“ที่นี่มีคนตาย” อ่านกราฟฟิตี อ่านคำประกาศทางการเมือง

เราอาจจะนับว่าการชุมนุมในวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกของคนหนุ่มสาวที่ใช้กราฟฟิตีในฐานะเป็นคำประกาศทางการเมือง (political statement) ณ บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อตอบโต้กับปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี แก๊สน้ำตา ไปจนถึงการใช้กระสุนยางในวันที่ผ่านมา (18 พฤศจิกายน ณ แยกเกียกกาย) 

การต่อสู้ด้วยวิธีการดังกล่าวเกิดขึ้นทันทีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกันกว่า 1 แสนคนเสนอต่อรัฐสภา ทว่ากลับได้รับการปฏิเสธให้คว่ำร่างนี้จากที่ประชุมร่วมรัฐสภา   

เราอาจจะนับว่าการชุมนุมในวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกของคนหนุ่มสาวที่ใช้กราฟฟิตีในฐานะเป็นคำประกาศทางการเมือง (political statement) แต่นับเป็นครั้งที่สองที่มีการใช้พื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองผ่านการใช้กราฟฟิตีอย่างจงใจ และมีความหมายแทบจะเหมือนกับครั้งนี้ เป็นการสื่อสารอย่างไม่อ้อมค้อมไปยังผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาพอดิบพอดี 

รูปจาก Working Towards the Monarchy and its Discontents: Anti-royal Graffiti in Downtown Bangkok โดย Serhat Ünaldi

การใช้กราฟฟิตี ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองของคนที่ไร้เสียงไร้อำนาจทั่วโลก และอาจจะนับว่าเป็นอาวุธของผู้อ่อนแอ (weapon of the weak) ในสังคมที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจแตกต่างกันระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง เราอาจจะเคยผ่านตามาบ้างกับภาพกราฟฟิตีที่ผู้ชุมนุมโยนดอกไม้แทนโมโลตอฟหรือภาพของเด็กสาวปล่อยลูกโป่งให้ลอยไปบนอากาศ ซึ่งในบางกรณียังนำมาสู่การถกเถียงสาธารณะถึงปัญหาทางการเมืองได้ด้วย เช่น กรณีกำแพงกั้นเขตแดนอิสราเอลและปาเลสไตน์ ในปี 2005 และ 2007 

ในประเทศที่การครอบครองกระป๋องสีในการชุมนุมอาจจะมีความผิดมากกว่าครอบครองโคเคน เราจึงจำเป็นต้องกลับมาสำรวจคำประกาศทางการเมืองอีกครั้ง รายงานชิ้นนี้จึงชวนมองกราฟฟิตีในฐานะภาพสะท้อนของความขุ่นข้องหมองใจ ที่สถาบันทางการเมืองไม่สามารถโอบรับเสียงเหล่านั้นไว้ได้ จนพวยพุ่งออกมาให้เราเห็นกันบนท้องถนน   

ใบทความวิชาการเรื่อง Translating Thailand’s Protests: An Analysis of Red Shirt Rhetoric เขียนโดย เจมส์ บูแคแนน (James Buchanan) นักวิชาการผู้ศึกษาสังคมการเมืองไทยโดยเฉพาะยุคการเมืองสีเสื้อ ตีพิมพ์ในวารสาร Austrian Journal of South-East Asian Studies เมื่อปี 2013 กล่าวถึงภาษาของคนเสื้อแดงที่เปลี่ยนแปลงหลังการสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 

ในช่วงเวลานั้น นอกจากแกนนำของการต่อสู้จะถูกจับไปเป็นจำนวนมาก ยังมีมวลชนถูกกวาดล้างไปกว่า 2,000 คน ล้มตายอีกถึง 91 คน ภายใต้การอ้างอำนาจของพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการทำความสะอาดคราบเลือด ‘บิ๊กคลีนนิ่งกรุงเทพฯ’ ครั้งใหญ่ ทำให้เสียงของขบวนการเสื้อแดงเงียบหายไประยะหนึ่ง แต่ก็ยังมีมวลชนเสื้อแดงกลุ่มย่อยที่นำโดยนักกิจกรรมอย่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมอีกครั้ง 

