เด็กๆ ในเมืองสีฝุ่น: ต่อให้ขยันหมั่นเพียรจนตาย เดินอย่างไรก็ไม่ถึงดวงดาว 

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

“เมืองสีฝุ่น ฉันเกิดในเมืองสีฝุ่น”

หนังสือนิทานเล่มนี้น่าจะใช้ชื่อว่า ‘เมืองสีฝุ่น’ มากกว่าชื่อ ‘เดินไปดวงดาว’ เพราะผมรู้สึกมาตลอดว่าตัวเองเกิดในเมืองสีฝุ่น คือจังหวัดพระนครเมื่อตอนต้นศตวรรษ ความทรงจำที่มีคือเป็นเมืองที่ไม่น่ารื่นรมย์ มิใช่เพราะเมืองไม่สวย แต่เพราะได้รู้เห็นความยากลำบากของพ่อแม่ตั้งแต่แรก

จำได้ว่าเคยมีศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่งเขียนต่อว่ากรุงเทพฯ เสียๆ หายๆ ครั้งนั้นไม่พอใจและโกรธที่มีใครมาว่าบ้านของเรา แต่ที่จริงเมืองเกิดของเราก็ไม่น่าอยู่จริงๆ นั่นแหละ คนเยอะ รถติด ท่อน้ำไม่สะอาด สายไฟรกรุงรัง คลองมีน้ำเน่า ฟุตบาธไม่มีให้เดิน ถึงมีบ้างก็เดินยาก ที่จำได้มากที่สุดคือเข้าออกบ้านยาก จะไปโรงเรียนต้องตื่นตีห้า นั่งสองแถวจากในซอยออกไปที่ตลาด รอรถเมล์ที่คนแน่นเป็นปลากระป๋อง สมัยนั้นรถเมล์ยังไม่มีประตู ผู้คนยังโหนรถเมล์กันเป็นชีวิตธรรมดา – ordinary life แม่สั่งห้ามเรื่องโหนรถเมล์จึงไม่เคยทำยกเว้นครั้งเดียวที่ถ้าไม่ทำก็ไปโรงเรียนไม่ทันแน่

ตอนเย็นสาหัสกว่าตอนเช้า เมืองสีฝุ่นมีฝุ่นมากมาย เรายืนอัดเป็นปลากระป๋องบนรถเมล์ รถติดไม่ขยับ มองลงไปเห็นรถเก๋งแต่ละคันมีคนนั่งคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ แม้จะเป็นนักเรียนก็อดถามมิได้ว่าทำไมไม่แบ่งให้เรานั่งบ้าง เป็นคำถามซื่อๆ ที่มิได้เกิดจากความอิจฉาเพราะจะว่าไปชีวิตก็ไม่ได้ลำบากอะไร พวกเราอยู่ได้ คือชีวิตธรรมดา – ordinary life  

นั่นแหละครับ ประเด็น!

จะว่าไปผมไม่เคยรู้สึกว่าชีวิตลำบาก พ่อแม่ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนบางเทอม เลิกเรียนต้องช่วยพ่อแม่ขายน้ำ ยืนบนรถเมล์เบียดเสียดผู้คนไปเรียนหนังสือทั้งไปกลับ มีบ้านเป็นห้องแถวแบบที่ใครๆ เขาก็อยู่กัน พ่อแม่เล่นแชร์ไปเรื่อยๆ จึงส่งลูกสามคนเรียนหนังสือจบได้หมดทุกคน นี่เป็นชีวิตปกติ – ordinary life ตัวเองไม่เคยรู้จักชีวิตที่นอกเหนือจากนี้เพราะไม่เคยเห็น

“ความหนักของเป้และรองเท้า คือเครื่องวัดว่าเราจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ไหม” เป็นคำพูดหนึ่งในหนังสือเล่มนี้

ก็จริงอีก ผมจำไม่ได้ว่าใครบ้างบอกอะไรคล้ายๆ กันแบบนี้ พ่อกับแม่คงจะเคยบอก ถ้าเราขยันเราจะประสบความสำเร็จ ท่านไม่มีเงินจะให้เรา ท่านให้ได้แต่การศึกษาคือประโยคที่พวกเราได้ยินเป็นประจำ คนอื่นๆ ก็พูดอะไรคล้ายๆ แบบนี้ ครูทุกคนที่โรงเรียน ครูใหญ่หน้าเสาธง คำขวัญวันเด็ก นิตยสารชัยพฤกษ์ ไปจนถึง ‘โคลงโลกนิติ’ หนังสือที่ผมได้รับเป็นรางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาภาษาไทย 

“ทุกคนมีสิทธิไปถึงดวงดาว” หนังสือ เดินไปดวงดาว ผมเชื่อเช่นนี้จริงๆ ตอนที่เรียนมัธยม ถึงกับนำไปเป็นหัวข้ออภิปรายในงานโต้วาทีครั้งหนึ่ง ความเชื่อเช่นนี้มีมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตเริ่มมีคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ แต่ด้วยความที่ตัวเองไม่เคยออกนอกเมืองสีฝุ่นเลย จากบ้านไปเรียน เรียนเก่งตลอดกาลจนกระทั่งเข้าคณะแพทย์จึงเริ่มไม่อยากเรียนเก่งอีก แต่ก็มิได้เข้าใจอะไรที่อยู่นอกจากเมืองสีฝุ่น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยู่ในกะลา

กบที่ไหนกันจะไปรู้ว่าตนเองอยู่ในกะลา

เมื่อจบแพทย์แบกกระเป๋าขึ้นรถบัสไปกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งออกจากเมืองสีฝุ่น ไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่จังหวัดเชียงราย เลือกที่ไกลที่สุดเพราะเป็นจังหวัดที่ไม่มีใครไป ไม่ต้องใช้เส้นเพราะไม่มีคนเอา  จึงเป็นครั้งแรกที่เมื่อมองกลับไปเห็นกะลาที่ครอบเมืองสีฝุ่น

