ชัชชาติ สิทธิพันธุ์: การเมืองควรเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่

 

ถึงแม้ว่าการเมืองไทยในตอนนี้ใครหลายคนจะมองว่าแทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะเราอยู่บนความขัดแย้งมานานนับสิบปี จนใครหลายคนคงลืมไปแล้วว่า เราทะเลาะกันเรื่องอะไร

แต่ในสายตาของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เขายังคงมีความหวังว่าอนาคตประเทศไทยต่อจากนี้มันขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่

แม้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนนี้จะลงจากตำแหน่งมาสักพักแล้ว รวมถึงเจ้าตัวเองก็บอกกับสื่อทุกสำนักว่า ณ วันนี้เขาเป็นเพียงคนธรรมดาไม่ได้มีชื่อเสียงหรืออำนาจอะไร แต่ชื่อของเขายังคงอยู่ในกระแสโลกออนไลน์ไม่จางหายไปไหน

จากการพูดคุยกับชัชชาติ ‘ระบบขนส่งสาธารณะไทย เอายังไงกันดี’ จากนั้นเป็นการชวนมองอนาคตการเมืองไทย ว่าต่อจากนี้ควรเป็นอย่างไร รวมถึงชีวิตของเขาเมื่อทิ้งงานการเมืองไว้เบื้องหลัง

ความซับซ้อนของการเมืองในรอบทศวรรษ

ชัชชาติอธิบายว่า สมองเรามีสองส่วน คือ ส่วนที่ใช้ ‘อารมณ์’ กับ ‘เหตุผล’ ส่วนที่ใช้อารมณ์จะติดเร็วและติดนาน ส่วนที่ใช้เหตุผลต้องใช้ระยะเวลาในการคิดไตร่ตรอง การเมืองไทยจึงชอบใช้อารมณ์ในการปลุกเร้า เมื่อเลือกใช้อารมณ์ก็เท่ากับเลือกรับข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อตัวเอง ไม่รับฟังความคิดอื่น กล่าวคือ เป็นการมองอย่างอคติไปเรียบร้อยแล้ว

“ปัญหาที่ผ่านมาเราใช้อารมณ์กันมากเกินไป อนาคตก็คงต้องใช้เหตุผลกันให้มากขึ้น ถ้าเราใช้เหตุผลมากขึ้นทุกอย่างก็จะดีขึ้น ผิดก็ต้องยอมรับ ทำดีก็ต้องยอมรับ แต่การใช้อารมณ์มันติดอยู่ในใจมากกว่า เชื่อว่าคนนี้มันชั่วก็จะชั่วไปตลอด อย่างเรื่อง 2,000 ล้านล้าน ถ้าคนที่สนับสนุนเรา ไม่ต้องพูดอะไรมากเขาก็ตบมือแล้ว แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบ พอเห็นว่าเป็นคนนี้คิดก็ตัดสินไปแล้วว่าทุจริตแน่นอน ไม่ใช่ว่าผมพูดแล้วถูกเสมอ หรือคุณพูดแล้วผิดเสมอ ถ้าเราผิด ก็ต้องยอมรับผิด การใช้อารมณ์มันลงทุนต่ำ แต่ทำให้เกิดความแตกแยก ดังนั้น อารมณ์จึงมักถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง”

แน่นอนว่าความขัดแย้งเหล่านี้เป็นเงื่อนปมหนึ่งของคำว่า ปรองดอง สมานฉันท์ และนิรโทษกรรม เขามองว่าการจะปรองดองกันได้ ต้องลดอารมณ์ ลดความเกลียดแค้นและมองไปข้างหน้ามากขึ้น ดูเหตุผลให้มากขึ้น ถ้าอยากจะยุติความขัดแย้งได้ก็จำเป็นที่จะต้องหาทางออกที่ยุติธรรม

“พอไม่ยุติธรรม ความขัดแย้งมันก็ยังคงอยู่ ไม่หายไปไหน แต่มันก็ไม่ง่ายนักหรอก เพราะทุกคนมีธงในใจอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องมีความหวัง ไม่อย่างนั้นชีวิตก็จะอยู่ไม่ได้”

นักการเมือง: คนรักเท่าผืนหนัง

กับคำถามถึงหน้าที่ของนักการเมือง ชัชชาติชวนย้อนถามถึงคำว่า ‘นักการเมือง’ หมายถึงอะไร ก่อนจะอธิบายต่อว่า

