ระบบสฤษดิ์-ประยุทธ์ มอง ‘ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์’ จากอดีตถึงปัจจุบัน

ปี 2526 หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองเล่มสำคัญ ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก และในวาระการตีพิมพ์ครั้งที่​ 5​ ของ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ​มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ​จึงจัดเสวนาเพื่อทั้งทบทวนที่มาที่ไปของ ‘ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์’ ​นับตั้งแต่ ศ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนไว้จากอดีต จึงทำให้น่าสนใจว่า ปัจจุบันมุมมองต่อระบบ ‘พ่อขุนอุปถัมภ์’ ในสมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ​ธนะรัชต์ ​มาจนถึงรัฐบาล พลเอกประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ จะเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปอย่างไรภายใต้ระบอบที่เรียกอย่างง่ายว่าเป็น ‘เผด็จการ’

วีระ ธีระภัทรานนท์​

องค์​ปาฐกถาในงานเสวนาและศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์​ วีระ ธีระภัทรานนท์​ ออกตัวว่า ตนเองมาพูดในฐานะนักจัดรายการวิทยุ ไม่ใช่ในฐานะศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ และเป็นลูกศิษย์ที่เคยเรียนกับ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ โดยตรง ทั้งนี้ วีระกล่าวว่า ก็เพื่อจะได้รู้ว่านักวิชาการคิดเห็นอย่างไรอะไร เมื่อต้องพูดเกี่ยวกับระบบพ่อขุนอุปถัมภ์จากอดีตถึงปัจจุบัน

“ผมไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้พิมพ์ซ้ำดีหรือไม่ดี การพิมพ์ซ้ำมันก็บอกอะไรบางอย่าง จะว่าไปแล้วถ้าหากนับจากปี 2501 ที่มีการสถาปนาระบบเผด็จการของกองทัพโดยผ่านการรัฐประหาร เราเรียกว่า ‘ระบอบสฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส’ ครอบคลุมช่วงเวลาประมาณ 15 ปี หลังจากนั้นเรามีอีกสามระบอบ รสช. ปี 2534 ต่อเนื่องปี 2535 ระบอบ คมช. ปี 2549 ถึงปี 2550 และเรามีระบอบ คสช. ปัจจุบัน 2557 น่าจะสิ้นสุด 2562

“ในระหว่างนั้นมีสามเหตุการณ์ใหญ่ 14 ตุลา 16 มี 6 ตุลา 19 และพฤษภา 35 ไม่รวมเหตุการณ์สามครั้งที่ยังไม่มีคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ คือการชุมนุมของพันธมิตรในปี 2548-2549 การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2552-2553 รวมทั้งล่าสุด การชุมนุมปลายปี 2556-2557 ผมคิดว่าตรงนี้ยังไม่มีบทสรุปชัดเจนที่จะบรรจุเอาไว้ในคำอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้ แต่พูดแบบไม่เกรงใจก็คือว่า 60 ปีเราไม่ได้ไปไหนเลย”

ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ทำไมต้องอ่าน ‘ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’

หาก 60 ปีของการเมืองไทยนับจากปี 2501 ที่ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ได้ถูกสถาปนาขึ้นมา ข้อที่ควรคิดและตั้งคำถามต่อไปคือ แล้วทำไมคนไทยจึงควรอ่าน การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ อีกครั้งในเวลาที่ผ่านล่วงมาเท่าอายุแซยิดคนหนึ่งคน ซึ่ง ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อธิบายถึงเหตุผลว่า

“หนังสือเล่มนี้สำคัญตรงที่ทำให้เราเห็นความสำคัญว่าด้วยการแสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองของจอมพลสฤษฎิ์ หนึ่ง-ต้องทำลายความชอบธรรมของก๊กที่อยู่มาก่อนให้ได้ เนื่องจากในช่วงหลังมีการคลี่คลายและตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 แต่คำถามในช่วงหลายปีมานี้ คือในปีดังกล่าวนั้นเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกจริงหรือ ซึ่งเราจะเห็นว่า การทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้ง ต้องทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสกปรกให้ได้

