วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ กรณีปล่อยปละละเลยทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจ
ตั้งงบ 950 ล้าน แต่ก่อหนี้ 1,824 ล้าน ติดตั้งระบบไฟฟ้าไล่นก ได้ตาข่ายธรรมดา
รังสิมันต์ ยกกรณีที่กองบินตำรวจได้รับงบประมาณ ปี 2563 สำหรับโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน 950 ล้านบาท โดยทำสัญญาว่าจ้างระหว่างการบินไทยกับผู้บังคับบัญชากองบินตำรวจ ณ ขณะนั้น คือ พล.ต.ต.กําพล กุศลสถาพร ในการซ่อมและจัดหาอะไหล่ ซึ่งต่อมา พล.ต.ต.กําพล ย้ายออกไปประจำอยู่ ณ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกันยายน 2564 การบินไทยได้ยื่นหนังสือทวงหนี้มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงพบว่า พล.ต.ต.กำพล ได้สั่งซื้อเพิ่มเติมเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้
จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 950 ล้านบาท กลายเป็นการก่อหนี้ไว้กับการบินไทยมากถึง 1,824 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับโครงการนี้ใช้จ่ายทั้งหมดถึง 2,274 ล้านบาท ซึ่ง 2 ใน 3 ของจำนวนนี้กองบินตำรวจไม่สามารถเบิกจากคลังมาจ่ายได้ และกว่า 764 ล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบินแต่อย่างใด เช่น มีการจัดซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท ตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท รวมทั้งระบบไฟฟ้าไล่นก 5 ล้านบาทต่อหนึ่งโรงเก็บเครื่องบิน แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่าเป็นเพียงตาข่ายคลุมเครื่องบินที่ขายในอินเทอร์เน็ตเพียงราคาหลักแสนเท่านั้น อีกทั้งระบบไฟฟ้าก็มีราคาเพียงหลักหมื่นบาท ซึ่งทำให้เกิดข้อสังเกตว่าการใช้จ่ายเกินจริงดังกล่าวอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น
เมื่อมีข้อครหา กองบินตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาตรวจสอบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ทว่าได้ตั้งจริงที่เดือนมิถุนายน 2564 เมื่อเรื่องถูกส่งไปถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แต่ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. ส่งเรื่องกลับไปยังกองวินัยตำรวจเพื่อตั้งคณะกรรมการสืบสวนขึ้นมาใหม่ กระบวนการสืบสวนหลังจากนั้นมาก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ทราบเรื่องตั้งแต่ 21 กันยายน 2564 จากหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังคณะรัฐมนตรีจาก สตช. แต่ก็ไม่ได้เกิดการผลักดันเรื่องราวใดไปมากกว่านี้
รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นการบินไทยไม่ยอมต่อสัญญาโครงการ และส่งหนังสือทวงหนี้มายัง สตช. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ทำให้ สตช. มีเวลาปฏิเสธหนี้เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์จำนวนจริงของหนี้ต่ออีก 14 วัน แต่ ผช.ผบ.ตร. แจ้งปฏิเสธหนี้หลังเกินกำหนดเวลาไปแล้ว ทำให้ สตช. ต้องกลายเป็นลูกหนี้ของการบินไทยอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตามจำนวนหนี้ที่ต้องจ่ายเหลือเพียง 937 ล้านบาท เนื่องจาก สตช. ขอต่อรองให้ลดรายการบางส่วนไป
ท้ายที่สุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ได้อนุมัติให้นำเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินไปจ่ายหนี้ โดยเป็นการตัดสินใจผ่านคณะรัฐมนตรี รวมถึงอนุมัติให้ สตช. สามารถก่อหนี้ผูกพันเกินงบประมาณของปี 2563 โดยอ้าง พ.ร.บ.วิธีการทางงบประมาณ ว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งรังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวกลับเป็นการรับรองให้สิ่งที่กองบินตำรวจทำการสั่งซื้อเกินงบประมาณกลายเป็นความชอบธรรมผ่านกฎหมายไปเสีย
ยำอะไหล่อากาศยานรวมกับเศษเหล็ก ‘ประยุทธ์’ รู้เห็น แต่ไม่แก้ไข
ถัดจากการอภิปรายเปิดโปงทุจริตโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน 950 ล้านบาท รังสิมันต์ โรม ได้อภิปรายต่อถึงประเด็นการทำสัญญาแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานของกองบินตำรวจอย่างไม่เหมาะสม คิดเป็นมูลค่า 1,157 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบเรื่องราวเป็นอย่างดี แต่กลับปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต
