วันที่ 14 มกราคม เป็นวันอนุรักษ์ป่า การอนุรักษ์ป่าเป็นเรื่องดีแน่นอน ที่คนนอกวงการไม่เข้าใจคือเรื่องดีๆ สร้างความขัดแย้งตามที่เป็นข่าวได้อย่างไร
วันที่ 18 มกราคม เป็นวันถึงแก่กรรมของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องผู้ป่วยรักษาฟรีเป็นเรื่องดีแน่ๆ เหมือนกัน ที่คนนอกวงการไม่เข้าใจคือทำไมจึงยังมีความขัดแย้งอยู่จนถึงวันนี้
ราชการมีเหตุผลจะทำสิ่งดีๆ เสมอ นักวิชาการอิสระที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการต่างๆ นานาของรัฐมีข้อมูลแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ วิวาทะระหว่างราชการกับนักวิชาการอิสระเป็นเรื่องเกิดขึ้นสม่ำเสมอเป็นธรรมดา บางครั้งได้สร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หลายครั้งวิวาทะเงียบหายไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
คนนอกวงการได้แต่มองตาปริบๆ แล้วอย่างไรต่อ
เรื่องการศึกษาของเด็กไทยวันนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง คนนอกวงการเห็นวิวาทะระหว่างราชการกับนักการศึกษาอิสระอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่เคยเห็นผลลัพธ์ของวิวาทะเหล่านั้น ซึ่งน่าเชื่อว่าเราคงจะไม่มีวันได้เห็นจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บางครั้งอดรู้สึกไม่ได้ว่าหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่กำลังทำงานด้านการศึกษาวันนี้ ทำได้เพียงเอ็กเซอร์ไซส์ความคิดไปเรื่อยๆ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ ไม่นับว่ารู้ตัวอยู่แล้วว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรจากโครงการที่ตัวเองทำ
โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งนั้น หากไม่มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง และถึงแม้ว่ามีเรายังต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่งให้การปกครองส่วนท้องถิ่นได้เติบโตและพัฒนาหลังจากถูกแช่แข็งมานานมาก เหตุผลน่าจะเป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าประเทศมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล ประชาชนมีจำนวนมากมายก่ายกอง อีกทั้งมีหลากหลายชาติพันธุ์เกินกว่าที่ส่วนกลางใดๆ จะทำงานได้ ‘อย่างเหมาะสม’
เรื่องจำนวนมากจึงควรเป็นภารกิจของส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นงานการศึกษา สาธารณสุข หรืออนุรักษ์ป่า
พูดง่ายๆ ว่ากระจายอำนาจทุกเรื่อง อย่ากลัวว่าส่วนท้องถิ่นจะทำงานไม่เป็น เพราะการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอและเวลาที่ผ่านไปอีกหลายปี จะทำให้ส่วนท้องถิ่นทำงานเป็นจนได้สักวันหนึ่ง
วันนี้จะเล่าประสบการณ์หนึ่งในสถานะ ‘คนนอกวงการ’
กล่าวคือ เป็นประชาชนที่เห็นอะไรและอยากได้อะไร โดยไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องที่เห็นและกลไกที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลไกของฝ่ายราชการ ของส่วนท้องถิ่น หรือของ ‘ชาวบ้าน’ น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม งานสาธารณสุข และงานการศึกษาในสถานะที่เอาชาวบ้านในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง
