Special Features: เบื้องหลังปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เมื่อหนังจบย่อมมีส่วนสเปเชียลฟีเจอร์หรือโบนัสบอกเล่าเบื้องหลัง

ผมได้รับการเสนอชื่อให้แสดงปาฐกถาครั้งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่นานนักหลังจากปาฐกถาครั้งที่ 17 โดย ธงชัย วินิจจะกูล เสร็จสิ้น เมื่อได้รับการทาบทามความกังวลก็เกิดขึ้นนับแต่นั้น ด้วยรายชื่อปาฐกในอดีตที่ผ่านมามีแต่นักคิดระดับประเทศทั้งสิ้น

วิธีจัดการความเครียดมี 2 วิธี คือหนีหรือสู้ (flight or fight)

บังเอิญหนีไม่ได้แล้วจึงจำเป็นต้องสู้ ในขั้นตอนแรกๆ นี้ ผมควรขอบพระคุณ ปกป้อง จันวิทย์ จาก The 101.world ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการติดต่อ ทาบทามและให้คำปรึกษา

อาจารย์ปกป้องให้เค้าโครงการเตรียมปาฐกถาเพื่อให้เป็นไปตามโครงสร้างของเนื้อหาตามที่ปรากฏใน ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของอาจารย์ป๋วย และเข้ากันกับผลงานของตัวเองที่ปรากฏในที่สาธารณะ ทั้งนี้ควรมีส่วนที่ว่าด้วยชีวิตของคุณหมอประเสริฐในแง่ที่ว่าพัฒนาความคิดความอ่านมาได้อย่างไร ผ่านเรื่องพัฒนาการของระบบสุขภาพ คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งดูคล้ายๆ ผมจะเป็นคนหนึ่งที่เชียร์หัวชนฝามาโดยตลอด มาจนถึงความสนใจต่อพัฒนาการเด็ก โรงเรียนพ่อแม่ และการปฏิรูปการศึกษาในวันนี้ ทับด้วยไปให้ถึงสังคมผู้สูงอายุได้ก็ดี

โห! ยาวเลย

หลังจากร่างปาฐกถาฉบับแรกด้วยการด้นสดตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอนแล้ว ผมทิ้งต้นฉบับไว้เช่นนั้นนานหลายเดือน (ตามคำแนะนำของ สตีเฟน คิง) ก่อนที่จะเอาออกมาเกลารอบสอง แล้วส่งให้อาจารย์ปกป้องช่วยดูเรื่องการทำเชิงอรรถและเอกสารอ้างอิง ด้วยรู้ว่าวิธีเขียนเชิงอรรถและเอกสารอ้างอิงของสาขาแพทยศาสตร์และสังคมศาสตร์น่าจะต่างกัน  

ผลเป็นไปตามคาด นั่นคือต้นฉบับถูกแก้มากมายหลายร้อยตำแหน่ง

จะว่าไปบรรณาธิการที่แก้ไขต้นฉบับมากๆ ในสมัยเริ่มเขียนหนังสือคือ คุณสุภาวดี หาญเมธี, คุณวารยา พึ่งตนเพียร จากนิตยสาร ไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ เวลานั้น หลังจากนั้นไม่ถูกเรียกแก้ไขต้นฉบับมากนัก เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปีประกอบกับงานเขียนรายสัปดาห์มากขึ้น ไม่มากก็น้อยหลักภาษาไทยที่สอบได้คะแนนเต็ม และรางวัลการตอบปัญหาภาษาไทยชนะเลิศครั้งมัธยมก็ช่วยอะไรเราไม่ได้อีกต่อไป เรื่องมาปะทุเอาที่ร่างต้นฉบับปาฐกถาครั้งนี้

ไหนอาจารย์ปกป้องว่าจบเศรษฐศาสตร์ไง ทำไมรู้ภาษาไทยมากนัก

ขอเพิ่มเติมตรงนี้สักนิดด้วยว่าประมาณ 1 ปีที่ผ่านมาเราทำต้นฉบับการ์ตูนที่รัก 3 เล่มด้วยกันให้แก่สำนักพิมพ์ bookscape ปรากฏว่าทีมบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ ซึ่งน่าจะประกอบด้วยแฟนนานุแฟนการ์ตูนของเราแท้ๆ มีความรู้ความสามารถและจริยธรรมของงานบรรณาธิการอย่างเข้มแข็งที่จะแก้ไขต้นฉบับอาจารย์ประเสริฐกันอย่างไม่ถนอมน้ำใจกันบ้างเลย ขอขอบพระคุณหลานๆ กันจริงๆ ที่ดัดไม้แก่สำเร็จ

