มีตัวละครหนึ่งใน เล็กเซี่ยวหงส์ ตอน หมู่ตึกภูตพราย ชื่อ ต๊กโกวมุ่ย มันคือ ลักชิงปุกยิ่ง (ไม่นับญาติ)
เนื่องเพราะมันไม่นับญาติมันจึงตายแล้ว คนที่ตายแล้วย่อมมีหนทางเดียวคือไปหมู่ตึกภูตพราย
ระหว่างทางมันพานพบเล็กเซี่ยวหงส์ เล็กเซี่ยวหงส์ไม่เคยได้ยินว่ามีญาติ แต่เพราะมันถูกพบนอนเตียงเดียวกันกับภริยาของไซมึ้งชวยเสาะ มือกระบี่ไร้ใจอันดับหนึ่ง เล็กเซี่ยวหงส์จึงมีหนทางเดียวคือเป็นคนที่ตายแล้ว คนที่ตายแล้วเหลือหนทางเดียวคือไปหมู่ตึกภูตพราย
วันครอบครัวเป็นวันที่ทุกคนควรได้กลับไปอยู่กับครอบครัวมิใช่ไปหมู่ตึกภูตพราย แต่ไฉนสมัยใหม่จึงดูเหมือนคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งคล้ายๆ จะไม่ (อยาก) นับญาติ สู้เป็นคนที่ตายแล้วสะดวกใจกว่า
ผมไม่เคยเห็นงานวิจัยที่บอกว่าการฆ่าตัวตายสูงขึ้นในวันปีใหม่เมือง วันตรุษจีน หรือวันคริสต์มาส แต่ในเวชปฏิบัติส่วนตัวจะไม่ลดยาผู้ป่วยจิตเวชก่อนวันสำคัญทางครอบครัวเหล่านี้ และเตรียมรับมือผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบหลังจากกลับไปรวมญาติ
ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบรวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชเองก็ไม่ทราบ วันครอบครัวมิใช่วันแห่งความสุขสำหรับทุกคนเสมอไป
อย่างเบาะๆ คือ ไม่มีใครอยากฟังคำถามต่อไปนี้ เรียนจบหรือยัง ทำงานหรือยัง แต่งงานหรือยัง และเมื่อไหร่จะมีลูก โดยที่แต่ละคำถามถามเหมือนแผลงศรทีเดียวได้นก 3 ตัว ผู้ถูกถามหนึ่ง พ่อแม่ของผู้ถูกถามอีกสอง เช่น คำถามเมื่อไหร่จะมีลูก มักกระทบชิ่งไปโดนอีกสองคนด้วยคำถามที่ว่า “เมื่อไหร่จะได้อุ้มหลานน่ารักๆ”
“ใครเขาอยากจะมีลูกให้ลำบากเหมือนที่พวกคุณทำบ้างล่ะ” หนุ่มสาวรุ่นใหม่อาจจะอยากถามคืน แต่ยั้งปากไว้ทันเพราะเป็นวันครอบครัวนะเนี่ย
แต่เพราะยั้งปากไว้นั่นแหละ พอกลับจากวันรวมญาติจึงต้องรีบมาพบผมโดยด่วน นี่ถ้าปล่อยออกไปบ้างก็รอดไปแล้ว
นอกเหนือจากโครงสร้างสังคมที่ไม่เอื้อต่อการมีลูกแล้ว วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผู้ป่วยจิตเวชด้วย พบบ่อยๆ ที่โต๊ะทำงานของผมเองมี 2 พวก
พวกแรกคือ ‘อะไรๆ ก็กู’
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มาหาจิตแพทย์เพราะแบกภาระคนทั้งบ้านเกินทน ทั้งพ่อแม่พี่น้องตัวเองและพ่อแม่พี่น้องของแฟน (ไม่ระบุเพศ) ตัวเองเป็นคนเดียวที่ไปทำงานต่างแดน (เมืองใหญ่หรือประเทศอื่น) จึงมีรายได้สูงกว่าพี่น้องที่ทำนาแถวนี้เป็นอันมาก แรกๆ ที่ได้ส่งเงินมาบ้างเป็นเพราะกตัญญู ครั้นนานไปกลายเป็นหน้าที่ เพราะภาระนี้ไม่มีวันหมดสิ้นเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสังคมของบ้านเราไม่มีอะไรดีขึ้นเลย พ่อแม่พี่น้องแถวนี้ไม่มีเงินจริงๆ (ก็อย่าซื้อปิกอัพหรือมือถือสิ!)