ผมเป็นคนกรุงเทพฯ เกิด เติบโต และโหนรถเมล์ในกรุงเทพฯ จนจบแพทย์แล้วมาทำงานที่จังหวัดเชียงรายเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ผมไปขุนน้ำนางนอนครั้งแรกตัวคนเดียว จำได้ว่าเป็นแดนสวรรค์ ป่าไม้ร่มรื่น น้ำใสไหลเย็น เสียงลมพัดไหว เสียงป่าขับขาน ที่น่าประทับใจคือมีชาวบ้านมาใช้ประโยชน์มากมาย
ลำพังเห็นด้วยตาคือปูเสื่อกินข้าว เด็กๆ เล่นน้ำ และถึงแม้จะเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่มีความรู้อะไรเรื่องชาวบ้าน ก็เห็นได้ด้วยตาว่ามีบางคนจับปลาและหาของป่าที่บริเวณรอบหนองน้ำสีเขียวเข้มลึกลับนั้น สายน้ำหรือลำธารที่ไหลผ่านมีรากไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก แผ่ขยายดูแลตลิ่งสองฝั่งเอาไว้อย่างสวยงามน่ามหัศจรรย์
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เห็นด้วยสายตาเท่านั้น ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าไม่รู้อะไรเบื้องลึกเลย เช่น ชาวบ้านทำลายธรรมชาติหรือไม่ ตลิ่งกำลังพังทลายหรือเปล่า เด็กจมน้ำตายกันบ้างไหม ฯลฯ สิ่งที่มองเห็นเพียงผิวเผินคือชาวบ้านมีความสุขดี
ผมไปขุนน้ำนางนอนอีกบางครั้ง มิได้ไปบ่อยเพราะบ้านมิได้อยู่ตรงนั้นและมิได้ทำงานในพื้นที่ จะไปเมื่อคิดถึงธรรมชาติ ความร่มเย็นและความเขียวขจี ไปทีไรก็พบภาพชาวบ้านมาปิกนิกกันเสมอๆ เห็นขวดเหล้าขวดเบียร์ถูกทิ้งขว้างไว้ บางรอบพบขยะมิได้รับการดูแล อีกทั้งเห็นฝรั่งในชุดว่ายน้ำมานอนอาบแดดอ่านหนังสือรอบหนองน้ำเป็นบางครั้ง
เป็นคนนอกวงการและนอกพื้นที่จึงไม่รู้ว่าชาวบ้านช่วยกันดูแลขยะหรือเปล่า เวลาเมาส่งเสียงเอะอะรบกวนคนอื่นไปจนถึงลุกขึ้นตีกันบ้างไหม หรือแหม่มฝรั่งอาจจะแก้ผ้ายามไม่มีคนบ้างหรือเปล่า เมื่อไม่เห็นเสียแล้วจึงไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรกับเรื่องขยะ ขวดเหล้า หรือฝรั่งอาบแดด กลับรู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นวิถีชีวิตที่มีกลไกระดับชาวบ้านดูแลอยู่แล้ว
แล้ววันหนึ่งก็เกิดวิกฤตการณ์หมูป่าติดถ้ำ เรื่องช่วยชีวิตหมูป่าติดถ้ำนี้นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของขุนน้ำนางนอนทั้งตัวหนองน้ำและบริเวณโดยรอบอย่างมาก ผมพาผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเข้าไปในสถานที่เมื่อหนึ่งวันหลังจากหมูป่าได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำแล้ว ความยินดีต่อละอ่อนที่ออกจากถ้ำโดยปลอดภัยท่วมท้น แต่ยอมรับว่าสะทกสะท้อนใจกับภาพขุนน้ำนางนอนที่เห็น ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยโคลน น้ำในหนองหายไป ไม่มีความรู้ว่าป่าไม้หรือตลิ่งเสียหายเพียงใดเพราะดูไม่เป็น
ราชการปิดขุนน้ำนางนอนอยู่หลายเดือนเพื่อฟื้นฟู
