112 (again) in Your Area: เมื่อรัฐหยิบอาวุธเดิมมาปราบปรามประชาชน

หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ประกาศความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรับมือการชุมนุม โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินคดีต่างๆ

น่าจับตาอย่างใกล้ชิดว่า หนึ่งในตัวบทที่จะถูกนำกลับมาใช้ในการดำเนินคดีกับประชาชนอีกครั้ง คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหาษัตริย์ฯ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา รายงานสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงการตั้งข้อหาดำเนินคดีต่อประชาชน ในฐานความผิดด้านความมั่นคงในมาตราอื่นแทน เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 เป็นต้น

เช่นเดียวกัน พลเอกประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์ต่อเรื่องนี้ไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา รับสั่งไม่ให้ใช้ ‘ม.112’ แต่คนรุ่นใหม่ยังไม่สำนึกและยังออกมาเคลื่อนไหว” บางตอนของการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นระบุว่า

“สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องสำนึก เรื่องการบิดเบือนสถาบัน มีกฎหมายมาตรา 112 ใช่หรือไม่ และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ใช่ไหม สิ่งที่อยากจะบอกคนไทยทุกคน วันนี้จะเห็นได้ว่ามาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้แล้ว แล้วคุณก็ละเมิดไปกันเรื่อยเปื่อยอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร คุณต้องการอะไร วันนี้ผมจำเป็นต้องพูด เพียงเพราะผมต้องการให้บ้านเมืองสงบ เข้าใจไหม”

เดิมที นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 คณะรัฐประหารให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด เห็นได้จากที่หลังการยึดอำนาจมีการประกาศให้การดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นนโยบายหลักที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน นำมาสู่การดำเนินคดีต่อบุคคลถึง 162 คน หนึ่งในกรณีที่น่าจดจำในรัชสมัยปัจจุบัน คือการดำเนินคดีกับ ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่แชร์บทความพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ จากเว็บไซต์ข่าวบีบีซีไทย

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นกระแสการดำเนินคดีกับประชาชนด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็มีแนวโน้มลดลงไป และปรากฏชัดขึ้น ในคำสั่งด่วนที่สุดที่ อส 0007 (อก)/ว54 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เรื่อง แนวปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กำหนดให้พนักงานอัยการต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาคดีความผิดตามมาตรา 112 ทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็นในคดีนี้ ทำให้คดีนี้มีแนวโน้มการสั่งฟ้องที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยในภายหลังพบว่ามีความพยายามแจ้งข้อหาในหมู่ประชาชนอยู่บ้าง แต่ไม่เคยมีกรณีสั่งฟ้องจากอัยการ โดยเข้าใจว่ามีแนวปฏิบัติที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตามมีผู้ที่ถูกตั้งข้อหาในความผิดตามมาตรานี้ เลือกเดินทางออกนอกประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยอยู่ไม่น้อยและเผชิญกับความเสี่ยงในดินแดนที่ไม่รู้จัก เนื่องจากว่ามีความกังวลว่าจะถูกดำเนินคดีและไต่สวนตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ แต่ก็มีคดีความบางส่วนที่ผู้ถูกตั้งข้อหาไม่ได้หลบหนีและรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีในชั้นศาล

รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยเปิดเผยไว้ว่า เฉพาะปี 2561 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ทั้งการแทบไม่มีคดีใหม่ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรานี้ขึ้นสู่ศาล และการยกฟ้องคดีข้อหานี้หลายคดีที่ยังดำเนินอยู่ในชั้นศาล โดยเฉพาะที่ถูกพิจารณาโดยศาลพลเรือน

ตัวอย่างคดีที่สำคัญ เช่น อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ส. ศิวรักษ์ หลังจากที่เขาได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือกรณีมีการยกฟ้องแม้ว่าผู้ถูกดำเนินคดีจะรับสารภาพไปแล้ว อย่างกรณีของ ทอม ดันดี อดีตแนวร่วม นปช. และนักร้องเพลงเพื่อชีวิต ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 มาก่อนหน้านี้

รวมไปถึงกรณีศาลพิพากษายกฟ้องข้อหา 112 แต่ลงโทษด้วยข้อหาอื่นแทน เฉกเช่นที่เกิดขึ้นกับ นายประเวศ ประภานุกูล ทนายความผู้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในคดีธุรกิจหลายต่อหลายคดี เขาถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊คหลายข้อความ

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างบางส่วนของการเปลี่ยนแนวปฏิบัติในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แน่นอนว่าข้อความจากแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ว่า “รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจําเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่”

อาจจะมีส่วนผลักให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากว่าการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล ผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของประชาชนคนหนุ่มสาวกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น และเกิดขึ้นเพียง 1 วันหลังจากที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ลงชื่อร่วมกันกว่า 1 แสนคน

การเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลในช่วงเวลาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ยืนยันให้เราเห็นว่าลำพังกฎหมายที่ใช้ตั้งข้อกล่าวหากับผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนั้นมีเป็นจำนวนมากแล้ว สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือ แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีฉบับนี้อาจจะเปิดโอกาสให้มีการกลั่นแกล้งผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่เป็นกลไกหนึ่งในการครองอำนาจของรัฐบาล

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า