นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของเหมืองแร่โปเเตช จังหวัดอุดรธานี ว่า ได้นัดหมายให้ผู้แทนของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในช่วงบ่ายของวานนี้ (26 กรกฎาคม 2565) เพื่อเข้ามาลงนามทราบเงื่อนไขประทานบัตรในโครงการเหมืองแร่โปแตช หลังจากวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ มีมติเห็นชอบการอนุญาตประทานบัตรดังกล่าวแล้ว บนพื้นที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา ตามคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่ 1-4/2557 จำนวน 4 แปลง
อธิบดี กพร. กล่าวว่า ภาครัฐได้กำหนดมาตรการอย่างชัดเจนให้เอกชนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการจัดการกับเกลือที่ขุดขึ้นมาในขั้นตอนการทำเหมืองไม่ให้มีการรั่วไหลไปสู่ภายนอก และเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ แล้ว เกลือทั้งหมดจะถูกนำกลับลงไปอยู่ในโพรงใต้ดินที่มีการขุดเอาแร่ออกมา
“เกลือที่เอาขึ้นมาตอนที่ผลิตโปแตชฯ ในช่วง 5 ปีแรกนั้น จะถูกนำมากองไว้บนพื้นดินเหนียวหนาบดอัดหนาเป็นเมตร แล้วใช้แผ่นวัสดุกันซึม HDPE วางรองพื้นที่อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น การรั่วไหลของเกลือออกสู่ภายนอกจะไม่มี ขณะที่เกลือซึ่งมีลักษณะเป็นเกล็ดที่เอาออกกองไว้นั้นจะไม่ปลิวไปไหน จากนั้นในปีที่ 6 จะมีการเอากองเกลือทั้งหมด จะเอากลับลงไปอยู่ข้างล่าง ทำให้เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ จะไม่มีกองเกลืออยู่บนพื้นที่ดินเลย”
นิรันดร์ ยังระบุว่า น้ำที่ใช้ในโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี นั้น ผู้ประกอบการจะต้องจัดหาน้ำเพื่อใช้หมุนเวียนในโครงการเองทั้งหมด โดยการขุดบ่อประมาณ 5 บ่อ ปริมาณน้ำรวม 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่ไปกระทบน้ำของชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนมาตรการเฝ้าระวังไม่ให้มีการรั่วไหลของเกลือออกมายังพื้นที่นอกโครงการ กพร. จะมีการขุดบ่อสังเกตการณ์ทั้งในและนอกพื้นที่โครงการ รวมทั้งมีคณะกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย
ส่วนการยื่นหนังสือคัดค้านการออกประทานบัตรต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และยื่นต่อ กพร. ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีนั้น นิรันดร์ กล่าวว่า
“เรารับทราบและส่งหนังสือชี้แจงกลับไปแล้ว ด้วยโครงการนี้เขาปฏิบัติถูกต้อง นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อีกหลายๆ ขั้นตอน แต่ท้ายที่สุดประเทศไทยจะได้ผลิตปุ๋ยโปแตช โดยคนไทย บริษัทไทยแล้ว”
สำหรับการทำเหมืองแร่ ตามกฎหมายแล้วจะต้องมีการตั้งกองทุนเยียวยาและชดเชยให้กับชุมชนโดยรอบ โดยเงินเยียวยาก้อนแรก 1,200 ล้านบาท จะจ่ายเป็นรายปี 24 งวด จะเริ่มจ่ายงวดแรกภายใน 3 เดือน งวดแรกร้อยละ 10 ส่วนงวดที่เหลือจะแบ่งสัดส่วนเท่ากัน ขณะเดียวกันยังมีกองทุนพัฒนาอื่นๆ อีกตลอดอายุสัมปทาน 25 ปี รวมแล้วจะใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่บริษัทฯ จะได้ อาจไม่ใช่เพียงแค่การทำเหมืองแร่โปแตชตามคำขอประทานบัตรทั้ง 4 แปลงดังกล่าว แต่ยังมี ‘แหล่งอุดรเหนือ’ ที่คาดว่าพบแร่โปแตชในเชิงพาณิชย์แล้วในปริมาณใกล้เคียงกับแหล่งอุดรใต้ และยังสามารถครอบครองพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ ไว้ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว เพื่อหาประโยชน์ในการขอสัมปทานสำรวจและผลิตแร่โปแตชและแร่ชนิดอื่น ในพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ ได้อีกยาวนานด้วย เพราะเป็นสัญญาสัญญาเป็นนิรันดร์กาล
สำหรับ ‘สัญญานิรันดร์กาล’ ที่เลิศศักดิ์กล่าวถึง มีชื่อทางการว่า ‘สัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี’ เป็นสัญญาที่ให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 2,333 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.5 ล้านไร่ เพื่อเปิดโอกาสให้ ‘บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด’ ดำเนินการ ‘สำรวจ’ และ ‘ผลิต’ แร่โปแตช หรือแร่ชนิดอื่นๆ ได้อีกหากสำรวจพบ ซึ่งเป็นการทำสัญญาจับจองพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการ ‘สำรวจ’ และ ‘ผลิต’ หรือทำเหมืองแร่ล่วงหน้าไว้ก่อน ทั้งที่ยังไม่ได้รับอาชญาบัตรให้สำรวจแร่และประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่แต่อย่างใด
ซึ่งหากค้นดูในรายละเอียดของกฎหมายแร่ทั้งฉบับเก่า (พระราชบัญญัติแร่ ปี 2510) และฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติแร่ ปี 2560) จะพบว่า ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดเลยที่อนุญาตให้ทำสัญญาลักษณะดังกล่าว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นระบบสัญญาผูกขาดโดยสมบูรณ์ ซึ่งครอบลงไปในระบบสัมปทานอีกชั้นหนึ่ง
เลิศศักดิ์จึงตั้งคำถามตามมาว่า การให้ประทานบัตร จำนวน 4 แปลง บนพื้นที่กว่า 26,446 ไร่ ในครั้งนี้ เป็นคำขอที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่