ความเป็นคนนอกของผมนี้เป็นจริงๆ คือไม่มีความรู้ว่าใครเป็นผู้ฟื้นฟู จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายเดือนจึงได้กลับไปอีกครั้งเมื่อการฟื้นฟูเสร็จเรียบร้อยแล้ว พบว่าขุนน้ำนางนอนไม่เหมือนเดิม เรื่องใหญ่ๆ คือสวยขึ้นแบบสวนสาธารณะ มีทางเดินหินและม้านั่ง มีการจัดภูมิทัศน์อย่างโมเดิร์น มีป้ายขนาดใหญ่เขียนว่ากรมอุทยานฯ ด้านหน้า มีการเปลี่ยนชื่อหนองน้ำเป็น ‘สระมรกต’ และน้ำในหนองก็เปลี่ยนเป็นสีเขียวมรกตจริงๆ ด้วย มีการโบกปูนริมตลิ่งสองฝั่งน้ำที่อุดมไปด้วยรากไม้ มีทางเดินป่าที่สร้างไว้อย่างดีติดป้ายชื่อต้นไม้ไว้ครบถ้วนกับป้ายให้ความรู้เป็นระยะๆ อย่างน่าสนใจ มีห้องน้ำสาธารณะทันสมัยซึ่งสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างอันเป็นธรรมดาของสถานที่ราชการ
ใช่แล้ว ความรู้สึกคือกำลังเดินเข้าไปในสถานที่ราชการ ที่เป็นของราชการ
ขุนน้ำนางนอนดูเหมือนจะมิใช่พื้นที่ที่ชาวบ้านจะไปปูเสื่อปิกนิก ฝรั่งปูเสื่ออาบแดด หรือเด็กๆ เล่นน้ำได้อย่างอิสระเหมือนเมื่อก่อน หรือว่าที่จริงยังทำได้แต่เป็นผมที่ไม่เห็นเอง ใครพอทราบบ้างว่าไปทำได้วันไหนบ้าง เวลาไหนบ้าง ช่วยบอกกล่าวได้ครับ
โดยภาพรวมทุกสิ่งทุกอย่างสวยงาม เพียงแต่ว่ามันเปลี่ยนไป และตัวเองไม่คุ้นเคย
แม้จะทำใจยอมรับบางส่วนแต่ไม่ใช่สถานที่ที่เราอยากกลับไปอีกแล้ว ที่รู้สึกมากที่สุดคือมีป้ายห้ามเกือบสิบรายการโดยรอบ ได้แก่ ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามลงเล่นน้ำ ห้ามจับสัตว์น้ำ ห้ามปีนต้นไม้ ห้ามดื่มสุรา ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามทิ้งขยะ เป็นเขตอภัยทาน ฯลฯ เมื่อเห็นแล้วก็อดแก้ตัวแทนราชการมิได้ว่าน่าจะเป็นเพราะต่างคนต่างเขียนป้ายมาปัก เนื่องจากคุณภาพของป้ายกับลายเส้นต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ป้ายทั้งหมดนั้นจะเป็นฟอร์แมตและฟอนต์เดียวกันหมดในวันหน้า ไม่นับว่ามีป้ายขนาดใหญ่ตัวหนังสือยิบย่อยอีก 2-3 ป้ายเล่าที่มาที่ไปของสถานที่ นี่มิใช่ขุนน้ำนางนอนที่เราเคยผูกพันอีกต่อไปแล้ว และไม่รู้สึกภูมิใจมากพอที่จะแนะนำนักท่องเที่ยวมา เหตุเพราะสถานที่แบบนี้ที่ไหนๆ ก็มี แต่ขุนน้ำนางนอนเก่าก่อนมีที่เดียวในประเทศไทย
คือที่บ้านจ้อง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ขุนน้ำนางนอนมีความสำคัญต่อสุขภาพใจของชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เป็นจริงในชีวิตจริง เป็นสถานที่ที่ชาวบ้านได้มาพูดคุยและซุบซิบนินทาอย่างอิสระ นี่คืองานสาธารณสุข เป็นเขตป่าที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย รอเด็กๆ นักเรียนโรงเรียนโดยรอบจะมาเดินป่าจริงๆ แล้วบูรณาการทักษะศตวรรษที่ 21 นี่คืองานด้านการศึกษาสมัยใหม่
ในสถานะที่เคยเป็นข้าราชการทำงานที่โรงพยาบาล เวลาประชาชนต่อว่าโรงพยาบาล ผมมีคำอธิบายในใจว่าบางเรื่องชาวบ้านก็ไม่รู้เหตุผล และในเรื่องที่ถูกต่อว่านั้นเองถ้าเราไปยืนด้านชาวบ้านก็จะพบว่าเราเป็นผู้เสียหายจริงๆ ด้วย
ข้อเขียนนี้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงข้อนี้ด้วยครับ นั่นคือราชการมีเหตุผลที่ทำ แต่เมื่อมายืนอยู่ฝั่งชาวบ้าน เราก็จะรู้สึกอีกแบบหนึ่งจริงๆ เช่นกัน
เรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องธรรมดาในวิถีทางประชาธิปไตย เราเสนอความคิดเห็นได้เรื่อยๆ แล้วนั่งคุยกันได้เรื่อยๆ แต่จะไม่ธรรมดาถ้าบ้านเมืองเป็นรัฐราชการ และไม่มีกติกาประชาธิปไตย