ฝุ่นควันมาเยือนกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการวันที่ 14 ธันวาคม ด้วยตัวเลข AQI และ PM2.5 ที่น่าตกใจ สูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แม้ว่าจะยังไม่สูงมากเท่ากับที่เชียงใหม่ เชียงรายและภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดประสบใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีที่แล้วที่ตัวเลข AQI ทะลุมาตรวัดหรือสูงกว่า 900 อยู่หลายวัน
ผมเขียนเรื่องฝุ่นควันตอนที่ 1 เผยแพร่บนเพจของตัวเองตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เวลานั้นฝุ่นควันยังปกคลุมเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอนหนาแน่น ที่เชียงใหม่มองไม่เห็นดอยสุเทพ ที่เชียงรายมองไม่เห็นดอยนางนอน ที่ปายมองไม่เห็นเมือง ภาพหนึ่งในความทรงจำคือเพลิงไหม้ที่ห้วยทรายมาน บริเวณจุดชมงดงามวิวโค้งน้ำโขงระหว่างเชียงแสนและเชียงของ เป็นภาพที่สวยงามมากด้วยฝีมือคุณหมอท่านหนึ่งที่เชียงของ แต่ก็นำมาซึ่งความเศร้าด้วย
ตอนที่เขียนเรื่องฝุ่นควันใหม่ๆ มีความตั้งใจตั้งแต่วันแรกว่าจะเขียนจนกระทั่งควันจาง ท้องฟ้าแจ่มใส และผู้คนเลิกพูดถึง สำนักข่าวและเพจต่างๆ จะหยุดให้ข่าว นักวิชาการจะหยุดพูด พอฝุ่นจางก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เหตุที่ทำนายได้เพราะเป็นเช่นนี้มา 10 ปี เป็นอย่างน้อย ไม่มีเหตุผลที่จะไม่เป็นในปีที่ 11 นั่นคือทุกคนจะหยุดพูดเมื่อฝุ่นหายไป
เหตุที่จำได้ว่าเป็น 10 ปี เพราะลูกคนเล็กจากจังหวัดเชียงรายไปเรียนที่ไกลเมื่อปี 2010 นึกดีใจว่าเขาออกจากพื้นที่ทันเวลา ระยะเวลา 10 ปีนี้นับเฉพาะที่ฝุ่นควันหนา แต่ที่จริงสถานการณ์เริ่มส่อเค้าว่าจะเกิดภัยพิบัติเริ่มมาตั้งแต่ปี 2007 เหตุที่จำได้เพราะนั่นเป็นปีที่ลูกคนโตจากไปเรียนที่ไกลเช่นกัน ก่อนหน้าปี 2007 ชาวบ้านทั้งเชียงรายเผาใบไม้หน้าบ้านกันเป็นธรรมดา ฟ้าหลัวทุกหน้าร้อน เมื่อฝนมาก็หายไป
ตอนที่เริ่มเขียนใหม่ๆ หาข้อมูลหรือข่าวมาเขียนง่าย เพราะมีให้อ่านทุกวันบนเฟซบุ๊ค ครั้นฝุ่นจางเริ่มไม่มีอะไรจะเขียน จึงสั่งหนังสือ 2 เล่มจากแอมะซอนมาอ่านแล้วเขียน
เล่มแรกเป็นสถานการณ์ในอังกฤษ อ่านแล้วเข้าใจเรื่องพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่ามลพิษทางอากาศและสาเหตุ เล่มที่สองเป็นรวมงานวิจัยเรื่องผลกระทบของฝุ่นควันต่อสุขภาพจากจีน เล่มหลังนี้หนา ปกแข็ง แจกแจงผลกระทบต่อร่างกายทุกระบบพร้อมเอกสารอ้างอิงนับพันรายการ พูดง่ายๆ ว่าใครไม่เชื่อไปหาอ่านต่อเอง
นั่งอ่านและนั่งแปลหนังสือ 2 เล่มนี้เขียนเรื่องฝุ่นควันทุกคืนตอนดึกๆ หลังจากดูหนังจบแล้ว ง่วงเท่าไรก็ต้องอ่านและเขียน อันนี้เป็นวินัยในตัวเอง แต่ก็ยอมรับว่าบางคืนง่วงมากจนเขียนไม่ละเอียด เอาแค่คร่าวๆ ก็พอเพราะทำนายได้ว่าไม่มีใครอ่าน
แรงจูงใจที่เขียนมีข้อเดียวคือจะพูดเรื่องนี้ทุกวันจนกว่าควันจะมา
แล้วในที่สุดควันก็มา เสียงคนกรุงเทพฯ ที่โกรธแค้นดังกระหึ่มอีกรอบหนึ่ง หลังจากที่เคยเป็นเช่นนี้ไปแล้วเมื่อปลายปี 2562 อะไรทำนองนี้เป็นไปแบบที่เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนและภาคเหนือตอนบนเป็น นั่นคือเราจะบ่นกันปีละครั้งจนกว่าควันจาง แล้วทุกอย่างจะเลือนหายไป
สาเหตุใหญ่ๆ ของฝุ่นควันเกิดจากการเผารายย่อย การเผารายใหญ่ การจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม แต่โดยรวมๆ แล้วเราจะพูดถึงและโจมตีการเผารายย่อยมากที่สุด ได้แก่ เผาใบไม้ในบ้าน เผาป่าเอาเห็ด เผาที่นาเตรียมเพาะปลูก ชนชั้นกลางในเมืองจะโจมตีชาวบ้านและชาวนาผู้เผาเสมอๆ ในขณะที่มีการพูดถึงเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์รายใหญ่น้อยมาก คือเรื่องข้าวโพดและอ้อย ที่จริงแล้วรอบปีที่ผ่านมาไม่มีใครพูดถึงเลยอย่างน่าแปลกใจ หรือว่าที่จริงประเทศเราเลิกปลูกอ้อยกับข้าวโพดกันแล้ว
