มินิซีรีส์เรื่องล่าสุดของ นิโคล คิดแมน และ ฮิวจ์ แกรนต์ ชื่อ Undoing มีตอนจบที่อ้างอิงถึงบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ฆาตกรมีประวัติเคยทำอะไรบางอย่างเป็นต้นเหตุให้น้องสาวถึงแก่ความตาย แม่และญาติๆ ต่างพากันปลอบใจและเฝ้าระวังว่าเขาจะเป็นอะไรหลังจากนั้นหรือเปล่า ปรากฏว่าเขาไม่เป็นอะไรเลย เขามิได้รู้สึกรู้สาอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย
หากอ่านตำราเรื่องบุคลิกภาพต่อต้านสังคม จะพบว่าอาการหรือกลุ่มอาการหลากหลาย อาการสำคัญที่สุดคือการขาดซึ่งความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจความเจ็บปวดของผู้อื่น ไปจนถึงไม่รู้เลยว่าที่ตนเองทำไปสร้างความทุกข์ยากให้แก่ผู้อื่นมากเพียงใด
จะเห็นว่านี่เป็นนิยามที่กว้าง และจะว่าไปคนเราทุกคนก็อาจจะเคยทำอะไรแบบนี้บ้าง นั่นคือทำให้คนอื่นเสียใจ ทั้งที่เจตนา หรือไม่เจตนา หรือโดยจำเป็น เช่น จิตแพทย์ปฏิเสธการทำจิตบำบัดให้แก่ผู้ป่วยที่ขาดคุณสมบัติที่จะทำได้ ศัลยแพทย์ปฏิเสธการผ่าตัดเพราะขาดข้อบ่งชี้ ตำรวจจำเป็นต้องจับกุมพ่อบ้านคนหนึ่งส่งผลให้ครอบครัวของผู้ต้องหาต้องตกระกำลำบาก หรือถ้าเราขยายความเรื่องนี้ไปที่เรื่องศีลธรรม ชาวประมงจำเป็นต้องจับปลาเพื่อขายพ่อค้าปลา พ่อค้าปลาจำเป็นต้องฆ่าปลาเพื่อขายชาวบ้าน เป็นต้น
ตัวอย่างเหล่านี้บอกเราว่าอะไร
ตัวอย่างเหล่านี้บอกเราว่า การกระทำที่ดูเหมือนจะไม่คำนึงถึงความทุกข์ของผู้อื่นหรือสัตว์อื่นนั้น หลายๆ ครั้งเป็นไปตามวัฒนธรรม เช่น พ่อค้าปลาและชาวประมง หรือเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ เช่น แพทย์ หรือตำรวจ คนเหล่านี้อาจจะทำไปพร้อมความเห็นอกเห็นใจ แต่หลายครั้งโดยมาตรฐานวิชาชีพแล้วก็ห้ามเห็นอกเห็นใจ หรืออย่างน้อยก็ห้ามเห็นอกเห็นใจจนเกินควร
ดังนั้นคำว่า การขาดซึ่งความเห็นอกเห็นใจ และไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจความเจ็บปวดของผู้อื่น นี้จึงจำเป็นต้องดูที่บริบทด้วย
ตัวอย่างคลาสสิกย่อมเป็นเรื่องราวของฆาตกรที่ปล้นฆ่า หรือลงมือฆาตกรรมเพื่อวัตถุประสงค์บางประการของตนเอง แล้วการกระทำนั้นได้ทำไปโดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย ใจกลางของเรื่องนี้คือประการสุดท้าย
“ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย”
แต่นี่เป็นเรื่องของใจ ที่ซึ่งเรามิได้เห็นด้วยตา หากเราขยับมาดูพฤติกรรมซึ่งเห็นได้ด้วยตา บุคลิกภาพต่อต้านสังคมมักมีพฤติกรรมละเมิดกฎ กติกา ระเบียบ หรือกฎหมายบ่อยครั้ง บางตำราถึงกับว่าการละเมิดนั้นเองที่เป็นแกนกลางของปัญหา ตัวพฤติกรรมเสียอีกที่มิได้จำเพาะเจาะจง กล่าวคือสร้างกฎมาสักข้อเถิด จะละเมิดให้ดู
คำสำคัญคำถัดมามีคำว่า ‘ให้ดู’ ด้วย หากชอบดูหนังซีรีส์ฆาตกรรมต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นนวนิยายหรือที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง ซึ่งในยุโรปมีมากมายหลายเรื่องจะพบประเด็นนี้เสมอ นั่นคือจะทำให้ดู ทิ้งเบาะแสให้ด้วย แล้วจะทำซ้ำอีก ไม่เพียงละเมิดกฎหมายโดยที่รู้ทั้งรู้ แต่จงใจทำให้เห็นร่องรอยอีกด้วย
เปล่า เขามิได้ท้าทาย แค่ทำให้ดู ‘โดยไม่รู้สึกรู้สา’ เท่านั้นเอง อีกเหตุหนึ่งเพราะหลงตนเองว่าเหนือกว่าเสมอ และทำได้เสมอ
