มีคำถามเป็นระยะๆ ว่าเพจเลี้ยงลูกสำหรับชนชั้นกลางที่เขียนกันอยู่นี้ ชนชั้นล่างได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด อย่าว่าแต่ชนชั้นล่างเลย ชนชั้นกลางระดับล่างได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด
แนะนำกันดีนักให้พ่อแม่อ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง
ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางระดับล่างจะเอาเวลาก่อนนอนที่ไหนมาอ่านนิทานให้ลูกฟัง ลำพังฝ่าการจราจรถึงบ้าน ลำพังลูกๆ กว่าจะทำการบ้านที่โรงเรียนมอบหมายให้เสร็จก็ล่วงเลยเวลานอนมากแล้ว
ชนชั้นค่าจ้างรายวันได้ค่าแรงวันละ 300 บาท สตรีได้น้อยกว่านี้ จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อนิทานเล่มละ 100-200 บาทมาอ่านให้ลูกฟัง ช่างเป็นคำแนะนำที่เหลวไหลสิ้นดี
และสุดท้าย ชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลางระดับล่างจะมีกี่คนเชียวที่มาอ่านเพจของคุณหมอ (เช่นผม เป็นต้น)
ก่อนที่เราจะมาทบทวนครอบครัวไทย ขอทำความกระจ่างเรื่องชนชั้นก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางระดับล่าง การพูดเรื่องนี้ในบ้านเราอาจจะก่อให้เกิดกระแสดราม่าได้ไม่ยาก ดังนั้นจะพูดเรื่องประเทศอังกฤษแทน
ชนชั้นกลางระดับสูงในอังกฤษซื้อของในเวทโรส ชนชั้นกลางระดับกลางซื้อของในเซนสเบอรี ชนชั้นกลางระดับล่างซื้อของในเทสโก้ เป็นต้น ส่วนชนชั้นล่างหรือชนชั้นสูงซื้อของที่ไหน ขออนุญาตไม่เขียนเพราะอาจจะเกิดดราม่าข้ามประเทศได้เหมือนกัน แต่เรื่องนี้สนุกดีถ้าเราจะลองนึกภาพดูว่าชนชั้นอะไรของบ้านเราเข้าห้างไหน บนถนนอะไร หรือสาขาอะไร เป็นต้น
พฤติกรรมเป็นตัวกำหนดชนชั้นได้มากกว่ารายได้เสียอีก แต่ความข้อนี้ใช้ไม่ได้กับทุกเรื่องหรือทุกประเทศ เช่น พฤติกรรมการซื้อรถยนต์ในบ้านเราดูเหมือนจะไม่บอกอะไรเท่าไรนัก เป็นต้น
เรารู้กว้างๆ ว่าครอบครัวไทยไม่เหมือนเดิม แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ตัวเลขที่ชัดเจน ตัวเลขต่อไปนี้ได้จาก UNFPA ท่านที่สนใจแผ่นพับสวยๆ สามารถหาดูได้ที่ Thailand.UNFPA.org
จากปี 2533-2553 จำนวนครัวเรือนประเทศไทยเพิ่มจาก 12.3 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 4.4 คน เป็น 20.3 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 3.1 คน จะเห็นว่าตัวเลขจำนวนคนต่อครอบครัวเท่ากับ 3 คนนี้เป็นตัวเลขที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว มิใช่เพิ่งเกิด ความหมายคือเด็กอัลฟ่าที่เกิดในประเทศไทยปี 2010 หรือ 2553 คือเด็กที่อยู่ในบ้านที่มีคน 3 คนจริงๆ ส่วนที่ว่าสิบปีถัดมาจะเป็นอย่างไรเอาไว้ก่อน
พัฒนาการของเด็กอัลฟ่าประเทศไทยตั้งแต่เกิดถึงวันนี้ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงดู 2 คนเป็นส่วนมากดังที่ทุกคนคาดการณ์ได้ คำถามคือ 2 คนไหน?