คนที่อยู่ในรัฐบาลก็ถือว่าเป็นนักการเมืองเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นอย่าไปด่าเลย คนไม่ดีมันก็มี คนดีมันก็มี แต่ สส. เป็นตัวแทนประชาชน ถ้าไม่มีเขา เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าชาวบ้านต้องการอะไร แต่พอเราตัดส่วนนี้ออกก็ยิ่งไปสร้างความเหลื่อมล้ำ คนที่อยู่ใกล้ศูนย์อำนาจยิ่งมีสิทธิ์มีเสียง คนที่อยู่ห่างออกไปก็ไม่มีจุดเชื่อมต่อ แต่คนไม่ดีก็ต้องเอาออกไป ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาแทน

ถ้านักการเมืองเป็นข้อต่อของประชาธิปไตย แล้วทำอย่างไรถึงจะเป็นแบบเขา – แบบที่ประชาชนเอามาทำมีมเล่นในโลกโซเชียล มีแฟนคลับเหมือนคนดัง และเป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมาก

ชัชชาติหัวเราะเสียงดังก่อนตอบว่า

“ผมก็เป็นตัวของตัวเองนะ ถ้าจะป๊อปคงป๊อปเอง ถ้าเฟคก็อยู่ได้ไม่นาน มีคนถามว่ากระแสมันเกิดจากอะไร ก็มาจากรูปที่ผมใส่เสื้อกล้ามถือถุงแกง ทุกวันนี้ผมก็ยังใส่ชุดแบบนั้นออกไปวิ่ง ถอดรองเท้าไปใส่บาตรอยู่ มันเป็นตัวเราจริงๆ แต่เผอิญมันขำ คนเลยชอบ เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด”

ส่วนจะทำอย่างไรให้นักการเมืองหลุดพ้นจากข้อครหามากมายและเป็นที่นิยมของประชาชน ชัชชาติเสนอว่านักการเมืองต้องเริ่มจากเข้าใจประชาชนเสียก่อน

“ต้องติดดิน ต้องลงไปคลุกกับปัญหาต่างๆ ได้ หน้าที่ของรัฐบาลคือต้องช่วยคนจน คนที่ด้อยโอกาส ไม่ใช่ไปช่วยคนรวย เพราะถึงอย่างไรคนรวยเขาช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว หน้าที่ของรัฐบาลต้องสร้าง growth แล้วนำมาช่วยประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดความไม่ยุติธรรม รัฐบาลต้องพยุงตรงจุดนี้ให้ได้ก่อน ถ้าเป็นประชาธิปไตยได้ รัฐบาลก็ลดความเหลื่อมล้ำได้”

ฝากอนาคตไว้กับคนรุ่นใหม่

ถามว่ามีอารมณ์นึกถึงเส้นทางชีวิตทางการเมืองอีกบ้างไหม ชัชชาติส่ายหน้าและตอบอย่างไม่ต้องคิดว่า

“ไม่เลย เพราะไม่ได้ชอบตรงนั้น ถามว่ามีอะไรดีไหม เอาจริงๆ มันก็มีแต่เรื่องน่ากลัวนะ เรากำหนดชีวิตตัวเองไม่ได้ ทำดีแค่ไหน คนก็ด่าเรา การเมืองมันโหดร้าย

แต่ถ้ามองในตอนนี้ก็เป็นห่วงประเทศชาติมากกว่า คิดว่าคงถึงเวลาของคนรุ่นใหม่แล้ว เพราะที่ผ่านมาการเมืองเป็นเรื่องของคนรุ่นเก่าเสียเยอะ พอเราบอกว่าการเมืองไม่ดี การเมืองเน่าก็ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเข้ามา สุดท้ายวงจรก็อยู่แต่กับคนเก่า ทั้งๆ ที่คนรุ่นใหม่ควรเป็นคนออกแบบประเทศ เพราะเขาได้รับผลกระทบมากสุด แต่พอยิ่งบอกว่าการเมืองมันชั่ว การเมืองมันไม่ดี คนรุ่นใหม่ก็ยิ่งหนี

ถึงการเมืองจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องน้ำเน่า แต่อย่างน้อยคนอย่างชัชชาติก็พอจะเป็นข้อต่อเชื่อมระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าอยู่บ้าง

