กระบวนทัศน์หนึ่งของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มีว่า “ครูและนักเรียนพัฒนาไปพร้อมกัน”
ความหมายคือครูไม่จำเป็นต้องเก่งกว่านักเรียน ครูมีหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ที่ครูและนักเรียนสามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ พูดง่ายๆ ว่าครูเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ระบบ’ การเรียนรู้
ระบบ มาจากคำว่า system ครูสมัยใหม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ มิใช่อยู่ ‘เหนือ’ ระบบ
หากเราคิดจะสร้างครูที่เก่งกว่านักเรียนหรือรู้มากกว่านักเรียน ความข้อนี้ผิดมากในศตวรรษที่ 21 จะว่าไปเราเห็นอาการตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 แล้วว่านักเรียนจำนวนมาก ‘รู้มาก’ กว่าครูในหลายๆ เรื่อง ครูที่คาดหวังตัวเองว่าจะรู้มากกว่านักเรียนจะเหนื่อยยากมาก ไม่นับว่าไม่มีวันทำได้
ที่สำคัญกว่านี้คือทั้งนักเรียนและครูอาจจะสำคัญตัวผิดทั้งคู่ว่ารู้มากกว่าหรือรู้ถูกต้อง ที่สองคนพลาดไปพร้อมๆ กันคือ “ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร” ตรงนี้ต่างหากคืออีกพื้นที่หนึ่งที่น่าสนุกของการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ด้านการศึกษา
นั่นคือครูและนักเรียนเรียนรู้ไป ‘พร้อมกัน’
ครูและนักเรียนจะเรียนรู้ไปพร้อมกันได้เมื่อสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย ดังนั้นจำเป็นต้องมีใครคนหนึ่งทำงานด้านการออกแบบสิ่งแวดล้อมด้านการศึกษา การเรียนในห้องเรียนมันน่าเบื่อมากและทำไม่ได้แล้วในยุคโควิด การเรียนออนไลน์ที่ล้าหลังใช้แท็บเล็ตได้เพียงแค่เป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้และน่าเบื่อมากเสียจนเด็กสมาธิดีก็เอาไม่อยู่ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้วเรายิ่งต้องการผู้ออกแบบสิ่งแวดล้อมด้านการศึกษา
ครู 1 คนทำได้
นึกภาพครูคนเดียวที่ไม่อยากสอนในห้องสี่เหลี่ยมอีกแล้ว เพราะกลัวโควิดและมันน่าเบื่อ แล้วก็ไม่อยากสอนออนไลน์แล้ว เพราะไม่ได้พบหน้ากับเด็กๆ จริงๆ และมันน่าเบื่อ ที่ครูทำได้ทันทีในวันพรุ่งนี้คือพาเด็กออกไปเดินป่า เดินท้องนา หรือเดินชายหาด แม้กระทั่งเดินรอบหมู่บ้าน แล้วเริ่มต้นเรียนหนังสือด้วยการเรียนรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว
โดยให้เด็กๆ เป็นผู้เริ่มต้น “หนูอยากรู้อะไร”
ครู 1 คนไม่จำเป็นต้องรู้ระบบนิเวศของป่าในวันแรก ไม่ต้องทำนาเป็น ไม่จำเป็นต้องรู้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และไม่เคยเดินรอบหมู่บ้านด้วยเท้าเหมือนๆ กัน ครูแสดงความช่างสงสัยแล้วเป็นหนึ่งในทีมเด็กๆ ที่จะออกค้นหาคำตอบด้วยกันได้ สมมุติว่าครูสงสัยไม่เป็น (เพราะระบบการศึกษาที่ครูเติบโตมาทำลายสิ้นแล้ว) ครูไม่ขัดขวางเด็กขี้สงสัยเป็นใช้ได้