“เราจะเห็นว่ากระบวนการชักนำประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้สองมหาวิทยาลัยหลักเสมอมา ซึ่งแท้จริงแล้วการโพนทะนาว่าการเลือกตั้งสกปรกนั้นเริ่มขึ้นจากหนังสือพิมพ์ของจอมพลสฤษฎิ์เอง ซึ่งก็คือ สารเสรี ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนงานที่ก้าวหน้าที่สุดลงในงานของ สารเสรี พอรัฐประหาร จิตรก็ถูกจับเข้าคุก ฝ่ายก้าวหน้าถูกทำให้เลือกข้างว่าจะอยู่ข้างไหน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น”

ดังนั้น ในมุมของธำรงศักดิ์ การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงควรอ่านเพื่อให้ยิ่งใครครวญ ยิ่งตั้งคำถาม เพื่อให้เห็นว่าจริงๆ แล้วคนที่ใช้พ่อขุนอุปถัมภ์คือ จอมพลป. พิบูลสงคราม แต่แล้วจอมพลสฤษฎิ์กลับคว้าไปเป็นระบอบของตน

“ทำไมต้องเป็นพ่อขุนอุปถัมภ์ เพราะในช่วงทศวรรษ 2490 หลังการรัฐประหาร มีความพยายามในการฟื้นฟูอดีต อะไรคือสิ่งที่เป็นสังคมอุดมคติ จึงมีการพยายามอ่านจารึกพ่อขุนรามคำแหง ในยุคนั้นจะมีศาสตราจารย์พยายามแกะเข้าไปในจารึกเพื่อดูแต่ละตัว และประโยคที่เด่นที่สุดของจารึกนี้คือ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า” มันกลายเป็นจารึกที่ถูกยกขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงบ้านเมืองดี และทำให้ผู้ปกครองอยู่ในสถานะของการเป็นพ่อขุน”

สิ่งหนึ่งที่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เขียนไว้คือ คนมักเข้าใจผิดว่าจอมพลสฤษฎิ์มีความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่จริงแล้วจอมพลสฤษฎิ์ประสงค์ถนนสะอาด คลองสะอาด แต่เรามักตีความคำว่า ‘พัฒนา’ ไปเสียใหญ่โต ในแง่เศรษฐกิจหรืออื่นๆ เราให้เครดิตกับจอมพลสฤษฎิ์มากไป

รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์

ในขณะที่ รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า มันมีเหตุผลอยู่ 2-3 ข้อที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นงานแนะนำหลักสำหรับใครก็ตามที่ต้องการศึกษาการเมืองไทย หนังสือเล่มนี้เขียนโดยคนที่เป็น ‘โอตาคุทางการเมือง’ ทั้งยังเล่าเกี่ยวกับการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ภาพของการเมืองไทยหลัง 2500-2475 ชัดเจนแบบลงรายละเอียด แตกต่างจากขนบของนักรัฐศาสตร์อเมริกัน ที่เริ่มต้นจากกรอบความคิดก่อน แล้วหาข้อมูลมาใส่ในกรอบนั้น เพื่อที่จะตอบคำถามในทฤษฎีนี้ และทฤษฎีนั้นจะต้องเปรียบเทียบกับที่อื่นได้

“แต่อาจารย์ทักษ์จะรู้หมดทุกอย่างรวบรวมหมดทุกอย่าง เขียนหมดทุกอย่างแล้ว แล้วจึง conceptualize analyze ว่าข้อมูลแบบนี้เราจะอ่านจอมพลสฤษดิ์ว่าเป็นแบบไหน ซึ่งเป็นในแง่ของพ่อขุนอุปถัมภ์ ซึ่งในแง่ของนักศึกษาการเมืองเปรียบเทียบมันเป็นลักษณะที่เฉพาะเจาะจงของไทย

