ก่อนเป็นตำรวจ ชลธิชา สุขสมบูรณ์ มองตำรวจในด้านลบ
หลังจากเป็นตำรวจ ร้อยตำรวจเอกหญิง ชลธิชา สุขสมบูรณ์ ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ที่ประชาชนมองตำรวจได้หรือไม่
ถ้าได้ – ต้องทำอย่างไร
ด้วยเนื้องานช่วงต้นของวิชาชีพเกี่ยวพันกับคดีความอันเกิดจากข้อพิพาทระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจบ่อยครั้ง ภาพลักษณ์ของตำรวจมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ สิ่งเหล่านี้มีที่มาที่ไปในทรรศนะของเธอ การหักเหเส้นทางจาก ‘นิติกร’ สู่การเป็น ‘ครูสอนตำรวจ’ เป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า “เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง”
เธอคือครูใหม่หมาด ที่ผันตัวเองจากบทบาทนิติกร ตำแหน่งรองสารวัตรกลุ่มงานสอบสวน สู่การเป็น ครูมิ้ม – ร้อยตำรวจเอกหญิง ชลธิชา สุขสมบูรณ์ ของนักเรียนนายสิบตำรวจ ณ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7
WAY ชวนครูมิ้มมาบอกเล่าเรื่องราวในห้องเรียนที่เธอออกแบบภายใต้หลักใหญ่ใจความสำคัญคือ ‘การสร้างผู้เรียนที่เป็นมนุษย์ และเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของประชาชน’
ก่อนที่จะเข้ามารับราชการตำรวจ คุณมองวิชาชีพนี้ด้วยสายตาแบบไหน
ลบ ลบในทุกแง่มุม เหมือนสายตาของประชาชนทั่วไปที่มองตำรวจเลย เรารู้สึกว่าตำรวจทำตัวแย่จัง ข่าวที่ออกมาก็ตำรวจอีกแล้ว เรารู้สึกเกลียดตำรวจเหมือนกัน
เกลียดตำรวจ แล้วอะไรผลักคุณเข้ามาเป็นตำรวจ
ครอบครัวของเราชอบตำรวจมาก พวกเขารักในอาชีพนี้ เพราะคุณตาก็เป็นตำรวจ แต่ท่านต้องลาออก เพราะมีลูกเยอะ สมัยก่อนเงินเดือนตำรวจน้อยมาก ไม่สามารถจุนเจือลูกหลานได้ คุณลุงก็เป็นตำรวจ แต่เขาล้มเหลว ก็กลายเป็นว่าทุกความหวังของบ้านหล่นลงมาที่เรา เราเติมความฝันให้ครอบครัว หลังจบกฎหมาย ก็มีสิทธิสอบ ทุกคนก็พุ่งมาที่เราว่าทำให้ได้นะลูก
อะไรทำให้มุมมองเปลี่ยน คุณมองเห็นอะไรหลังจากเข้ามาเป็นตำรวจ
ไม่ได้เห็นอะไร แต่พอเราเข้ามาเป็นตำรวจ เราจะมองตัวเอง ฉันจะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก คุณมองว่าฉันเป็นอย่างนี้ใช่มั้ย…ได้ ฉันจะทำให้คุณดู
เริ่มแรกเราทำงานเป็นนิติกร ทำในส่วนของตำรวจภูธรภาค 7 งานส่วนใหญ่เป็นคดีปกครอง เช่น ขอให้เพิกถอนคำสั่ง หรือปลดออก ไล่ออก ก็จะทำในส่วนนี้ ถ้าเขาไม่ดีตามคำร้อง เราก็เอาเขาออกจากองค์กร อันนี้คือหน้าที่หลักๆ ของเรา
มันทำให้เริ่มรู้สึกและมีคำถาม ทำไมคุณจึงเป็นตำรวจที่ไม่ดี ทำผิดระเบียบที่ทาง ตร. กำหนดมา ตำรวจต้องปฏิบัติอย่างนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่ทำไมคุณจึงไม่ปฏิบัติ ทำไมคุณถึงเป็นตำรวจที่ดีไม่ได้ ทำไมเราต้องเป็นเหมือนอย่างที่ประชาชนดูถูกล่ะ มันเกิดเป็นคำถามกับตัวเรา ซึ่งการที่เราอยู่ตรงจุดนี้ มันแก้ปัญหาไม่ได้ เราไม่มีส่วนในการแก้ปัญหา หน้าที่ของเราคือคัดคนไม่ดีออกจากองค์กร คุณจะไม่มีโอกาสได้กลับเข้ามาอีก นี่คือสิ่งที่เราทำได้ ณ วันนั้น แต่มันจะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถทำได้มากกว่านี้