รังสิมันต์ระบุว่า เมื่อเดือนกันยายน 2563 พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร ผู้บังคับบัญชากองบินตำรวจ ณ ขณะนั้น ได้ทำสัญญากับบริษัท Airwork Helicopters เพื่อแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยรวบรวมอะไหล่เก่าที่เสื่อมสภาพไปแล้วเพื่อแลกกับใบพัดและหางของเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ชุด แต่กลับพบว่า พล.ต.ต.กำพล ใช้อำนาจอนุมัติอะไหล่ที่มีมูลค่าเกิน 5 ล้านบาท ซึ่งผิดระเบียบของกองบินตำรวจ และยังกระทำผิดต่อระเบียบกระทรวงการคลังที่ระบุว่าวงเงินต้องไม่เกิน 5 แสนบาทอีกด้วย
อะไหล่ที่ถูก พล.ต.ต.กำพล นำไปแลก มีทั้งสิ้น 6,622 ชิ้น คิดเป็นราคารวม 1,157 ล้านบาท ต่อมาพบว่าอะไหล่ในจำนวนเหล่านั้นไม่ใช่อะไหล่เสื่อมสภาพทั้งหมด แต่ยังมีอะไหล่ของเครื่องบิน Skyvan 1 ลำ 4 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นเครื่องยนต์ 2 ชิ้น และอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Bell 206 B 3 ลำ 21 ชิ้น ไปยำรวมกับเศษเหล็กด้วย
รังสิมันต์ได้เปิดคลิปหลักฐานว่า เครื่องยนต์ของเครื่องบิน Skyvan ณ ปัจจุบันยังคงใช้งานได้ดี และไม่มีข้ออ้างใดที่สมเหตุสมผลเลยหากจะถูกนำไปรวมกับเศษเหล็กเพื่อทำการแลกเปลี่ยนอะไหล่
จากการสำรวจราคาตลาด พบว่า เครื่องยนต์อะไหล่ของเครื่องบิน Skyvan และอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Bell 206 B มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 111 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าบริษัทคู่ค้าตีราคาอะไหล่เหล่านี้รวมกับเศษเหล็กอื่นๆ เพียง 2.5 ล้านเท่านั้น เท่ากับว่าเครื่องบิน 1 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ถูกตีราคาเหลือเพียงใบพัดกับหางของเฮลิคอปเตอร์ 2 ชุดเท่านั้น เป้าหมายที่แท้จริงของการทำสัญญาครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนอะไหล่และเศษเหล็ก แต่คาดว่าเป็นการฮั้วกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอะไหล่ราคาแพงของอากาศยานทั้ง 2 ชนิด
รังสิมันต์กล่าวว่า เรื่องทั้งหมดนี้ได้มีการตรวจสอบภายในกองบินตำรวจตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 และกว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบก็ล่วงเลยไปถึงเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งต่อมาถูก พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. สั่งให้กลับไปตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ ทำให้ถูกยื้อเวลาออกไป ทั้งที่กรณีการแลกเปลี่ยนอะไหล่เครื่องบินในครั้งนี้มีความชัดเจนว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เรื่องทั้งหมดนี้อยู่ในสายตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับทราบเรื่องราวแล้ว ในฐานะของประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่กลับไม่แก้ไข และปล่อยปละละเลยจนเวลาล่วงเลยไปกว่า 1 ปีเศษ
รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ รู้ปัญหาดีมาตลอด เพราะเป็นผู้เซ็นรับทราบด้วยตัวเอง แต่กลับไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ พล.ต.ต.กำพล เลย ไม่มีแม้กระทั่งการถูกพักงาน จึงทำให้ตนเกิดความสงสัยและไปตรวจสอบต่อว่าเป็นเพราะเหตุใด บุคคลนี้ใหญ่มาจากไหน ทำไมจึงไม่มีใครแตะต้อง จนกระทั่งพบข้อมูลว่า พล.ต.ต.กำพล มีฐานะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการถวายความปลอดภัย สำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ หรือ ‘ศปก.ถปภ. ขบวน ฮ. เดโชชัย 5’ ที่ตั้งขึ้นตามแผนถวายความปลอดภัยในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
‘ตั๋วช้าง’ ภาคพิสดาร หาประโยชน์จากสถาบันฯ
จากการเปิดโปงการทุจริตมหาศาลของกองบินตำรวจ รังสิมันต์ โรม ได้อภิปรายต่อถึงประเด็นข้อสงสัยที่ พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร ผู้บังคับบัญชากองบินตำรวจ ณ ขณะนั้น ไม่ถูกดำเนินการเอาผิด อีกทั้งกระบวนการสอบสวนยังถูกเตะถ่วงออกไป โดยรังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะ พล.ต.ต.กำพล ได้รับตำแหน่งใหม่ที่ใกล้ชิดกับพระบรมวงศานุวงศ์ และถือว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบใหม่ของ ‘ตั๋วช้าง’ ที่สร้างปัญหาให้วงการตำรวจมาอย่างยาวนาน