อีกพวกหนึ่งคือ ‘ทำเท่าไหร่ก็ไม่ดีพอ’
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ภาระไม่มากเท่าพวกแรก บางคนไม่มีอะไรเลยด้วยซ้ำไป เหตุที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้รู้สึกกดดันเพราะบังเอิญเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นพิษ (toxic parents) กล่าวคือเรียกร้องจากลูกสูง คาดหวังลูกสูง พ่อแม่ต้องมาก่อนเมียหรือผัวหรือคู่รักเสมอ เมื่อไหร่ที่ลูกขัดใจจะออกอาการป่วยจริงป่วยจังให้ดู (แล) ทุกครั้งไป
เท่านี้ยังไม่พอ พ่อแม่เป็นพิษนี้ยังมีความสามารถทำให้ลูกรู้สึกผิดได้ด้วยว่าความทุกข์ของพ่อแม่เกิดเพราะลูกเป็นต้นเหตุ หรือเป็นเพราะลูกรักผัวหรือเมียหรือคู่รักมากกว่าพ่อแม่ ที่จริงนี่เป็นพ่อแม่ที่มีพยาธิสภาพทางจิต
อย่างไรก็ตาม พยาธิสภาพทางจิตเช่นนี้ถูกขับเน้นให้เห็นชัดมากขึ้นในบางวัฒนธรรมที่ ‘ความอกตัญญูเป็นบาปยิ่งใหญ่’
ในสังคมผู้สูงอายุ เราพบผู้ป่วยกลุ่มที่สามมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เรียกพวกนี้ว่า ‘เพราะมีเราเหลืออยู่คนเดียว’
คำอธิบายคือไม่ช้าก็เร็วพ่อแม่ที่แก่ชราไม่เส้นเลือดสมองแตกเป็นอัมพาตก็ต้องสมองเสื่อมในวัยชราหรือเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย (ที่นานจังเพราะการแพทย์ยืดให้ได้เรื่อยๆ) จึงต้องมีคนหนึ่งอยู่โยงดูแลพ่อแม่ แล้วบังเอิญเป็นเรา ครั้นดูคนเดียวสัปดาห์ละ 7 วัน ต่อให้มีเงินจ้างพี่เลี้ยงช่วงกลางวันแล้วตัวเองมานอนกับพ่อแม่ด้วยตอนกลางคืนก็ตาม ไม่ช้าก็เร็วก็จะได้มาพบจิตแพทย์ เพราะภาระการดูแลผู้สูงอายุคนเดียว 7 วันนี้ไม่ใช่ของหมูๆ บางคนไม่เพียงออกแรงตลอด 7 วันแต่ออกเงินด้วย เหตุเพราะพี่น้องที่อยู่ไกลแต่ละคนมีครอบครัวของตนเอง มีลูกมีผัวมีเมียของตนเอง ใครๆ ก็ชักหน้าไม่ถึงหลังกันทั้งนั้น ไม่สามารถหรือแกล้งลืม ไม่ส่งเงินมาช่วยคนอยู่โยงเฉย เรียกว่าแรงก็ไม่ออกเงินก็ไม่จ่าย เช่นนี้คนที่บ้านย่อมบ้าลูกเดียว
หากเราพิจารณาผู้ป่วยทั้งสามพวกแล้วจะพบว่า มีตัวร่วมอยู่ข้อหนึ่งจริงนั่นคือความกตัญญู
“ผู้มีเงินมากต้องจ่ายมาก”
“หากรักพ่อแม่ต้องตามใจพ่อแม่ทุกอย่าง”
และ “ลูก 7 คนพ่อแม่เลี้ยงได้ นี่พ่อแม่คนเดียวทำไมเราจะดูไม่ได้ (เล่า!)”
ความกตัญญูกลายเป็นภูเขาลูกใหญ่ที่ลูกๆ สมัยนี้ (ซึ่งบางคนอายุ 60) แบกรับไว้ไม่สิ้นสุด
ถามว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร คำตอบง่ายมากเลย
“ความกตัญญูก็เป็นเรื่องของรัฐด้วย” คือคำตอบสุดท้าย
อันที่จริง ต๊กโกวมุ่ย-ไม่นับญาติ มิใช่จู่ๆ ก็ต้องไปหมู่ตึกภูตพราย ที่แท้มันล่วงเกินหลานสะใภ้ถึง 2 คน เล็กเซี่ยวหงส์ถูกพบบนเตียงนอนร่วมกับภริยาไซมึ้งชวยเสาะดังที่ยุทธภพรับรู้กันทั่วไป หนทางของมันทั้งสองจึงต้องตายสถานเดียว
จะเห็นว่า ‘ความไม่นับญาติ’ มิใช่ความผิดในตัวเอง การละเมิดบรรทัดฐานของสังคมต่างหากที่เป็นความผิด
บางครอบครัวอาจจะเป็นพิษ คนที่มีสุขภาพจิตดี มีความมั่นคง ไม่อ่อนไหวง่าย จะเป็นตัวของตัวเองได้ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษนั้น กล่าวคือแม้ว่าสังคมใหญ่ก็เป็นพิษ ครอบครัวก็เป็นพิษ แต่เราไม่จำเป็นต้องถูกพิษ
หลักการพื้นฐานทางจิตวิทยาข้อหนึ่งคือ เราควรเป็นผู้คุมบางส่วนของชีวิตได้บ้าง มิใช่ยกชีวิตให้คนอื่นจนหมดสิ้น
แม้แต่ ‘ปริมาณของความกตัญญู’ เราก็ควรเป็นผู้กำหนด เพราะที่แท้แล้วเราเป็นผู้ใหญ่ (adult)
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าหากสังคมใหญ่ไม่เอื้อ เราผู้เดียวก็กำหนดชีวิตตนเองได้ยาก วันครอบครัวจึงไม่ควรเป็นเพียงวันหยุดให้ผู้คนได้กลับไปหาครอบครัว แต่เป็นหน้าที่ของรัฐด้วยที่จะช่วยให้วันครอบครัวผู้คนสามารถเดินทางกลับบ้านได้ด้วยรถไฟความเร็วสูง และมีเงินกลับไปให้ทางบ้านด้วยความเบิกบานใจ