“ประการที่ 2 ในแง่ของการศึกษาเปรียบเทียบ ภาวะความเป็นผู้นำแบบเอเชียที่จะต้องมีความมีเมตตาธรรม มันเป็นความเป็นผู้นำในลักษณะเฉพาะตน ไม่ใช่ความเป็นผู้นำแบบร่วมสมัย และเป็นตัวแบบที่ลงรายละเอียดมากที่สุด และความเป็นผู้นำในลักษณะนี้ตอบโจทย์สังคมการเมืองที่อ่อนแอแบบสังคมไทยได้อย่างไรในยุค 2500 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมกำลังเริ่มขึ้น แต่ภาวะการเมืองที่ไม่มั่นคง ผู้นำแบบนี้ตอบโจทย์ได้อย่างไร ทำให้เราเข้าใจกันสร้างให้สังคมอ่อนแอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันทำให้เราเห็นว่าผู้นำแบบนี้อยู่รอดในสังคมที่อ่อนแอได้อย่างไร”

ประการที่ 3 เวียงรัฐมองไปยังประเด็นความรุ่มรวยในการหาประเด็นต่างๆ ในการเมืองไทย โดยเห็นได้ว่ามีเนื้อหาและรายละเอียดจำนวนมากที่ทักษ์กล่าวถึงในการเมืองการปกครองยุคนั้น ที่แสดงถึงมรดกที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หรือประเด็นที่เกี่ยวกับ ‘สี่รัฐมนตรีอีสาน’ ที่ถูกสังหาร ระบอบนั้นทำให้คนอีสานไม่ลุกขึ้นมาสู้ได้อย่างไร

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกระบวนการทางการเมืองที่ไม่ใช่แค่จอมพลสฤษดิ์ แต่กระบวนการทางการเมืองที่หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็น ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยหลัง 2475 เมื่อสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้และทำให้การเมืองไม่มั่นคง เพื่อที่จะมีกลุ่มใหม่ๆ แทรกขึ้นมาได้ เป็นกระบวนการทางการเมืองที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่ามันเป็นบรรทัดฐานที่แปลก เราจะเห็นว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาชนชั้นนำ และความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำ เสถียรภาพ ความร่วมมือ และการสร้างพันธมิตร และก็การทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้ตัวเองได้มีอำนาจทางการเมือง”

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช

ระบบสฤษดิ์กับการเปรียบเทียบ

เพราะอยู่ในช่วงสมัยสงครามเย็น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสถาปนาระบบพ่อขุนอุมถัมภ์ขึ้นในสังคมไทยจำต้องเข้าใจเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของยุคนั้นควบคู่ไปด้วย และเครื่องมือหนึ่งในการทำความเข้าใจที่ดีที่สุดคือ การเปรียบเทียบระหว่างระบบการปกครองไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า โลกของสฤษฎิ์กับการเมืองเปรียบเทียบของนักรัฐศาสตร์ซึ่งมีทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ ซึ่งคลื่นที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับช่วงสฤษฎิ์นั่นก็คือคลื่นลูกที่สอง เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่กระนั้นย่อมมีคลื่นโต้กลับเป็นธรรมดา ซึ่งเป็นสภาวะแข็งขืนของระบอบเผด็จการ คำถามที่น่าสนใจก็คือ  ระบอบสฤษฎิ์วางอยู่ตรงช่วงเวลาไหนของคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สองในประวัติศาสตร์โลก และแสดงถึงความดื้อดึงหรือการสนับสนุนของประชาธิปไตยอย่างไร

“ซึ่ง ค.ศ 1958 ตรองกับ พ.ศ. 2501 โดยตั้งใจหรือไม่ มันเป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นโต้กลับประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์โลก ช่วงเวลาใกล้เคียงเราจะเห็นการครองอำนาจของ เนวิน (พม่า) ของ ซูการ์โน และ ซูฮาร์โต (อินโดนีเซีย) แม้กระทั่ง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (ฟิลิปปินส์) ซึ่งเป็นตัวแทนของระบอบเผด็จการ ถ้าพูดถึงคลื่นลูกที่สามที่ปีตั้งต้นคือ 1974 ปีที่กรมทหารโปรตุเกสตบเท้ากลับเข้ากรมกอง นักวิชาการรุ่นใหม่พยายามตบคลื่นลูกที่สามให้อยู่ในช่วงราว ๆ 1991 ซึ่งเป็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและสิ้นสุดของสงครามเย็น