รังสิมันต์อภิปรายว่า จากการตรวจสอบพบว่า พล.ต.ต.กําพล มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยงานที่ชื่อ ‘ศปก.ถปภ. ขบวน ฮ. เดโชชัย 5’ หรือชื่อเต็มคือ ‘ศูนย์ปฏิบัติการถวายความปลอดภัย สำหรับขบวนเฮลิคอร์ปเตอร์พระราชพาหนะ’ ที่มีหน้าที่คอยถวายการเดินทางให้แก่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งที่กองบินตำรวจในอดีตก็มีหน้าที่ถวายงานเสด็จพระราชดำเนินอยู่แล้ว การตั้งศูนย์ใหม่ขึ้นมาเช่นนี้จึงไม่ได้มีความจำเป็น รวมถึงศูนย์นี้ยังถูกจัดตั้งขึ้นหลังการย้ายตำแหน่งของ พล.ต.ต.กําพล เพียงเดือนเดียวเท่านั้น
คำถามสำคัญคือ ศูนย์เดโชชัย 5 นี้อยู่ส่วนใดของโครงสร้างทางอำนาจตำรวจ เพราะในกฎหมายแบ่งส่วนราชการไม่ปรากฏชื่อศูนย์นี้อยู่ในกฎระเบียบข้อใด
รังสิมันต์ได้ยกหนังสือจากสำนักพระราชวัง ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ระบุว่า ในวันที่ 25 กันยายน 2563 พล.ต.ต.กําพล ได้ส่งหนังสือในนามกองบินตำรวจ กราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ ความว่า “ตนเอง ณ ขณะนั้นเป็นผู้บังคับการกองบินตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่อำนวยการเดินทางถวาย และกำลังจะถูกย้ายไปอยู่หน่วยอื่นแล้ว หากมีพระสงค์จะให้ปฏิบัติงานถวายต่อ จะได้ดำเนินการต่อไป” ซึ่งต่อมาได้มีหนังสือตอบกลับว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ถวายการเดินทางต่อไป ลงชื่อท้ายหนังสือในนาม ‘คุณหญิง อ.’ (นามสมมุติ) ราชเลขานุการในสมเด็จพระเทพฯ จนเกิดข้อครหาจาก ส.ส. รังสิมันต์ ว่า นี่คือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้กระบวนการสอบสวนการกระทำผิดของ พล.ต.ต.กําพล มีความล่าช้าใช่หรือไม่ และเพราะเหตุนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ ปล่อยปละละเลย
“นี่คือตั๋วอีกประเภทหนึ่งใช่มั้ย นี่คือตั๋วช้างภาค 2 ใช่หรือไม่ นี่คือสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมกระบวนการสอบสวนถึงได้ล่าช้า เตะถ่วงกันไปมา ก็เพราะคนที่โดนสอบมันได้ตั๋วมาแล้ว ถ้าอย่างนั้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจหายหัวไปไหน ปล่อยปละละเลยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านไปกระทำในสิ่งที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด นั่นคือไปขอให้สถาบันฯ เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้คนอื่นมาตรวจสอบความมัวหมองในอดีตของตัวเอง
“ฝ่ายที่มีแต่ได้ คือบรรดาตำรวจทุจริตเหล่านั้นที่ยังลอยหน้าลอยตา ไปตั้งหน่วยเถื่อนขึ้นมา ใช้อำนาจสั่งการคนอื่นๆ ที่ทำแบบนี้ได้ก็เพราะไปใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว แสวงหาผลประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เอามาออกตั๋วเพื่อมาคุ้มกะลาหัวตัวเองไม่ให้ถูกเล่นงานในความฉ้อฉลที่ตัวเองก่อไว้ ทำมาเป็นปีๆ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้จงรักภักดีไม่ทำอะไรสักนิด เพื่อจะรักษาหลักการปกเกล้าไม่ปกครอง
“เมื่อคนชั่วได้ตั๋วพวกนี้มา คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เข่าอ่อน ยอมพินอบพิเทา พร้อมยอมรับความผิดให้กลายเป็นความชอบ โดยไม่สนว่าประเทศนี้จะเสียหายอย่างไร” รังสิมันต์กล่าว
จากการอภิปรายเรื่องตั๋วช้างครั้งก่อนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนถึงตั๋วช้างครั้งใหม่นี้ กินเวลายาวนานกว่า 1 ปี 5 เดือน แต่กลับไม่เกิดการแก้ปัญหาใดๆ ระหว่างตำรวจระดับสูงกับการหาประโยชน์จากสายสัมพันธ์กับพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทำให้ผู้มีข้อครหาด้านการทุจริตอย่างโจ้งแจ้งยังสามารถใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ได้ต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
“พล.อ.ประยุทธ์ คือบุคคลสำคัญที่สุดที่เป็นผู้สานต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด วัฒนธรรมทุจริตแล้วได้ดิบได้ดี ให้แผ่ไพศาลไปทั่วระบบราชการ ฉุดกระชากเอาระบบราชการของประเทศนี้ที่ตกต่ำอยู่แล้วให้ตกต่ำลงไปอีก ในแบบที่เราไม่อาจเห็นได้เลยว่าก้นบึ้งแห่งความตกต่ำนี้อยู่ที่ใด”