ขอบพระคุณผู้เขียน ผู้แปล และครูใหญ่ ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ผมจำได้ว่าอ่านหนังสือ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง นี้ครั้งแรกโดยเริ่มอ่านที่เนื้อเรื่องหลัก มิได้อ่านคำนำและมิได้อ่านคำตาม จึงไม่รู้ว่าที่กำลังจะอ่านเป็นนวนิยายหรือเป็นเรื่องจริง จำได้ว่าความรู้สึกแรกที่อ่านคือนี่เป็นนวนิยาย

เป็นนิสัยส่วนตัวที่จะอ่านเนื้อเรื่องหลักก่อนเสมอ เหตุผลหนึ่งคือเป็นคนอ่านหนังสือช้าตั้งแต่เล็ก อ่านคำนำก่อนจะไปไม่รอด เหตุผลข้อที่สองคือคำนำส่วนใหญ่ไม่สนุก

ผมจำไม่ได้ว่าตัวเองอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่เท่าไรของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ฉบับที่ตัวเองอ่านหายไปแล้ว แต่จำได้ว่าจบแพทย์แล้ว ดังนั้นเมื่ออ่านไปไม่กี่หน้าก็สรุปได้ว่าตัวเอกของเรื่องคือ เด็กหญิงโต๊ะโตะ ชั้นประถม 1 เป็นเด็กพิเศษอะไรสักอย่างจึงไม่สามารถนั่งนิ่งในห้องเรียนได้ ว่อกแว่กไปที่ริมหน้าต่างหรือทำเสียงดังเสมอๆ มิหนำซ้ำยังชอบทำอะไรซ้ำๆ ได้หลายร้อยครั้งโดยไม่เบื่อหรือรู้สึกได้ว่าคนอื่นไม่ทำ ยกตัวอย่างการเปิดปิดโต๊ะเรียน

เมื่ออ่านไปถึงตอนที่เธอถูกไล่ออกจากโรงเรียนแล้วแม่พาเธอไปพบครูใหญ่ที่โรงเรียนตู้รถไฟ ครูใหญ่ขอคุณแม่ออกไปรอข้างนอกแล้วนั่งคุยกับเด็กหญิงโต๊ะโตะ เด็กหญิงโต๊ะโตะนั่งเล่านั่นนี่ให้ครูใหญ่ฟังได้นาน 4 ชั่วโมง แล้วครูใหญ่ก็รับเธอเอาไว้ ความตอนนี้ตอกย้ำความมั่นใจของตัวเองว่าเธอเป็นเด็กพิเศษแน่

หากเราไม่อ่านคำนำหรือคำตาม เราจะยังไม่รู้ว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือนวนิยาย และไม่รู้ด้วยว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในยุคสมัยใด ในฐานะแพทย์จึงมีคำถามว่าทำไมไม่พาไปหาหมอ และถ้าผมเป็นหมอผมคงวินิจฉัยอะไรสักอย่างแล้วส่งนักพฤติกรรมบำบัดปรับพฤติกรรม และเมื่ออ่านอาการทั้งหมดแล้วยอมรับว่าใช้ยารักษาได้ผลเร็วกว่ามาก จากนั้นค่อยมาปรับพฤติกรรมทีหลังก็ได้อยู่

นี่ถ้าพบผมก่อนพบครูใหญ่ เด็กหญิงโต๊ะโตะได้ยารักษาโรคสมาธิสั้นจากผมไปก่อนแล้ว

เมื่อรู้ในภายหลังหลังจากอ่านไปสักระยะหนึ่งว่าเหตุเกิดในยุคสมัยใด ผมนึกในใจว่าโชคดีที่โลกยังไม่มียารักษาโรคสมาธิสั้น การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นยังไม่แพร่หลาย รวมทั้งจิตแพทย์เด็กก็อาจจะยังไม่มีในประเทศญี่ปุ่นเวลานั้นด้วยซ้ำไป (จริงเท็จอย่างไรท่านที่ใส่ใจไปค้นคว้าต่อได้) 

เหตุที่นึกเช่นนี้เพราะคุณแม่ของผมเล่าให้ใครๆ ฟังเสมอว่าผมไม่ยอมเข้าห้องเรียนครั้งเรียนอนุบาล ผมถือกิ่งไม้แล้ววิ่งฟันดาบในสนามอยู่คนเดียวเสมอๆ ในขณะที่เพื่อนๆ เข้าห้องเรียนและนั่งเรียนกันได้ ผมนึกถึงตัวเองแบบเดียวกันในปีหลังๆ ว่าโชคดีที่ประเทศไทย ‘อาจจะ’ ยังไม่มียารักษาโรคสมาธิสั้น ไม่มีโรคสมาธิสั้นและไม่มีจิตแพทย์เด็ก ตัวเองจึงรอดพ้นการกินยามาได้ แม้ว่าจะหลงเหลือความเป็นเด็กพิเศษอีกบางเรื่องให้คุณแม่ คุณภรรยา และคุณลูกๆ ปวดหัวเป็นระยะๆ

ครูใหญ่ทำอะไร? คำตอบอย่างสั้นที่สุดคือยอมรับโต๊ะโตะจังแบบที่เธอเป็น นั่งนิ่งไม่ได้ก็ไม่ได้ พูดไม่หยุดก็พูดไป ว่อกแว่กไปนั่นนี่เสมอก็ปล่อยไป โรงเรียนตู้รถไฟรอได้

