณภาพ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็ควรจะต้องออกมาขอโทษ ผมขอเรียกร้องให้เนชั่นแสดงความรับผิดชอบต่อผมและประชาชนที่รับข้อมูลข่าวสารนี้ และผมขอเรียกร้องต่อไปว่า ไม่ว่าจะกับผม หรือกับคนอื่น กรณีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น”
โป๊ะแตกหม้อที่สอง
โป๊ะแตกอีกหม้อคือ ภาพหมู่ของนักการเมืองและผู้สมัคร สส. พรรคพลังประชารัฐ ที่โพสต์รูปภาพลงเพจเฟซบุ๊คของพรรค ระบุว่า เป็นภาพการหาเสียงและเปิดเวทีปราศรัยที่อำเภอทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อค่ำวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ในภาพดังกล่าวมีประชาชนเข้าร่วมฟังการปราศรัยอย่างล้นหลาม
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจับสังเกตได้ว่า ภาพดังกล่าวมีความผิดปกติทั้งมุมภาพและแสง และมีจุดสังเกตที่กลุ่มผู้มาร่วมฟังการปราศรัยมีใบหน้า การแต่งตัว และการแสดงท่าทางที่เหมือนกัน เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่างเชื่อว่า ภาพดังกล่าวน่าจะเป็นการตัดต่อภาพ
จากนั้น ภาพดังกล่าวได้ถูกลบไปจากเพจของพรรคพลังประชารัฐ ยิ่งทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำที่ไม่โปร่งใส
ภาพดังกล่าวทำให้เกิดเป็นแฮชแท็ก #พลังประชารัฐโป๊ะแตก ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่างตั้งคำถามว่า กรณีนี้เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมทั้งผิดกฎหมายการเลือกตั้งบางข้อหรือไม่
โป๊ะแตก คืออะไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า “ชื่ออาหารอย่างหนึ่ง ใช้ของทะเล เช่น หอยแมลงภู่สด ปลากะพง ปูม้า ปลาหมึก กุ้ง ต้มในน้ำเดือดซึ่งมีตะไคร้ ใบมะกรูด หัวหอม รากผักชี ปรุงรสเปรี้ยวเค็มด้วยมะขามหรือมะนาว น้ำปลา พริกขี้หนู พริกแห้งเผา”
ที่มาของชื่อเมนู ‘โป๊ะแตก’ คือคำว่า โป๊ะ ซึ่งคือชื่อของอุปกรณ์ดักจับสัตว์ทะเล พอนำเหล่าอาหารทะเลมาใส่ลงหม้อไฟ ต้มกับน้ำต้มยำแซบๆ ทะลักหม้อ จึงเป็นที่มาของชื่อเมนู ‘โป๊ะแตก’
เว็บไซต์แนะนำอาหารอย่าง Wongnai ระบุว่า คำว่า ‘โป๊ะแตก’ ยังเป็นศัพท์วัยรุ่นยุคใหม่ ที่มีต้นกำเนิดไม่แน่ชัด แต่มีความหมายว่า ‘ความลับแตก’ ซึ่งคำนี้มาจากการเปรียบเปรยถึง ‘โป๊ะ’ อุปกรณ์สำหรับดักจับสัตว์ทะเล เมื่อใช้โป๊ะจับสัตว์ทะเลเต็มจนล้นแตก เหล่าสัตว์ทะเลก็กระจายออกมาเหมือนความลับที่ถูกเปิดเผย ซึ่งมักใช้กับคนที่โกหกหรือซ่อนความลับไว้ แต่ทำได้ไม่เนียน
การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ และเกิดปรากฏการณ์โป๊ะแตกถึง 2 หม้อ สิ่งนี้ยืนยันได้ถึงพลังการตรวจสอบของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย นี่คือยุคที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจับตาและตรวจสอบผู้มีอำนาจ