สำนักพิมพ์ WAY of BOOK และภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของ ศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ ภายใต้คำอธิบายโดย รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหลักสำคัญๆ ของการจัดงานเสวนาในวันนี้ นอกจากเป็นการเปิดตัวหนังสือของวีระแล้ว ยังถือว่าเป็น tradition จารีต และประเพณีของการศึกษาทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของคณะรัฐศาสตร์ที่วางอยู่บนรากฐานสำคัญสามประการ
- การสร้างความรู้จากการพัฒนาการของรัฐ รวมถึงการปกครอง และผลที่สืบเนื่องจากผลของการพัฒนาการของรัฐต่อสังคม และระหว่างรัฐในภูมิภาคต่างๆ
- ความรู้ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
- การสร้างความรู้จากทฤษฎีปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดนำเสวนาไว้ว่า หนังสือ ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของ วีระ สมบูรณ์ เล่มนี้ ใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าแล้วเขียนเป็นเวลากว่าสิบปีจึงเสร็จสมบูรณ์ โดยไชยวัฒน์กล่าวว่า แรกเริ่มตนเองนั้นเคยมีความสนใจเขียนหนังสือว่าด้วยทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นกัน แต่เมื่อได้อ่านต้นฉบับของงานชิ้นนี้ก่อนตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มแล้ว ไชยวัฒน์ก็รู้สึกว่าตนเองโชคดีที่ตัดสินใจไม่เขียนออกมา เพราะต่อให้ใช้เวลาทั้งชาติก็คงไม่สามารถเขียนออกมาได้ดีเท่าที่วีระได้เขียนออกมาแล้ว
เพราะอาจารย์วีระได้สกัดเอาความคิดหลักๆ ของนักวิชาการ นักปรัชญาการเมืองของโลกมาไว้ในเล่มนี้ อาจารย์ได้ทำไว้ดีกว่าแม้แต่ตำราวิชาการในต่างประเทศหลายๆ คน และผมมีความคิดว่าถ้าหนังสือเล่มนี้ของอาจารย์วีระมีโอกาสได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศก็อาจได้รับการบรรจุให้เป็นหนังสือที่นักศึกษาต่างประเทศได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจ เชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“แต่อย่างไรก็ตาม-เขาเตือนว่า-อย่าตัดสินหนังสือเพียงแค่อ่านจากปกหน้าหรือปกหลัง แต่วันนี้ท่านที่จะมาร่วมเสวนาในวันนี้ ทุกท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้มา เดี๋ยวท่านจะมายืนยันหรือไม่ยืนยัน ผมไม่แน่ใจนะครับว่าสาระของหนังสือเล่มนี้มันสะท้อนข้อสรุปสำคัญของหนังสือเล่มนี้หรือไม่”
ผู้เข้าร่วมเสวนาในลำดับแรกมาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง กล่าวว่า โดยปกติการเขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองจะถูกเขียนขึ้นในสองลักษณะคือ เขียนในเชิงคอนเซ็ปท์ในเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ แล้วค่อยนำเอาความคิดของนักคิดต่างๆ มาบรรจุอยู่ภายใต้หัวข้อที่ว่านั้น กับเขียนออกมาตามนักคิดรายนั้นเป็นคนๆ ไปก็ได้ หากทว่าเมื่อเทียบหนังสือกับงานจากต่างประเทศแล้ว ไชยันต์พบว่า เวลาเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองที่มีนักคิดหลายๆ คนมักจะให้มีบรรณาธิการหนึ่งคน แล้วเชิญคนที่เชี่ยวชาญทฤษฎีในด้านต่างๆ มาเขียน ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาปรัชญาการเมืองของ โจเซ็ฟ คร็อปซีย์ กับ ลีโอ สเตราส์ เป็นบรรณาธิการ โดยมี สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นผู้แปล