“จุดที่น่าสนใจก็คือ ก่อนทหารโปรตุเกสจะถอนตัวกลับเข้ากรมกอง ในช่วง 1973 หรือ 14 ตุลาคม 2516 ก็มีการ deorganization เป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นลูกที่สามในประเทศไทย มันเป็นก้าวสำคัญของประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สามด้วยซ้ำ แต่ว่าหลัง 1991 ก็คือปี 2535 ประเทศไทยก็เป็นเคสสำคัญ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในกลางเดือนพฤษภา ต่อต้านการครองอำนาจของ พลเอกสุจินดา คราประยูร สะท้อนให้เห็นถึงคลื่นประชาธิปไตยสำคัญในประวัติศาสตร์โลกด้วย”

ดังนั้นในมุมของดุลยภาค การนำประวัติศาสตร์ยุคสฤษฎิ์มาวางบนคลื่นลูกที่สองและคลื่นลูกสามของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยโลก จะทำให้ได้ภาพการเปรียบเทียบแบบรวบเวลาข้ามพื้นที่ในแต่ละกรณี

ศ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ผู้เขียน ‘การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’

“ถัดมาในนักรัฐศาสตร์รุ่นกลาง วิลเลียม เคส (William Case) ศึกษาชุดจำแนกระบบการเมืองโดยเล็งไปที่ชนชั้นนำกับ mass หรือมวลชน โดยเผยออกมาสี่รูปแบบ นั่นคือ ถ้า elite มีเอกภาพ แต่มวลชนนิ่งเฉย ไม่มีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตย ผลลัพธ์ที่ได้คือ อำนาจนิยมที่มีเสถียรภาพ สองคือ ชนชั้นนำแตกคอ มวลชนนิ่งเฉย ผลลัพธ์คืออำนาจนิยมที่คงอยู่อย่างขาดเสถียรภาพ

“สามคือ มวลชนมีการเรียกร้องการเปลี่ยนผ่าน และชนชั้นนำมีเสถียรภาพ ก็จะมีการผสมผสานกันไป ซึ่งอาจนะไปสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ สุดท้ายคือ ชนชั้นนำแตกแยก และประชาชนมีความกระตือร้น สิ่งที่ได้คือประชาธิปไตยที่ขาดเสถียรภาพ ซึ่งระบอบสฤษฎิ์ในช่วงแรกๆ อาจจะอยู่ในช่วงที่ชนชั้นนำมีเสถียรภาพและมวลชนสยบยอม แต่เมื่อผ่านไป เราจะเห็นรอยปริแตก แต่มวลชนก็ยังเงียบ กระทั่งสุดท้าย มันก็เกิดการกระตือรือร้นของชุมชน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือประชาธิปไตยที่ขาดเสถียรภาพ”

ส่วนนักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ ศึกษาเผด็จการผ่านสองจุด หนึ่งคือ การแบ่งปันอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ มันมีรอยปริแยกหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหา ก็จะทำให้เผด็จการแข็งแกร่ง กับอีกประการคือ เผด็จการมียุทธวิธีในการควบคุมประชาชนอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้กำลัง และการเอาเผด็จการลงจากอำนาจ ผ่านการรวบรวมสถิติรอบโลก หนึ่ง-โดยรัฐประหารซ้อน ซึ่งมีมากที่สุด การประท้วงโดยประชาชน การเข้าสู่ประชาธิปไตยโดยการเปลี่ยนผ่านจากชนชั้นนำเอง ตามด้วยการลอบสังหารและต่างชาติรุกราน ซึ่งเคสของ จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ น่าสนใจเพราะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์เหล่านี้ แต่เป็นไปโดยประเด็นเรื่องของ ‘สุขภาพ’

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า