เหมือนเป็นการแค่ตัดปัญหา ตำรวจคนนี้ไม่ดีใช่ไหม เราก็แค่ตัดทิ้ง มันคือการตัดปัญหา แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหา เป็นแค่ปลายทาง เหมือนศาลน่ะค่ะ ศาลพิพากษาว่าคนนี้ไม่ดี ก็จำคุกไป แต่ศาลก็ไม่ได้ไปแก้ไขว่าทำอย่างไรไม่ให้เขาเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็มองย้อนกลับมาว่า มันทำได้แค่นี้จริงๆ หรือ
บางทีความรู้สึกของการเป็นผู้ตัดสิน หรือเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อชี้ว่าคนนี้ผิดหรือถูก เรารู้สึกว่ามัน…มันจะดีกว่าไหม ถ้าเราได้เป็นคนสร้างใครคนหนึ่งให้เป็นตำรวจที่ดี เรามั่นใจว่าเราเป็นตำรวจที่ดี มันจะเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะสร้างลูกศิษย์ จาก 100 คน ขอให้มีสักคนที่ได้ซึมซับจากเรา จะดีแค่ไหนถ้าคนเหล่านี้ที่เป็นจุดเล็กๆ ของสังคม แล้วขยายตัวไปให้มากขึ้นๆ ก็น่าจะดีกว่ากับการที่ท้ายที่สุดจะต้องมีคนที่ถูกคัดออกไป
ตำรวจดีๆ ในความหมายของคุณ มีลักษณะแบบไหน
ตำรวจที่เป็นมนุษย์ และเข้าใจความเป็นมนุษย์ อันดับแรกคุณต้องเข้าใจประชาชนก่อน คุณต้องเข้าใจก่อนว่าการเป็นตำรวจของคุณเป็นอาชีพหนึ่งที่มีอำนาจ แต่ก็แค่หมวกหนึ่งใบ คุณต้องเข้าใจประชาชน คุณต้องเข้าใจสิทธิของเขา คุณต้องรู้ว่าอะไรคือหน้าที่ ขอบเขตอยู่ตรงไหน คุณกรุณาเอื้อเฟื้อต่อประชาชนให้มากที่สุด คุณทำหน้าที่ของคุณให้ดีที่สุด นั่นคือตำรวจที่ดีในมุมมองของเรา
ห้องเรียนแบบเก่าเป็นแบบไหน ทำไมคุณจึงมองว่าไม่เวิร์คกับการสร้างตำรวจที่มีความเป็นมนุษย์
มันก็เหมือนการเรียนการสอนทั่วไป สมมุติอาจารย์มายืนเลคเชอร์ มาพูดตามสไลด์ มาพูดตามกระดานดำ นักเรียนได้รับสักกี่เปอร์เซ็นต์ เขาไม่ได้ซึมซับตรงนั้น เขาจะเรียนรู้แค่กระบวนการทางวิชาการ แล้วเขาเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า เราคิดว่ามันไม่เวิร์ค แล้วเราไม่อยากใช้อำนาจเหนือข่มบังคับ เมื่อใดที่เกิดการบังคับก็คือเขาไม่เต็มใจ เมื่อใดที่ไม่เต็มใจ นั่นคือการไม่เปิดใจ เมื่อใดที่ไม่เปิดใจก็ไม่มีการรับรู้และเรียนรู้
คุณสอนวิชาอะไรบ้าง
ถ้าเป็นหลักสูตรของน้องนักเรียนนายสิบ จะสอน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ส่วน พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญาก็จะเป็น พ.ร.บ.สถานบริการฯ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ และ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ฯ ซึ่งเรามีโอกาสอนหลักสูตรนายร้อย 53 ก็คือพี่ๆ นายดาบที่ติดยศดาบแล้วมีอายุครบ 53 ก็จะมีสิทธิเลื่อนไหลเป็นร้อยตำรวจตรี กลุ่มนั้นเราสอนเรื่องของสิทธิมนุษยชน