“ผมพยายามทำให้พวกเขามีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างลูกผมเองอนาคตก็จะได้รับผลตรงนี้เยอะ ภาคการเมืองในตอนนี้ขาดคนรุ่นใหม่ อนาคตประเทศควรต้องมาจากคนรุ่นใหม่ เลยเป็นสาเหตุว่าทำไมเวลามีคนเชิญผมไปสอน ผมถึงอยากไป อย่างน้อยผมก็อยากทำให้พวกเขามีแรงบันดาลใจอะไรบ้าง”

เมื่อไปสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะวิชาวิศวฯ วิชาภาวะผู้นำ หรือเป็นวิทยากรในงานเสวนาต่างๆ ชัชชาติมีโอกาสได้พบเจอเด็กรุ่นใหม่ๆ อยู่ไม่น้อย เขาสัมผัสได้ว่าเยาวชนเหล่านี้ล้วนมีความคิดเป็นของตัวเอง

“กล้าพูดกล้าถามมากขึ้น เพราะเขาไม่อยากนั่งฟังเฉยๆ ที่ผ่านมาเด็กไทยส่วนใหญ่มักถูกโรงเรียนฆ่าความคิดสร้างสรรค์ ทำให้การศึกษาไทยขาดแคลนความคิดใหม่ๆ ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ยังฝังค่านิยมบางอย่างแบบถอนรากถอนโคนไม่ขึ้น”

ชีวิตหลังการเมือง

ชีวิตของชัชชาติยังคงเรียบง่าย ตื่นนอนก่อนพระออกบิณฑบาต ตี 4 กว่าๆ ออกไปวิ่งที่สวนลุมพินี เสร็จแล้วกลับเข้าบ้านเตรียมตัวส่งลูกไปโรงเรียน จากนั้นค่อยเดินทางไปทำงานด้วยรถไฟฟ้า พอเลิกงานก็กลับมาสอนการบ้านลูก ก่อนจะหัวถึงหมอนไม่เกิน 3 ทุ่ม ทำอย่างนี้จนเป็นกิจวัตร

“พอทำเป็นนิสัยแล้ว ชีวิตก็จะไม่ยุ่งยากมากนัก อีกอย่างผมเป็นคนตื่นเช้า เลยควบคุมอะไรได้ง่าย ส่วนเวลาว่างก็อ่านหนังสือ ดูทีวีบ้าง”

หากเปรียบเทียบเวลาว่างในช่วงทำงานทางการเมืองกับงานปัจจุบัน ชัชชาติเห็นว่าไม่แตกต่างกันมาก ยังคงมีเวลาว่างเท่าเดิมและพยายามไม่ให้เวลาทำงานมาเบียดเบียนเวลาครอบครัว

ถ้าเรียงลำดับตามความสำคัญในรายละเอียดของชีวิต ชัชชาติเปรียบเทียบชีวิตคนเราเหมือนกับโถแก้วใบหนึ่งที่บรรจุไปด้วยก้อนหิน ก้อนกรวด และเม็ดทราย อยู่ที่ว่าเราจะจัดเรียงมันอย่างไร

“ถ้าเราใส่หินก่อน ก้อนกรวดก็จะแทรกเข้าไปตามช่องว่างได้ ส่วนทรายก็ช่วยถมพื้นที่ที่เหลือ แล้วทุกอย่างก็จะลงตัวด้วยตัวมันเอง ชีวิตผมทุกวันนี้ไม่ว่าจะตอนเป็นรัฐมนตรีหรือซีอีโอ สำหรับผมจะใส่หินไปก่อน ก้อนหินก็คือครอบครัวกับสุขภาพ กรวดคือเรื่องการงาน ทรายไม่มีก็ไม่เป็นไร ผมมองว่างานเป็นเรื่องรองจากครอบครัวและสุขภาพ ถ้าสุขภาพไม่ดีก็ทำงานไม่ได้ ถ้าครอบครัวไม่ดีเราก็ไม่มีแรงใจมาทำงาน”

กับบทบาทการทำงานที่เปลี่ยนจากผู้บริหารในภาครัฐมาเป็นเอกชน ชัชชาติมองว่ามีความแตกต่างกันสองมิติ คือเรื่องความรับผิดชอบ กับเรื่องลงรายละเอียดเนื้องาน ก่อนจะเล่าปัญหาที่พบเจอในช่วงสมัยดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า

“บางทีภาครัฐก็ทำไม่ได้ดั่งใจเราหรอก เราไม่มีอำนาจมาก ในช่วงระหว่างขั้นตอนมันมีกระบวนการเยอะ เราทำได้แค่ระดับนโยบาย ผมจะสร้างส้วมสักอันยังไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับงบประมาณ มันถูกวางเอาไว้หมดแล้ว การจะผลักดันนโยบายอะไรจึงเป็นไปค่อนข้างยาก เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ถูกมองติดลบไปแล้วว่าทุจริต”

