ไม่ว่าจะมีพฤติกรรมอย่างไร นักเรียนไม่ควรถูกคัดออกจากโรงเรียน

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

นายแพทย์ไม่สามารถทอดทิ้งผู้ป่วยไม่ว่าผู้ป่วยจะรักษายากเพียงใด คุณครูก็ไม่สามารถทอดทิ้งนักเรียน ไม่ว่านักเรียนจะมีพฤติกรรมอย่างไร 

เพราะแพทย์และครูมี ethics code คือ จริยธรรมวิชาชีพ

มีคำโต้เถียงเมื่อพูดเรื่องนี้เสมอ หนึ่งคือไม่พอใจโรงเรียนนี้ก็อย่ามา สองคือครูต้องทำงานทุกอย่าง ไม่มีเวลา

ไม่พอใจโรงเรียนนี้ก็อย่ามา เป็นคำพูดที่ผิดตั้งแต่แรก เพราะประเทศเราไม่มีที่ไป โรงเรียนทางเลือกมีคุณภาพราคาสูงไม่เพียงพอที่จะให้พ่อแม่ทุกบ้านใช้บริการ ดังนั้นแม้ไม่พอใจโรงเรียนนี้ก็ต้องไปเพราะไม่มีที่อื่นให้ไป

ครูต้องทำงานทุกอย่างไม่มีเวลา เรื่องนี้เป็นความจริงและน่าเห็นใจจริง ไม่ต่างจากนายแพทย์ในบางสถานที่ที่งานล้นมือและไม่สามารถทำงานเชิงคุณภาพได้ ไม่นับว่าคุณหมอวันนี้ก็พบปัญหาแบบเดียวกับคุณครูคือถูกเกณฑ์ไปทำงานที่มิใช่หน้าที่โดยตรง ซึ่งมีตั้งแต่งานออกหน่วยแก่ประชาชนผู้ยากไร้ ไปจนถึงงานต้อนรับผู้ใหญ่ที่สนามบิน พูดง่ายๆ ว่างานงอกมีทั้งงานที่เป็นสาระและไม่มีสาระ

ปัญหาเรื่องงานงอกนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข มิใช่ความรับผิดชอบของพ่อแม่ และยิ่งมิใช่ความรับผิดชอบของเด็กๆ เป็นเพราะสองกระทรวงนี้ไร้ฝีมือจึงสร้างภาระงานที่ไม่จำเป็นให้แก่บุคลากรมากกว่ามาก มากกว่าไร้ฝีมือคือรับใช้การเมืองและผู้ใหญ่ในกระทรวงโดยไม่ลืมหูลืมตาเพื่อไต่บันไดเก้าอี้ของตัวเอง 

แทนที่จะเห็นเด็กเป็นศูนย์กลางหรือเห็นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางตามคำโฆษณา

การคัดชื่อเด็กออกจากโรงเรียนด้วยข้อหาสูบบุหรี่ ยาเสพติด เกเรและทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงไม่เคารพจารีตประเพณี เหล่านี้ล้วนไม่ควรทำและให้ทำมิได้ทั้งนั้น เด็กเหล่านี้เป็นหน้าที่ของครูมิใช่ของหมอหรือตำรวจ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ครูทำได้ แต่ก็คงต้องเป็นครูสมัยใหม่ด้วยการศึกษาสมัยใหม่

เวลาพูดเรื่องนี้จะได้รับการโต้เถียงว่าทำไม่ได้ ซึ่งไม่จริง โรงเรียนทางเลือกราคาสูงและโรงเรียนนานาชาติชั้นดีราคาสูงทำได้ แปลว่าโลกนี้มีคนทำได้ เราขาดแค่นักการเมืองและผู้นำนโยบายการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถเท่านั้นเอง เงินเรามี เพียงแต่ไม่รู้อยู่ที่ไหน ระหว่างที่รอเรายังคงต้องธำรงไว้ซึ่งองค์ความรู้และความหวังว่าเป็นเรื่องทำได้

การศึกษาที่เป็นอยู่มุ่งเน้นที่การเรียนและระเบียบวินัย เด็กคนไหนมิได้มาตรฐานตามนี้ย่อมเป็นสินค้าชำรุด สินค้าชำรุดต้องคัดออกจากสายพาน นี่คือโครงสร้างการศึกษาปัจจุบัน

คัดออกจากสายพานไปทิ้งขยะ หากไม่เอาขยะไปทำลายก็ปล่อยไว้เช่นนั้นให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือขยะสังคม ถ้าเราบ่นว่าผู้ร้ายเต็มเมือง คำถามคือใครผลิต? 