เข้าใจถูกไหมครับว่า คุณสอนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนคลุมหลักสูตรที่ว่ามา
เราขอพูดว่า เรานำไปเชื่อมโยงเองมากกว่า เขาให้ไข่เรามาแต่ละใบ ก็คือหลักสูตรที่รับผิดชอบ แต่เรามองว่าไข่แต่ละใบมันอยู่ในตะกร้าเดียวกัน คือตะกร้าที่ชื่อว่าสิทธิมนุษยชน
แล้วไข่แต่ละใบก่อนที่คุณจะจับมาใส่ตะกร้านี้ หน้าตาเป็นอย่างไร
ถ้าจะชำแหละไข่ออกมา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มันเริ่มมาจากอะไร เริ่มมาจากสิทธิของประชาชน เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประเทศเราไปผูกพันตั้งแต่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งนี่คือตัวแม่ แล้วเรายังผูกพันด้วยอนุสัญญาที่ตามมาอีกประมาณ 9 ฉบับ เป็นอนุสัญญาด้านต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ICCPR (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ กติกาว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตัวนี้แหละที่ทำให้ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในกติการะหว่างประเทศมาใส่ในกฎหมายภายในให้เกิดการบังคับใช้และรับรองสิทธิของประชาชน มันเลยคลอดเป็น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นี่คือที่ไปที่มา เห็นไหมคะว่ามันเป็นผลผลิตมาจากอะไร ก็คือผลผลิตจากสิทธิ
จากหลักสูตรที่ถูกกำหนดมา คุณออกแบบการเรียนการสอนอย่างไร
เราก็ครีเอทการสอนขึ้นมา มีหลักสูตรหนึ่งที่เราสอนคือ พ.ร.บ.สถานบริการฯ ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจทั้งหัวอกของฝั่งผู้ประกอบการและฝั่งของเจ้าหน้าที่ อย่างเช่นการจัดกิจกรรมเอากระดาษฟุลสแก๊ปให้เขาร่วมกันเล่นบทบาทเป็นนักลงทุน ให้เขาออกแบบและปรึกษากันว่า จะเปิดสถานบริการอย่างไรให้ปัง โดยที่เขาอยู่ในสถานะของผู้ประกอบการ ให้เขาคิดและออกไอเดียเต็มที่ แต่เราก็จะย้ำว่า อย่าลืมนะว่าตอนนี้คุณเป็นนักลงทุน เป็นนักธุรกิจ และสิ่งที่มุ่งหวังคือ กำไร ทำอย่างไรก็ได้ให้มันปัง
เขาก็จะเข้าไปในฟีลนั้นว่า “เฮ้ย เราเป็นเจ้าของกิจการเว้ย ทำอย่างไรถึงจะเรียกลูกค้าได้” หลังจากนั้น เราจะสอนเขาในภาวะพลิกกลับสู่บทบาทจริงที่เป็นตำรวจ ว่าสิ่งที่เขาคิดในมุมผู้ประกอบการสามารถทำได้จริงตามกฎหมายไหม กฎหมายอนุญาตไหม ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้คาดหวังว่ากิจกรรมจะพลิกกลับได้ในทันที แต่ว่าน้องๆ สามารถพลิกกลับได้เลย โดยที่เขาจะแบ่งฝ่ายรีเช็คกฎหมายของบริษัทกันว่าอันไหนทำได้หรือทำไม่ได้ จะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นภาพออกมานำเสนอชัดเจน สนุกสนานกันไป แล้วเราก็ค่อยมาตีกรอบอีกครั้งหนึ่งว่าตามกฎหมายแล้ว สิ่งนี้ทำได้นะ สิ่งนี้ทำไม่ได้ โปรโมทชั่นที่คิดกันออกมา มันผิด พ.ร.บ.ไหน ข้อกฎหมายว่าไว้อย่างไร