รูปจาก Working Towards the Monarchy and its Discontents: Anti-royal Graffiti in Downtown Bangkok โดย Serhat Ünaldi

หลังจากนั้นราวๆ 4 เดือน เมื่อคนเสื้อแดงที่รอดชีวิตจากการถูกปราบปราม กลับมารวมตัวกันยังบริเวณที่เป็นทุ่งสังหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2553 ครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ปรากฏการต่อสู้โดยใช้กราฟฟิตีแทนคำประกาศทางการเมืองเพื่อแสดงความโกรธแค้นต่อการถูกปราบปรามโดยรัฐ 

บูแคแนนได้เข้าไปเก็บข้อมูลการวิจัยผ่านการสังเกตการณ์ และแปลความหมายทางการเมืองของคนเสื้อแดงและคนที่เกลียดชังคนเสื้อแดง เขาพบว่าความหมายทางการเมืองที่เกิดขึ้นของคนเสื้อแดงในช่วงเวลาหลังการล้อมปราบมีความหมายที่คลุมเครือมากขึ้นที่สุด นับตั้งแต่ขบวนการคนเสื้อแดงก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2550 

งานชิ้นนี้โต้แย้งคำอธิบายทั่วไปที่สร้างความเข้าใจผิดๆ ว่าขบวนการเสื้อแดงเป็นมวลชนจัดตั้งโดยนักการเมือง และมีลักษณะการสั่งการแบบบนลงล่าง โดยใช้เกณฑ์ของการก่อเกิดของแกนนำใหม่อย่างสมบัติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ (organic) ของขบวนการเสื้อแดง 

เขาได้ไปพิจารณาคำประกาศทางการเมืองที่คลุมเครือนั้น ซึ่งมีลักษณะถอนรากถอนโคนมากขึ้น หนึ่งในเหตุการณ์ที่กราฟฟิตีปรากฏขึ้นสั้นๆ ในวันที่ 19 กันยายน 2553 เมื่อบูแคแนนกำลังทำงานอยู่ย่านราชประสงค์ ซึ่งเต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าและโรงภาพยนตร์ชั้นนำและทันสมัยที่สุดในประเทศไทย 

คนเสื้อแดงกลับมารวมตัวในวันนั้นและร่วมกันตะโกนคำว่า “ที่นี่มีคนตาย” เพื่อยืนยันว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่กี่เดือนก่อนมีคนเสื้อแดงมือเปล่าถูกสังหารไปจำนวนมาก รวมถึงการประท้วงโดยวาดชอล์กเป็นรอยคนบนพื้นกลางสยามสแควร์ เสมือนจำลองเหตุการณ์การเสียชีวิตของคนเสื้อแดง สร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนแก่กลุ่มคนที่สัญจรผ่านไปมา

ในขณะที่ป้ายอื่นๆ บนสี่แยกราชประสงค์ขณะนั้นกลับเต็มไปด้วยคำโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาทิ ‘รวมกันเราทำได้’ ที่คนเสื้อแดงนำอักษรบางคำมาแปะทับเพื่อต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ กลายเป็นคำว่า ‘รวมกันเราฆ่าได้’ แทน 

แม้จะเพิ่งผ่านเหตุการณ์สังหารประชาชน บรรยากาศขณะนั้นกลับเต็มไปด้วยความชื่นมื่นร่าเริง บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์มีการสร้างอนุสรณ์โดยรัฐและเอกชนย่านนั้น เพื่อเปิดให้ประชาชนเขียนข้อความไว้อาลัยโรงหนังสยาม แสดงความรักต่อในหลวง และรำลึกถึงห้างสรรพสินค้าที่ไฟไหม้ไป (หมายเหตุ-คำพิพากษาตอนหลังระบุว่าไม่ใช่ฝีมือของคนเสื้อแดง) 