การแก้ปัญหานี้ต้องการการคิดใหม่ทำใหม่ของการศึกษาทั้งระบบ การศึกษาที่แท้ไม่มอบความรู้แต่มอบการเรียนรู้ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กสูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด ก่อการทะเลาะวิวาท หรือไม่เคารพจารีตประเพณีล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้ได้ พัฒนาได้ และก้าวข้ามตัวเองได้

ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานได้ คือมนุษย์

ดังนั้นขั้นแรก เราจำเป็นต้องให้เกียรติเด็กเหล่านี้ในฐานะมนุษย์ มิใช่สินค้าชำรุด  

ผมจะรักษาเด็กติดยาสำเร็จได้ก็ด้วยหลักการพื้นฐานคือไว้ใจว่าเขาเลิกได้ (trust your child) และให้เกียรติเขาในฐานะมนุษย์ ถ้าบ้านใดก็ทำแบบเดียวกันนี้ไม่ได้ โปรแกรมรักษายาเสพติดอะไรก็ไปไม่ได้ทั้งนั้น

เมื่อเด็กๆ ไปโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ มิใช่เพื่อไปท่องความรู้ สถานการณ์การศึกษาจึงเริ่มเปลี่ยน สถานะและภาระของครูสมัยใหม่ก็ควรจะเปลี่ยนไปตามเป้าหมายใหม่ด้วย เด็กที่ได้ชื่อว่าเป็นเด็กไม่ดีหรือเด็กเกเรไม่ว่าจะเป็นพวกไหนก็ตามสามารถใช้เวลาและกิจกรรมต่างๆ นานาเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาได้ทั้งสิ้น

พัฒนาไปมิใช่เพื่อให้หยุดสูบบุหรี่ หรือให้หยุดยาเสพติด หรือให้หยุดเกเรทะเลาะวิวาท หรือเพื่อให้เคารพนบนอบในจารีต แต่พัฒนาไปเพื่อให้รู้จักตนเอง รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง ความเหมาะสมและไม่เหมาะสมของพฤติกรรมของตัวเอง จากนั้นจึงกำหนดเป้าหมาย ควบคุมตนเอง บริหารความจำใช้งาน คิดยืดหยุ่น แล้วไปให้ถึง (คือ EF)  

เหล่านี้คือกระบวนทัศน์ใหม่ด้านการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องยกเลิกกระบวนทัศน์เก่าออกไปให้หมด

เมื่อถึงตรงนี้จะมีคำโต้เถียงว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งไม่จริง เป็นไปไม่ได้หากการบริหารการศึกษาอยู่ในมือคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์หรือรุ่นเอ็กซ์ แต่มีความหวังหากอยู่ในมือคนรุ่นวาย และความหวังใหม่คือคนรุ่นแซดซึ่งวันนี้คนรุ่นแซดคนแรกๆ อายุ 24 ปีแล้ว หลายคนเริ่มเป็นครูสมัยใหม่แล้ว สมองดิจิตอลของเขากว้างไกลกว่าสมองอานาล็อกของผู้บริหารวันนี้มาก อีกไม่นานพวกเขาจะเป็นหัวหน้าหน่วย หัวหน้าแผนก และหัวหน้ากองในที่สุด ถ้าไม่ถูกจารีตเปลี่ยนแปลงไปเสียก่อน

ดีกว่านั้นคือเด็กอัลฟ่าคนแรกๆ อายุ 11-12 ปี แล้ว เด็กอัลฟ่าคนแรกกำลังจะจบประถม 6 แล้วขึ้นชั้นมัธยม ภายในเวลา 5-6 ปีข้างหน้าเด็กอัลฟ่าคนแรกๆ จะเข้าสอบเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย น่าสนใจมากว่าพวกเขาจะปฏิเสธมหาวิทยาลัยมากน้อยเพียงใด นั่นคือประมาณปี ค.ศ. 2027 หรือ พ.ศ. 2570 ซึ่งไม่นานเกินรอ

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยแบบปัจจุบันตายแล้ว และน่าจะถูกฝังด้วยโควิดเร็วยิ่งขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นเพราะคนที่ไม่ยอมเชื่อไม่ยอมตายง่ายๆ และยังคงสร้างความเสียหายแก่เด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นปัญหามากกว่าพฤติกรรมของเด็กๆ เองเสียอีก

สวัสดีวันปีใหม่เมืองครับ แฮปปี้เบิร์ธเดย์คนรุ่นแซดและเด็กอัลฟ่าอีก 1 ปี

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า