กรณีวิชา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มีแบบเรียนสนุกๆ แบบนี้ไหม
ยกตัวอย่างยากมากค่ะ ต้องยอมรับจริงๆ และตอนนี้ก็ยังเป็นโจทย์สำคัญของเราอยู่ว่าจะทำอย่างไรดี แต่ก็จะมีกิจกรรมสถานการณ์สมมุติ ยังไม่ได้ลงมือทำนะคะ แต่กำลังวางแผนพัฒนากิจกรรมอยู่ เพราะกิจกรรมนี้เราตั้งใจจะเอาไว้ท้ายสุดหลังจากจบเนื้อหา เมื่อเขารู้หลักการหมดแล้ว เขาจะต้องแบ่งกลุ่มเป็นผู้ประท้วงและกลุ่มเจ้าหน้าที่ และเราอาจจะให้สลับบทบาทกัน ว่าแต่ละฝั่งจะทำตามกฎหมายได้อย่างไร โดยมีเราเป็นเหมือน role play หรือ scenario สร้างสถานการณ์ขึ้นมาว่า กลุ่มนี้รับบทเป็นชาวบ้าน เป็นม็อบสวนยาง ม็อบข้าวชาวนามาเรียกร้อง และอีกกลุ่มคือเจ้าหน้าที่ ต้องทำอย่างไรบ้าง
นักเรียนถามอะไรคุณบ้างเกี่ยวกับสถานการณ์ทางสังคม เรื่องสิทธิหรือการชุมนุม
ไม่มีนะ เขาจะไม่ตั้งคำถามเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ เขาจะถามอารมณ์ประมาณว่า พี่ว่ายังไงครับ ‘วิ่งไล่ลุง’ นี่ยังไงครับ เขาจะถามความเห็นเรามากกว่า ซึ่งเราจะไม่ตัดสิน แต่จะย้อนถามเขากลับมากกว่า “แล้วน้องเห็นว่ายังไง” เพื่อกระตุ้นให้เขาเกิดความคิด
เราว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความคิด ให้เขาคิดเป็น ไม่ใช่ยึดถือจากเราที่เป็นครู แต่ให้เขาเกิดกระบวนการคิดและเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง ให้เขาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมามีความรุนแรงหลายครั้ง ในฐานะอาจารย์สอนหลักสูตร พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
จริงๆ ตำรวจก็เรียนรู้จากสถานการณ์เหล่านั้นเหมือนกันนะ เพราะ ณ ขณะนั้นมันไม่มีอะไรเป็นสิ่งยึดถือเลยเหมือนกัน กฎหมายไม่ได้กำหนดทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่จะมีแผนของตำรวจที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคง ตำรวจเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับสังคม เพียงแต่ตำรวจเองก็มีโจทย์ใหญ่ว่า ทำอย่างไรที่จะปกป้องประชาชนส่วนใหญ่ให้ได้
ตำรวจก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีอารมณ์ ความรู้สึก มีรสนิยมทางการเมือง จะจัดสมดุลตรงนี้อย่างไร
ตอนที่สอนนักเรียน เราจะบอกว่า เมื่อไรก็ตามที่เขาไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง หรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตำรวจ เขาก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อใดที่สวมเครื่องแบบตำรวจ เขาต้องคำนึงว่าหมวกที่ใส่อยู่คืออะไร ดังนั้นคุณต้องเป็นกลาง และคุณต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของคุณ ซึ่งถ้าล้ำเส้นตรงนี้ ทางฝั่งตำรวจเขาก็จะถือว่ามีความผิดเหมือนกัน
แต่ในบริบทที่คุณถอดหมวกแล้ว นั่นก็เป็นสิทธิ์ของคุณ?
