เส้นทางอำนาจ กกต. จากผู้อำนวยความสะดวกเลือกตั้ง สู่ ‘พลังใบ’ ยับยั้งนักการเมืองทุจริต

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระที่เพิ่งเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีหน้าที่ควบคุม ดำเนินการ และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม 

ที่ผ่านมา การจัดเลือกตั้งในประเทศไทยนับจากการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 เป็นหน้าที่ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มาโดยตลอด จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติให้ตั้ง กกต. ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งโดยตรง เนื่องจากหากปล่อยให้การเลือกตั้งอยู่ในมือของฝ่ายบริหาร อาจเกิดการบิดเบือนผลเลือกตั้งได้ง่าย

จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กกต. ชุดแรกในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ควบคู่ไปกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการจัดตั้ง สำนักงาน กกต. ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของ กกต. โดยมีเลขาธิการ กกต. เป็นผู้รับผิดชอบงานและดูแลบังคับบัญชาพนักงานในสังกัดส่วนภูมิภาค และกำหนดให้มีการแต่งตั้ง กกต. ประจำจังหวัดขึ้นในทุกจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย

นอกจากหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง กกต. ยังมีเครื่องมือทางกฎหมายที่เรียกว่า ‘ใบเหลือง’ หรือการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หากพบหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง แต่เป็นการกระทำของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัคร หรือไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับผู้สมัคร โดยผู้สมัครเดิมยังลงเลือกตั้งใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม มีปัญหาการร้องเรียนจำนวนมาก จนต้องจัดเลือกตั้งใหม่ซ้ำๆ หลายรอบ จึงมีการออก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 เพิ่มมาตรา 85/1-85/10 ให้ กกต. มีสิทธิเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครเป็นเวลา 1 ปี หรือที่เรียกว่า ‘ใบแดง’ ในกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนว่า การทุจริตมาจากผู้สมัครเอง หรือผู้ที่เชื่อมโยงกับผู้สมัคร

ในช่วงทศวรรษ 2540 ยุครุ่งเรืองทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกล่าวหาว่า ทักษิณชนะเลือกตั้งเพราะการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการโกงเลือกตั้ง กกต. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบจึงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการทุจริตด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากนายถาวร เสนเนียม ส.ส. ประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องต่อศาลว่า กกต. ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบโดยเอื้อประโยชน์ให้พรรคไทยรักไทย กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2549 ศาลอาญาได้ตัดสิน กกต. 3 คน ได้แก่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และ นายวีระชัย แนวบุญเนียร ให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และพ้นจากตำแหน่ง กกต. ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ภายหลังการรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) กกต. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้รับการเสริมเขี้ยวเล็บมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่ป้องปรามการทุจริตของนักการเมือง อาทิ การเพิ่มโทษใบแดง จากเดิมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 1 ปี เป็น 5-10 ปี และในกรณีที่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครที่ได้รับใบแดงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตามที่ กกต. กำหนด 

กรณีสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าใบแดงมีโทษรุนแรงขึ้นคือ การตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนในปี 2551 จากกรณีที่รองหัวหน้าพรรคอย่าง นายยงยุทธ ติยะไพรัช โดนแจกใบแดงจากการทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย

เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจในปี 2557 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มีการประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง 2561 โดยเพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 เป็น 7 คน และยังแก้ไขคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. เพิ่มเติม เช่น ไม่เคยต้องโทษจำคุกเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นต้น

ภายใต้กฎหมายฉบับปัจจุบัน แม้ กกต. จะถูกถอดเครื่องมือบางชิ้นออก เช่น ไม่อาจแจกใบแดงเองได้โดยตรง ต้องยื่นคำร้องถึงศาลฎีกา เพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนฯ แต่กฎหมายกลับยื่นเครื่องมือชนิดอื่นแก่ กกต. ได้แก่ ‘ใบส้ม’ และ ‘ใบดำ’

‘ใบส้ม’ ให้อำนาจ กกต. ระงับสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามออกจากการเลือกตั้งชั่วคราว ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง ในกรณีที่ผู้สมัครคนนั้นชนะการเลือกตั้ง กกต. สามารถสั่งยกเลิกการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ ส่วนกรณีที่แพ้เลือกตั้ง คะแนนที่ได้จะไม่ถูกนำไปคิดเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งนี้ คำสั่งของ กกต. ถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้

ใบส้มได้สำแดงเดชเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 เมื่อ กกต. สั่งเพิกถอนสิทธิ นายสุรพล เกียรติไชยากร พรรคเพื่อไทย ผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งอันดับ 1 ของการเลือกตั้ง ส.ส. เชียงใหม่ เขต 8 ด้วยคะแนน 52,165 คะแนน เป็นการชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ของนายสุรพลเข้าข่ายความผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (2) จากกรณีจ่ายค่าบูชาเทียนเพื่อทำบุญวันเกิด จำนวน 2,000 บาท และให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นชนะการเลือกตั้ง ก่อนจะเกิดตำนาน ‘งูเห่า’ ภาคใหม่ในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม นายสุรพลสู้คดีและฟ้องร้องกลับ กระทั่งในปี 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้วินิจฉัยว่า นายสุรพลไม่มีความผิด พร้อมสั่งให้ กกต. จ่ายเงินเยียวยาพร้อมดอกเบี้ยแก่นายสุรพล 70 ล้านบาท

อีกหนึ่งอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของ กกต. ในการสั่งประหารชีวิตทางการเมือง ได้แก่ ‘ใบดำ’ หากผู้สมัครรายใดถูกศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จะทำให้ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งใดๆ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นตลอดไป กล่าวคือ หากผู้ใดได้รับใบแดงก็จะอาจทำให้ได้รับใบดำไปด้วยโดยอัตโนมัติ

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า