ส่วนงานปัจจุบันที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ซีอีโอ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ชัชชาติเล่าจุดที่แตกต่างกับภาคการเมืองว่า

“ฝั่งเอกชนค่อนข้างให้เกียรติเรามากกว่า ง่ายและรวดเร็วกว่า ให้อำนาจเราในการบริหารเต็มที่ ทำให้เห็นผลกระทบทางนโยบายได้เร็วกว่า”

ส่วนที่คล้ายกันคือเรื่องของรายละเอียดเนื้องาน ชัชชาติอธิบายว่า

“งานตอนสมัยคมนาคมคือ ดูแลคนเดินทาง ส่วนตอนนี้มาทำงานหมู่บ้านก็ดูแลลูกบ้าน เจอ รปภ. เจอพนักงาน ต้องลงพื้นที่ตรวจบ้าน ไลฟ์สไตล์ผมจึงไม่เปลี่ยนมากนัก เสาร์อาทิตย์ผมก็ไปดูตามหมู่บ้าน คล้ายๆ กับตอนที่เราดูรถเมล์ ทั้งสองงานมีลักษณะเป็น service industry

ผมมีความสุขที่ได้เจอคน เหมือนเป็น passion ในการทำงานของผม คืออยากช่วยคน แค่เราช่วยเขาได้นิดหนึ่งผมก็แฮปปี้แล้ว ซึ่งก็คล้ายกับตอนทำงานคมนาคมเหมือนกัน เวลาเห็นคนกลับบ้านเร็วกว่าเดิม 10 นาที ผมก็มีความสุขแล้ว นิดหนึ่งก็ยังดี คือผมสนใจคนระดับล่างมากกว่า เพราะเขาด้อยโอกาสกว่า เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจในแต่ละวันที่ทำให้ผมอยากลุกขึ้นจากเตียง

“เวลาทำงาน ผมไม่ได้คิดเรื่องผลกำไรมหาศาล เพราะเราเป็น service industry เพราะท้ายที่สุดแล้ว คุณภาพคือหัวใจสำคัญ คุณปิดกั้นไม่ได้ เพราะ feedback loop มันเร็ว คุณต้องเกาะติดกับลูกค้า ถ้าเป็นพฤติกรรมเดิมคือ สร้างบ้านอย่างเดียวโดยไม่สนใจลูกค้า คุณจะทำแบบนั้นอีกไม่ได้แล้ว ส่วนกำไรจะดีหรือไม่ก็ต้องถามว่าลูกค้ากับพนักงานมีความสุขกับคุณภาพที่คุณมอบให้เขาหรือเปล่า ถ้าทั้งสองอย่างเห็นตรงกัน กำไรก็จะตามมาเอง”

วันว่างของชัชชาติส่วนหนึ่งคือการอ่านหนังสือ รายชื่อหนังสือที่ #ชัชชาติอ่าน ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับยุคสมัยของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ตั้งแต่รูปแบบ feedback loop หรือ platform ใหม่ๆ เมื่อถามถึงความสนใจและสิ่งที่อยากทำ ชัชชาติเล่าว่า ตอนนี้เขากำลังสนใจธุรกิจแนว startup

“ตอนนี้อนาคต platform มันเริ่มเข้ามามากขึ้น ต่อไปก็คงต้องซื้อบ้านผ่านเว็บ ป้ายโฆษณาจะไม่มีเหลือแล้ว เพราะถ้าเป็นแบบ platform คนทั่วโลกก็สามารถมองเห็นได้หมดเลย”

วันนี้และวันหน้าของชัชชาติ เขาไม่ได้กำหนดเส้นทางชีวิตไว้เคร่งครัดนัก แต่มีหลักคิดที่ว่า คนเราควรสะสมความรู้ให้รอบด้าน เมื่อถึงวันหนึ่งเราจะสามารถนำความรู้ไปบูรณาการกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที เพราะความรู้ก็เหมือนกับขวาน ทุกคนควรลับขวานให้คมอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้พร้อมใช้งานทันที

“เพราะชีวิตออกแบบไม่ได้ แต่ถ้าเราสะสมความรู้ไว้มากพอ เราก็จะรับมือกับทุกอย่างได้”

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า