เมืองเชียงรายเวลานั้นท้องฟ้าใสสะอาด ออกจากเมืองไปทิศไหนก็ได้ไม่เกิน 5 กิโลเมตรก็จะหลุดเข้าไปอีกโลกหนึ่ง คือธรรมชาติสีเขียวและวัวควาย ในตัวเมืองเงียบตั้งแต่ 1 ทุ่ม ทีวีมีช่องเดียว ตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญมีตู้เดียว ปั่นจักรยานจากชานเมืองด้านหนึ่งไปที่ชานเมืองอีกด้านหนึ่งใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที เป็นชีวิตชนบทในจินตนาการจริงๆ แต่เป็นความจริงมิใช่จินตนาการ ผู้คนใจดี มีน้ำใจเหลือล้น สมถะ เรียบง่าย และไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย

“วันนี้คุณครูพาเราไปทัศนศึกษาที่หมู่บ้านคนขี้เกียจ พวกเขานั่งอยู่เฉยๆ รองเท้าหนักจนเดินไม่ได้ เป้ของพวกเขาดูแน่นจนแทบระเบิดออกมา พวกเขาดูผอมและไม่มีแรง” เป็นข้อความในช่วงกลางๆ ของหนังสือ

หนังสือแบบเรียนภาษาไทยที่เคยเรียน คำพังเพยประเภท ‘ตำข้าวสารกรอกหม้อ’ ที่เคยท่อง ไปจนถึงคำพูดชัดๆ ประเภทคนบ้านนอกขี้เกียจ เหล่านี้เป็นวาทกรรมที่ตนเองได้รับตลอดชีวิตที่ผ่านมา เมื่อมาถึงเชียงรายใหม่ๆ ก็เป็นระยะฮันนีมูนว่าบ้านนอกเป็นดินแดนแสนสุข แต่หลังจากถูกเกณฑ์ไปเป็นประจักษ์พยานของการแจกเสื้อหนาว ผ้าห่ม และยารักษาโรคหลายครั้ง ตัวเองจึงเริ่มรู้ตัวว่าเราหนีจากกะลาใบเล็กมาอยู่ในกะลาใบใหญ่กว่าเท่านั้นเอง

“ครูบอกว่าเพราะพวกเขาไม่เดิน พวกเขาถึงไม่มีแรง ถ้าเราตั้งใจเดิน เราจะมีแรง และเราจะไปถึงดวงดาว” คือข้อสรุปในหนังสือ

กบที่หนีออกจากกะลาใบหนึ่ง มาอยู่ในกะลาใบใหญ่กว่า อดแปลกใจมิได้ว่าเพราะอะไรกบบ้านนอกจึงทนทานนักหนา พวกคุณอดทนกับความเป็นอยู่ย่ำแย่ต่ำกว่าคนที่จังหวัดพระนครได้อย่างไร เพราะอะไรถึงอยู่เฉยๆ เพราะอะไรไม่รู้จักเรียกร้อง เพราะอะไรจึงพอใจกับแค่เสื้อหนาว ผ้าห่ม และบัตรสงเคราะห์ที่ทางการเอามาแจก

คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ยากมาก จะว่าไปแล้วน้อยคนนักที่จะตอบแล้วฟังขึ้น ตอบอย่างไรก็ตกที่นั่งหมิ่นทั้งผู้ให้และผู้รับ คนให้เขาอยากให้ คนรับเขาอยากรับ ทำไมคนที่สามต้องเดือดร้อน 

นี่คือส่วนที่หนังสือ เดินไปดวงดาว เล่มนี้ที่เข้ามาช่วยอธิบายได้มาก แม้ว่าคำอธิบายยังคงเป็นอุปมาอุปไมยอยู่ก็ตาม

ตอนที่เราเริ่มต้นเดินทางไปถึงดวงดาว เราถูกขอให้ใส่รองเท้าเหล็ก เพื่อจะได้อดทน เราถูกขอให้แบกเป้และเขียนความฝันใส่ไว้ในเป้ ความฝันคือเป้าหมายของความขยันหมั่นเพียร และพยายาม

แต่เมื่อเวลาผ่านไป น้ำหนักของรองเท้ามากขึ้นทุกที เป้ใบใหญ่ขึ้นและหนักมากขึ้นทุกทีเพราะภายในเต็มไปด้วยความฝัน เด็กทุกคนก้มหน้าแบกเป้ความฝันและลากขาที่หนักอึ้งเพื่อไปให้ถึงดวงดาว

บางคนไปถึงจริงๆ ก็เพราะขยัน ส่วนคนที่ไปไม่ถึงก็เพราะขี้เกียจ เราถูกทำให้เชื่อเรื่องนี้มาโดยตลอด

และเราคิดว่านี่เป็นชีวิตปกติ – ordinary life ใครๆ ก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ

แต่เราลืมไป มีเด็กบางคนไม่ต้องใส่รองเท้าเหล็กตั้งแต่แรก และไม่ต้องแบกเป้ความฝันด้วย  พวกเขาได้เลยตั้งแต่เกิด ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่เดินแบกเป้ความฝันทั้งชีวิตด้วยความขยันหมั่นเพียรจนตายไปอย่างไม่มีอะไรเลย

ลองหาฉบับเต็มอ่านนะครับ นิทาน ‘เดินไปดวงดาว’ เรื่องและภาพโดย รับขวัญ ธรรมบุษดี เป็นหนังสือแจกฟรี ไม่มีจำหน่าย   

 

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า