“ในเล่มนั้นเราจะพบว่ามีคนเขียนที่เชี่ยวชาญในแต่ละนักคิด เพราะว่าคนคนเดียวจะเชี่ยวชาญนักคิดทุกคนเป็นเรื่องที่ยากมาก การเขียนหนังสือของอาจารย์วีระ 10 กว่าปีทำให้นึกถึงคำกล่าวของ ศาสตราจารย์อลัน ไบรอัน ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด อาจารย์ไบรอันเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัตินักคิดทางการเมืองนะครับ สองวอลลุ่มใหญ่ๆ รวมๆ กันแล้วก็เกือบพันหน้านะครับ เขาเขียนเป็นลำดับคนจนถึงปัจจุบัน เขาใช้เวลา 30 กว่าปีถึงจะเขียนออกมา
เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มนี้ เวลามีนักเขียนเหมาคนเดียวเลย เขียนตั้งแต่นักคิด ธูซิดิดีส มาถึง มาร์กซ์ เลย ซึ่งเป็นงานหนักมาก อันนี้ถือว่าต้องพิจารณาให้เห็นถึงภาระอันยิ่งใหญ่ที่ผู้เขียนต้องแบกรับ
อีกส่วนหนึ่งไชยันต์กล่าวว่านอกจากการต้องพิจารณาถึงภาระของผู้เขียนในการสะสางให้เห็นถึงทฤษฎีการเมืองนับตั้งแต่ยุคกรีกแล้ว การพิจารณาหนังสือเล่มนี้ของวีระยังอิงอยู่กับหนังสือทฤษฎีการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถูกเขียนขึ้นในประวัติศาสตร์แวดวงวิชาการที่ผ่านมาของไทยเองด้วย เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของหนังสือเล่มนี้ของ วีระ สมบูรณ์ อยู่ตรงไหนในแวดวงวิชาการไทย
โดยไชยันต์บอกเล่าต่อว่า จากการตรวจสอบ หนังสือเล่มแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหนังสือของวีระ ชื่อ การเมืองระหว่างประเทศ ของ ณรงค์ สินธุ์สวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตีพิมพ์ในปี 2511 เล่มต่อมาตีพิมพ์ในปี 2514 ของ กระมล ทองธรรมชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตรงกับช่วงที่ไชยันต์เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือแทบไม่มีผลงานวิชาการที่ผลิตออกมาโดยมีความใกล้เคียงกับสิ่งที่วีระได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้เลย
“หนังสือทั้งหมดนี้พยายามจะอธิบายว่าการเมืองระหว่างประเทศคืออะไร แต่ไม่ค่อยมีทฤษฎีแบบที่อาจารย์วีระเขียน อย่างเช่นงานของอาจารย์กระมลก็จะพูดถึง balance of power theory system theory ซึ่งเป็นทฤษฎีเชิงประจักษ์อะไรก็ว่าไป แต่มันไม่ใช่ทฤษฎีการเมืองแบบของอาจารย์วีระ ในหนังสือของ อาจารย์ณรงค์ สินสวัสดิ์ มีบทหนึ่งที่พูดถึงศีลธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการถกเถียงในเชิงปรัชญาว่าตกลงแล้วความถูกต้องความยุติธรรมคืออะไร เป็นแต่เพียงสรุปว่าในการเมืองระหว่างประเทศมันไม่มีศีลธรรม ซึ่งเป็นข้อสรุปแบบสัจจะนิยม
“หนังสือรุ่นเก่ามักจะหนีไม่พ้นเรื่องดุลของอำนาจ ไม่มีเหมือนในหนังสือที่อาจารย์วีระมี โดยหนังสือของอาจารย์วีระจะเอาปมปัญหา หรือประเด็นปัญหาทั้งหมด ซึ่งจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไม่ทราบ แต่เมื่ออ่านบทนำหนังสือของอาจารย์วีระแล้วจะเข้าใจย้อนหลังไปเลยว่าที่เขียนมาทั้งหมดตั้งแต่ 2511 คืออะไร อยู่ภายใต้กรอบอะไร”
อธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไชยยันต์บอกว่าหนังสือของวีระเล่มนี้เป็นการอธิบายความคิดของนักคิดแต่ละคนนับตั้งแต่ยุคกรีกว่ามีความเป็นโครงสร้างนิยม constructivist ซึ่งไม่เคยปรากฏมีงานวิชาการด้านทฤษฎีการเมืองเล่มไหนเคยทำมาก่อน
จักรวาลทัศน์สองแบบ
“ถ้าอ่านงานของธูซิดิดีส ( Thucydides’) ทั้งหมดจะเห็นว่ามันมีตัวแบบอยู่ประมาณสามหรือสี่แบบจากการตีความของอาจารย์วีระ แบบแรกเรียกว่าแบบของความปั่นป่วน อันที่สอง-แบบของอำนาจ อันที่สาม-แบบของความพอดี ผมอ่านแล้วก็ เออ…จริง แบบของความปั่นป่วน เพราะยุคสมัยกรีก ทำสงครามกันมาก ธูซิดิดีสต้องการเขียนให้เห็นถึงความปั่นป่วนระหว่างประเทศ และแบบแผนของการใช้อำนาจของที่เอเธนส์ใช้ และแบบของความพอดี ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายสาธารณะแน่นอน และสิ่งที่อาจารย์วีระหยิบยกเอาการเจรจาของชาวมีเดียนขึ้นมานี่นะครับ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมผมไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อนเลย”
ไชยันต์สางประเด็นที่ตนเห็นว่าไม่เคยในงานวิชาการด้านทฤษฎีการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอธิบายต่อในมุมที่ช่วยคลี่บางเรื่องที่คิดว่าเข้าใจดีแล้ว กลับพบอีกแง่มุมที่ต่างออกไปจากหนังสือเล่มนี้ โดยไชยันต์กล่าวต่ออีกว่าเวลาอ่านการเจรจาระหว่างชาวมีเดียน เราจะเข้าใจว่าอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ และอำนาจเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ทุกอย่าง และเราไม่ค่อยใส่ใจบทบาทของมีเดียนท่าไหร่
“แต่อาจารย์วีระบอกว่าเราสามารถมองเห็นจักรวาลทัศน์สองแบบที่ขัดแย้งกันและสะท้อนอยู่ในบทเจรจาของชาวมีเดียนอันนี้ แบบแรกคือจักรวาลทัศน์อำนาจแบบเอเธนส์ แบบที่สองคือจักรวาลทัศน์ที่ยึดมั่นกับความยุติธรรมในแบบที่พูดอย่างไทยๆ ก็คือว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ทั้งสองแบบนี้ อาจารย์วีระบอกว่าตัวแสดงคือรัฐสองแบบ คือทั้งแบบของมีเดียนและแบบของเอเธนส์ ล้วนแต่เป็นตัวแบบของการสุดโต่ง สุดโต่งแบบเอเธนส์ก็คือว่าอำนาจคือความถูกต้องตลอด และใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์ อย่างไม่มีข้อจำกัด ส่วนมีเดียมก็อยู่ในลักษณะของการตั้งรับจนเกินไป ไม่มีความพอดีที่จะสามารถรักษารัฐไว้ได้ ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว”
จากตัวแบบทั้งสองนี้นำมาสู่บทเรียนที่ไชยยันต์มองว่าเราได้จากธูซิดิดีสคือความพอดีในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเมื่อมองกลับมายังโลกในปัจจุบันยังความยุ่งเหยิงที่กระจายตัวไปทั่วโลก เป็นไปได้ไหมที่เกิดขึ้นจากการที่มหาอำนาจของโลกทำอะไรที่เกินตัว เกินขอบเขตของประเทศตัวเองเกินไปใช่ไหม ขณะที่อีกบางประเทศก็ตั้งรับจนกลายเป็นความแน่นิ่งเกินไปใช่หรือไม่?