ด้วยวิธีง่ายๆ เท่านี้เอง แท็บเล็ตในมือเด็กจะกลายเป็นเครื่องมือไอทีทรงพลังเพื่อการเรียนรู้
ครูข้างต้นจะทำงานได้เมื่อมีของ 3 อย่าง
1. เสรีภาพทางปัญญา
2. ทำแล้วไม่ถูกด่า
3. ทำแล้วยังมีเงินเดือนจ่ายให้
ซึ่งเราไม่มีทั้งสามอย่างตอนนี้
ครูจำนวนมากไม่มีเสรีภาพสร้างสรรค์อะไร อย่าว่าแต่เสรีภาพเลย เวลาที่มีต้องใช้ไปกับการนั่งเรียนออนไลน์กับ “วิทยากรครูผู้เหนือกว่า” อีกหลายสิบคนเป็นเวลาหลายสิบวัน จึงไม่มีทั้งเสรีภาพและเวลา หมดสิ้นทั้งสองสิ่ง
ครูที่ฝืนทำตามกระบวนทัศน์การศึกษาสมัยใหม่โดยที่หน่วยเหนือไม่ยินยอม จะพบแรงเสียดทานอย่างหนักทั้งจากครูด้วยกัน พ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้บังคับบัญชา อันจะนำไปสู่อาการหมดไฟหรือต้องออกจากงานเอาง่ายๆ หน้าที่ออกแบบสิ่งแวดล้อมการศึกษาจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารการศึกษาสูงสุด นั่นคือกระทรวงศึกษาธิการ
ถ้าผู้บริหารสูงสุดมีวิสัยทัศน์ชัดเจนและเปิดโอกาส ทีมจึงจะทำงานได้ แล้วนำทางพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจการศึกษาสมัยใหม่ให้เดินตามได้ แต่เพราะผู้บริหารระดับสูงไม่เคยชัดเจน พ่อแม่ผู้ปกครองจึงพัฒนามิได้ หลายท่านยังต้องการให้ลูกอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเร็วที่สุดและเรียนเก่งที่สุด แล้วครูกับพ่อแม่ผู้ปกครองต่างกล่าวโทษกันไปมาว่าใครเริ่มต้นวงจรอุบาทว์นี้ก่อนกัน
ปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องผู้บริหารการศึกษาทำงานไม่เป็นคือเรื่องพวกเรา
เรื่องที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกกระทรวงทราบดีคือ ผู้บริหารระดับสูงทำเป็นเพียงแค่ออกคำสั่งและใช้อำนาจ แต่ไม่เคยเปิดโอกาสให้คนหน้างานทำงานได้จริงๆ เมื่อมีคำสั่งใหม่ๆ มาพวกเราจึงเชี่ยวชาญมากขึ้นทุกทีที่จะทำให้ดู แล้วสรุปผลงานส่งพร้อมตัวชี้วัด จากนั้นทุกคนกลับที่เดิมไปทำงานแบบเดิม
พูดง่ายๆ ว่าสั่งมาเถอะครับ ทำได้หมด
หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2557 ใหม่ๆ กระทรวงศึกษาธิการทำโครงการพัฒนาครูทั่วประเทศด้วยการคอนแทร็กต์ทีมวิทยากร 8 ทีมไปพัฒนาครูตามจังหวัดต่างๆ ใช้เวลา 1 ปี ผลผลิตเรียบร้อย แต่ผลลัพธ์ไม่มี ส่วนผลกระทบเป็นอย่างไรวันนี้ทุกคนก็เห็นอยู่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม
เวลาผ่านมา 7 ปี พ.ศ. 2564 กระทรวงศึกษาธิการทำโครงการคอนแทร็กต์วิทยากรหลายสิบคนอบรมครูออนไลน์ทั่วประเทศหลายสิบวิชาใช้เวลาหลายสิบวัน
เมื่อได้อ่านหลักสูตรทั้งหมดและฟังการบรรยายตัวอย่างของวิทยากรบางท่าน เศร้าใจ เรายังคงไม่ไปไหนเหมือนเดิม