เมื่อต้นฉบับประกอบปาฐกถาพร้อมเอกสารอ้างอิงเรียบร้อยถึงเวลาหาคนเขียนประวัติ ปรากฏว่าทีมงานเลือกคุณบี ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ ซึ่งเคยมาสัมภาษณ์ตัวผมเองที่โรงเรียนพ่อแม่จังหวัดเชียงราย 1 ครั้ง และที่บ้านจังหวัดเชียงรายอีก 1 ครั้ง ครั้งหลังนี้มาพร้อมบรรณาธิการ WAY ผู้เคร่งขรึม และช่างภาพเครางามผู้ร่าเริง จึงไม่น่าจะมีใครเหมาะสมเท่าเธอผู้นี้อีกแล้ว ผลงานที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจมากจนไม่มีอะไรต้องแก้ไข

มีส่วนที่หลุดไปซึ่งเป็นความรับผิดชอบของตัวผมเอง มิใช่ความผิดพลาดของทีมงานแต่อย่างใด คือข้อมูลเรื่องรุ่นพี่ๆ ครั้งเรียนมัธยม พี่ธงชัยจะเป็นรุ่นเดียวกับพี่ชายของผมคือคุณหมอประสิทธิ์ ตอนที่สองคนนี้เรียน มศ.3 เวลานั้นพี่สมศักดิ์อยู่ มศ.2 ส่วนผมอยู่ มศ.1 และพี่พรหมมินทร์ อยู่ มศ.5 เขียนแบบนี้น่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่านะครับ

เมื่อต้นฉบับสองส่วนคือส่วนประวัติและส่วนเนื้อหาปาฐกถาเรียบร้อย จึงส่งให้ทีมทำหนังสือคือทีม WAY ทำหน้าที่จัดรูปเล่มและพิมพ์เผยแพร่ ไม่รู้เหมือนกันว่าจัดอย่างไรช่างอ่านง่ายเสียนี่กระไร กล่าวคือตอนที่ตัวเองเขียนเสร็จต้องอ่านใหม่เพื่อทบทวนและแก้ไข ตัดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประเด็นที่ขาดหาย ขั้นตอนนี้ทำงานร่วมกันกับปกป้องอย่างดุเดือดนานหลายเดือน หมายถึงเขาจี้ผมอย่างดุเดือด ผลลัพธ์สุดท้ายคือตัวเองอ่านทวนรอบสุดท้ายไม่ไหว ปรากฏว่าวันที่หนังสือเสร็จเป็นรูปเล่ม ผมกลับนั่งอ่านบนเครื่องบินได้อย่างลื่นไหลจบได้ใน 1 ชั่วโมง มิใช่ฝีมือผู้ออกแบบจัดรูปเล่มดูแลกระบวนการจัดพิมพ์แล้วจะเรียกว่าอะไร

นี่เป็นยุคสมัยใหม่ที่กฎหมายและจริยธรรมเรื่องลิขสิทธิ์เป็นประเด็นอ่อนไหว อธิคม คุณาวุฒิ เห็นรูปประกอบต้นฉบับและรูปที่จะใช้ทำสไลด์พรีเซนเตชั่นวันบรรยายแล้วคงนั่งส่ายหัว ด้วยไม่รู้อาจารย์ประเสริฐไปเอามาจากไหนปะล่ำปะเหลือ รูปพีระมิดของโชเซอร์ (Pyramid of Djoser) ที่ซัคคารา เป็นฝีมือผมถ่ายเองครั้งไปประชุมที่ไคโรนานมาแล้ว ก็รอดไป แต่รูปทารกบนแข้งแม่และรูปใบหน้าแม่ที่ไม่สมบูรณ์นั้น ถ่ายจากหน้าโฆษณานิตยสาร TIME เมื่อหลายปีก่อนโดยมิได้ฉีกเข้าแฟ้มด้วยยังเป็นช่วงเวลารับราชการ ลำพังงานประจำและงานเลี้ยงลูกก็เอาตัวไม่ค่อยจะรอดอยู่แล้ว งานจึงทำไปข้างหน้าประหนึ่งรถไฟไปหัวหินแบบทำเสร็จก็โยนไปข้างหลัง มิได้หันไปจัดระเบียบสักเท่าไร พอถึงยุคไอทีช่วงแรกๆ นึกอยากจะหยิบรูปในเน็ตจากไหนมาใช้ก็ใช้ โดยมิได้ก็อปปีลิงค์ต้นทางมาไว้ด้วย ปรากฏว่าทีมกราฟิกของ WAY แก้ไขปัญหาให้กับทุกรูปได้อย่างสวยงาม มีหลักฐานให้เห็นทั้งในหนังสือและในวันงานแสดงปาฐกถา