อีก 2 เรื่องก็แทบไม่มีใครพูดถึงเลยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจราจร ทั้งที่หากอ่านงานวิจัยจากอังกฤษและจีนพบว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่โตมาก ทำคนตายนับแสนต่อปีโดยไม่รู้ตัว สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทุกครั้งที่มีคนพูดถึงจะมีใครบางคนออกมาบอกว่าโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้มาตรฐานและมิใช่สาเหตุของฝุ่นควันแล้วเรื่องก็จบไป
ปีที่ผ่านมาผมไปชลบุรีและระยอง 2 ครั้ง กลางปี 1 ครั้ง ปลายปี 1 ครั้ง ฝุ่นควันมัวมากทั้งสองครั้ง ยืนที่ชายทะเลก็ยังมืดมัว เปิดแอพฯ ดูค่า AQI น่าตกใจ
โดยสรุป ชาวบ้านและชาวนาดูเหมือนจะเป็นจำเลยมากที่สุด
“ไม่เผาไม่ได้หรือ” เราไปถามชาวนา
“พวกคุณหยุดใช้รถยนต์กับหยุดเปิดแอร์ได้ไหม” เขาตอบกลับมา
บทสนทนานี้มิใช่การหาเรื่องกัน แต่เป็นบทสนทนาที่จริงมากและน้อยคนจะยอมรับหรือยอมเข้าใจ เราขอให้เขาหยุดใช้ชีวิต เขาก็ขอให้เราหยุดใช้ชีวิตเช่นกัน
สำหรับเรื่องสุขภาพ ผมเขียนทุกวันหลายเดือนมาก เขียนไปๆ ก็ไม่ค่อยจะเชื่อว่าอะไรจะขนาดนั้น ถ้างานวิจัยจากอังกฤษและจีนเป็นความจริง จำนวนคนตายที่รายงานมากเท่านั้นจริงๆ ทำไมเรามองไปรอบข้างไม่เห็นใครตายสักคน นี่คือเรื่องสำคัญที่ช่วยให้กลไกทางจิตประเภท “เรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา” ทำงานได้ทุกปี พอควันจางเรื่องจึงสงบได้ทุกครั้งเพราะเรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา แต่พอควันมาเราก็สลบอีกทุกทีไป กลายเป็นมหกรรมบ่นฝุ่นควันระดับชาติประจำปีที่ดูตลกดี มันตลกเพราะเราทำกันแบบนี้ได้ทุกปีจริงๆ ด้วย
อะไรต่อไปนี้จริงและเยอะมากด้วย ได้แก่ ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกคลอดก่อนกำหนด โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หอบหืด ปอดอักเสบ และมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคสมองขาดเลือด เหล่านี้เป็นเรื่องจริงและทำคนตายก่อนกำหนดนับล้านคนทั่วโลกจริง หมายถึงพิสูจน์ได้ว่ามันเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศจริงๆ
พออ่านแล้วกลไกทางจิต “เรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา” ก็ทำงานทันที ผมเชื่อว่าชายไทยวัยกลางคนและหญิงไทยสูงอายุจำนวนมากตายเพราะมลพิษทางอากาศเป็นความจริง และเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วด้วย
เรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา เป็นแฟนตาซี เป็นกลไกป้องกันตัวทางจิตที่อยู่ในจิตใต้สำนึก เพราะมันอยู่ในจิตใต้สำนึกเราจึงต้องไม่รู้ว่ามันอยู่ แล้วเราก็สูดดมฝุ่นควันค่าฮาร์ซาดัสสีม่วงเข้มกันได้โดยไม่สะทกสะท้านทุกปีๆ
ผมรับราชการมานานพอที่จะพูดได้ว่ากลไกราชการแก้ปัญหานี้ไม่ได้แน่ เราพร้อมจะพยักหน้าว่าทำได้ทุกเรื่องทั้งที่ในความเป็นจริงเราทำมิได้ แต่เพื่อให้รัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงหรืออธิบดีสบายใจ เราจะพูดว่าทำได้ทุกที พอสุดท้ายทำไม่ได้เราก็เพียงพูดว่า “เหอ ทำไมอย่างนั้นล่ะ” แล้วเรื่องจะจบไป เพราะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดีไม่มีใครยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตัวเองไม่มีปัญญา ท่านทั้งสามก็พร้อมจะกลบความล้มเหลวที่เกิดขึ้นประจำปีด้วยการไม่สืบสาวเอาความและเลิกพูดจนกว่าจะถึงปีต่อไป
เราเรียกกลไกทางจิตนี้ว่า undoing กล่าวคือกระทำอะไรบางอย่าง เช่น ‘เลิกพูด’ แล้วเรื่องนั้นจะปลาสนาการหายไปได้เอง หรือ ‘ทำป้ายคัทเอาต์ตัวเองพูดเท่ๆ’ สักป้าย แล้วฝุ่นควันจะปลาสนาการหายไป
ให้กำลังใจคนกรุงเทพฯ ทุกท่าน อีกไม่นานเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนและภาคเหนือตอนบนก็จะพบชะตากรรมเดียวกันเป็นปีที่ 14 แม้ว่าสภาลมหายใจเชียงใหม่ได้พยายามทำงานอย่างหนักมาตลอดทั้งปีและริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ กับวิธีการใหม่ๆ ได้จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงปีแรกเท่านั้น หากการกระจายอำนาจจัดการไม่เป็นจริง ทำนายได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้น่าจะไม่ดีดังที่คาดหมาย
แล้วทุกอย่างจะกลับไปที่เดิมในปีที่ 15