อีกประเด็นที่อาจารย์วีระเขียนไว้ในส่วนของธูซิดิดีส คือทางเลือกบนทางสองแพร่งที่เลือกยากระหว่างการยอมเอเธนส์ หรือเลือกที่จะต่อสู้ ซึ่งทางสองแพร่งที่ว่านี้ไม่เพียงอยู่ในระบบความคิดของธูซิดิดีสเท่านั้น แต่ยังอยู่ในระบบความคิดของนักคิดหลายต่อหลายคนในยุคกรีกอีกด้วย
โดยความคิดของนักคิดคนสำคัญๆ ของกรีกที่ไชยันต์นำมาอธิบายก็คือ เฮราคลิตุส (Heraclitus) ซึ่งอธิบายว่าความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชนชั้นล่างอันนำไปสู่ตัวแบบของความยุติธรรมแบบที่สามที่ต้องใช้เสียงของมหาชนกลายเป็นทางเลือกที่จะปล่อยให้ชนชั้นสูงแก้ปัญหากันเอง หรือชนชั้นล่างจะไม่ยอมอีกต่อไป
ขณะที่นักคิดคนที่สองคือ โสเครติส (Socrates) ที่มองว่าตกลงจะให้เลือกมวลชนอย่างเดียวใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นความเป็นปัจเจกชนอยู่ที่ไหน ความถูกต้องในการเลือกของปัจเจกอยู่ตรงไหน โสเครตีสจึงเขียนบทกวีเพื่อยืนข้างปัจเจกชนที่ยอมไม่ได้กับการตามเสียงข้างมาก เพื่อยืนยันในเรื่องปัจเจกชนเสรีภาพที่จะยอมหักไม่ยอมงอ เป็นวีรบุรุษปัจเจก ยอมตาย
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมประทับใจในงานของอาจารย์วีระ คือทำให้ผมได้เห็นนักคิดกรีกในแง่มุมที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้ธูซิดิดีสมีความชัดเจน ถ้าคุณไปดูหน้าสุดท้ายของธูซิดิดีสในหนังสือของวีระ คุณจะเห็นว่าธูซิดิดีสไม่ได้เป็นแค่ realism นะ แต่เป็น constructivist ด้วย”
ในส่วนของผู้ร่วมเสวนาอีกคน ซึ่งออกตัวว่ายอมที่จะไม่ไปร่วมงานครบรอบคณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งที่ตนเองสอนอยู่ที่นั่น แต่เลือกมางานเปิดตัวหนังสือของวีระเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวอันแนบแน่นเนิ่นนานกว่า 50 ปี รศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา บอกว่างานเล่มนี้ของวีระ “ทำให้คนรุ่นหลังลำบากฉิบหาย” เพราะถ้าหากนักวิชาการรุ่นหลังเอาหนังสือเล่มนี้เป็นตัวตั้งในเรื่องของการศึกษาผลงานของนักคิด ธเนศจึงจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในฐานะผู้อ่าน ที่จะทำหน้าที่วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ของวีระ
“โดยส่วนตัวนะครับ ผมไม่มีปัญหาอะไรกับคอนเซ็ปท์หรือการเขียนงานในลักษณะแบบนี้เพราะว่าอย่างที่อาจารย์ไชยันต์พูด คนที่ได้อ่านมาแล้วก็อาจจะคุ้นเคยกับความคิดของนักคิดในหนังสือเล่มนี้ ผมอยากมองงานชิ้นนี้ว่าเป็นงาน secularize theory มากๆ ซึ่งสำหรับผมไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เพราะว่าอาจารย์ส่วนใหญ่จะมองในลักษณะแบบนี้ ไม่เพียงแต่ secularize เท่านั้นยังมีแนวโน้มที่จะเอียงข้างโปรแตสแตนท์เยอะมาก”
โดยมุมมองของธเนศเกี่ยวกับงานของวีระเล่มนี้คือการยกมุมมองในเรื่องที่คนยุโรปมีสิทธิ์อะไรในการเข้าไปยึดแผ่นดินของคนนอกยุโรป นอกจากนี้ ในทัศนะของโปรแตสแตนท์ยังก่อให้เกิดลักษณะของแนวคิดที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ขึ้นมาอีกด้วย จนมาถึงการเปลี่ยนผ่านในปลายศตวรรษที่ 16 ในเรื่องของเมืองการค้า โดยธเนศกล่าวว่าผมไม่ได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์งานของวีระ แต่หากใครคิดจะเขียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ควรจะฉีกตัวเองออกจากแนวทางของคอนเซ็ปท์ที่วีระได้เขียนไว้
ย้อนดูคลิปวิดีโอวงเสวนา ‘ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ ได้ ที่นี่