ใช่ค่ะ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อถอดหมวกก็จะไม่ค่อยประกาศตัวกันอยู่แล้ว มันจะมีคำศัพท์คำหนึ่งที่เขาเรียกกันว่า ตำรวจคือ 24 หมายความว่า เราเป็นตำรวจ 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น เราอาจจะเห็นด้วยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เราแสดงออกไม่ค่อยได้หรอก มันจะเหมือนว่า ทุกคนจะค่อนข้างเซฟตัวเอง
แสดงว่าตำรวจเป็นอาชีพหนึ่งที่มีพื้นที่แสดงความคิดของตัวเองน้อย
อืม… อันนี้ตอบยาก มันก็พอมีพื้นที่อยู่บ้าง แต่ก็ถูกจำกัดด้วยระเบียบ ด้วยกฏ ด้วยคำสั่งค่อนข้างมากเช่นกัน เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า.. สมมุติเหตุการณ์สีแดงแหลืองก็แล้วกัน ถ้าเราเห็นด้วยกับสีใดสีหนึ่ง แล้วไปเข้าร่วมขบวนกับเขาตอนที่ไม่ได้อยู่ในเครื่องแบบ แต่เราไปแสดงตัว ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊คว่าเราอยู่ม็อบนี้หรือม็อบนั้น
แล้ววันหนึ่งเราใส่เครื่องแบบไปควบคุมฝูงชนที่อยู่คนละสีกับเรา คนที่รู้จักเราเขาคงจะเกิดคำถาม อะไรคือความเป็นธรรม อะไรคือความเป็นกลาง ฉันจะเชื่อได้อย่างไรว่าคุณบริสุทธิ์ใจ ฉันจะเชื่อได้อย่างไรว่าคุณไม่ take sides มันเลยเป็นภาวะที่ตำรวจพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกรอบของความปลอดภัยมากกว่า และพยายามจะเป็นกลางในทุกกรณีมากกว่า คืออย่างน้อยก็ไม่แสดงออกและทำงานได้อย่างราบรื่น ด้วยบทบาทหน้าที่ที่ถูกบังคับให้แสดงออกและบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นกลางที่สุด
ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ในสังคมอีกแบบ การออกมาชุมนุมของประชาชนก็มีเงื่อนไขต่างไปจากเดิม คนมีไอเดียใหม่ๆ ในการออกมาชุมนุม อย่างแฟลชม็อบหรืออะไรก็ตาม ตำรวจต้องปรับตัวไหม
เราต้องยึดกฎหมายเป็นหลักจริงๆ ค่ะ สิ่งหนึ่งที่เราสอนนักเรียนอยู่เสมอ และสิ่งหนึ่งที่ตำรวจปฏิบัติอยู่เสมอ คือ ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เราทำไม่ได้ เราจะทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจ และเราจะกระทำได้เท่าที่กฎหมายให้อำนาจเท่านั้น ฉะนั้นไม่ว่าจะมารูปแบบไหน เรายึดกฎหมายเป็นหลักเลย มันเข้ากฎหมายยังไง เราก็ต้องปฏิบัติตามนั้นเท่านั้น
เราเลือกปฏิบัติไม่ได้ เพราะกฎหมายบังคับเรา เรามีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เฉกเช่นบุคคลทั่วไป คุณจะมาอาศัยช่องว่างของกฎหมายยังไง วิ่งไล่ลุงหรืออะไรก็ตาม แต่ในทางกฎหมายเป็นอย่างไรล่ะ มันก็ต้องบังคับตามนั้น เราอยู่ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย เราก็ต้องบังคับใช้กฎหมายตามเนื้อความที่มันเป็น
ตำรวจที่เรียนหลักสูตร พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เขาต้องออกมาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แบบไหน
เป็นกลาง หลักของเราคือเป็นกลาง ให้ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนและขอบเขตของกฎหมาย คุณใช้สิทธิได้เท่าที่คุณมี คุณใช้สิทธิเลย แต่ไปกระทบสิทธิคนอื่นไม่ได้เหมือนกัน เพราะไม่มีสิทธิใดสิทธิหนึ่งสำคัญกว่าสิทธิใดสิทธิหนึ่ง นั่นคือหัวใจของสิทธิมนุษยชน
นักเรียนนายสิบคนหนึ่ง ใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำนานเท่าไหร่?