ความเห็นอกเห็นใจนี้เป็นความสามารถเชิงนามธรรม จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนเราสามารถมองเห็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นี่เป็นปฐมบทของความสามารถระดับสูงนี้ เด็กๆ สามารถมองเห็นพ้นสายตาไปที่อะไรบางอย่างซึ่งเรียกว่าความเมตตา แล้วก้าวข้ามพ้นตนเองไปที่ตนเองซึ่งสูงกว่าตนเองที่เพิ่งจะก้าวข้ามมา เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของพัฒนาการ กล่าวคือใครๆ ก็ติดขัดอยู่กับที่ไม่ยอมก้าวข้ามพ้นตนเองทั้งนั้น ถ้าไม่ตั้งใจทำหรือไม่มีโอกาสที่จะทำ
นิยามเขียนไว้ชัดแล้วว่า เด็กจำเป็นต้องมองไปพ้นสายตาไปที่สิ่งซึ่งมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
อะไรเล่าที่มองเห็นด้วยตาเปล่า
คำตอบคือวัตถุทุกชนิด ที่สำคัญคือ เงิน ทองคำ รถยนต์ หรือวัตถุอื่นใดที่เห็นได้ จับต้องได้ ลูบคลำได้ และครอบครองได้ หลายครั้งนามธรรมบางประการก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นวัตถุเพื่อครอบครองได้ด้วย เช่น คุณงามความดีหรือความสามารถบางประการที่มีมากเสียจนต้องทำถ้วยรางวัลมามอบให้ หรือยกย่องเป็นอะไรบางอย่างที่ดีเด่นแห่งชาติ
พลันที่ทำเช่นนั้น ความดี ความงาม ความสามารถก็กลายเป็นวัตถุที่จับต้องได้ ซึ่งทำคนหลายคนติดใจได้มาก
ปัญหาของเด็กไทยคือไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ฝึกปรือความสามารถเชิงนามธรรมนี้ เรางมอยู่กับวิชาความรู้เป็นก้อนๆ ที่จับต้องได้มากไปและนานไป มากเกินไปและนานเกินไป มากจนล้นและนานจนเขี้ยวงอก เมื่อเขี้ยวงอกเสียแล้วจึงทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นโดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎ กติกา หรือมารยาท แม้ว่าจะมิได้เป็นเอามากถึงกับเรียกได้ว่าต่อต้านสังคม แต่ก็เข้าใกล้คำว่าหน้าด้านเหลือกำลัง
บุคลิกภาพต่อต้านสังคมนี้มักถูกพูดถึงร่วมกับบุคลิกภาพหลงตนเองด้วย อ้างอิงถึงเทพปรณัมกรีกที่เล่าเรื่องเทพซึ่งหลงเงาตนเองในน้ำ อันนี้ยิ่งยากใหญ่ในยุคที่ใครๆ ก็หลงเงาตนเองในเซลฟี่ หรือหลงชื่อเสียงของตนเองในยอดไลค์ แต่จะว่าไปก็ไม่ยากนักเพราะแกนกลางของบุคลิกภาพคล้ายคลึงกัน นั่นคือหลงตนเองมากเสียจนไม่เข้าใจความทุกข์ยากของผู้คนรอบข้าง
ปัญหาของเด็กไทยมาอีหรอบเดียวกันนี้อีก การศึกษาไทยไม่เพียงวางอยู่บนกติกาแพ้คัดออก แต่เราซ้ำเติมพัฒนาการเด็กให้หลงตนเองด้วยการเชิดชูเด็กเรียนเก่งจนเกินงามอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการทำให้มองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น คัตเอาท์อิงค์เจ็ทรูปและชื่อเด็กเรียนเก่งกลางเมือง หรือการยกยอและเอาอกเอาใจจนเกินงาม เช่น พฤติกรรมต่างๆ นานาที่ชวนให้เข้าใจว่าเด็กที่สอบเข้าหมอได้เป็นเด็กเก่งที่สุด เป็นต้น
เป็นการศึกษาของเราเองที่ส่งเสริมบุคลิกภาพหลงตนเองหรือต่อต้านสังคมขึ้นมา แล้วสำทับด้วยค่านิยมติดรวยและติดดี ประการหลังนี้เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและวัฒนธรรมที่นิยมอำนาจ ดีกว่าและรวยกว่าย่อมมีคอนเน็คชั่นมากกว่า แล้วก็มีอำนาจมากกว่า
จนกระทั่งวันนี้เวลาถูกเรียกว่าเป็นคนดีหรือจะมอบรางวัลให้เพราะเป็นคนดี เราควรรีบปฏิเสธเป็นอย่างแรก
บอกทางแก้มาสิ ได้ครับ
การศึกษาไทยควรเบนเข็มจาก ความรู้ ไปที่ทักษะ และทักษะแรกๆ ที่ควรทำคือ ทักษะการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทำก่อนจึงจะเห็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เขียนเป็นตัวอักษรมิได้ ที่สำคัญคือตนเองก้าวข้ามตนเองไป ไม่ยึดติดอยู่ที่ตนเอง มากกว่านี้คือเมื่อเหลียวหลังกลับไปมองจะมองเห็นตนเองที่เพิ่งก้าวข้ามมา
รู้เรื่องไหมครับ
นั่นแหละ ปัญหาของการศึกษาไทย