แล้วก็มาถึงเรื่องการทำคลิปสัมภาษณ์บุคคลที่จะมาเล่าถึงตัวผม งานที่ผมทำ และขยายประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งได้แก่ คุณหมอโอ๋ พี่ติ่ง ผู้อำนวยการเรณู พี่ประสิทธิ์ และพี่สมศักดิ์ ทีมงาน WAY ทำออกมาได้ครบถ้วนกลางพายุโควิดที่กระหน่ำทุกคนตลอด 2 ปีอย่างงดงาม คืองดงามจริงๆ ทั้งฝีมือการถ่ายทำ ถ่ายรูป และความกระชับของเนื้อหาของทุกท่าน เรื่องส่วนตัวของผมไม่ควรได้รับความสนใจเท่าการขยายประเด็นนะครับ หมอโอ๋พูดเรื่องรัฐเลี้ยงลูก พี่ติ่งพูดเรื่อง EF ผู้อำนวยการเรณูทบทวนพัฒนาการสาธารณสุข 30 ปี พี่ประสิทธิ์ปิดท้ายด้วยเรื่องประชาธิปไตยในโรงเรียน และพี่สมศักดิ์เล่าให้เราฟังเรื่องระบบสุขภาพกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างละเอียด

ในที่สุดก็ถึงวันงาน จะว่าไปผมผ่านวันงานมาด้วยอาการละเมอเสียมาก ที่คนส่วนมากไม่รู้คือตัวเองเป็นคนกลัวเวที เคยกลัวมาก ยังกลัวอยู่ และกลัวเสมอ

วิธีแก้คือมองหน้าทุกคนแล้วพูดไปจากใจ ด้วยความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง เช่น เวลาบรรยายที่โรงเรียนพ่อแม่เชียงราย หรือแม้กระทั่งบรรยายซูมก็ยังนั่งใจสั่นได้ทั้งที่อยู่คนเดียวในห้อง เอากับเขาสิ สิ่งที่วิทยากรควรมีคือความปรารถนาดีให้ผู้ฟังได้อะไรกลับบ้านจริงๆ

นั่นแปลว่าแม้ไฟดับ เครื่องเสียงเสีย สไลด์เดี้ยง คนมาน้อย ผมจะบรรยายดีที่สุดเสมอและทำเช่นนี้เสมอมา ถ้ามีคนลุกออกไปห้องน้ำแปลว่าเราบรรยายไม่ดีพอ วันแสดงปาฐกถามีเรื่องสัญญาณเน็ตหายไปนานพอสมควร จากเนื้อหา 70 หน้าในหนังสือที่ร่างไว้ ผมตัดเหลือแค่สองเรื่อง คือเรื่องเวลาวิกฤติและการกระจายอำนาจ ด้วยเล็งเห็นว่ารัฐคงไม่รู้เรื่องเวลาวิกฤติ และมั่นใจว่าประเทศของเราจะทำงานอะไรไม่สำเร็จทั้งนั้นถ้ายังคงเป็นรัฐรวมศูนย์ สไลด์ที่เตรียมเพื่อการนี้ในเวลา 90 นาทีบัดนี้เหลือ 60 นาทีเสียแล้ว นั่นทำให้ภาพที่ปรากฏเป็นอย่างที่เห็น กล่าวคือ พูดไป ตัดไป ออกทะเลไปเล็กน้อย รีบตั้งสติแล้วดึงตนเองกลับมา เก็บประเด็นให้ครบ อย่ายกตัวอย่างมากเกินไปเดี๋ยวจะไปถึงทวีปอื่นไม่รู้ตัว

เมื่อถึงวันงาน เวทีทั้งหมดคือความรับผิดชอบของวิทยากรแต่ผู้เดียว คนฟังเขามาเขาต้องได้ฟัง คนจัดประชุมไม่เกี่ยวอีกต่อไปแล้วครับ งานจะดีหรือล่มวิทยากรรับผิดชอบทั้งสิ้น

สุดท้าย ฮาฮา ไม่รู้จะว่าอย่างไร คุณอธิคมคงจะไม่แล้วใจที่เนื้อหามากกว่าครึ่งในหนังสือมิได้รับการพูดถึง แม้แต่อาจารย์ปกป้องและอาจารย์ธงชัยก็พูดในทำนองเดียวกัน โดยที่ผมไม่รู้เรื่องอะไรด้วยจึงปรากฏ ลูกฟาด 20 ลูก (การเดินทางจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จากเรื่องส่วนตัวถึงเรื่องส่วนรวม รวม 20 ลูกฟาด จากร่างปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย คุณตาหมอประเสริฐ) ออกมาปิดท้ายอย่างรวดเร็ว   

แม้ว่าอ่านแล้วจะเขินๆ เล็กน้อย แต่ก็ยอมรับว่า “ทั้งหมดนั้นเป็นความจริงนี่นา”

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า