1 ปีครึ่ง
เขาเหล่านั้นต้องผ่านอะไรมาบ้างในช่วงชีวิตของการเรียนนายสิบตำรวจ
เยอะมากค่ะ เขาจะต้องมีการเรียน การฝึก และการฝึกงานสามส่วนหลักๆ ถ้าถามว่านักเรียนจะต้องเจออะไรบ้าง ถ้านักเรียนมาพูดเอง คำตอบก็คงประมาณว่า ผมต้องเจอกับระเบียบวินัย เจอกับความเหนื่อย ความง่วง การไม่ได้กลับบ้าน คงจะอะไรประมาณนี้ ว่าชีวิตเขาหนักมากและต้องเจออะไรๆ หลายอย่างมาก
ในช่วงต้นของการทำงาน คุณต้องเจอกับตำรวจที่ปฏิบัติงานมาแล้วและทำผิดวินัย แต่เนื้องานปัจจุบันคุณต้องเจอกับว่าที่ตำรวจ ในอนาคตเขาจะเป็นตำรวจ แต่ตอนนี้พวกเขายังมีแววตาที่เป็นประกาย พอคนเหล่านี้โตขึ้น ก็จะมีอายุและประสบการณ์เท่ากับตำรวจเหล่านั้น คุณคิดอย่างไรกับการที่หนุ่มสาวคนหนึ่งเริ่มต้นด้วยอุดมการณ์ที่ดี แต่ปลายทางของเขากลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
เราเคยแจกกระดาษให้นักเรียนทุกคน ให้เขาเขียนและจ่าหน้าซองถึงตัวเองในอนาคต เอาแบบฟอร์มจริงมาให้เขียนเลย เรียนสิบตำรวจตรี… ให้เขาเขียนถึงตัวเองในวันที่ประดับยศ แล้วเขียนไปเลยว่าอยากบอกอะไรตัวเองในวันนั้น ลงชื่อ นสต. ว่าในวันนี้ที่ฉันเป็นนักเรียน เขียนถึงตัวเองในวันที่ดำรงตำแหน่ง
เขียนเสร็จแล้วให้พับใส่ซองโดยที่ไม่ต้องปิดผนึก พอจบหลักสูตร เราจะเอามาแจกคืนทุกคนโดยการปิดซองมา ซึ่งเราจะให้อาจารย์ทุกท่านที่สอนนักเรียนเหล่าเขียนข้อความ คำเตือน คำอวยพร หรืออะไรก็ตาม ลงในจดหมายของเขา กำกับด้วยลายเซ็นของอาจารย์ทุกท่านพับใส่ซองไปด้วย ปิดผนึกเพื่อให้เขาเอามาเปิดในวันที่เป็นสิบตำรวจตรี เราจะบอกเสมอว่า ไม่ว่าเขาจะเติบโตไปอีกเท่าไรในวันข้างหน้า อยากให้จดจำในสิ่งที่เขาเขียนถึงตัวเองในวันนี้
เชื่อไหมว่า เราลองสุ่มหยิบขึ้นมาอ่าน ก็เป็นอย่างนั้นเลย ทุกคนมีอุดมการณ์ แววตาที่เป็นประกาย การเขียนถึงตัวเองนั้นมันดีมาก เราจะบอกเขาเสมอว่า ไม่มีอะไรที่จะเตือนเราได้ดีมากไปกว่าเราเตือนตัวเอง
ประโยคไหนที่เขาเขียนถึงตัวเองแล้วคุณรู้สึกว่า บรรลุผลของการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบนี้
ทำนองว่า “มึงต้องทำให้เต็มที่นะ มึงต้องเป็นตำรวจที่ดีให้ได้” บ้างก็ “ข้าเขียนตอนที่ข้าเป็นนักเรียนนะ เอ็งน่ะมียศแล้ว เอ็งต้องเป็นตำรวจที่ดีนะเว้ย”
4 เดือนหลังจากย้ายตัวเองมาเป็นอาจารย์ จิตใจฟูขึ้นมาบ้างไหม
มีความสุขและความหวัง ทุกคนที่มาเป็นตำรวจหรือมาเรียนตำรวจ จะมีความรู้สึกร่วมกันว่า เราเป็นจำเลยสังคม…ทุกคนรู้ มีภาวะของความเครียด เหนื่อย ท้อแท้ นักเรียนก็จะมีความรู้สึกเหล่านี้ พวกเขาก็ต้องฝึกความอดทน ยุทธวิธี มันก็เป็นโจทย์ของเราในเรื่องวิธีการสอน
ถ้าพูดกันเรื่องของโครงสร้างอำนาจ เราเหนือกว่าเขา ด้วยลำดับชั้นยศหรืออะไรก็ตาม แต่พอเราเข้าไป เราถอดมันออก ถอดหมวกออก เราจะไม่แทนตัวเองว่าครูหรืออาจารย์ จะให้เขาเรียกเราว่าพี่ เราแทนเขาว่าน้อง เรามองเห็นเขาเป็นน้องคนหนึ่ง ถ้าภาษาของครูทั่วไปเขาเรียกว่าสร้างพื้นที่ปลอดภัย ถ้าภาษาสันทนาการจะเรียกว่าละลายพฤติกรรม แต่สำหรับเรา เราใช้คำว่าอะไรดี… (นิ่งคิด) ใช้คำว่า ‘ถอดหมวก’ ดีกว่า ถอดหมวกของอำนาจทิ้งไป แล้วเข้าไปอยู่ข้างเขา