เพิ่มเติม – เป็นหน้าที่ของครูใหญ่ที่จะจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้โต๊ะโตะจังเรียนรู้ได้- คุณครูทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ตีกรอบนี้เอาไว้เลยนะครับ

อ่านมาถึงเรื่องขุดส้วม วันหนึ่งโต๊ะโตะจังทำกระเป๋าสตางค์ตกส้วม เธอหาหนทางเปิดฝาถังส้วมแล้วโกยทุกสิ่งทุกอย่างภายในขึ้นมากองเป็นภูเขาข้างหลุมส้วม (เวลาอ่านตอนนี้ต้องพยายามลบภาพส้วมและหลุมส้วมในศตวรรษที่ 21 ออกไปด้วย) เธอทำคนเดียวได้เพราะนี่เป็นการกระทำซ้ำๆ เหมือนที่เธอเคยทำที่โรงเรียนเก่าจนถูกไล่ออกมาแล้ว

ระหว่างที่เธอรื้อส้วมอยู่นั้นเอง ครูใหญ่คนเดิมเดินผ่านมาและหยุดยืนดู หลังจากยืนดูครู่หนึ่งจึงพูดว่า “เสร็จแล้วเก็บทุกอย่างเข้าที่ด้วยนะ” เท่านี้เอง

ครูใหญ่ทำอะไร? คำตอบอย่างสั้นที่สุดคือสอนโต๊ะโตะจังว่าคนเราทำอะไรไว้ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องที่ทำ และไม่ว่าเรื่องที่ทำนั้นจะเสียหายมากเพียงไรก็เป็นหน้าที่ของเด็กที่ต้องรับผิดรับชอบด้วยตนเองอยู่ดี

ยกตัวอย่างเพียงสองเรื่องเพราะหากยกตัวอย่างทั้งเล่มคงได้เขียนไปอีกร้อยตอน เพราะแทบทุกบทของหนังสือเล่มนี้คือเรื่องราวของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 และเพื่อสร้างความสามารถที่เรียกว่า Executive Function (EF)  

เมื่ออ่านคำตามหลังจากอ่านหนังสือจบแล้ว ผมพบว่าเป็นเรื่องจริง เขียนโดยบุคคลจริงๆ เมื่อทราบว่าวันนี้เธอเป็นใคร ทำอาชีพอะไร  จึงเกิดความปีติซ้ำสองหลังจากที่รู้สึกเช่นนั้นก่อนแล้วตลอดทั้งเล่ม รู้สึกดีใจกับเธอ ชื่นชมเธอ และปลาบปลื้มเสมือนหนึ่งเป็นลูกๆ ของตนเองฉะนั้น ลองดูนะครับสำหรับท่านที่ไม่เคยอ่าน ลองอ่านเนื้อเรื่องก่อนคำตาม

เมื่ออ่านคำนำหลังจากอ่านคำตามแล้ว จึงพบว่านี่เป็นหนังสือที่มียอดขายสูงมากในประเทศญี่ปุ่น และแปลไปหลายภาษาทั่วโลก เมื่อสำนักพิมพ์ผีเสื้อ (ในนามสำนักพิมพ์กะรัต) จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 น่าเชื่อได้ว่ายอดขายดีมากจนกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังคงพิมพ์อยู่ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นครั้งที่เท่าไรแล้ว พอทราบข้อมูลนี้เกิดความปีติซ้ำสามว่าโต๊ะโตะจังได้สร้างสิ่งที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต

นั่นคือเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา

วันนี้ หลายท่านคงทราบแล้วว่าผู้แปลไทยคือ ผุสดี นาวาวิจิต ซึ่งมีผลงานแปลมากมาย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาไม่นานนี้เอง นี่เป็นหนังสือแปลที่อ่านลื่นไหลไม่ติดขัดเลย จึงตีความได้อย่างเดียวว่าผู้แปลใช้ภาษาไทยได้ยอดเยี่ยมเหลือเกิน 

โรงเรียนนี้ใช้ตู้รถไฟเป็นห้องเรียน เริ่มเรียนวิชาอะไรก่อนก็ได้ จัดที่นั่งเรียนไม่เหมือนโรงเรียนอื่นๆ และเรียนนอกสถานที่ได้ทุกวันๆ บางบทเรียนอาจจะหมิ่นเหม่คำวิจารณ์แต่ดูเหมือนครูใหญ่ไม่ให้อะไรมาขวางทางการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยง่าย ดีกว่านี้อีกคือเรื่องการเรียนร่วมกันของเด็กทุกคนไม่ว่าจะพิเศษหรือพิการเพียงใด

ครูใหญ่เป็นใคร? นี่คือส่วนที่ดีมากที่สุดอีกส่วนหนึ่งของหนังสือ เราคนอ่านจะไม่ได้เห็นหน้าครูใหญ่ชัดเจนเลยเพราะไม่มีการพรรณนาใดจะสมบูรณ์มากพอที่เราจะเห็นใบหน้าครูใหญ่ เรารู้จักท่านเพียงแค่อ่านการกระทำของท่านที่มีต่อเด็กๆ โรงเรียน และผู้คนรอบข้าง นักอ่านแต่ละคนวาดครูใหญ่ขึ้นในใจกันเอาเองและเชื่อได้ว่าไปคนละทางสองทาง แม้กระทั่งคำถามที่ว่าครูใหญ่คนนี้มีจริงหรือเปล่าและชื่ออะไร ปล่อยเป็นปริศนาให้ค้นกันในคำตามจะเป็นวิธีอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างดีที่สุด

ขอบพระคุณผู้เขียน ผู้แปล และครูใหญ่

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า