ข้อมูลปี 2556 จากแหล่งเดียวกัน ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวร้อยละ 7.1 ครอบครัวพ่อแม่ลูกร้อยละ 26.6 ครอบครัวข้ามรุ่นร้อยละ 2.1 และครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติร้อยละ 0.6 นี่พูดถึงเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรเท่านั้น พูดง่ายๆ ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของเด็กไทยยังเติบโตมากับครอบครัวพ่อแม่ลูก ตัวเลขนี้ไม่แย่ แปลว่าพ่อยังมีความสำคัญสูงมากอยู่ในสังคมไทย หากเพจเลี้ยงลูกจัดการพ่อได้ย่อมมีผลกระทบ
ชวนให้นึกถึงเพจหนึ่งที่มักเขียนแต่คำว่าแม่ (เช่นผม เป็นต้น)
ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวร้อยละ 7.1 นี้ก็เป็นตัวเลขไม่น้อยเลย เป็นไปตามที่เพจเลี้ยงลูกเพจหนึ่งให้ความสำคัญเสมอ กล่าวคือหากประคองชีวิตสมรสไปไม่รอดก็ไม่ต้องประคอง เกิดเป็นหญิงมีงานมีเงินเลี้ยงลูกเองสบายกว่ามาก ดีกว่าต้องหาเงินและพลีกายเลี้ยงผู้ชายอีกคนหนึ่งที่ไม่ช่วยอะไรเลย
เป็นที่น่าสงสัยว่าเพจนี้รักสถาบันครอบครัวมากเพียงใด
ร่ายยาวมาถึงตรงนี้เพื่อจะพูดเรื่องสามเหลี่ยมครอบครัว
โครงสร้างครอบครัวที่แข็งแรงคือรูปสามเหลี่ยมที่ได้สมดุล พ่อแม่รักกันมากที่สุด และมากกว่าที่แต่ละคนรักลูก ด้วยวิธีนี้พ่อและแม่จะรวมเป็นหนึ่งเสมอ สั่งสอนอะไรลูกก็ฟัง ง่ายๆ เท่านี้เอง
หากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งไม่รักลูก หรือรักลูกมากกว่าคู่สมรส น้ำหนักของสามเหลี่ยมจะเอียงไปข้างหนึ่ง ก่อให้เกิดพยาธิสภาพของครอบครัวได้หลายรูปแบบ ที่สำคัญคือสอนอะไรลูกก็จะเริ่มไม่ฟัง
หากคู่สมรสปรับตัวเข้าหากันได้คือดีที่สุด สมมุติว่าพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วทำไม่ได้ การแยกกันส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของลูกมากกว่าการทะเลาะกันทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำร้ายร่างกายกันสามารถสร้างพยาธิสภาพทางจิตให้แก่ลูกได้ไม่ยาก
เมื่อกลายเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว รูปสามเหลี่ยมจะหายไป โครงสร้างครอบครัวจะเหลือเพียงเส้นตรงเส้นเดียวที่ขีดจากพ่อหรือแม่มาหาลูก จบข่าว ง่ายดี
พยาธิสภาพครอบครัวที่พบบ่อยคือพ่อหรือแม่ใช้ลูกเป็นผู้ส่งสาร กล่าวคือมีอะไรไม่พูดกันตรงๆ แต่ฝากลูกไปบอก ด้วยวิธีนี้ลูกจะตกที่นั่งรับผิดชอบภารกิจที่ไม่มีวันชนะ ทำไปมากเท่าไรก็มิได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและแม่ดีขึ้น ความผิดทั้งปวงจะตกอยู่กับตัวลูกเองในที่สุด เขาจะแบกรับบาปที่พ่อแม่ก่อนี้ไปอีกนาน
ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมิได้มีผลเสียต่อการพัฒนาผ่านปมอิดิปัส (Oedipus complex) จิตวิเคราะห์เขียนว่าเด็กชายอายุ 4-5 ขวบจะหลงรักแม่แล้วทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เขาจะเกลียดพ่อและหาทางกำจัด แต่เขาจะทำไม่สำเร็จไม่ว่าจะพยายามมากเพียงใดก็ตามเนื่องจากแม่รักพ่อมาก สุดท้ายเขาจะก้าวผ่านปมอิดิปัสด้วยการพัฒนาตนเองให้เหมือนพ่อ ด้วยการรับเอาบุคลิกภาพและบรรทัดฐานทางจริยธรรมของพ่อมาเป็นของตน สำหรับเด็กหญิงเป็นไปในทิศทางตรงข้ามเพิ่มเติมด้วยปมอิจฉาองคชาติ (Penis Envy) สำหรับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถเป็นได้ทั้งพ่อและแม่ในบุคคลเดียวกัน
พ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจึงมิใช่ปัญหา ปัญหาจะเกิดขึ้นด้วยกรณีเดียวคือ ‘ท่านไม่มีอยู่จริง’