บางข้อความคร่ำครวญถึงลานเบียร์เซ็นทรัลเวิลด์ที่จะไม่เปิดให้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึง รวมถึงนักเรียนคนหนึ่งบ่นว่า “คิดถึงคลาสซ้อมเต้น” ผู้คนที่ผูกพันกับบริเวณราชประสงค์มองว่าความสุขของพวกเขาหยุดชะงักลงไปจากการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดง บางคนใช้พื้นที่กำแพงอนุสรณ์นี้ละเลงคำด่าทอ-เกลียดชังต่อคนเสื้อแดง ในขณะเดียวกันก็มีบางคนเข้าไปเขียนข้อความรำลึกถึงผู้เสียชีวิต ประณามรัฐบาลและกองทัพที่ใช้กำลังกับคนเสื้อแดง 

หลายข้อความจากหลากทัศนคติถูกเขียน และถูกลบอย่างโกรธเกรี้ยวโดยกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย ทำให้พื้นที่ของกราฟฟิตียิ่งสะท้อนความขัดแย้งทางความคิดที่มากขึ้นหลังการสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 ผ่านพ้นไป คล้ายว่าอนุสรณ์ที่เปิดให้ประชาชนเขียนข้อความนั้นคือวงดีเบตย่อยๆ ท่ามกลางความขัดแย้งภาพใหญ่ในประเทศ

กระทั่งในวันที่ 19 กันยายน 2553 คนเสื้อแดงตัดสินใจจะ ‘ทวงคืนพื้นที่’ ราชประสงค์ด้วยการจัดชุมนุม แล้วถมพื้นที่ดังกล่าวให้เต็มไปด้วยภาพกราฟฟิตีและข้อความทางการเมืองต่างๆ มากมาย เช่น ‘ไอ้เหี้ยสั่งฆ่า’ ‘ปลาวาฬอมเพชร’ ฯลฯ ข้อความหลักๆ มุ่งโจมตีบทบาทของสถาบันกษัตริย์จนคนที่บังเอิญเดินผ่านมาอ่านต้องอ้าปากค้าง หนึ่งในนั้นมีข้อความระบุว่า ‘เราไม่เอา 112’ วิพากษ์วิจารณ์ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่คนเสื้อแดงมองว่ามาตรานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือรังแกประชาชนที่เห็นต่าง เนื่องจากมีโทษรุนแรงถึงจำคุกสูงสุด 15 ปี นอกจากนี้ยังมีข้อความ ‘ไอ้บอด’ และ ‘ฆาตกร’ 

การทวงคืนพื้นที่ ‘ราชประสงค์’ ในวันนั้น ถูกตีความหมายว่าเป็นการทวงคืน ‘พระประสงค์ของพระมหากษัตริย์’ ให้กลับมาเป็น ‘ราษฎรประสงค์’ หรือประสงค์ของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นการท้าทายอำนาจของสถาบันกษัตริย์อย่างยิ่ง จึงน่าเสียดายแต่ไม่น่าแปลกใจที่กว่าบูแคแนนจะเดินทางกลับไปเอากล้องถ่ายรูปมาบันทึกภาพกราฟฟิตีเหล่านี้เก็บไว้ ข้อความเหล่านั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่ลบออกอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ปฏิบัติการของคนหนุ่มสาวที่ต้องการขับไล่รัฐบาล ได้ย้อนภาพของบาดแผลทางการเมืองที่ด้านหนึ่งยังไม่ถูกสะสางไป แต่อีกด้านก็ดูเหมือนแผลนั้นจะซ้ำรอยและฉีกขยายออกไปมากยิ่งขึ้น และเหตุการณ์เมื่อครั้งก็นานพอจนถึงวันนี้ 

นานเสียจนกระทั่งว่าเด็กสาวที่เขียนคำคิดถึง ‘คลาสซ้อมเต้น’ วันนั้น อาจจะเติบโตมาเป็นหญิงสาวที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ นำเสนอข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 2563 อย่างแจ่มชัด จนเขียนคำประกาศทางการเมืองในวันนี้ที่ต่างจากเดิมราวฟ้ากับดิน 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า